การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๕๒๒
เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๒๒ ชาวอำเภอนาดูน ได้ขุดค้นหาโบราณวัตถุตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณรอบกู่สันตรัตน์ กู่น้อย ศาลานางขาวและบริเวณใกล้เคียงในเขตเมืองโบราณ วัตถุโบราณที่ขุดพบส่วนมากเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวนครจัมปาศรีโบราณ ได้แก่ หม้อ ไห เครื่องบดยา เป็นต้น
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๒ ชาวอำเภอนาดูนจำนวนหนึ่งได้ขุดพบซากเจดีย์โบราณที่เนินนาซึ่งอยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร หรืออยู่ห่างจากถนนเข้าตัวอำเภอนาดูนทางด้านทิศใต้ประมาณ ๕๐ เมตรซึ่งบริเวณตรงนั้นเป็นที่นาเจ้าของที่นาปลูกข้าวเป็นประจำทุกปี ไม่เคยคิดว่าจะมีซากโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่ เมื่อขุดลึกลงไปประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ก็พบก้อนอิฐขนาดใหญ่และขุดลึกลงไปอีกก็พบ พระพุทธรูปสำริดที่พบมีหลายขนาดตั้งแต่ ๕ นิ้ว จนถึง ๑๔ นิ้ว รวมจำนวนทั้งหมด ๕๐ องค์
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ชาวนาดูนกลุ่มหนึ่งจำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย
๑. นายวิรัตน์ ปักการะนา
๒. นายบุ่น บุดทะสี
๓. นายทองดี ปะวะภูตา
๔. นายเลื่อน เอ่นแคน
๕. นายเพียร เอ่นแคน
๖. นายทองสุข นามมะ
๗. นายสมจิตร ประนาโก
๘. นายไสว บุสดี
๙. นายเสถียร วิจารณ์
๑๐. นายนิวัติ ปักการะนา
๑๑.นายคูณ บุดทะสี
ได้ขุดค้นที่บริเวณเนินดินในที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูนอำเภอนาดูน ลักษณะเนินดินสูงจากระดับพื้นดินเดิมประมาณ ๑ เมตรเศษ เนื้อดินสีดำยุ่ย มีต้นไม้เล็ก ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่โดยรอบ แต่ตรงกลางจะไม่มีต้อนไม้หรือหญ้าเกิดขึ้นเลย มีคันนาล้อมรอบทั้งสี่ด้านครั้งแรกขุดทางทิศตะวันออกของเนินดินได้ขุดพบก้อศิลาแลงจำนวน 3 ก้อนและขุดต่อไปอีกลึกประมาณ ๑.๘๐ เมตรก็พบวัตถุจำนวนหนึ่งทำด้วยสำริดลักษณะเป็นวงแหวน จำนวน ๔ ชิ้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ นิ้ว และพบสำริดซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบางแบนยาวประมาณ ๕ นิ้ว วัตถุดังกล่าวผุกร่อนจึงไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ เมื่อขุดต่อไปทางทิศตะวันตกอีกประมาณ ๑ ศอก ก็พบพระพิมพ์ดินเผาปางต่าง ๆ จำนวนมาก ได้ทำการขุดต่อตลอดทั้งคืนจนสว่างได้พระพิมพ์ดินเผาทั้งหมด ๑๒ กระสอบปุ๋ย (๖ กระสอบข้าวสาร) และกลบดินตอนสว่างเพื่อปกปิดไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้เพื่อจะได้ขุดต่อในวันต่อไป
ข่าวการขุดได้พระพิมพ์ดินเผาครั้งนี้ได้กระจายไปอย่างรวดเร็วในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๒ มีประชาชนจำนวนมากได้หลั่งไหลไปขุดค้นหาพระพิมพ์ดินเผาอย่างเนืองแน่น ต่างก็ได้พระพิมพ์ดินเผาไปคนละมากบ้างน้อยบ้าง พระพิมพ์ที่ได้มีทั้งสมบูรณ์และแตกหัก คืนวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ชาวนาดูน จำนวน ๒๗ คน ได้ร่วมกันขุดได้พระพิมพ์ดินเผาทั้งสิ้น ๓ กระสอบ ข้าวสาร
