ภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาอีสาน : หม้อขะโนน

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาหม้อขะโนนบ้านหัวบึง ต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น


 
   

    ภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานหัตถกรรมที่เก่าแก่ของมนุษยชาติ จากหลักฐานที่ค้นพบภาชนะดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุประมาณ 16,000 ปีลงมาจนถึงประมาณ 14,000 ปีมาแล้ว ซึ่งปรากฏขึ้นในหมู่เกาะของญี่ปุ่น เป็นภาชนะสำหรับการปรุงอาหาร เช่น ใช้ต้มพืชผัก เนื้อสัตว์และเนื้อปลา สำหรับประเทศไทยจากหลักฐานที่ค้นพบแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าที่สุด คือ ที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี      

ประวัติความเป็นมา
      บ้านหัวบึง หมู่ที่ 5 ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2013 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์จากขอนแก่นไปชุมแพ เมื่อถึงบ้านทุ่ม แยกซ้ายไปทางหลวงหมายเลข 2062 (บ้านทุ่ม – มัญจาคีรี) และแยกซ้าย ตรงหมู่บ้านเหล่านาดีไปตามทางหลวงหมายเลข 2013 ผ่านหมู่บ้านหว้า และหมู่บ้านเหล่าโพนทองไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านหัวบึง ประมาณ 2.5 กิโลเมตร จากการบอกเล่าของนางก้าน เกิดดี นางกุล กุมพล และนางแสง เกิดดี (2553)  ได้ความว่า ชาวบ้านหัวบึงเดิมเป็นชาวโคราช บรรพบุรุษอพยพมาจากอำเภอเมืองและอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีตัวแทนมาสำรวจหาแหล่งดินเหนียวที่เหมาะสำหรับการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่บริเวณหมู่บ้านดอนช้าง  ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ห่างจากบ้านหัวบึง ระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร จึงตั้งถิ่นฐานทำการผลิตเครื่องปั้นดินเผามาประมาณ 150 ปีมาแล้ว ในอดีตมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแทบทุกครัวเรือน ผลงานจะมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ในครัวเรือน ปัจจุบันเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ คือ แหล่งดินจึงทำให้จำนวนผู้ผลิตลดลงอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2544- 2545 คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ดำเนินการวิจัยตามโครงการ “ยกระดับคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาค”  ของกองการเหมืองแร่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม  เพื่อศึกษาสำรวจปริมาณสำรองแหล่งดิน การสาธิตการขุดดิน การตรวจสอบสมบัติของดิน การปรับปรุงเนื้อดินปั้น และการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา  และในปี พ.ศ. 2551 สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะอาจารย์และนักศึกษาได้ไปศึกษาวิจัยและแนะนำวิธีการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา โดยมี ผศ. ธนสิทธิ์ จันทะรี เป็นหัวหน้าโครงการ ทำให้ชาวบ้านหัวบึงริเริ่มตั้งกลุ่มผลิตเครื่องปั้นดินเผาและดำเนินการจดทะเบียนภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผา

อุปกรณ์การผลิตเครื่องปั้นดินเผา
1. โครกตำดินเชื้อ ทำจากลำต้นของต้นไม้เต็ง-รัง สูงประมาณ 80 เซนติเมตร เจาะเป็นโปรงรูปโครก
2. ดินเหนียว แหล่งดินเหนียว ได้แก่ บ่อดินบ้านดอนช้าง (ปัจจุบันดินเหนียวหมดแล้ว) แหล่งดินที่บ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม และบ้านหนองแดง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
3. แกลบสด ที่ยังไม่เผา (เปลือกของข้าวเหนียว)
4. ลำเพลิน ทำจากลำต้นของไผ่นำมาจักสานเป็นแผ่นขนาด กว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร ใช้สำหรับนวดดิน
5. ดินดุ  มีรูปร่างเหมือนดอกตูมของเห็ด ใช้สำหรับรองตีหม้อดิน
6. ไม้ตีดิน (Paddle wood)  มีลักษณะเหมือนไม้พายมีด้ามสั้นหนาประมาณ 1 นิ้ว ใช้สำหรับตีหม้อดินให้เนื้อดินแน่น
7. ไม้ลายหรือไม้สักคอ  ลักษณะเหมือนไม้ตีดินมีลาย มีหลายขนาด ใช้สำหรับทำลายที่คอหม้อดิน
8. ใบสะหวี  ทำจากก้านใบสัปปะรด ใช้สำหรับบีบรีดขอบปากหม้อให้แน่นและแข็งแรง
9. แท่นวางเบ้าดิน  สำหรับรองเวลาตีขึ้นรูปหม้อดิน ทำจากลำต้นของต้นไม้เต็ง-รัง 50-100 เซนติเมตร

