“บุญพระเวส” ชาวอีสาน เรียกว่า “บุนพะเหวด” หรือบางแห่งเรียกว่า “บุนผะเหวด” คือ บุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเวสสันดร มีการเทศน์พระเวส หรือเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดก ในภาคอีสานนิยมทำบุนพะเหวดกันในวันใดวันหนึ่งของเดือนสี่ หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ดังนั้น บุนพะเหวดจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุญเดือนสี่”
มหาชาติ เป็นชาดกที่แสดงจริยวัตรของพระพุทธเจ้าคราวพระองค์เสวยชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นหนังสือชาดกที่ยาวมาก มี ๑๔ ผูก แบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ การเทศน์มหาชาติในงานบุญเดือนสี่จะใช้เวลาตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ จึงมีความเชื่อกันว่า “หากใครฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบภายในหนึ่งวัน จะได้รับอานิสงส์มาก” (ประเพณีพื้นเมืองอีสาน, ๒๕๒๒).
มูลเหตุแห่งการทำบุญ
จากเรื่องราวในหนังสือมะไลหมื่นมะไลแสน (มาลัยหมื่นมาลัยแสน) กล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๒ ของสวรรค์ที่มี ๖ ชั้น สวรรค์ชั้นนี้มีพระอินทร์เป็นผู้ครอบครอง) ท่านได้พบและสนทนากับพระศรีอริยเมตไตรโพธิสัตว์ ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตต่อจากพระโคดม พระองค์สั่งความมากับพระมาลัยว่า ถ้ามนุษย์ประสงค์พบพระองค์และร่วมเกิดในศาสนาของพระองค์แล้ว ให้ปฏิบัติตนดังต่อไปนี้คือ
๑) จงอย่าด่าทอโบยตีหรือฆ่าพ่อแม่และสมณพราหมณ์
๒) จงอย่าทำร้ายพระพุทธเจ้าและยุยงให้สงฆ์แตกแยกกัน
๓) ให้ตั้งใจฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร หรือเทศน์มหาชาติให้จบภายในวันเดียว
หากผู้ใดปฏิบัติตนเช่นนี้ได้จึงจะมีอานิสงส์มาก ได้พบพระองค์และได้ร่วมเกิดในศาสนาของพระองค์ จากความเชื่อนี้ ประชาชนจึงนิยมทำบุญพระเวสเป็นประเพณีสืบมา
พิธีกรรมทำบุนพะเหวดของชาวไทยอีสาน
เมื่อถึงเดือนสี่ หากวัดใดจะทำบุนพะเหวด จะประชุมชาวบ้านกำหนดวันเวลาให้แน่นอนและกำหนดหมู่บ้านที่จะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ เนื่องจากบุนพะเหวดเป็นบุญสำคัญในรอบปีของชาวอีสาน จึงมีพิธีกรรมหลายขั้นตอน ดังนี้
การเตรียมงาน
๑. แบ่งหนังสือออกเป็นกัณฑ์ นำหนังสือลำพะเหวด หรือลำมะหาชาด (หนังสือเรื่องพระเวสสันดรชาดก) ซึ่งมีจำนวน ๑๓ กัณฑ์ หรือ ๑๓ ผูกใหญ่ (ยกเว้นมาลัยหมื่น มาลัยแสน และสังกาศ) แบ่งออกเป็นผูกเล็ก ๆ จะให้ผลดีต้องแบ่งให้พอดีกับจำนวนพระเณรในวัดและจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์มาเทศน์ในคราวนั้น ๆ
๒. ใส่หนังสือ นำหนังสือผูกเล็กที่แบ่งออกจากกัณฑ์ในผูกใหญ่ ๑๓ กัณฑ์ ไปจัดการใส่หนังสือนิมนต์หรือใบฎีกา ซึ่งก็คือ จดหมายนัดวันเวลาที่จะทำบุญ (สมัยก่อนจะเขียนด้วยอักษรธรรมใส่ใบลาน เรียกว่า “สลากนิมนต์” ปัจจุบันเขียนด้วยกระดาษ) ข้อความในสลากนิมนต์ความว่า "วุฒิธรรมคำฝูงข้าทั้งหลาย ภายในมีอาชญาธรรมเป็นเค้า ภายนอกมีอาชญาสิทธิ์เป็นประธาน ได้พร้อมกันจัดให้มีการทำบุญมหาชาติขึ้นที่.....ในวัน.........ค่ำ เดือน.......เป็นวันโฮม มีการบวชนาคและหดสรง วัน.....ค่ำ เป็นวันแสดงธรรม ขอนิมนต์อาชญาธรรมไปเทศนาโปรดออกตนญาติโยมและบอกญาติโยม และบอกเตินเอิ้นป่าวญาติโยมบ้านนี้ไปทำบุญด้วยกันเทอญ" (ปรีชา พิณทอง, ๒๕๓๔) หลังจากนั้นจัดคนนำสลากนิมนต์ไปนิมนต์พระเณรทั้งวัดของหมู่บ้านตนเองและวัดในหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงให้มาเทศน์ พร้อมกับบอกเจ้าศรัทธา (ผู้ที่จะเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์นั้น ๆ) ไว้ด้วย
๓. จัดแบ่งเจ้าศรัทธา เพื่อให้กัณฑ์เทศน์ทุกกัณฑ์มีเจ้าของรับผิดชอบเป็นเจ้าของกัณฑ์ เวลาพระเณรท่านเทศน์จบในแต่ละกัณฑ์ ผู้เป็นเจ้าศรัทธาก็จะนำเครื่องปัจจัยไทยทานไปถวายตามกัณฑ์ที่ตนเองรับผิดชอบ ฉะนั้นชาวบ้านจะจัดแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหมู่ หมู่ละ ๓-๔ หลังคาเรือน เพื่อรับเป็นเจ้าศรัทธากัณฑ์เทศน์ร่วมกัน และเจ้าศรัทธาเหล่านี้จะต้องจัดหาที่พัก ข้าวปลาอาหารไว้คอยเลี้ยงต้อนรับญาติโยมและพระเณรจากหมู่บ้านอื่นที่มาเทศน์พะเหวดครั้งนี้ด้วย
๔. จัดเตรียมสถานที่พัก ก่อนถึงวันทำบุญทั้งพระภิกษุ สามเณรและฆราวาสจะพร้อมใจกันทำความสะอาดบริเวณวัด เตรียมการแบ่งเรือนที่จะรับกัณฑ์เทศน์และรับพระภิกษุพร้อมทั้งญาติโยมของท่านที่จะมาในงานบุญ