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ประชาชนได้เพิ่มทวีมากยิ่งขึ้นได้เข้าขุดค้นอย่างแน่นขนัด นายทาองดี ปะวะภูตา เจ้าของที่นาได้ห้ามไม่ให้ผู้คนเข้าไปขุดโดยกลบหลุมดินทำแปลงนำพริกมะเขือไปปลูกและล้อมรั้วเป็นอย่างดีแต่ก็ไม่สามารถห้ามผู้คนเข้าไปขุดได้พอตกกลางคืนก็ลักลอบเข้าไปขุดค้น ได้พระพิมพ์ดินเผา เป็นจำนวนมาก ครั้นเวลาประมาณ ๐๔.๐๐-๐๕.๐๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ขุดได้พระพิมพ์ทำด้วยหินทราย0ปางนาคปรกขนาดใหญ่ครึ่งองค์ฐานกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๗๐ เซติเมตร หนาประมาณ ๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๘๐ กิโลกรัม และเป็นพระพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุนี้ขณะนี้ไม่ทราบว่าอยู่กับท่านผู้ใด
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๒ มีประชากรจำนวนมากได้เข้าไปขุดค้นอย่างเนืองแน่นเช่นเคย และได้พระพิมพ์ดินเผากันทุกคน มีชาวนาดูนจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันขุดได้พระพิมพ์ดินเผาจำนวน ๑ กระสอบข้าวสาร
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ประชาชนยังขุดค้นอยู่เช่นเคยนายทองดี ปะวะภูตา เจ้าของที่นาเห็นว่าไม่สามารถจะห้ามผู้คนเข้าไปขุดค้นได้จึงแจ้งให้นายสมเพช ชื่นตา เจ้าหน้าที่ดูแลโบราณสถานประจำอำเภอนาดูนไปแจ้งให้หน่วยศิลปากรที่ ๗ ของแก่นได้ทราบ
วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๒ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่นประกอบด้วยนายสถาพร ขวัญยืน นักโบราณคดี ระดับ ๓ กับพวกรวม ๙ คน เดินทางถึงอำเภอนาดูนและขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าคลุมพื้นที่แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การกระทำในขณะนี้เป็นการทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุ ต่อไปนี้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการขุดแต่งเพื่อค้นหาเค้าเงื่อนของโบราณแหล่งนี้ประชาชนจึงได้หยุดการขุด
วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๒ เจ้าหน้าที่หน่วย ฯ ได้ทำการขุดแต่งโดยแบ่งตารางกริด (GRID SYSTEM) ครอบคลุมเนินดินไว้ทั้งหมดและแบ่งช่องเป็น ๑๒ ช่อง แต่ละช่องมีขนาด ๔*๔ เมตร ให้แนวตั้งขนานกับแนวทิศเหนือแม่เหล็ก (MAGNETIC NORTH LINE) การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วย ฯ ในตอนกลางวันเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่ตอนกลางคืนประชาชนจะเข้ารุมล้อมอยู่รอบ ๆ บริเวณขุดแต่งเพื่อคอยโอกาสเข้าขุดค้น รั้วลวดหนามถูกลักลอบตัดขาดทุกคืน
วันที่ ๒-๕ มิถุนายน ๒๕๒๒ ประชาชนจากที่ต่าง ๆ ได้ว่าจ้างรถพากันไปมุงดูการขุดแต่งของเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๗ ทำให้การปฏิบัติงานไม่สะดวก และการรักษาความปลอดภัยยากยิ่งขึ้น เวลากลางคืนหลุมขุดถูกลักลอบทำลายเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจและพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาสถานการณ์ให้เป็นปกติแต่ก็ไม่เป็นผล
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๒๒ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยฯ ได้ปฏิบัติงานอยู่ประชาชนได้เข้ารุมล้อมและเข้าแย่งชิงขุดจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถต้านทานได้ต้องยุติการขุดแต่งโดยปริยายประชาชนได้หลั่งไหลเพิ่มทวีอีกนับเป็นพัน กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ตำรวจกว่า ๕๐ นาย เจ้าสลายฝูงชนในตอนเย็น และนำลวดหีบเพลงล้อมชั้นนอกของเนินดินไว้อีกชั้นหนึ่ง
วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๒ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่นเริ่มปฏิบัติงานต่อไป ประชาชนยังรุมล้อมกระจายอยู่รอบนอกเหมือนเดิมตอนบ่ายหัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่นเดินทางไปรับโบราณวัตถุสำคัญที่ขุดพบจำนวน ๑๘ กล่องเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยฯ ยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากกำลังตำรวจที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามได้ถอนตัวออกไปแล้วคงเหลือแต่กำลังตำรวจภูธรอำเภอนาดูนเท่านั้นในตอนเช้าได้มีผู้หาเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งได้เข้าไปปราศรัยกับราษฎรภายในรั้วลวดหีบเพลง ทำให้ราษฎรมีโอกาสเข้าใกล้หลุมขุดแต่งมากยุ่งขึ้นและได้แย่งเจ้าหน้าที่หน่วยฯขุดจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้กำลังตำรวจส่วนหนึ่งเข้าระงับเหตุการณ์ จึงสามารถปฏิบัติงานต่อได้อีกแต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ตลอดนายสถาพร ขวัญยืน หัวหน้าผู้ควบคุมดำเนินการขุดแต่งเห็นว่าสถานการณ์เริ่มรุนแรงยากลำบากต่อการปฏิบัติงานขุดแต่งจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่หน่วยฯขุดเจาะตรงกลางโบราณสถานเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. เจ้าหน้าที่หน่วยฯ ขุดพบยอดสถูปสำริด ๑ ชิ้น ประชาชนรุมล้อมมุงดูอยู่เห็นเช่นนั้นจึงเข้าแย่งขุดเต็มพื้นที่ไปหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องข้าอารักขาเจ้าหน้าที่หน่วยฯ จึงสามารถนำโบราณวัตถุออกจากที่เกิดเหตุได้ เครื่องมือของเจ้าหน้าที่หน่วยฯ บางชิ้นก็สูญหายไประหว่างเกิดเหตุในขณะนั้น นายบุญจันทร์ เกษแสนศรี นักการภารโรงสำนักงานที่ดินอำเภอนาดูนได้เข้าไปขุดค้นและพบตัวสถูปสำริด ๑ชิ้น ในตอนบ่ายประชาชนได้หลั่งไหลเพิ่มทวีมากขึ้นเข้าแย่งพื้นที่กันขุดวุ่นวายสับสนอลหม่านหลายคนเป็นลมคาหลุมขุดมีรถแทรกเตอร์และรถดั้มไปขุดตักดินที่หลุมขุดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวและขนดินไปเทค้นหาโบราณวัตถุที่อำเภอใกล้เคียงนี่คือเหตุการณ์บางส่วนเท่านั้น
ที่ตั้งและลักษณะธรณีสัณฐาน
เนินดินแห่งนี้เป็นที่นาของนางทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูนอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่เส้นรุ้งที่ ๑๕ องศา ๔๒ ๒๕” เหนือ และเส้นแวง ๑๐๒ ๔๒, ๔๘” ตะวันออก (แผนที่ทหาร ลำดับชุด ๗๐๑๗ ระว่างที่ ๕๖๔๐///) อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาดูน ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒ กิโลเมตร เนินดินนี้มีลักษณะเป็นวงรี กว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๔ เมตร สูงจากระดับพื้นดินเดิมประมาณ ๑.๐๕ เมตร ผิวดินเป็นสีดำคล้ายดินเผาถ่านล้อมรอบด้วยคันนาทั้ง ๔ ด้าน มีต้นไม้และเถาวัลย์ขึ้นโดยรอบ แต่บริเวณตรงกลางไม่มีต้นไม้เกิดขึ้นเลย
โบราณสถานแห่งนี้หลังจากเจ้าหน้าที่หน่วยฯ ได้ทำการขุดแต่งโดยรอบแล้วประกอบไปด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันอยู่ ๕ ชั้น สูงประมาณ ๙๐ เซนติเมตรเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีความยาวด้านละ ๖ เมตร ศิลาแลงแต่ละก้อนมีขนาดไม่เท่ากันแต่ที่พบส่วนมากมีขนาดกว้างประมาณ ๑๘-๒๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐ เซนติเมตร หนา ๙-๑๑ เซนติเมตร นอกจากนั้นยังพบก้อนอิฐขนาดใหญ่ปะปนอยู่ด้วย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด
เนื้อหาจากหนังสือ เบื้องลึกเบื้องหลังพระธาตุนาดูน
ภาพจาก www.rd.go.th
pui-jatukarmramathep.tarad.com