พระธาตุพระอานนท์ หรือ พระธาตุยโสธร เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม ยอดแหลมสูง ศิลปะล้านช้าง ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุ ของพระอานนท์ พระเถระผู้คอยดูแลอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาว ที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับประวัติ การตั้งเมืองและประวัติของวัดมหาธาตุฉบับหนึ่งว่า สร้างราว พ.ศ. ๒๓๒๑ โดยท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระวอ พระตา ราว พ.ศ. ๒๓๑๓-๒๓๑๙ มาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้
สถาปัตยกรรม
เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ๘ เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูนมีความสูง ๒๕ เมตร ๓๐ เซ็นติเมตร ฐานประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนกัน ๓ ชั้น เอวฐานคอดกิ่ว รองรับชุดฐานบัวคว่ำ บัวหงาย ท้องไม้มีลวด ลายบัวลูกแก้ว อกไก่คั่นกลาง เรือนธาตุค่อนข้างสูง แต่คั่นจังวะให้ดูเล็กลงด้วยบัวคว่ำ – บัวหงาย หยักซ้อนกันขึ้นไปในช่วงล่าง รองรับซุ้มจรนัม (ซุ้มประตู ๔ ทิศ) ประดิษฐานรูปพระอานนท์ยืนอยู่กึ่งกลางขององค์พระธาตุทั้ง ๔ ทิศ มียอดซุ้มโค้งแบบหน้านาง มีทรวดทรงรูปพรหม ๔ หน้าและรูปราหูอมดวงจันทร์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (หน้าพระอุโบสถ) อยู่ช่วงที่ ๓ ขององค์พระธาตุ ตกแต่งลายปนปั้นทางสีเหลืองส่วนยอดทรงดอกบัวเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรวดทรงบัวเหลี่ยมของพระธาตุองค์อื่นคือ มีกระเปาะยื่นออกมาทั้ง ๔ ด้าน เบื้องบนสุดเป็นยอดฉัตรและมีธาตุเล็กอีกองค์ อยู่ด้านข้างพระธาตุอานนท์ ซึ่งเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิ ของเจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา (อดีตเจ้าเมืองสิงห์ท่า) สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวง ลักษณะพระธาตุได้รับอิทธิพลศิลปะจากเมืองหลวงพระบาง มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ตั้งตระหง่านเด่นชัด (ปลายยอดเจดีย์เอียง)
หอไตร วัดมหาธาตุ
หอไตร เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานของวัด ตั้งอยู่ตรงกลางสระน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ แผนผังเป็น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้ สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนังมีลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบ ภาคกลางสันนิษฐานว่า หอไตรน่าจะสร้างขึ้นประมาณ สมัยรัชกาลที่ ๔-๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
คำนมัสการพระธาตุพระอานนท์
กาเยนะ วาจาปิ เจตะสา จะ อานันทัตเถรัสสะ ธาตุ อภิวาทะยามะ
ทีปะสักการะวะ รามิเสนะ อานันทัตเถรัสสะ ธาตุ อภิปูชะยามะ ตัสสานุ
ภาเวนะ สุขะ สัพพะทา สัพพัญจะ ทุกขัง ขียะติ อะเสสะกัง
คำแปล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขออภิวาทกราบไหว้ พระธาตุแห่งพระอานนท์เถระเจ้า ด้วยกาย วาจา และใจ ขอสักการะ
พระธาตุของพระอานนท์เถระเจ้า ด้วยสักการะวะรามิส มีธูปเทียนเป็นต้น ด้วยอานุภาพแห่งการกราบไหว้บูชานั้น
ขอความสุขจงมีทุกเมื่อ ส่วนความทุกข์ทั้งปวง จงสิ้นไป หาส่วนเหลือมิได้ เทอญ.
แหล่งอ้างอิง
MooHin.com. (C.2010). พระธาตุยโสธรหรือพระธาตุพระอานนท์. สืบค้นเมื่อ 28 ธ.ค. 2553 จาก http://www.moohin.com/047/047k002.shtml
At-Bangkok.com. (C.2004). วัดมหาธาตุยโสธร. สืบค้นเมื่อ 28 ธ.ค. 2553 จาก http://www.at-bangkok.com/travel_yasotorn-wat_mahatat.php
Relicsofbuddha.com. (C.1999). พระอานนท์. สืบค้นเมื่อ 28 ธ.ค. 2553 จาก http://www.relicsofbuddha.com/barahun/page8-1-11.htm
ผู้จัดทำ นายนที อุสาพรม (นักศึกษาฝึกงาน)