แล้วช่วยกันปลูกผาม หรือ ประรำ ไว้รอบบริเวณวัด เพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับพระเณรและญาติโยมผู้ติดตามพระเณรจากหมู่บ้านอื่น
ซึ่งต้องจัดสถานที่ต้อนรับไว้อำนวยความสะดวกพระเณรจากหมู่บ้านอื่น ดังนี้
(๑) เจ้าศรัทธาค้ำต้องปลูกตูบผามรอบบริวเณศาลาโรงธรรม
(๒) วันรวมต้องจัดเสื่อสาดอาสนะไว้ภายในตูบผาม พร้อมตั้งน้ำใช้ น้ำฉันไว้ให้เรียบร้อย
(๓) พระเณรผู้มาเทศน์ที่มีญาติโยมติดตามมาด้วย ให้จัดสถานที่ต้อนรับไว้เป็นพิเศษ
(๔) รักษาความสะอาดบริเวณสถานที่พักให้สะอาด
(๕) จัดเครื่องกิริยาบูชา หรือเครื่องคุรุพันในการทำบุนพะเหวดนั้น โดยชาวบ้านต้องเตรียม “เครื่องฮ้อยเครื่องพัน” หรือ “เครื่องบูชาคาถาพัน” ซึ่งนิยมเรียกขานกันในหมู่ชาวบ้านว่า “เครื่องคุรุพัน” ประกอบด้วย ธูปหนึ่งพันดอก เทียนหนึ่งพันเล่ม ดอกบัวโป้ง (บัวหลวง) ดอกบัวแบ้ (บัวผัน) ดอกบัวทอง (บัวสาย) ดอกผักตบ และดอกก้านของ (ดอกปีบ) อย่างละหนึ่งพันดอก เมี่ยงหมากอย่างละหนึ่งพันคำ มวนยาดูดหนึ่งพันมวน ข้าวตอกใส่กระทงหนึ่งพันกระทง ทุงกระดาษ (ธงกระดาษ) หนึ่งพันธง
(๖) จัดเตรียมสถานที่ที่จะทำบุนพะเหวด โดยควรจัดเตรียมดังนี้
(๖.๑) บนศาลาโรงธรรม ต้องตกแต่งให้มีสภาพคล้ายป่า โดยเอาต้นอ้อย ต้นกล้วยมามัดตามเสาทุกต้นและขึงด้ายสายสิญจน์รอบศาลา ระหว่างเสาศาลาโรงธรรม ทำราวไม้ไผ่สูงเหนือศีรษะประมาณหนึ่งศอก ที่ราวนี้ผูกฟางมัดเล็ก ๆ ติดไว้ตามความยาวของราวไม้ไผ่เพื่อใช้เสียบดอกโน และดอกไม้แห้งต่าง ๆ และยังใช้เป็นที่ห้อยนกและปลาตะเพียน ที่สานด้วยใบมะพร้าวหรือใบตาล ตลอดจนดอกไม้ใบไม้แห้ง เช่น ดอกบานไม่รู้โรยที่ใช้เส้นด้ายร้อยเป็นสายยาวลงมา ร้อยเมล็ดแห้งของผักเพกาหรือเม็ดมะขามด้วยเส้นด้ายยาวเป็นสาย แล้วนำไปแขวนไว้เป็นระยะ ๆ แต่ถ้าหากชาวบ้านหาดอกไม้แห้งไม่ได้ ก็จะใช้เส้นด้ายชุบแป้งเปียก แล้วนำไปคลุกกับเมล็ดข้าวสาร เพื่อทำให้เมล็ดข้าวสารติดเส้นด้าย แล้วนำไปแขวนไว้ โดยปล่อยให้ยาวลงมาเป็นสาย ๆ คล้ายม่าน
การตกแต่งศาลาโรงธรรม งานบุนพะเหวด ณ วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ๑๙-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔
การตกแต่งศาลาโรงธรรม งานบุนพะเหวด ณ วัดอิสาณ บ้านคำบอน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔
การตกแต่งศาลาโรงธรรม งานบุนพะเหวด ณ วัดศรีคุณเมือง อ.เชียงคาน จ.เลย วันเสาร์ที่ ๑๒ มี.ค. ๒๕๕๔
ตั้งธรรมาสน์ไว้กลางศาลา รอบ ๆ ธรรมาสน์จัดตั้งทุงไซ (ธงชัย) ไว้ทั้งแปดทิศ ได้แก่ ทิศอุดร อีสาน บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ปัจจิม พายัพ และจุดที่ตั้งทุงไซแต่ละต้นนั้น ต้องมีเสดถะสัดผ่านตาเวน (เศวตฉัตรบังสูรย์)
นอกจากนี้มีกะย่อง (ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่คล้ายพานใช้ใส่เครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย) หรือตระกร้าสำหรับใส่ข้าวหนึ่งพันก้อนหนึ่งใบ พร้อมทั้งบั้งดอกไม้ ซึ่งเป็นกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ ๓-๔ ปล้อง ตรงกึ่งกลางของแต่ละปล้องปาด (ตัด) ให้เป็นรูปปากฉลามขนาดครึ่งหนึ่งของปล้องไม้ไผ่นั้น สำหรับใส่ดอกไม้แห้งซึ่งส่วนมากทำจากต้นโสน
และใส่ “ทุงหัวคีบ” ลักษณะเป็นธงที่มีคันทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณหนึ่งศอกเศษ หรือเท่ากับหนึ่งปล้องไม้ไผ่ ขนาดโตเท่าแท่งดินสอผ่าครึ่ง และที่ปลายด้านหนึ่งผ่าหัวลงไป แล้วใช้กระดาษหรือผ้าที่ตัดเป็นรูปธงสามเหลี่ยมเสียบไว้ จากนั้นใช้ด้ายมัดปลายคันธงไว้ เพื่อกันไม่ให้กระดาษหรือผ้าหลุดจากไม้ ธงชนิดนี้ชาวอีสานเรียกว่า “ทุงหัวคีบ”
ที่บั้งดอกไม้ยังปักปลา ซึ่งสานจากใบมะพร้าวหรือใบตาลไว้อีกจำนวนหนึ่ง และตั้งโอ่งน้ำไว้ ๕ โอ่งซึ่งสมมุติเป็นสระ ๕ สระไว้รอบธรรมาสน์ ในหม้อน้ำใส่จอกแหน กุ้ง เหนี่ยง ปลา ปู หอย ลอยด้วยใบบัวและดอกบัวด้วยยิ่งดี
นอกจากนี้ต้องจัดให้มีเครื่องสักการบูชาคาถาพัน ประกอบด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ ผลไม้อย่างละพัน ดอกไม้ส่วนมากใช้ดอกปีบ ดอกบัว หมากพันคำ เมี่ยงพันคำ ธูปพันดอก เทียนพันเล่ม และขันหมากเบ็งวางไว้ตามมุมธรรมาสน์ ณ จุดที่วางหม้อน้ำ
