ความเป็นมาศาลเจ้าปู่ครูเย็น ริมบึงแก่นนคร
จากงานวิจัยของสมชื่น เชี่ยวกุล (๒๕๓๙) ได้กล่าวถึง ศาลเจ้าปู่ครูเย็นว่า จากการสัมภาษณ์พระครูโพธิสารคุณ เจ้าอาวารสวัดโพธิ์โนนทัน ได้เล่าว่า ศาลเจ้าเป็นศูนย์รวมความสามัคคีและจุดกำเนิดของการปกครองท้องถิ่นของคนโบราณ ท่านสันนิษฐานว่า ศาลเจ้าปู่ครูเย็นคงจะสร้างมาตั้งแต่สมัยเจ้าเมืองคนที่ 3 คือ พระยานครศรีบริรักษ์ภักดีศรีศุภสุนทร (คำยวง) ผู้ก่อตั้งบ้านโนนทัน (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๙๘) ถึงเจ้าเมืองคนที่ 9 คือ พระพิทักษ์สารนิคม (พ.ศ.๒๔๔๗ - ๒๔๔๙) รวมระยะเวลาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๓) ๒๐๑ ปี
แต่บางตำนานกล่าวว่าพระยานครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นต้นตระกูลสุนทรพิทักษ์เป็นผู้สร้างศาลเจ้าปู่ครูเย็น
และจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านโนนทันเล่าว่า เจ้าปู่ครูเย็นเป็นพระธุดงค์ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธามาก เมื่อสิ้นใจชาวบ้านจึงสร้างศาลไว้เคารพบูชาต่อไป เหตุที่มาสร้างศาลอยู่ข้างๆ ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่าเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ เดิมชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าปู่ครูโกรธหรือครูโกฏิ เนื่องจากเจ้าปู่จะทำให้คนสัญจรผ่านไปมาไม่แวะเคารพกราบไหว้ มีอาการ “อุจจาระปัสสาวะไม่ออก” ภายหลังชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อศาลเจ้าเป็นเคล็ดว่า ศาลเจ้าปู่ครูเย็น
การสักการะ
การจุดธูปบูชา เสริมดวงชะตาหรือขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องของความเชื่อที่สืบทอดต่อๆ กันมา
การจุดธูป เทียน หมายถึง ไหว้พระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์
การจุดเทียน เป็นตัวแทนของ แสงสว่างชีวิต ดอกไม้หอม แทนคุณงามความดี ความเจริญ
การสักการะถือเป็นการทำอามิสบูชาให้เกิดมงคลแก่ชีวิตโดยการบูชาสิ่งที่ดี ทำให้ตัวเรา มีบารมีมากขึ้น จึงทำให้ใจสงบขึ้น
ในการสักการะศาลเจ้าปู่ครูเย็นควรใช้ธูป ๙ ดอก เนื่องจากเป็นการบูชาพระภูมิเจ้าที่ รุกขะเทวดา ศาลพระภูมิ ศาลเทพ
คำกล่าวบูชาเจ้าปู่ครูเย็น
ก่อนสวดให้ว่า นะโม ๓ จบ แล้วกล่าวคำบูชา ดังนี้
"อิเมหิ สักกาเรหิ ปิโย อะภิบูชิเตหิ ครุ อภิบูชิเตหิ ฑีฆายุโก โหมิ อะโรโค โหมิ สุจิโตโหมิ อะเวโรโหมิ สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง
ปิยัง มะมะ สิทธิลาโภ ชะโยโหตุ สะพพะทาฯ"
"ข้าพเจ้าขอบูชาเจ้าปู่ครูเย็นด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ ด้วยอำนาจแห่งการสักการะนี้ขอให้ข้าพเจ้าจงถึงซึ่งความสุข
ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย มีอายุยืนนาน มีความเจริญรุ่งเรืองในธุรกิจการงาน มีลาภยศ เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
มีชัยชนะในทิศต่างๆ ตลอดกาลนานเทอญฯ"
เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด
แหล่งอ้างอิง
สมชื่น เชี่ยวกุล. (๒๕๓๙). รายงานการวิจัยเรื่องภูมิหลังและคติชนวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญของชุมชนเมืองรอบบึงแก่นนคร. ขอนแก่น: ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
panda๑๐. (๒๕๕๒). ไหว้พระ ไหว้เจ้าที่ ไหว้ศาลพระภูมิ และอื่น (เจ้าจีน + ไทย ใช้ธูปกี่ดอก).
สืบค้นที่ http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=089624931086e75e. (วันที่ค้นข้อมูล: ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓).