วัดศรีคุณเมือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน จนได้รับการกล่าวขานจากประชาชนชาวเชียงคานว่า วัดใหญ่ศรีคุณเมือง เป็นวัดที่มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นศูนย์รวมของแหล่งวิทยาการที่น่าศึกษา เป็นสถานที่จัดเก็บวัตถุโบราณอันล้ำค่าที่ชาวเชียงคานเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งบ้านตั้งเมืองเชียงคานมาหลายชั่วอายุคนแล้ว และเป็นที่พำนักของพระเถระผู้ใหญ่ในอดีตคือ เจ้าคุณพระวิชิตธรรมาจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคาน จากตำนานและหลักฐานหลายสิ่งหลายอย่างได้พบว่า พระยาอนุพินาถและภรรยาพร้อมทั้งบุตรธิดาวงศาคณาญาติ มีท้าวพระยาแม่น เป็นต้น ได้สร้างอุโบสถกับพระพุทธรูปไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาที่วัดศรีคุณเมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๙๙ (จ.ศ. ๑๑๙๙)
พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ มีรูปพรรณสัณฐานทางศิลปะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบ้านนาหน้าบันเป็นไม้แกะลายกนกเคลือบเถาประดับกระจกสี เหนือประตูเข้าโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามพรรณนาถึงทศชาติชาดก อธิบายภาพด้วยอักษรภาษาลาว
เริ่มแรกพระอุโบสถหลังนี้มุงด้วยไม้แผ่น (เลื่อยเป็นกระดานหนา ๑ นิ้ว ตัดสั้น ๕๐ เซนติเมตร) ส่วนเสาอุโบสถเดิมเป็นเสาไม้ประดู่ถากกรมมีลวดลายงดงามมาก กาลเวลาผ่านไปหลังคาก็ชำรุดจึงได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ โดยเปลี่ยนหลังคาจากไม้แผ่นกระดานมาเป็นกระเบื้องซีเมนต์เสาเป็นดินอิฐถือปูน ส่วนใดที่ชำรุดมากก็มีการเปลี่ยนทำใหม่ให้หมด การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้มีท่านเจ้าคุณพระยาพิชิตธรรมาจารย์เจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ งานก็สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านเจ้าคุณพระยาพิชิตธรรมาจารย์ได้ถึงแก่มรณภาพ
หลังจากนั้นวัดศรีคุณเมืองว่างจากเจ้าอาวาส มีเจ้าคณะตำบลเชียงคาน เขต ๑ ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสตามหน้าที่มาโดยลำดับ ต่อมา พ.ศ.๒๕๒๗ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ได้นำผ้ากฐินมาทอด แล้วมอบจตุปัจจัยถวายวัดศรีคุณเมือง เพื่อปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๕๐,๐๐๐ บาท เจ้าคณะตำบลเชียงคาน เขต ๑ ผู้รักษาการเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้นจึงได้ชักชวนทายกทายิกาทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ โดยเปลี่ยนหลังคากระเบื้องซีเมนต์ออกเป็นกระเบื้องดินเผาเคลือบสีแทนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ พลเอกสมคิด จงพยุหะ พร้อมด้วยภรรยาคืออาจารย์น้อมฤดี จงพยุหะ ได้นำเงินจำนวน ๑๔,๕๐๐ บาท มาถวายวัดศรีคุณเมืองเพื่อเป็นทุนสำรองในการบูรณะวัด และมีชาวเชียงคานบริจาคสมทบตามกำลังศรัทธา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เกิดวาตภัยอย่างร้ายแรง พายุหอบเอากระเบื้องออกไปหมด ส่งผลให้หลังคาพระอุโบสถว่าเปล่า ค่าเสียหายมากพอสมควร พระภิษุและสามเณรในวัดศรีคุณเมืองตลอดทั้งญาติโยมช่วยกันเก็บกวาดเอากระเบื้องดินเผาที่ยังพอจะมุงหลังคาได้และจัดหากระเบื้องใหม่มาเพิ่มเติมอีกจนพอ ขณะนั้นมีพระบุญเลิศ รักษาการเป็นเจ้าอาวาสชั่วคราว ได้จ้างคนมุงหลังคาพระอุโบสถแต่การปฏิบัติการมุงหลังคาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการประกอบกับไม้ส่วนบนผุพังยุบหมดสภาพตามกาลเวลา หลังคาพระอุโบสถจึงเกิดการรั่วไหลในเวลาฝนตกไม่เหมาะสมที่จะประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูฝน (ฝนตกมาก ๆ) หากปล่อยไว้เนิ่นนานหลังคาตลอดทั้งเพดานส่วนที่เป็นไม้ก็จะเสียหายมากขึ้น ทั้งจะเป็นความเสียหายต่อศาสนสมบัติที่เก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถซึ่งบางชิ้นได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุศิลปวัตถุของชาติ ได้แก่
1. ธรรมาสน์ไม้สักแกะลายประดับกระจกสี
2. พระพุทธรูปยืนชนิดไม้ทาน้ำทอง
3. พระพุทธรูปปางประธานอภัย ชนิดไม้ทาน้ำทอง
4. ศิลาจารึกชนิดหิน
ธรรมาสน์ไม้สักแกะลายประดับกระจกสี วัดศรีคูณเมือง
ทั้งสี่อย่างนี้เป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านช้างที่มีอายุพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ ทั้งหมดนี้เก็บรักษาไว้ที่พระอุโบสถวัดศรีคุณเมือง ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๓ พระครูสิริกัลยาณวัตร รองเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีคุณเมือง จึงได้ปรารถที่จะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถที่กำลังทรุดโทรมใช้การไม่ได้ให้คงสภาพเดิม โดยอนุรักษ์ส่วนที่มีคุณค่าทางศิลปะให้คงอยู่ชั่วกาลนาน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มีกฐินจากกรุงเทพ ฯ นำโดย พันจ่าไชยัน จันทเวหา ได้จตุปัจจัยร่วม ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาท) พ.ศ. ๒๕๓๔ คุณโยมทองคำขำหรุ่นก็ได้นำกฐินมาทอดวัดศรีคุณเมืองรวมจตุปัจจัยไว้ให้ทางวัดเพื่อบำรุงปฏิสังขรณ์จำนวนเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
พระอุโบสถวัดศรีคุณเมือง
ฉะนั้นทางเจ้าอาวาสและทายกทายิกาคุ้มวัดศรีคุณเมืองจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ์ในส่วนหลังคาพระอุโบสถก่อน และได้นายช่างสาคร คงพูลเพิ่ม จากจังหวัดกาฬสินธุ์ มาทำการปฏิสังขรณ์ เริ่มลงมือปฏิบัติงานเดือนมกราคม 2535 สำเร็จเรียบร้อยเป็นขั้นตอนที่ 1 ในเดือนมีนาคม 2535 โดยทางวัดศรีคุณเมืองได้อาศัยปัจจัยที่รวบรวมจากที่ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วเป็นค่าปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ และสำเร็จไปด้วยดีทุกประการ
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งอ้างอิง
วัดศรีคุณเมือง. (ม.ป.ท.). ประวัติวัดศรีคุณเมือง ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย. เลย: วัด. (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์).
เรียบเรียงโดย : นายิกา เดิดขุนทด