พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง พระอารามหลวง

               

พระมหาธาตุแก่นนคร (พระธาตุ ๙ ชั้น) วัดหนองแวงอารามหลวง  ตั้งอยู่เลขที่ ๕๙๓ ถนนกลางเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ ๔๐๐๐๐ โทร ๐๔๓-๒๒๒๔๔๘,๒๒๒๖๖๔ แฟกซ์ ๐๔๓-๒๒๒๔๔๘ สร้างเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

มูลเหตุการสร้างพระมหาธาตุแก่นนคร   มีดังนี้

 ๑.  สมเด็จพระสังฆราช (วาสนามหาเถร) วัดราชบพิธฯ ประทานพระบรมสารีริกธาตุให้ไว้แก่วัดหนองแวง ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๒๒

 ๒.  พระวิสุทธิกิตติสาร (คูณ ขนฺติโก ป.ธ. ๔) เจ้าอาวาสวัดหนองแวงรูปปัจจุบัน ได้ตั้งปณิธาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และได้รับพระบรมสารีริกธาตุตามนิมิต จากประเทศพม่า ตั้งแต่ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘

 ๓.  เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ประทานปัจจัยบูชาพระธรรมเทศนา ให้เป็นทุนเริ่มต้นก่อสร้างพระมหาธาตุ จำนวนเงิน ๑๘,๕๐๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

 ๔.  เมืองขอนแก่นมีอายุครบ ๒๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ และทางวัดหนองแวงก็มีที่ดินว่างเปล่าอยู่ประมาณ ๑๐ ไร่เศษ เหมาะสมในการก่อสร้างพระมหาธาตุฯ

งบประมาณก่อสร้างพระมหาธาตุ

          งบประมาณในการก่อสร้างพระมหาธาตุแก่นนคร จำนวนเงิน ๔๖,๙๘๔,๕๙๑ บาท  ได้จาก

-ได้รับพระเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จรพระสังฆราช  เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ จำนวนเงิน ๗,๔๘๕,๐๐ บาท

-ได้รับการสนับสนุนจากศรัทธาสาธุชนทั่วไป ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ทั้งในและนอกเขตประเทศ บริจาคสมทบทุนด้วยจิตศรัทธาร่วมสร้างพระมหาธาตุฯ

วัตถุประสงค์  

           ๑.  เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก

           ๒. เพื่อทูลเกล้าถวายเป็นพระราชสักการะมหามงคลเทิดพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ปี

           ๓.  เพื่อทูลถวายเป็นพระราชสักการะแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา และสมเด็จพระสังฆราชทุก ๆ พระองค์

           ๔.  เพื่อเป็นมหามังคลานุสรณ์ ครบ ๒๐๐ ปี เมืองขอนแก่น

           ๕.  เพื่อเป็นอนุสรณ์สาธุชนต้นตระกูลของแต่ละตระกูล

           ๖.  เพื่อเป็นสถานศึกษา อบรมพระปฏิบัติธรรม และพระปฏิเวธธรรม

           ๗.  เพื่อเป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรม

           ๘.  เพื่อเป็นมรดกแก่อนุชน

           ๙.  เพื่อเป็นปูชนียสถาน นิทัศนศึกษา ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่ท้องถิ่น

                                                                

ความวิจิตรงดงามขององค์พระธาตุแก่นนคร  

          ฐานพระธาตุกว้าง ๕๐x๕๐ เมตร องค์พระธาตุกว้าง๔๐x๔๐ เมตร ความสูงของพระธาตุฯ สุดเนื้อปูนสูง ๗๒ เมตร ถึงยอดฉัตรพระธาตุฯ สูง ๘๐ เมตร พื้นที่ทั้งหมดในองค์พระธาตุฯ ๗,๗๘๐ ตารางเมตร มีพระจุลธาตุ ๔ องค์ ตั้งอยู่ ๔ มุม มีกำแพงแก้วพญานาค ๗ เศียรล้อมรอบกว้าง ๗๒x๗๒ เมตร เป็นศิลปะสมัยทวารวดี หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผสมผสานศิลปะอินโดจีน รูปทรงแบบชาวอีสานตากแห ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเขียนภาพประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ที่ฝาผนังด้านใน   

ภายในอาคารขององค์พระธาตุ  ประกอบด้วย               

          ชั้นที่ ๑ เป็นหอประชุม  มีพระบรมสารีริกธาตุอยู่บนบุษบกตรงกลาง มีพระประธานประดิษฐานอยู่ ๔ องค์ ด้านข้างทางทิศใต้มี ๒ องค์ และทางด้านทิศเหนือมี ๒ องค์ ต้นเสาเขียนลวดลายสีเบญจรงค์  ลายกรวยเชิงดอกพุดตานและดอกบัว คานขื่อเขียนภาพเทพชุมนุมล้อมรอบเพดานเขียนภาพเทพพนมปีกค้างคาวดาวล้อมเดือน จตุเทพดารา  บานประดูหน้าต่างแกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น โดยเฉพาะบานประตูใหญ่แกะสลัก ๓ มิติ                                                                  

                         

          ชั้นที่ ๒ เป็นหอพักและของใช้ชาวอีสาน  บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์ ภาพนิทานเรื่อง สังสินไช

                       

          ชั้นที่ ๓ เป็นหอปริยัติ   บานประตูหน้าต่างเขียนภาพนิทาน เรื่อง นางผมหอม

                     

          ชั้นที่ ๔ เป็นหอปฏิบัติธรรม  บานประตูหน้าต่างเขียนภาพพระประจำวัน เทพประจำทิศ ตัวพึ่งตัวเสวย