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาหม้อขะโนน
กระบวนการผลิตหม้อขะโนนแบ่งตามขั้นตอนออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ขั้นตอนการเตรียมดิน
         1.1   นำดินเหนียวที่เตรียมจากบ่อดินมาแซ่น้ำในอัตราส่วนจนน้ำซึมซับเข้าในเนื้อดิน 
นำไปตากในร่มจนสะเด็ดน้ำ (ประมาณ 1 ชั่วโมง)
         1.2   นำดินที่สะเด็ดน้ำมาผสมกับแกลบในอัตราส่วน ดิน 1 กิโลกรัม แกลบ 2 กิโลกรัม  
(แกลบ คือ เปลือกข้าวที่สีเอาเม็ดออกแล้ว) คลุกให้เข้ากัน ปั้นเป็นก้อนขนาดสองมืออุ้ม ประกบกันนำไปตากแดดประมาณ 2-3 วัน เรียกว่า     
“ดินเชื้อ”
         1.3   นำดินเชื้อไปเผาไฟ (ไฟแกลบเผา) จนดินสุกหรือดินมีสีแดงอิฐ  พักให้ดินเย็นตัว ประมาณ 1 วัน
         1.4    เก็บดินเผาแดงสีอิฐที่เย็นตัวแล้วไปตำบดด้วยโครกไม้ให้ดินแตกละเอียด และร่อนเอาเฉพาะดินที่ละเอียด

2. ขั้นตอนการนวดดิน
นำดินร่อนละเอียดไปผสมกับดินแช่น้ำ (ขั้นตอนที่ 1. 1) และตากจนสะเด็ดน้ำคลุกให้เข้ากันโดยวางดินบนลำเพลิน (ปัจจุบันใช้ผ้ายางรองแทน) นวดดินโดยใช้เท้าเหยียบย่ำจนดินเหนียวแบนราบเป็นแผ่นเรียบ แล้วพลิกกลับด้านบนลงใช้เท้าเหยียบย่ำอีก จนดินเหนียวแบนราบเป็นแผ่นเรียบ ระหว่างนี้ช่างจะพรมน้ำเพื่อปรับความเหนียวและให้ง่ายต่อการนวดดิน พับครึ่งดินใช้เท้าเหยียบย่ำไปเรื่อย ๆ จนดินเหนียวแบนราบเป็นแผ่นเรียบ ทำซ้ำกันเช่นนี้ไปจนกระทั่งเนื้อดินเชื้อกับเนื้อดินเหนียวแช่น้ำกลายเป็นเนื้อดินเดียวกัน เมื่อเสร็จแล้วห่อดินนวดด้วยพลาสติก เพื่อป้องกันความชื้นและการระเหยของน้ำในเนื้อดิน