(๖.๒) บริเวณรอบศาลาโรงธรรมปักทุงไซ ขนาดใหญ่ ๘ ทุง (มีลักษณะเป็นธงที่ทอด้วยเส้นด้าย ขนาดกว้าง ๓๐-๔๐ เซนติเมตร มีความยาวตั้งแต่ ๕ เมตรขึ้นไป เสาธงใช้ไม้ไผ่ขนาดใหญ่ทั้งลำ ผูกธงไว้ที่ปลายเสาไม้ไผ่ แล้วปล่อยให้ชายธงห้อยยาวลงมาตามความสูงของเสาธง) ทุงนี้ปักไว้ตามทิศทั้งแปด ซึ่งแต่ละหลักทุงจะปักกรวยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวพันก้อน เสดถะสัดผ่านตาเว็น และบั้งดอกไม้
เช่นเดียวกับบนศาลาโรงธรรม จะมีบั้งดอกไม้ และปักทุงซ่อ (ธงที่ทอให้มีลักษณะเป็นผืนยาว ๆ และใช้ตอกบาง ๆ สอดเข้าไปทอในผืนธง โดยทอเป็นรูปช่อหรือยอดปราสาท ธงชนิดนี้มีไว้เพื่อบูชาในงานบุญตามประเพณีอีสาน) ซึ่งจะปักไว้ตรงกับจุดเดียวกับที่ปักทุงไซด้านนอก
(๖.๓) จัดเตรียมหอพระอุปคุต ที่ด้านทิศตะวันออกของศาลาโรงธรรม ห่างจากศาลาโรงธรรมประมาณ ๖-๑๐ เมตร
ต้องปลูกสร้าง “หออุปคุต” โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเสาสี่ต้นให้มีความสูงเพียงตา ขนาดกว้างยาวด้านละประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง ใช้ตอกไม้ไผ่สานขัดแตะทำพื้นและฝาสามด้าน ส่วนด้านที่สี่ปล่อยโล่งไว้ โดยหันด้านที่โล่งนี้ไปทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางศาลาโรงธรรม ที่หออุปคุตนี้เป็นที่สมมุติว่าจะเชิญพระอุปคุตมาประทับเพื่อปราบมารที่จะมาขัดขวางการทำบุญ หออุปคุตนี้จะมุงหลังคาหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าไม่มุงต้องกางร่มบังแดดไว้ และต้องจัดหาต้นกล้วย ต้นอ้อย มัดติดไว้กับเสาทุกต้น
พิธีกรรมเชิญพระอุปคุต ตามประเพณีโบราณของอีสาน จะทำในเวลา ๑๔-๑๕ นาฬิกาของวันรวม ผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันนำเครื่องสักการบูชา เครื่องฮ้อยเครื่องพัน ประกอบด้วย ขันห้า ขันแปด บาตร จีวร ร่ม กระโถน กาน้ำ แก้วน้ำ รองเท้า และไม้เท้าเหล็กไปเชิญพระอุปคุต โดยสมมุติว่าพระอุปคุตท่านอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งอาจเป็นบึง หนอง คลอง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำที่อยู่ใกล้วัด
เมื่อไปถึงแหล่งน้ำดังกล่าว ผู้เป็นประธานจะตั้งนโมขึ้น ๓ จบ กล่าว “สักเค” เชิญเทวดามาเป็นพยาน แล้วจึงกล่าวคำอาราธนาเชิญพระอุปคุตความว่า “โอกาสา โอกาสา ฝูงข้าทั้งหลายขอขาบ (กราบ) ไหว้พระมหาอุปคุตตะเถระเจ้าคนฉลาด ด้วยอาคมพรหมจารีอันแก่กล้า ใต้ลุ่มฟ้าลือชา ผะหยาจบไตรเพท วิเศษด้วยกองธรรม ฝูงข้าทั้งหลายขอโอกาสอาราธนาออกมาแต่แม่น้ำสมุทรคงคา อันเจ้านิรมิตเป็นเมืองแก้ว อันแล้วด้วยอาคมจบไตรเพท วิเศษกว่าอรหันตาเจ้า บัดนี้ฝูงข้าพเจ้าทั้งหลาย จะพร้อมยังภูมิสถาน บ่ให้มารทั้งห้า ที่จะมาเบียดเบียนแก่ฝูงข้าทั้งหลาย ในสถานที่จัดงานก้อข้าเทอญฯ” (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล, ๒๕๔๔)
เมื่อกล่าวจบก็ตีฆ้องตีกลอง
นำเครื่องสักการะ ซึ่งประกอบด้วย อัฐบริขาร ขันธ์ ๕ และขันธ์ ๘ ที่แต่งตั้งไว้เรียบร้อย แห่จากแหล่งน้ำดังกล่าวมาที่วัด เวียนรอบศาลาโรงธรรม ๓ รอบ เป็นทักษิณาวัตร แล้วจึงนำเครื่องสักการบูชาทั้งหมดวางไว้บนหออุปคุต ถ้าหออุปคุตไม่มุงหลังคาจะใช้ร่มกันแดดไว้ก็ได้ ภายในหออุปคุตจัดให้มีพระพุทธรูปไว้บนหอ เพื่อกราบไหว้บูชา อย่าให้ขาด ถ้ามีพระบัวเข็มจะจัดไว้ก็ได้
การอัญเชิญพระอุปคุตนั้น ก่อนอัญเชิญให้เขียนคาถาพระอุปคุต ซึ่งอาจเขียนด้วยใบลานหรือกระดาษหนึ่งแผ่นวางไว้บนหออุปคุต นอกนั้นเขียนคาถาอีก ๘ แผ่น ผูกติดไว้ตามต้นเสาหลักทุงให้ครบทุกเสาทั้ง ๘ ทิศ คาถาพระอุปคุตที่ต้องเขียนอัญเชิญมีดังนี้
“อุปคุตฺโต จ มหาเถโร คิชุฌวุตฺโต
สมุทฺทโย ปาโต ตลา อายาตุ
เอกมาโร เตกมาโร โย โย
อุปคุตฺโต มหาเถโร อุปคุตฺต โย โย
มหาเถร กายพนฺธน มารสฺส คีว
สพฺเพ ยกขา ปลายนฺตุ สพฺเพ
ปิปาสาจา ชิปฺปเมว ปลายนฺตุ”
คำเชิญนั้นเดิมเรียกว่า อาฮาธนาเชื้อเชิญ (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล, ๒๕๔๔) มีดังนี้
“โอกาสะ โอกาสะ ฝูงข้าทั้งหลาย ภายในมีพระสงฆ์เป็นเค้า ภายนอกมีเฒ่าแก่ใหญ่น้อยสถิตอยู่สอนลอน ขอพร้อมกันประนมกรก้มขาบไหว้ พระมหาอุปคุตเถระเจ้าตน ฉลาดด้วยอาคมพรหมจารี มีอิทธิฤทธิเฮืองออด เป็นยอดอยู่ใต้ลุ่มฟ้าลือชา ตนมีสติปัญญาจบไตรเพท วิเศษด้วยคลองธรรม บัดนี้ฝูงข้าทั้งหลายขอโอกาสอาฮาธนา ขอจงเสด็จลีลามาแต่แม่คุงคายาวย่านกว้าง อันเจ้ากูหากมีนีรมิตเป็นเมืองแก้วแล้ว ด้วยอาคมทะรงพรหมจรรย์จบไตรเพท วิเศษด้วยอรหันตะหันตา จึงขออาฮาธนาด้วยอบายพระคาถาว่า อุปคุต โต เจ มหาเถโร คิชฌวุตโต สมุททโย ปาโต ตลา อายาตุ เอกสฺโร ดังนี้เป็นเค้า ขอเจ้ากูจงเสด็จมาสถิตผาบยุกขีโภยภัย ผาบมารจังไฮหายเสียพินาศ ขอเชิญครุฑนาคเจ้ากับทั้งเทพวิมาน จงเสด็จมาเนาว์สถานเหนืออาสน์ มาอักษาบาทเจ้าอุปคุตเถร เพื่ออักษาฝูงข้าทั้งหลาย อันพร้อมกันมาฟังยังมหาเวสสันดรชาดก ในพระอาฮามข่วงเขต ขออัญเชิญพระอาทิตย์ตนวิเศษใสแสง พระจันทร์ฉ่องเฮืองฮุ่ง พระอังคารพุ่งรัศมี จงมาสถิตอยู่ที่นี้ พระพุธ พระพหัส พระศุกร์ พระราหู พระลักขณา ตนทะรงวัตถาขาวเหลืองงามยิ่ง พระแก้วกิงจงสถิต เบื้องทิศปัจจิม ขออาฮาธนาเทพเจ้าภูมิสถาน ตนทะรงวิมานในหมื่นโลกธาตุ เป็นอาจในจักวาฬ ขอจงเสด็จลงมาผาบมารทั้งห้าอัน จักมาเบียดเบียนฝูงข้าทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก อันไต่เต้าเข้ามาฟัง ยังลำมหาเวสสันดรชาดก สาธกให้จบมื้อหนึ่งวันเดียว เพื่อหายอันตาย มีความสุขกายแก่ฝูงข้าทั้งหลาย ณ สถานที่นี่ ก็ ข้าเทอญ”
ซึ่งก่อนจะว่าคำอาฮาธนาเชื้อเชิญนั้น ให้พร้อมกันกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยไหว้พระประธาน ตั้งนโม ๓ จบ ชุมนุมเทวดา โดยให้กล่าวสัคเคก่อน จึงกล่าวคำอาฮาธนาพระอุปคุต
(๖.๔) แห่พะเหวดเข้าเมือง หลังจากอัญเชิญพระอุปคุตเสร็จแล้ว ก็จะถึงพิธีแห่พะเหวดเข้าเมือง ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณ ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. ของมื้อโฮมนั่นเอง
จุดเริ่มต้นแห่ มักจะเป็นบริเวณป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน เพราะมีความเชื่อและสมมุติกันว่า พะเหวด (พระเวสสันดร) อาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์พร้อมทั้งนางมัดซี (พระนางมัทรี) ชาวบ้านชาวเมืองเห็นคุณงามความดีจึงพร้อมใจกันมาแห่พะเหวดให้กลับไปครองเมืองตามเดิม หลังจากที่พระองค์ถูกขับออกจากเมืองนานถึง ๗ ปี
พิธีกรรมก่อนแห่พะเหวด พอถึงเวลาจะเริ่มแห่ ผู้เป็นประธานจะพาญาติโยมที่มาพร้อมกันในบริเวณชายป่า ที่ถูกสมมุติให้เป็นเขาคีรีวงกตและป่าหิมพานต์ ไหว้พระรับศีลและฟังเทศน์ การเทศน์ ณ จุดนี้เป็นการเทศน์เชิญพะเหวดเข้าเมือง เมื่อฟังเทศน์จบแล้วก็จะลั่นฆ้อง
พิธีกรรมก่อนแห่พะเหวด วัดอิสาณ บ้านคำบอน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
พิธีกรรมก่อนแห่พะเหวด วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
แล้วเคลื่อนขบวนแห่ดังนี้ อันดับแรกเป็นคานหามหรือเสลี่ยงสำหรับวางพระพุทธรูป ซึ่งสมมุติเป็นพระเวสสันดร ตามด้วยเสลี่ยงหามพระภิกษุที่เป็นเจ้าอธิการวัดของหมู่บ้าน (ปัจจุบันใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ) จากนั้นก็เป็นคนหามฆ้อง ตามด้วยขบวนกลองยาวและขบวนแห่
ขบวนแห่พะเหวดวัดไชยศรี
ขบวนแห่พะเหวดวัดอิสาณ
ส่วนญาติโยมที่มาร่วมขบวนแห่พะเหวดก็จะพากันถือดอกไม้นานาชนิดซึ่งสมมุติว่าเก็บได้จากป่า (ส่วนมากเป็นดอกพะยอมเพราะกลิ่นหอมดี) และมืออีกข้างหนึ่งจะช่วยกันถือผ้าพะเหวด ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ ๕๐ วาขึ้นไป และที่ผ้าพะเหวดจะมีรูปวาดเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์ที่ ๑๓ ขบวนแห่พะเหวดเข้าเมืองจะเดินผ่านหมู่บ้านเข้าสู่วัด
แล้วแห่เวียนขวารอบศาลาโรงธรรมที่จะใช้เป็นสถานที่เทศน์มหาชาติสามรอบ จากนั้นจึงนำพระพุทธรูปขึ้นตั้งไว้ในศาลาโรงธรรม ญาติโยมที่เก็บดอกไม้มาจากป่า เช่น ดอกพะยอม ดอกจิก (ดอกเต็ง) ดอกฮัง (ดอกรัง) ดอกจาน (ดอกทองกวาว) ดอกตะแบก ฯลฯ ก็จะนำดอกไม้ไปวางไว้ข้าง ๆ ธรรมาสน์ที่จะใช้เทศน์ แล้วขึงผ้าพะเหวดรอบศาลาโรงธรรม
ผ้าพะเหวดโบราณของวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยอ็ด
(๖.๕) พิธีกรรมตอนเย็นในวันรวม หลังจากแห่พะเหวดเข้าเมืองแล้ว ญาติโยมจะพากันกลับบ้านเรือนของตน เพื่อเตรียมอาหารและรับประทานอาหารเย็น พร้อมทั้งเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่เดินทางมาร่วมทำบุญ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ๆ ทางวัดจะตีกลองโฮม เป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าถึงเวลาลงวัดแล้ว หลังจากชาวบ้านรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว ญาติโยมจะพากันมารวมกันที่ศาลาโรงธรรมประมาณเวลาสองทุ่ม (เวลา ๒๐.๐๐ น.) ซึ่งการมารวมกันครั้งนี้ เรียกว่า “ลงวัด” คือ การมารวมกันที่วัดเพื่อร่วมกันทำพิธีไหว้พระสวดมนต์ ที่ได้มีการจัดเตรียมพิธีการไว้พร้อมแล้ว ด้วยการตั้งบาตรน้ำมนต์วงด้ายสายสิญจน์รอบโรงพิธีศาลาโรงธรรม ก่อนเริ่มพิธี ทุกคนกล่าวบูชาพระรัตนตรัยพร้อมกัน ไหว้พระรับศีล แล้วอาราธนาพระสงฆ์เจริญพระปริตรมงคล สวดชัยมงคลน้อยใหญ่จบแล้วนิมนต์พระเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน (เทศน์ทำนองเทศน์) ซึ่งเป็นการเทศน์ที่กล่าวถึงพระจริยวัตรของพระพุทธเจ้าในชาติปางก่อนคราวพระองค์เสวยชาติเป็นพระเวสสันดร หลังจากฟังเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสนจบ ก็จะมีมหรสพสมโภช เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ให้ญาติโยมชมจนถึงสว่าง
