หลวงพ่อพระลับ เป็น "พระพุทธรูปปางมารวิชัย" หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว สูง ๒๙ นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฎกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว เหลือบตาลงต่ำ พระนาสิกสันปลายแหลม พระโอษฐ์แย้ม ขนาดพระเกษาเล็กแหลม พระเกตุมาลาใหญ่ รัศมีเป็นเปลวตั้งอยู่บนฐานกลีบบัว ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ฐานปัทม์ยกสูงทรงสี่เหลี่ยมบัวคว่ำหงาย และ แนวลูกแก้วอกไก่งอนขึ้นทางด้านบน
หลวงพ่อพระลับ จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาว "สกุลช่างเวียงจันทน์" คล้ายพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ ปัจจุบันหลวงพ่อพระลับประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุ (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อพระลับ
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ (พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๑๑๔) เป็นกษัตริย์ครองเมืองหลวงพระบาง เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองหลวงพระบาง พ.ศ. ๒๐๙๐ พระองค์อพยพไปตั้งเมืองหลวงใหม่ ชื่อ "เวียงจันทน์บุรีศรีสัตนาค" การอพยพครั้งนี้ได้นำพระแก้วมรกต พระบาง พระพุทธรูปองค์อื่นๆไปด้วย ซึ่งพระพุทธรูปทั้งหมดสร้างในสมัยเชียงแสน เชียงใหม่ และสมัยพระเจ้าโพธิสารมหาธรรมิกราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๖๓-๒๐๙๐) จากการศึกษาพระพุทธลักษณะจึงสันนิษฐานว่า "หลวงพ่อพระลับ" สร้างขึ้นโดย "พระเจ้าโพธิสาร พระมหาธรรมิกราชาธิราช" ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๐๖๘ ณ นครหลวงพระบาง เมื่อ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ สวรรคต พ.ศ. ๒๑๑๔ พระเจ้าศรีวรมงคล ผู้น้องขึ้นครองราชย์สืบมา พระนามว่า "พระยาธรรมิกราช" (พ.ศ. ๒๑๓๔-๒๑๖๕) มีโอรส ๑ องค์ ชื่อ "เจ้าศรีวิชัย"
เมื่อพระยาธรรมิกราชสิ้นพระชนม์กลุ่มของพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้า ยึดเมืองเวียงจันทน์ได้ เจ้าศรีวิชัยจึงหลบหนีพร้อมนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไม่ทราบจำนวน ซึ่งมี "หลวงพ่อพระลับ" รวมอยู่ด้วย ไปอาศัยอยู่กับท่านพระครูหลวง (เจ้าอาวาสวัดโพนสะเม็ด) เจ้าศรีวิชัยมีโอรสอยู่ ๒ องค์ คือ "เจ้าแก้วมงคล หรือ อาจารย์แก้ว หรือ แก้วบูธม" และ "เจ้าจันทร์สุริยวงศ์" พ.ศ. ๒๒๓๓ ท่านราชครูหลวงได้อพยพชาวเวียงจันทน์บางส่วนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ไปบูรณปฏิสังขรณ์ "พระธาตุพนม" แล้วพาครอบครัวเวียงจันทน์ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโขง เนื่องจากท่านราชครูได้รับความเคารพจากประชาชนมาก สองพี่น้องชื่อ นางเพา และนางแพง ซึ่งปกครองดูแลเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้อาราธนาท่านให้ไปอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ เพื่อปกครองบ้านเมืองให้ได้รับความสุข เมื่อท่านไปปกครองได้ขยายอาณาเขตนครจำปาศักดิ์ให้กว้างขวางออกไป และสร้างเมืองใหม่ ไม่ขึ้นต่อเมืองเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง โดยได้อัญเชิญ "เจ้าหน่อกษัตริย์" หรือ "เจ้าหน่อคำ" มาเสวยราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ปกครองนครจำปาศักดิ์ใหม่ ทรงพระนามว่า "เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร" (พ.ศ. ๒๒๕๖-๒๒๘๐ และได้ให้ "อาจารย์แก้ว หรือ เจ้าแก้วมงคล หรือ เจ้าแก้วบูธม" อพยพครอบครัวพร้อมประชาชนพลเมือง นำเอาพระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเวียงจันทน์ ไปสร้างเมืองทง หรือ "เมืองสุวรรณภูมิ" (ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) เจ้าแก้วมงคล ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนแรก (พ.ศ. ๒๒๕๖-๒๒๖๘) จากนั้นก็มีเจ้าเมืองสืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๓๒๖ "ท้าวภู" ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พระรัตนวงษา" ได้แต่งตั้งให้ลูกชาย "ท้าวศักดิ์" ไปดำรงตำแหน่ง "เมืองแพน" มียศเป็น "เพีย" เทียบเท่าพระยาฝ่ายทหาร ให้ไปตั้งรักษาการณ์อยู่ริมแม่น้ำชี สถานที่นั้น เรียกว่า "ชีโหล่น"
ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๓๔๐ ท้าวศักดิ์ซึ่งมีตำแหน่ง “เพี้ยเมืองแพน” เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบท ก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงได้อพยพประชาชนพลเมือง ประมาณ ๓๓๐ ครอบครัว พร้อมนำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ไปไว้เคารพสักการะเป็นมิ่งขวัญเมืองด้วย เห็นว่าบริเวณโดยรอบบึงมีต้นบอนเกิดขึ้นมากเป็นทำเลดีอยู่ใกล้ลำน้ำชี อีกทั้งสองฝั่งบึงเป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง จึงตั้งบ้านใหม่เรียกว่า "บ้านบึงบอน" ดังปรากฏข้อความในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตรว่า
“ลุจุลศักราช 1159 ปีมเสง นพศก (พ.ศ. 2340) ฝ่ายเพี้ยเมืองแพน บ้านชีโล่น เมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบท ก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนให้อยู่ในบังคับสามร้อยคนเศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระยานครศรีบริรักษ์ เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา...”