3. ขั้นตอนการขึ้นรูป
3.1   การจกเบ้า  คือ การปั้นดินนวดให้เป็นก้อนกลมรูปทรงกระบอก (ชาวบ้านเรียกดินเบ้า) ความสูงตามขนาดของหม้อที่ต้องการจะทำ  ใช้หัวแม่มือกดนำร่องด้านบนตรงกลาง  นำไม้ไผ่กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว แทงให้ทะลุด้านล่าง แล้ววางนอนกลิ้งบนพื้นให้รูขยายออก ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งจกเข้าไปในรูกลวง (จก เป็นภาษาอีสานหมายถึงการล้วงมือเข้าไป)  บีบและดันผนังก้อนดินเบ้า ใช้มืออีกข้างประคองให้รูขยายออกจนผนังดินเบ้าหนา 1 นิ้ว  นำไปตากในร่มให้หมาด ก่อนจะตีขึ้นรูปหม้อ หรือภาชนะตามต้องการ
3.2   วางดินเบ้าบนฐานไม้  เดินตีดินเบ้าไปรอบ ๆ ด้วยไม้ตีเรียบ และใช้ดินดุมีหลายขนาดเลือกตามต้องการรองตีขึ้นรูปทรงของหม้อคร่าว ๆ แต่ยังไม่ทำปากและทำก้นของหม้อ
3.3   การทำขอบปากหม้อดิน เรียกว่า “การสะหวีปาก”  เอาใบสะหวี (เดิมใช้ใบสับปะรด ปัจจุบันใช้แผ่นพลาสติกบาง ๆ แทน) วางบนฝ่ามือ บีบกดที่ขอบเบ้าดินให้ได้น้ำหนักพอเหมาะแล้วเดินถอยหลังอย่างรวดเร็วให้เป็นวงกลมจะได้ขอบปากตามขนาดร่องใบสะหวี จากนั้นใช้นิ้วมือปรับรูปทรงปากของหม้อให้แน่นและนูนตามต้องการปล่อยให้ดินแห้งพอหมาด
3.4   การตีสักคอลาย  เป็นการขึ้นลายที่คอของหม้อดินด้วยไม้ลายก่อนตีให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเพื่อไม่ให้ไม้ลายติดดิน นอกจากนี้ยังมีการตีพิมพ์ลายด้วยลูกกลิ้ง เสร็จแล้วตากในร่ม 1 คืน จึงทำขั้นตอนต่อไป
3.5   การตีขึ้นรูปทรงหม้อดิน ขั้นตอนนี้เรียกว่า  “การตีดุน”  ใช้ไม้ลายและดินดุ มีหลายขนาด ก่อนตี นำไม้ลายและดินดุชุบน้ำเพื่อไม่ให้ติดชิ้นงาน ใช้ไม้ลายตีด้านนอก เลือกดินดุขนาดให้เหมาะกับส่วนรองตีรองด้านในเวลาตีเดินวนรอบชิ้นงานตีไล่ขึ้นลงให้ผนังขยายออกตีปรับผนังให้สม่ำเสมอจนเป็นรูปทรงหม้อ จากนั้นนำหม้อดินเก่า ตัด 1/3 ส่วน ทำเป็นฐาน นำหม้อดินวางบนฐานคว่ำด้านปากลง ปรับส่วนโค้งกับฐานจะได้สัดส่วนของหม้อที่สวยงาม
3.6   การตีจอดก้น  เป็นการตีปิดทำก้นของหม้อ ช่างตีจะนั่งลงกับพื้นชันหัวเข่าขึ้นโดยอุ้มหม้อวางบนตักไม่ให้ขอบปากหม้อถูกส่วนใดของร่างกาย ใช้ดินดุรองสอดด้านปากตีด้วยไม้ตีด้านนอกไล่ตีเนื้อดินให้จรดกันตีไล่เนื้อดินจนกระทั่งมีความหนาสม่ำเสมอกัน (ช่างจะฟังเสียงขณะตี ก็จะรู้ความหนาของผิวผนัง) คว่ำหม้อดินใช้น้ำพรมลูบให้ผิวหม้อเรียบและสวยงาม  นำไปตากในร่ม (หากชิ้นงานมีขนาดใหญ่มากก็ให้ตากเฉพาะในร่มจนแห้งสนิท) เมื่อแห้งพอประมาณ นำไปตากแดด  (ขั้นตอนการตากใช้เวลา 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นของอากาศ) ตรวจดูสภาพ  เช่น ความชื้น การหดตัวของเนื้อดินของหม้อดินให้เรียบร้อยก่อนนำไปเผาในเตา
 