บางวัด คณะกรรมการของวัดอาจจัดให้มีสอยดาว เพื่อนำรายได้มาบำรุงวัดด้วย
(๖.๖) พิธีกรรมแห่ข้าวพันก้อน เวลาประมาณ ๐๓.๐๐-๐๔.๐๐ น. ของวันบุนพะเหวด (วันเทศน์มหาชาติ) ญาติโยมคนเฒ่าคนแก่จะนำข้าวเหนียวนึ่งปั้นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าผลพุทราเล็ก จำนวนหนึ่งพันก้อน ซึ่งเท่ากับหนึ่งพันพระคาถาในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ใส่ถาดจากบ้านเรือนของตนมารวมกันที่จุดนัดหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ศาลากลางหมู่บ้านเป็นจุดนัดพบ เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว ทายก ทายิกา พร้อมชาวบ้าน จะแห่จากหมู่บ้านเข้ามาที่วัด ตีฆ้องเป็นจังหวะ ทายกหรือผู้นำกล่าวคำแห่ข้าวพันก้อนให้ชาวบ้านว่าตาม ดังนี้
“นะโม นะไม พระไตรปิฎก ยกขึ้นมาเทศนาธรรม ฟังลำมหาชาติ ขันหมากเบ็งงามสะพาด ข้าวพันก้อนถวายอาชญ์บูชา มาเฮามา พวกเฮาศรัทธา มาบูชาสามดวงยอดแก้ว พูข้าไหว้แล้วถวายอาชญ์บูชา สาธุ สาธุ สาธุ” (เคน มูลประดิษฐ์, ๒๕๔๙; ปรีชา พิณทอง, ๒๕๓๔; สุ่ม สุวรรณวงศ์, ๒๕๕๔)
เมื่อขบวนแห่ถึงวัด เวียนขวารอบศาลาโรงธรรมสามรอบ แล้วจึงนำข้าวพันก้อนเหล่านั้นไปใส่ไว้ในกรวยไม้ไผ่ที่หลักทุงไซทั้งแปดทิศ และใส่ไว้ในตระกร้าที่วางอยู่บนศาลาตามจุดที่มีทุงไซและเสดกะสัด
เมื่อแห่ข้าวพันก้อนเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมพากันขึ้นบนศาลาโรงธรรม กราบไหว้พระพร้อมกล่าวคำบูชาข้าวพันก้อนพร้อมกัน ดังนี้
“อิมสฺมิ ฐาเน อิมานิ สาตมพลานิ ภตฺตสฺตตุ กตฺตานิ คนฺธมาลาทีนิ พุทฺธธมฺมสงฺฆสฺส เจว มหาเวสสนฺตรชาดกสสํ จ เจติยโพธิรุกขสฺส จ อภิปูชายาม ฯ
ทุติยมฺปิ...(ซ้ำ)
ตติยมฺปิ...(ซ้ำ)”
เมื่อบูชาข้าวพันก้อนจบแล้ว หัวหน้าคณะผู้ถือถาดข้าวพันก้อน ตั้งนโมสามจบ ชุมนุมเทวดา คือ สัคเค... ไปจนจบ แล้วจึงกล่าวคำอาราธนาสังกาศ ดังนี้
“ศรีฯ สิทธิพระพร เสียงดงดอนโคจรม่วนมี่ ทุกที่พร้อมวันหลวง บางพ่องนอนเปลือยกาย เหงือยผมตะแคงเนื้อ บางพ่องนอนข่วมนอนหงาย เฮ็ดน้ำลายไหลออกปากอยู่ยียน พระทศพลเจ้าหลิง เห็นห้องเมืองคนแล้ว เจ้าจึงยินหน่าย พระก็ฮู้อันฮ้ายและอันดี พระจึงลีลาออกจากปักตูเวียงวังปราสาท แล้วจึงสั่งเสนาคุตตะอำมาตย์ ให้ห้างแล้วยังม้าแก้วศรีวรคัณฐัก พระจึงชักม้าแก้วขึ้นเหนืออากาศกลางหาว มีฝูงเดือนดาวหากมาสะพัดแวดล้อมอ้อมเป็นบริวาร พระมุนีสีหะนารถท้าว เลยเสด็จนั่งเหนือหลังม้าแก้วสีวรคัณฐัก ม้าก็พาเหาะหอบฝ่ายเวหาวีว่อน ๆ เลยล่าข่วมแม่น้ำทั้ง ๕ ทุกภาย ม้าก็กลายหนห้องเมืองคนสุทธยิ่ง เลยเล่าตกจิ่มน้ำสมุทรใหญ่คงคา พระก็ลีลาขึ้นเหนืองทรายเนาว์นั่ง พระก็สั่งม้าแก้ว จึงตับแตกตายไป เลยเกิดเป็นหินผาอยู่ทีเดี๋ยวนี่ พระก้บายเอาศรีอันไชย์ด้ามแก้วตัดเกศเกศา แล้วจึงชัดขึ้นเหนือบนอากาศ ไปฐาปะนาตั้งไว้ในชั้นฟ้าตาวติงษา ปากฎมาชื่อว่า “ธาตุเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์” มียอดได้เก้ายอด จึงขอดเป็นนัยคาถาว่า
“อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตถํ สพฺพยญฺชนํ เกวลปริปุณณํ ปริสุทฺธํ พรหมจรียํ ปกาเสถํ โน โอกาสํ อาราธนํ กโรมฯ”
แล้วนิมนต์พระเทศน์สังกาศไปจนจบ การเทศน์สังกาศ คือ การเทศน์พรรณนาอายุกาลของพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่ต้นไปจนถึงอันตรธาน พระต้องเทศน์คู่พร้อมกับดัดเสียงหรือประสานเสียงให้เข้ากันถูกกัน ทำนองเทศน์สังกาศนี้ คนเก่าแก่เรียกว่า “ทำนองเทศน์สีทันดร” มีบทเล่นพร้อมกัน ฟังแล้วเศร้า น่าสอึกสะอื้นตามไปด้วย หากให้สามเณรน้อยเสียงน้ำมนต์หรือเสียงอมตะเทศน์ยิ่งไพเราะมาก
เมื่อเทศน์สังกาศจบแล้ว หัวหน้าคณะกล่าวประกาศอัญเชิญเทวดาให้เป็นทำนอง ดังนี้
“สุณนฺตุ โภนโต เย เทวา สงฺฆา