นอกจากนี้เอกสารพงศาวดารอีสานฉบับพระยาขัติยวงศา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) ได้กล่าวถึงการตั้งเมืองขอนแก่นว่า
“...ได้ทราบข่าวว่าเพี้ยเมืองแพน บ้านชีโล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ พาราษฎรไพร่พลประมาณ 330 คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพี้ยเมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น...”
หลังจากนั้นได้มีการย้ายเมืองขอนแก่นอีกหลายครั้ง (ดูเพิ่มเติมการย้ายถิ่นฐานเมืองขอนแก่นในบทความเรื่อง มูนมังขอนแก่น) และได้ก่อสร้างหลักเมืองฝั่งตะวันตกของบึง (ปัจจุบันอยู่ที่ "คุ้มกลาง" เมืองเก่า) เมื่อสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้น ๔ วัด คือ "วัดเหนือ" ให้เจ้าเมืองและลูกไปทำบุญอุปัฎฐาก "วัดกลาง" ให้เสนาอำมาตย์พร้อมลูกหลานไปทำบุญอุปฎฐาก "วัดใต้" ให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทำบุญอุปัฎฐาก "วัดถ่าแขก" หรือ "ท่าแขก" อยู่ฝั่งบึงด้านทิศตะวันออก สำหรับพระภิกษุ อาคันตุกะจากถิ่นอื่นๆ มาจำวัดหรือพักอาศัยและประกอบพุทธศาสนพิธี (ปัจจุบันเป็นศาลเจ้าบ้านโนนทัน) ในการสร้างวัดต่างๆ หรือ "หอ" หรือ "โฮ่ง" ปูชนียสถานทางพุทธศาสนาของชาวลาวที่อพยพมาด้วย ล้วนไม่ชำนาญการใช้วัสดุก่อสร้าง วัดที่สร้างด้วยไม้จึงไม่แข็งแรงมั่นคง จึงได้นำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดไปซ่อนไว้โดยถือเป็นความลับเพราะกลัวขโมย หรือพวกอันธพาลมาลัก มาทำลาย เมื่อสร้างวัดเหนือแล้วจึงสร้างธาตุมีอุโมงค์ภายในนำเอาพระพุทธรูปไปเก็บซ่อนไว้อย่างลับที่สุด รู้แต่เจ้าอาวาสวัดเหนือเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า "พระลับ" หรือ "หลวงพ่อพระลับ" สืบมาจนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๔๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" ตั้งให้ "ท้าวศักดิ์" ซึ่งเป็น "ท้าวเพียเมืองแพน" เขตเมืองสุวรรณภูมิเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรกมีนามว่า "พระนครศรีบริรักษ์" ส่วนการปกปิดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้ในธาตุไม่มีใครเห็นจึงไม่ทราบว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ก็เรียกว่า "พระลับ" คนรุ่นต่อมาขยายบ้านเมืองมาตั้งบ้านขึ้นใหม่ด้านเหนือเมืองเก่าจึงเรียกว่า "บ้านพระลับ" ทางราชการย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอเรียกว่า "อำเภอพระลับ" อยู่ในท้องที่ "บ้านพระลับ" เป็น "ตำบลพระลับ" ย้ายศาลากลางมาตั้งที่บ้านพระลับเรียกว่า "จังหวัดขอนแก่น" ปัจจุบันบ้านพระลับกลายเป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น เหลือเป็นอนุสรณ์ "ตำบลพระลับ" อยู่ทางทิศตะวันออกเมืองขอนแก่น เมื่อได้เป็นจังหวัดขอนแก่นแล้ว วัดเหนือเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดธาตุ (พระอารามหลวง)" " วัดคง” ชื่อเดิม "วัดใต้" ตั้งอยู่ริมหนองน้ำที่มีต้นแวงขึ้นมากจึงเรียกว่า "วัดหนองแวง (พระอารามหลวง)”
ครั้นถึงสมัย "หลวงปู่พระเทพวิมลโมลี" (เหล่า สุมโน) เป็นเจ้าอาวาส และรองเจ้าคณะภาค 9 (มหานิกาย) รองอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น ท่านมีอายุได้ ๘๖ พรรษา เกรงว่าต่อไปจะไม่มีใครรู้จักหลวงพ่อพระลับ ท่านจึงได้เชิญ นายกวี สุภธีระ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มาเป็นสักขีพยานเปิดเผยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองขอนแก่น ให้สาธุชนรู้จักและทำพิธีสมโภชอย่างเป็นทางการ เมื่อวันออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ (วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗) นาม "หลวงพ่อพระลับ" จึงเป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพสักการบูชาของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แหล่งอ้างอิง
จารุมุกต์ เรืองสุวรรณ และคณะ. ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อพระลับ. ค้นเมื่อ 26 พ.ย.2553 จาก http://www.khonkaenlink.info/khonkaen_info/history/pralub.html
จิ๊กโก๋โรแมนติค. (2552). ที่มาของชื่อ “ขอนแก่น”. ค้นข้อมูลวันที่ 15 ตุลาคม 2553 จาก
http://www.oknation.net/blog/tourdeedee/2009/10/12/entry-3
เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด