ประวัตินายสมบัติ สิมหล้า
เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2506 ที่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 8 บ้านวังไฮ ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เป็นบุตรของนายโปง นางบุดดี สิมหล้า (เสียชีวิตแล้วทั้งสองคน)
ปัจจุบันอายุ 48 ปี สมรสกับนางนิว ทืนหาญ มีบุตรสาว 1 คน คือ เด็กหญิงสุพัตรา สิมหล้า กำลังศึกษาในระดับประถมศึกษา ชั้นปีที่ 6 ร.ร.บ้านวังไฮ ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม
ประวัติด้านการศึกษา
ศึกษาอักษรเบล์ล ที่จังหวัดนนทบุรี
ประวัติการศึกษาด้านดนตรี
เมื่ออายุประมาณ 5-6 ขวบ นายโปง สิมหล้า ผู้บิดาซึ่งเป็นหมอแคน มีความคิดว่าบุตรชายตาบอด ถ้าไม่หัดเป่าแคนแล้วจะไปทำมาหากินอะไรได้ นายโปงจึงไปซื้อแคนสามมาให้เด็กชายสมบัติ สิมหล้า หัดเป่า โดยนายโปงเป็นครูสอนเป่าแคนลายใหญ่ให้เป็นคนแรก ครูคนต่อมาคือ นายทองดี ได้สอนเป่าลายแคนใหม่ ๆ ให้กับนายสมบัติ ต่อมาได้รู้จักกับหมอแคนทองจันทร์ ที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ผู้ซึ่งเป่าแคนให้กับ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ซึ่งเป็นหมอลำทำนองอุบล โดยจะเป่าแคนให้ฟังแล้วให้นายสมบัติเป่าตาม แต่ก็ยังเป่าได้ไม่ดีไปกว่าเดิม ท้ายที่สุดหมอแคนทองจันทร์ได้ใช้วิธีนำปลอกมือมาถักเข้ากับมือของตน แล้วให้มือของนายสมบัติทาบทับ แล้วมัดติดกันอีกที ทำเช่นนี้ประมาณ 30 วัน นายสมบัติก็สามารถเป่าแคนตามหมอแคนทองจันทร์ได้ โดยอาศัยการจำเสียง และเมื่อได้ความรู้จากหมอแคนทองจันทร์แล้ว จึงได้ตระเวนเป่าแคนขอทานไปยังที่ต่างๆ จนวันหนึ่งได้เดินทางไปที่ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ได้พบกับหมอลำคำพัน ฝนแสนห่า และหมอลำวิรัช ม้าแข่ง ได้ชักชวนให้นายสมบัติเข้าวงการหมอลำเป็นครั้งแรก
อ.สมบัติ สิมหล้า ขณะกำลังเล่าประวัติชีวิตในวัยเด็กของตนเองให้ผู้เขียนฟัง
ผลงานด้านการเป่าแคนและรางวัลที่ได้รับ
พ.ศ. 2518 วิทยาลัยครูมหาสารคาม ได้จัดงานมรดกอีสานและจัดให้มีการประกวดเป่าแคน นายสมบัติได้ไปร่วมประกวด และด้วยลีลาการเป่าแคนที่ใช้วิธีเป่าแคนเลียนเสียงเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ เช่น เพลงวณิพกของคาราบาว และเพลงสากลอื่น ๆ รวมไปถึงการเป่าแคนให้เป็นเสียงซอ ทำให้คณะกรรมการตัดสินให้นายสมบัติเป็นผู้ชนะในงานมรดกอีสาน
พ.ศ. 2521 ชนะเลิศการประกวดเป่าแคนในงานสาวผู้ดีที่ราบสูง ที่วิทยาลัยคณาสวัสดิ์ จ.มหาสารคาม
หลังจากนั้นนายสมบัติได้เข้าร่วมประกวดการเป่าแคนทั่วทุกภูมิภาคและผลการประกวดก็ชนะเลิศอันดับหนึ่งเช่นเคย ต่อมาจึงได้มีการบันทึกเทปการเป่าแคนให้กับหมอลำคณะอุบลมหาราช ซึ่งถือว่าเป็นหมอลำคณะแรกที่เป่าแคนบันทึกแผ่นเสียงให้ จนทำให้หมอลำคณะนี้มีชื่อเสียง คณะต่อมาคือ คณะเพชรบูรพายุคใหม่ ของ สุภาพ ดาวดวงเด่น เจ้าของผลงานเพลง “คิดฮอดเสียงซอ” และคณะเพชรสีคราม หมอลำทำนองสารคาม หลังจากนั้นก็บันทึกเสียงให้กับหลายคณะ
เส้นทางหมอแคนของนายสมบัติ รุ่งโรจน์สุดขีดในปี พ.ศ.2523 เมื่อนายบรูซ แกสตั้น แห่งวงฟองน้ำ เล็งเห็นอัจฉริยะการเป่าแคนของนายสมบัติ ที่มีลูกเล่นแพรวพราวต่างจากหมอแคนทั่ว ๆ ไป จึงนำเข้าร่วมแสดงด้วย นายสมบัติอยู่กับวงฟองน้ำประมาณ 5 ปี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก รายการ “ทไวไลท์โชว์” ช่อง 3 จึงเชิญไปร่วมรายการ และยังมีรายการคุณพระช่วย เชิญไปออกรายการประชันกับวงดนตรีคลาสสิก ยิ่งทำให้นายสมบัติเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ
รายการคุณพระช่วย
พ.ศ. 2541 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณยอดหมอแคนแดนอีสาน จากพรรคความหวังใหม่
พ.ศ. 2545 ได้รับโล่รางวัลสร้างสรรค์ผลงานดีเด่น สาขาดนตรีพื้นบ้าน จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
พ.ศ. 2545 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณเป็นศิลปินดีเด่น จังหวัดมหาสารคาม สาขาศิลปะการแสดง (ด้านหมอแคน) จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2550 ได้รับโล่เกียรติคุณเป็นศิลปินมรดกอีสาน ประเภทศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้านที่ได้สร้างสรรค์พัฒนา อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
พ.ศ. 2553 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ลายแคนที่สร้างชื่อเสียง
นายสมบัติ เป็นอัจฉริยะด้านการเป่าแคน ลายแคนที่สร้างชื่อเสียง คือ ลายใหญ่ ลายน้อย ลายรถไฟ ลายสร้อย ลายวัวขึ้นภู และลายโป้ซ้าย
นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการเป่าลายแคนอิสระ ซึ่งเป็นลายแคนร่วมสมัย คือ โบว์รักสีดำ ชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้ สกาเลเก้ และหมาหยอกไก่ ซึ่งเป็นลายแคนที่แต่งทำนองขึ้นเองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ใช้เวลา 1 เดือนในการแต่งทำนอง
อ. สมบัติ สิมหล้า ขณะกำลังสาธิตลายแคนหมาหยอกไก่ให้ผู้เขียนฟัง
ลายแคนหมาหยอกไก่
ลายแคนรถไฟ
ความสามารถพิเศษ
นายสมบัติ สิมหล้า นอกจากจะมีความสามารถด้านการเป่าแคนอย่างอัจฉริยะแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษในการทายทักดวงชะตาของผู้คนได้อย่างแม่นยำอีกด้วย โดยอาศัยสัมผัสพิเศษที่ท้าทายทุกท่านที่สนใจลองสัมผัสดูด้วยตนเอง
แหล่งอ้างอิง
สมบัติ สิมหล้า. (18 กุมภาพันธ์ 2554). สัมภาษณ์. ศิลปินดีเด่นด้านการเป่าแคน. บ้านเลขที่ 22 หมู่ 8 บ้านวังไฮ ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม.
นายิกา เดิดขุนทด เขียนเรื่อง
วรพงษ์ เดิดขุนทด ถ่ายภาพ