ดูรา ฝูงเทพยดาทั้งหลาย ภายบนมีพระยาอินทาธิปัตติราชเจ้า เป็นเค้าเป็นประธาน กับทั้งโสฬสพรหมตนทะรงวิมานลือเดช พระอาทิตย์เจ้าตนวิเศษใสแสง พระจันทร์จอนทแยงพันพุ่ง ตนมีรัศมีเฮืองฮุ่งเวหา พระรามุอสุรินทาตนมือฟ้า มุงมืดหน้าทั่วเวหน ตนทะรงวิมานผาสาทในอากาศกับท้าวจตุโลกบาล สถิตในวิมานทั้วสี่คือ พระยาธัตตะรัฏฐะ พระยาวิรุฬหถะ พระยาวิรูปักขา พระยากุเวรราชเจ้า เป็นเค้าเป็นเหง่าแก่เทพยดาเจ้าทั้งหลาย อันยายยังอยู่ คู่ภูเขาสัตตะบัวระพัน จึงพร้อมกันมาถวายบาททั้ง พญานาคราชเฟือนฝั่งทีหลวง ปวงกุมภัณฑ์แลหลิงต่ำถ้วนพร้อมพร่อจักขุวิญญาณตนทะรงวิมานเยี่ยมพ่อ กับทั้งพระยายมราชเจ้าตนห่อคะดี นางธรณีนอนแนบน้ำ ทั่วทุกก้ำนางน้อยเมฆขลา อันรักษาในมนุษย์สุดาแห่งห้องเมืองคนในวังมนและย่านน้ำทุกเถื่อนถ้ำหินผา ในไพหนาย่านกว้าง ข่วงเขตพื้นแผ่นปฐพี โบกขระณีและหย่อมหญ้า ทุกแหล่งหล้ามหานิโครธโพธิ์ศรี ทั้งเจดีย์แก้วกู่ ตนสถิตอยู่ประเทศราชธานี ในเมืองทะบุรีศรีล้านช้างลวงกว้างและลวงฮี ใต้สี่ผีเหนือผาใดผาด่าง ก้ำฝ่ายซ้ายกรุงศรีอโยธยา ก้ำฝ่ายขวาแดนแก้วเป็นเขต ตนอยู่ประเทศห้องอาณา จึงขออัญเชิญเทพยดาเจ้าทั้งหลาย หมายมีตนว่า “สร้างสอง หนองสาน ฮามสี่ห้านาคครุฑ มนุษย์กุมภัณฑ์ ครรธันพพะยักษ์” อารักขากับทั้งเทพยดาเจ้าตนอยู่อักษาพระธาตุ พระนมบรมเจดีย์ ศรีสถานหลวงเป็นเค้า
บัดนี้ฝูงข้าทั้งหลาย ขออัญเชิญเทพแก่นไท้ในหมื่นโลกธาตุจักรวาล ขอจงมาชุมนุมกันในสถานขงเขต เพื่อฟังยังลำมหาเวสสันตระชาดา ณ ศาลาโรงธรรมที่นี่ให้สัมฤทธิทุกตนทุกองค์ก็ข้าเทอญฯ”
เมื่อกล่าวประกาศอัญเชิญเทวดาจบแล้ว ให้หว่านข้าวตอกดอกไม้รับฝูงเทวดา แล้วกล่าวคำอาราธนาพะเหวดค่ำ (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล, ๒๕๔๔) ดังนี้
“สุณนฺตุ โภนฺโต เยา เทวา สงฺฆา
ดูรา เทพดาเจ้าทั้งหลาย อันยายยังอยู่ทุกหมู่ไม้ไพพระนอม ทุกเหวฮอมฮาวป่า ทุกประเทศท่าฮาวเขา ทุกแถวเถาในเถื่อนถ้ำ ทุกท่าน้ำและวังปลา พรรณนาฝูงเผตแลผี อันมีใจโหดฮ้าวโทสะ จงให้เจ้าทั้งหลายประละเสียง ยังหัวใจอันเป็นบาป ให้ค่อยโสภาพเยี่ยงโสตฟังธรรม เดาดาจำจื่อไว้เป็นประทีปไต้ส่องตามทางเทพดาเจ้าทั้งหลาย ตนอักษาวัดวาและประเทศ ทางเขตใต้ฮอดลี่ผี ทางเหนือถึงผาใดผาด่าง ทางก้ำซ้ายฮอดกรุงศรีอโยธยา ทางทิศเหนือแดนแก้วเป็นเขต ทุกประเทศด้าวในห่องพระสุธา กับนางธรณีนอนแนบน้ำเป็นผู้ค้ำ ฝูงหมู่ปาณากับทั้งเทพดาเจ้าทั้งหลาย ภายบนมีพระยาอินทร์ พระยาพรหมเป็นเค้า จงเสด็จมาฟังยังลำมหาเวสสันดรชาดก กับด้วยฝูงข้าทั้งหลายภายในมีอาชญาธรรมพระสงฆ์เป็นเค้า ภายนอกมีเฒ่าแก่ใหญ่น้อยกวนบ้านแลตาแสง ทั้งเมียแพงฮักยิ่งลูกแก้วกิ่งชายา ทั้งอาจารย์และนักปราชญ์ พร้อมทั้งญาติพี่น้องนิคมคาม ตามกันมาพร้อมแห่ง แต่งเครื่องไหว้บูชา สหัสสามีหลายหลาก ดอกอุบลมากพอพัน บัวแดงบานไขกาบ ดอกผักตบอาจเขียวนิล ดอกกางของหลายบ่น้อย พันหนึ่งค่อนขวนขวาย ช่อทุงยายสะพาดเข่าพันก้อนอาจบูชา
จักแจกคาถาพัน แบ่งเป็นกัณฑ์ได้ ๑๓ กัณฑ์ จักพรรณนาในทศพรกัณฑ์เค้ามี ๑๙ พระคาถา จักแบ่งบูชาแลสิ่งแลสิบเก้า บูชากัณฑ์เค้าชื่อทศพล หิมพานต์กัณฑ์ถ้วนสองมี ๑๓๔ พระคาถา เครื่องบูชาจัดถวายไว้ ทานขันธ์กัณฑ์ถ้วนสามมีคาถา ๒๐๙ บ่น้อย ยอเครื่องอ้อยบูชา จึงยกมายังวนปเวสกัณฑ์ถ้วนสี่มี ๕๗ พระคาถา เครื่องบูชาจัดแบ่งไว้ ชูชกกัณฑ์ถ้วนห้าได้มี ๗๙ พระคาถา เครื่องบูชามีบ่ขาดบ่ตก จุลลพนกัณฑ์ถ้วนหกมี ๓๕ พระคาถา เครื่องบูชาตกแต่งไว้ มหาพนกัณฑ์ถ้วนเจ็ดได้มี ๘๐ พระคาถา เครื่องบูชามีตั้งไว้ กุมารกัณฑ์ถ้วนแปดได้มี ๑๐๑ พระคาถา เครื่องบูชามีถ้วนถี่ มัทรีกัณฑ์ถ้วนเก้ามี ๙๐ พระคาถา เครื่องบูชามีสู่อัน สักกบรรพ์กัณฑ์ถ้วนสิบมี ๔๓ พระคาถา เครื่องบูชามีตกแต่งอาจ มหาราชกัณฑ์ถ้วนสิบเอ็ดมี ๖๙ พระคาถา เครื่องบูชายิ่งงามดี ฉขัตติกัณฑ์ถ้วนสิบสองมี ๓๖ พระคาถา เครื่องบูชาตกแต่งไว้ กัณฑ์นครได้ถ้วนสิบสาม พระคาถางาม ๔๘ ยอยเข้าบูชา พระคาถาพันครบถ้วน ฝูงข้าทั้งหลายแต่งเครื่องล้วนไว้บูชา จึงขออัญเชิญเทพดาทุกเทศ จงมาฟังยังลำมหาเวสสันดรชาดก
บัดนี้ ขออาราธนาพระสงฆ์เจ้าตนวิเศษได้ขึ้นแสดงธรรมเทศนา ยังลำมหาเวสสันดรชาดก อันท่านหากหยิบยกมาเทศนาตามพระพุทธฎีกา จึงขออาราธนาว่า
อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตถํ สพฺพยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พรหมจาริยํ ปกาเสถํ โน โอกาส อาราธนํ กโรมฺฯ”
เมื่อกล่าวอาราธนาจบ พระภิกษุเถระผู้เป็นประธานขึ้นบนธรรมาสน์เพื่อเทศน์คาถาพัน โยมอาราธนาศีล เมื่อโยมรับศีลจบแล้วเริ่มเทศน์คาถาพัน โดยก่อนเทศน์ให้บอกปีศักราชว่าในขณะที่ทำบุนพะเหวดนี้เป็นปีนักษัตรใด ปี พ.ศ.เท่าไรก่อน เมื่อเทศน์คาถาพันจบในแต่ละกัณฑ์มรรคนายกหรือผู้นำในพิธีกรรมจะนำห่อคาถาของแต่ละกัณฑ์ไปจุดไฟ เรียกพิธีกรรมนี้ว่า การเผาคาถา โดยพระจะเทศน์คาถาพันเริ่มต้นจากกัณฑ์ทศพรไปเรื่อยจนถึงนครกัณฑ์ รวม ๑๓ กัณฑ์ ระหว่างที่พระเทศน์ในแต่ละกัณฑ์ให้หว่านข้าวตอกดอกไม้รับฝูงเทวดา และจุดธูปเทียนบูชาด้วย
(๖.๗) พิธีกรรมขณะฟังเทศน์ การฟังเทศน์มหาชาติในงานบุนพะเหวดนั้นจะใช้เวลาตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ อาจจะถึงเวลา ๑๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. ก็เป็นไปได้ จึงมีความเชื่อกันว่า “หากใครได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจนจบทุกกัณฑ์ ผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์มาก” ในการฟังเทศน์บุนพะเหวดนั้น ต้องมีทายกหรือทายิกา คอยปฏิบัติพิธีกรรมในขณะที่ฟังเทศน์แต่ละกัณฑ์ โดยจุดธูปเทียนเพื่อบูชากัณฑ์นั้น ๆ ตามจำนวนคาถาในแต่ละกัณฑ์ ดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ คาถา จุดธูป ๑๙ ดอก เทียน ๑๙ เล่ม จุดเทียนง่าม ๑ เล่ม
๒. กัณฑ์หิมพานต์ มี ๑๓๔ คาถา จุดธูป ๑๓๔ ดอก เทียน ๑๓๔ เล่ม จุดเทียนง่าม ๒ เล่ม
๓. ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ คาถา จุดธูป ๒๐๙ ดอก เทียน ๒๐๙ เล่ม จุดเทียนง่าม ๓ เล่ม
๔. กัณฑ์วนปเวส มี ๕๗ คาถา จุดธูป ๕๗ ดอก เทียน ๕๗ เล่ม จุดเทียนง่าม ๔ เล่ม
๕. กัณฑ์ชูชก มี ๗๙ คาถา จุดธูป ๗๙ ดอก เทียน ๗๙ เล่ม จุดเทียนง่าม ๕ เล่ม
๖. กัณฑ์จุลพน มี ๓๕ คาถา จุดธูป ๓๕ ดอก เทียน ๓๕ เล่ม จุดเทียนง่าม ๖ เล่ม
๗. กัณฑ์มหาพน มี ๘๐ คาถา จุดธูป ๑๙ ดอก เทียน ๑๙ เล่ม จุดเทียนง่าม ๗ เล่ม
๘. กัณฑ์กุมาร มี ๑๐๑ คาถา จุดธูป ๑๐๑ ดอก เทียน ๑๐๑ เล่ม จุดเทียนง่าม ๘ เล่ม
๙. กัณฑ์มัทรี มี ๙๐ คาถา จุดธูป ๙๐ ดอก เทียน ๙๐ เล่ม จุดเทียนง่าม ๙ เล่ม
๑๐. กัณฑ์สักกะบรร มี ๔๓ คาถา จุดธูป ๔๓ ดอก เทียน ๔๓ เล่ม จุดเทียนง่าม ๑๐ เล่ม
๑๑. กัณฑ์มหาราช มี ๖๙ คาถา จุดธูป ๖๙ ดอก เทียน ๖๙ เล่ม จุดเทียนง่าม ๑๑ เล่ม
๑๒. กัณฑ์ฉขัตติยะ (ฉกษัตริย์) มี ๓๖ คาถา จุดธูป ๓๖ ดอก เทียน ๓๖ เล่ม จุดเทียนง่าม ๑๒ เล่ม
๑๓. นครกัณฑ์ มี ๔๘ คาถา จุดธูป ๔๘ ดอก เทียน ๔๘ เล่ม จุดเทียนง่าม ๑๓ เล่ม
นอกจากการจุดธูปเทียนตามจำนวนคาถาแล้ว เมื่อพระหรือสามเณรเทศน์จบกัณฑ์หนึ่ง ๆ ต้องมีผู้ที่ปฏิบัติพิธีกรรมในขณะที่ฟังเทศน์แต่ละกัณฑ์หว่านข้าวตอกดอกไม้ ข้าวสารและลั่นฆ้องชัยในแต่ละกัณฑ์ด้วย ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ต้องนั่งอยู่ประจำที่ตลอดเวลาที่เทศน์ หรือบางแห่งก็อาจให้เจ้าศรัทธาหรือเจ้าของกัณฑ์เทศน์แต่ละกัณฑ์ทำหน้าที่นี้
ส่วนเครื่องฮ้อยเครื่องพัน หรือเครื่องคุรุพันนั้น ต้องตั้งบูชาไว้ตลอดงาน เมื่อเทศน์จบแล้วบางวัดก็นำเครื่องฮ้อยเครื่องพันใส่ไว้ในภาชนะที่สานด้วยตอกไม้ไผ่ มีลักษณะเหมือนกะออมปากเป็นกรวยแหลมใช้ผ้าขาวหุ้ม แล้วใช้ด้ายถักหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นเครื่องสักการบูชา เวลามีบุนพะเหวดในปีต่อ ๆ ไป ไม่ต้องจัดหาอีก
(๖.๘) ถวายกัณฑ์เทศน์ ตามประเพณีปฏิบัติของชาวไทยอีสาน แต่ละกัณฑ์ต้องมีทายกทายิการับเป็นเจ้าศรัทธาหรือเจ้าของกัณฑ์เทศน์รับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งอาจเป็นคนเดียว หรือหลายคนรวมกันก็ได้
วิธีปฏิบัติการถวายกัณฑ์เทศน์ของเจ้าของกัณฑ์ต่าง ๆ มีดังนี้ เมื่อได้เวลาให้เจ้าของกัณฑ์เทศน์นำเครื่องกัณฑ์ออกไปวัด ถ้าไม่รู้ว่าเจ้าบัญชีจะให้ถวายพระภิกษุหรือสามเณรรูปใด อยู่วัดใดบ้านใด ควรไปถามเจ้าบัญชีก่อนแล้วจึงนำเครื่องกัณฑ์ไปถวาย แต่ถ้ารู้แจ้งชัดแล้วว่า ตนรับเป็นเจ้าศรัทธาถวายเครื่องกัณฑ์แด่พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้นๆ จะนำไปถวายก่อนแล้วจึงบอกเจ้าบัญชีในภายหลังก็ได้ เพื่อเจ้าบัญชีจะได้บันทึกในบัญชีให้เรียบร้อย ก่อนถวายเครื่องกัณฑ์ให้จุดธูปเทียน ไหว้พระ รับศีล กล่าวถวาย แล้วจึงประเคนเครื่องกัณฑ์ เมื่อเสร็จแล้ว ให้กรวดน้ำและรับพร เป็นอันเสร็จพิธี