4. ขั้นตอนการเผา
การเผาจะใช้เตาแบบกลางแจ้ง (กลางทุ่งนา) ชาวบ้านเรียกว่า “เตานอก หรือ เตาดาด”  ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
4.1   เตรียมพื้นที่ที่เป็นพื้นเรียบ แห้งสนิท จัดวางก้อนเส้าเป็นฐานรองไม้ฟืนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วางก้อนเส้า ประมาณ 9-20 หลัก ขึ้นอยู่กับจำนวนของหม้อที่จะเผา ก้อนเส้าจะสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร วางห่างกัน 5 ก้าวเท้าคน
4.2   วางไม้ฟืนบนก้อนเส้า  ไม้ฟืนจะต้องโค้งและคดงอน้อยที่สุด วางพาดขวางสลับกันไป 3-4 ชั้น เป็นฐานสำหรับวางหม้อดิน
4.3   นำหม้อวางบนฟืนโดยคว่ำปากหม้อลงเพื่อให้ความร้อนอบในหม้อดินทำให้เนื้อดินสุกอย่างทั่วถึง การวางหม้อดินต้องชิดกันและวางซ้อนกันสูงเป็น 2-3 ชั้น ขึ้นกับขนาดของเตา
4.4   การเผา ใช้ฟางข้าวสอดเข้าไปใต้ไม้ฟืนทุกด้าน จุดไฟให้ไม้ฟืนไหม้จนทั่ว แล้วให้เริ่มหอบฟางวางบนหม้อดินให้ทั่ว ไฟจะลุกไหม้สุมฟาง หากไฟไหม้ไม่ทั่วถึงต้องเอาไม้ยาว ๆ คอยเขี่ยให้ไฟลุกไหม้ฟางอย่างสมบูรณ์ สุมฟางไปเรื่อย ๆ จนฟืนลุกไหม้เกือบหมด สังเกตดูการทรุดตัวของฟืนลงจากก้อนเส้า หม้อดินจะพยุงกันไม่ให้ล้มลง ให้สุมฟางไปอีกสักพักก็จะเสร็จขั้นตอนการเผา สังเกตดูสีของผิวหม้อดิน (ก้อนเส้า 9 หลัก ใช้เวลาเผาประมาน 30 นาที  หากมีก้อนเส้ามากกว่าให้ใช้เวลาเผานานขึ้น)
4.5   ทิ้งหม้อดินในเตาเผาให้เย็นตัวลงก่อน โดยใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง สามารถนำออกมาจากเตาได้

การใช้ประโยชน์จากหม้อดิน
     ชาวบ้านเรียกหม้อดินนี้ว่า  “หม้อขะโนน”  เป็นหม้อสำหรับใช้ประกอบอาหาร เช่น หม้อหุงข้าว หม้อแกง หม้อต้ม หม้อสำหรับนึ่งข้าวเหนียว ตุ่มใส่น้ำดื่ม ไหเก็บอาหารหรือสิ่งของ นอกจากเก็บไว้ใช้เองแล้ว ชาวบ้านยังนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของและจำหน่าย  ในบางครั้งอาจใช้เป็นของฝากผู้มาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านอีกด้วย


แหล่งอ้างอิง

ธนสิทธิ์ จันทะรี.  (2551).  รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง โครงการพัฒนาเนื้อดินปั้น และเคลือบเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่อง  ปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน. ขอนแก่น คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สรุปผลการวิจัยโครงการยกระดับคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาค.  (2545).  กรุงเทพฯ: กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม.
ก้าน เกิดดี.  (2553).  สัมภาษณ์ 27 สิงหาคม 2553.
กุล กัมพล.  (2553).  สัมภาษณ์ 27 สิงหาคม 2553.
แสง เกิดดี.  (2553).  สัมภาษณ์ 27 สิงหาคม 2553.


 


Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th