                        

          ชั้นที่ ๕ เป็นหอพิพิธภัณฑ์    บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธประวัติ แกะสลัก ๑ มิติ

                             

          ชั้นที่ ๖ เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์   บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่อง พระเวสสันดร แกะสลัก ๑ มิติ 

                       

          ชั้นที่ ๗ เป็นหอพระอรหันตสาวก    บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดก เรื่อง เตมีใบ้ แกะสลัก ๑ มิติ

                   

          ชั้นที่ ๘ เป็นหอพระธรรม   รวบรวมพระธรรมคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มีพระไตรปิฎก เป็นต้น บานประตูหน้าต่างแกะสลักพรหม ๑๖ ชั้น ถึงชั้นที่เก้า แกะสลัก ๓ มิติ

                                                   

         ชั้นที่ ๙ เป็นหอพระพุทธ   เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตรงกลางบุษบก  บานประตูหน้าต่างแกะสลัก ๓ มิติ รูปพรม ๑๖ ชั้น และเป็นหอชมวิวทิวทัศน์ตัวเมืองขอนแก่นทั้ง ๔ ด้าน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกติดบึงแก่นนคร สวยงามมาก 

                                    

ความเป็นมาของวัดหนองแวงโดยสังเขป

         วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ พร้อมกับวัดกลาง และวัดธาตุ โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ณ บ้านบึงบอน (ปัจจุบันคือ บ้านเมืองเก่า ริมบึงแก่นนคร) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๔ ท้าวจาม ลูกชายของท้าวพัน ได้เป็นจ้าวเมืองคนที่ ๒ ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ  เขตเมืองมหาสารคาม (ปัจจุบันคือ บ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน

                วัดหนองแวง ตั้งอยู่เลขที่ ๕๙๓ ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ โดยพระยานครศรีบริรักษ์ (อู๋) และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๗ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร มีเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๖๕ ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์เป็นโฉนด ๗๑๓ เลขที่ ๒๘ หน้าสำรวจ ๗๙๔ เล่มที่ ๘ หน้า ๑๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ทางวัดซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๒ ไร่ ๓๙ ตารางวา รวมเนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน ๔ ตารางวา

อาณาเขต

          ทิศเหนือ               ยาว ๑๓๕  เมตร จดถนนหนองแวงพัฒนา

           ทิศใต้                     ยาว  ๑๖๐.๕๐ เมตร จดล่องน้ำและที่ดิน นายพิศ  วรราช

          ทิศตะวันออก       ยาว ๑๕๑.๔ เมตร กับ ๑๗๐.๘๐ เมตร จดถนนรอบบึงแก่นนคร และที่ดิน นายทองม้วน บุตรกสก   

          ทิศตะวันตก         ยาว ๒๔๖.๗๐ เมตร ติดถนนกลางเมือง

ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบ

             ๑. เป็นที่ราบเรียบ มีลักษณะเป็นหกเหลี่ยม มีหมู่บ้านล้อมรวบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด

             ๒. ได้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔

             ๓. ได้เป็นวัดพัฒนาดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖

             ๔. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗    

             ๕. ได้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒

รายนามเจ้าอาวาส

             รายนามเจ้าอาวาสตั้งแต่เริ่มก่อสร้างวัดใน ปี พ.ศ. ๒๓๓๒ – ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ไม่ปรากฏนามเจ้าอาวาส เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๔๒๒ – ปี ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๓ มีรายนามเจ้าอาวาส จำนวน ๙ รูป ดังนี้

             รูปที่ ๑   ท่านพระครูลูกแก้ว พ.ศ. ๒๔๒๒ – พ.ศ. ๒๔๓๖

             รูปที่๒    ท่านพระอาจารย์เม้า เมืองยโสธร พ.ศ. ๒๔๓๖ – พ.ศ. ๒๔๓๙

             รูปที่ ๓ ท่านพระอาจารย์เหลา พ.ศ. ๒๔๓๙ – พ.ศ. ๒๔๔๑

             รูปที่ ๔ ท่านพระอาจารย์น้อย พ.ศ. ๒๔๔๑ – พ.ศ. ๒๔๔๓

             รูปที่ ๕ ท่านพระอาจารย์บุญตา พ.ศ. ๒๔๔๓ – พ.ศ.๒๔๕๒

             รูปที่ ๖   ท่านหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน พ.ศ. ๒๔๕๒ – พ.ศ. ๒๔๙๘

             รูปที่ ๗   ท่านเจ้าคุณพระพุทธิสารสุธี (เหล่ว สุมโน ป.ธ. ๕) พ.ศ. ๒๔๙๘- พ.ศ.๒๔๙๘

             รูปที่ ๘   ท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนี (กัณหา ปภัสสโร) พ.ศ. ๒๔๙๘ – พ.ศ.๒๕๑๑

             รูปที่ ๙   ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิกิตติสาร (คูณ ขันติโก ป.ธ.๔) พ.ศ. ๒๕๑๑ – ปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติม

วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนคร)   

 แหล่งอ้างอิง

ประวัติวัดหนองแวงพระอารามหลวง และพระมหาธาตุแก่นนคร อนุสรณ์สาธุชน.  (ม.ป.ป.).  ขอนแก่น: วัดหนองแวงพระอารามหลวง .  (เอกสารแผ่นพับ).

Bloggang.com.  (๒๕๕๓).  วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนคร).  ค้นเมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ จาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=ooh-kk2007&month=06-02-2008&group=3&gblog=3

 

 

                               

 

 

 



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th