เสื่อหรือสาดเป็นของใช้สำหรับบ้านและวัด มีวิวัฒนาการมานานเช่นเดียวกับพรม วิถีชีวิตของชาวอีสานเกือบทุกหลังคาเรือนจะใช้เสื่อหรือสาดปูนั่ง และปูนอน นอกจากนี้ตามประเพณีทางศาสนาพุทธนิยมใช้เสื่อเป็นเครื่องอัฐบริขารในพิธีอุปสมบทหรือพิธีทอดกฐิน
เสื่อที่ใช้มีทั้งเสื่อแบบหยาบ ๆ และเสื่อประณีต เสื่อเป็นของใช้สำหรับบ้าน เวลามีคนมาเยี่ยมยามหรือไปมาหาสู่ ชาวบ้านนิยมใช้เสื่อมาปูนั่ง จนมีคนพูดกันติดปากว่า "เลี้ยงดูปูเสื่อ" ดังนั้น จุดมุ่งหมายในการทอเสื่อในยุคโบราณจึงเป้นไปเพื่อใช้สอยในครัวเรือน บ้านใดไม่มีเสื่อใช้ถือว่าบ้านนั้นเป็นคนเกียจคร้าน ไม่มีฝีมือ หนุ่มสาวที่แต่งงานใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่ จะต้องมีฟูก หมอน และเสื่อ ที่ฝ่ายหญิงต้องจัดเตรียมสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน ความจำเป็นดังกล่าวนี้ ทำให้มีการทอเสื่อไว้ใช้ในครัวเรือน
ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนไปเป็นสังคมเศรษฐกิจยุคใหม่ วิถีชีวิตของชาวอีสานก็เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ชาวอีสานนิยมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น บ้างก็รับราชการหรือประกอบอาชีพอิสระ ทำให้ไม่มีเวลาที่จะมาทอเสื่อขึ้นใช้เองอีกต่อไป แต่ความจำเป็นในการใช้เสื่อยังมีอยู่ จึงนิยมซื้อหาแทนการทอเสื่อขึ้นใช้เอง เมื่อความต้องการมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทอเสื่อมีอาชีพทอเสื่อเพื่อจำหน่าย บางรายทอเสื่อจนมีชื่อเสียง กลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ดังเช่น เสื่อของบ้านโต้น อำเภอพระยืน เป็นต้น
ดูเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอพระยืน. (255). เว็บไซต์แหล่งเรียนรู้การทอเสื่อบ้านโต้น. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2553 จาก http://202.143.137.100/centerpy/index2.html