(๖.๙) แห่กัณฑ์หลอน หรือ กันหลอน คำว่า “หลอน” เป็นภาษาถิ่นไทยอีสาน แปลว่า แอบมาหา หรือ ลักลอบไปหาโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หรือบางความหมาย หมายถึง การเข้าหาสาวถึงที่ในห้องนอน เรียกว่า หลอนสาว (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล และนภาพร พิมพ์วรเมธากุล, ๒๕๔๕)
กัณฑ์หลอน หรือ กันหลอน (คำที่เรียกขานในภาษาพื้นเมืองอีสาน) คือ กัณฑ์เทศน์ที่แห่มาในบุญมหาชาติโดยมิได้เจาะจงถวายพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง โดยนำไปถวายผู้ที่กำลังเทศน์ (สำลี รักสุทธี, ๒๕๔๘)
กัณฑ์หลอน หรือ กันหลอน คือ กัณฑ์เทศน์พิเศษนอกเหนือจากกัณฑ์เทศน์ในบุนพะเหวด ซึ่งมี ๑๓ กัณฑ์ ที่แต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพหรือเจ้าศรัทธาเป็นเจ้าของกัณฑ์นั้น ๆ อยู่แล้ว กัณฑ์หลอนจึงเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ไม่ได้จองไว้ก่อน แต่จะเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ชาวบ้านแต่ละคุ้มร่วมกันจัดขึ้นในวันที่มีการเทศน์มหาชาติหรือบุนพะเหวดนั่นเอง โดยผู้มีศรัทธาจะตั้งกัณฑ์หลอนไว้ที่บ้านของตนเอง โดยใช้กระบุงหรือกระจาดไม้ไผ่หรือถังน้ำพลาสติกเท่าที่หาได้ใส่ข้าวสารลงไปประมาณครึ่งถัง แล้วหาต้นกล้วยขนาดสูงประมาณ ๑ เมตร ตั้งไว้กลางภาชนะที่ใส่ข้าวสาร
หรืออาจนำหญ้าคามามัดรวมกันพร้อมทำขาตั้งโดยส่วนท้ายของต้นกัณฑ์หลอนมัดหญ้าคาแยกเป็นสามแฉกเพื่อทำเป็นขาตั้ง แล้วนำธนบัตรชนิดต่าง ๆ คีบด้วยไม้ไผ่นำไปเสียบไว้ที่ลำต้นของต้นกล้วย ส่วนที่โคนต้นกล้วยนั้นนอกจากข้าวสารแล้วอาจนำปัจจัยอื่น ๆ เช่น ธูปเทียน ผงซักฟอก มะพร้าวอ่อน กล้วยสุก ยาสามัญประจำบ้าน ฯลฯ ใส่ลงไปเป็นเครื่องไทยทานด้วย เสร็จแล้วบอกกล่าวญาติพี่น้องที่มีบ้านเรือนอยู่ในคุ้มนั้นจัดหาปัจจัยไทยทานเท่าที่มีจิตศรัทธาหาได้มาทำกัณฑ์หลอนร่วมกัน
เมื่อได้เวลานัดหมาย คณะผู้มีจิตศรัทธาจะพากันแห่กัณฑ์หลอนจากที่ตั้ง โดยมีกลองยาว แคน ฉิ่ง ฉาบ ฯลฯ นำขบวน บางคนอาจฟ้อนรำไปตามจังหวะเสียงกลองอย่างสนุกสนานไปด้วย
พอขบวนแห่มาถึงวัดจะแห่รอบศาลาโรงธรรมเวียนขวา ๓ รอบ
แล้วนำกัณฑ์หลอนขึ้นบนศาลาโรงธรรมเพื่อถวายแด่ภิกษุหรือสามเณรที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น
กัณฑ์หลอนสามารถนำไปทอดได้ตลอดทั้งวันขณะที่มีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งอาจจะถึงมืดค่ำก็ได้ และอาจจะมีกัณฑ์หลอนจากหมู่บ้านอื่นแห่มาสมทบอีกก็ได้โดยไม่จำกัดจำนวน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของคนระหว่างหมู่บ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกัน
แหล่งอ้างอิง
คำบาว เพียศักดิ์. (๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔). สัมภาษณ์. มรรคนายกวัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น.
คำใส อ่อนทุม. (๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔). สัมภาษณ์. พ่อใหญ่จ้ำของชุมชนสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น.
เคน มูลประดิษฐ์. (๒๕๔๙). คู่มือศาสนพิธีวิธีการทำบุญมหาชาติ. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
ถิน อิ่มนาง. (๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔). สัมภาษณ์. มรรคนายกวัดอิสาณ บ้านคำบอน ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น.
บัวเรียน ทุ่มเห่ว. (๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔). สัมภาษณ์. สมาชิกสภาเทศบาลตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น.
บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล. (๒๕๔๔). ฮีต คอง คะลำ. ใน พระครูสุเทพสารคุณ (สุนันท์ เพชรเลื่อม). (๒๕๔๔). มรดกไทอีสาน. (หน้า ๑๑๘-๑๔๗). ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล และนภาพร พิมพ์วรเมธากุล. (๒๕๔๕). พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน (เว่าอีสาน). ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
ประเพณีพื้นเมืองอีสาน. (๒๕๒๒). มหาสารคาม: วิทยาลัยครูมหาสารคาม.
ปรีชา พิณทอง. (๒๕๓๔). ประเพณีโบราณไทยอีสาน. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซ็ท.
สำลี รักสุทธี. (๒๕๔๘). พจนานุกรมภาษาอีสาน-ไทยกลาง. กรุงเทพ: พัฒนาศึกษา.
สุ่ม สุวรรณวงศ์. (๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔). สัมภาษณ์. ประธานฝ่ายศาสนาชุมชนสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น.
เรื่อง : นายิกา เดิดขุนทด
ภาพ : วรพงษ์ เดิดขุนทด