ค้นหา:
ค้นหาขั้นสูง
|
เลือกดูตามหมวดหมู่:
|
English Version |
ประเพณีแต่งงานชาวอีสาน (ประเพณีกินดอง) |
|||||
การแต่งงานเป็นระยะเริ่มต้นแห่งชีวิตครอบครัวของชายหญิงที่ยอมรับตกลงจะเป็นสามีภรรยากัน อันได้เข้าพิธีแต่งงานเป็นปกติตามจารีตประเพณีที่มีอยู่ในสังคมนั้น พิธีแต่งงานไม่ว่าจะเป็นในหมู่ชนชาติใด มักเชิญญาติมิตรมาร่วมงานร่วมพิธีด้วย และมีเลี้ยงดูกันอย่างเอิกเกริก สำหรับประเทศไทย คำที่ใช้เรียกงานเลี้ยงเนื่องในงานนี้ของชาวไทยถิ่นต่าง ๆ มีดังนี้ ภาคพายัพ เรียกว่า กินแขก ภาคอีสาน เรียกว่า กินดอง ภาคกลางบางถิ่น เรียกว่า กินสามถ้วย และภาคใต้ เรียกว่า กินงาน หรือ กินเนี้ยว (คือ กินข้าวเหนียวนึ่งโรยน้ำตาลและมะพร้าวขูด) ที่เชิญญาติมิตรมากินเลี้ยง ก็เพื่อจะได้รู้เห็นเป็นพยานว่าทั้งสองคนได้เป็นสามีภรรยากันถูกต้องตามประเพณี ดังมีข้อความตอนหนึ่งในบทสู่ขวัญบ่าวสาวของชาวอีสานเมื่อวันประกอบพิธีแต่งงาน (ตอนท้ายบทความ) เพื่อประกาศความเป็นผัวเมีย ให้เจ้าโคตรตายายรู้เห็นกันทั้งสองฝ่ายก่อน จะได้เป็นสักขีพยานรู้เห็นว่า ทั้งสองได้เป็นสามีภรรยากันถูกต้องตามประเพณี การกินดอง การกินดอง คือ การกินเลี้ยงในงานเอาผัวเอาเมียของชาวอีสาน (แต่งงาน) เป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสาน กล่าวคือ เป็นการเริ่มชีวิตใหม่ของหญิงชายที่ตกลงจะใช้ชีวิตร่วมกันแบบสามีและภรรยาและคิดที่จะพึ่งตนเองต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งการเลือกคู่ครองโดยนัยโบราณ พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้เลือกให้ตามคติโบราณ คุณสมบัติของชาย คือ ความขยันในการทำมาหากิน ดังคำโบราณว่า "ถ้าเขยใดดี ฝ่ามือต้องซา (สากเพราะมือด้านและแข็ง เนื่องจากใช้มือจับมีด จับจอบเสียมและคันไถ) เป็นคนขยันดี" นอกจากนั้นดูที่ความประพฤติดี โดยถือเอาการเล่าเรียนเขียนอ่านผ่านการบวชเป็นพระสงฆ์มาแล้ว ยิ่งถ้ามีการสักลายที่กกขา (โคนขา) แล้วถือว่าเป็นชายชาตรีดีนักแล เมื่อเป็นสามีแล้วจะได้คุ้มครองลูกเมียได้ดีมีสุข ส่วนคุณสมบัติของหญิงนั้น คำโบราณกล่าวว่า "หญิงใดสมบรูณ์ด้วยเฮือนสามน้ำสี่ เป็นหญิงเลิศล้ำสมควรแท้แม่เฮือน" เฮือนสาม ได้แก่ เฮือนผม เฮือนไฟ และเฮือนนอน มีความหมายดังนี้ ๑. เฮือนผม หรือเรือนผม ต้องรักษาความสะอาด เหมือนคำกลอนอีสานว่า "เป็นสาวนี้ธรรมเนียมให้มันข้อง (ดี) ตีนผมให้ล่ำเกี้ยง ตีนซิ่นให้ล่ำเพียง" ๒. เฮือนไฟ หรือเรือนไฟ หมายถึง การดูแลปฏิบัติครัวเรือนให้สะอาดเรียบร้อย จัดแจงบ้านเรือนเป็นระเบียบ ตลอดจนทำอาหารเป็นด้วย ๓. เฮือนนอน หรือเรือนนอน หมายถึง ที่อยู่อาศัยต้องดูแลรักษาให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนการปฏิบัติต่อสามีที่ดี น้ำสี่ ได้แก่ น้ำกิน น้ำใช้ น้ำใจ และน้ำเต้าปูน (น้ำที่ใส่เต้าปูนสำหรับทาปูนกินหมาก ชาวอีสานที่ยังนิยมกินหมากมีไว้สำหรับต้อนรับแขกที่มาเยือน) น้ำทั้งสี่นี้ต้องมิให้ขาดหรือแห้ง หญิงใดถูกต้องตามลักษณะนี้แล้วสมควรเป็นแม่เรือนดี ในสมัยก่อนชาวอีสานนิยมแต่งงานแล้วกินดองกัน มี ๒ แบบคือ แบบแรก ชายหญิงแต่งงานแล้ว ชายไปอยู่บ้านหญิง หรือบ้านพ่อตาแม่ยาย เรียกว่า วิวาหมงคล ตามธรรมเนียมโบราณอีสานถือว่าดีนัก ดังภาษิตว่า "เอาลูกเขยเลี้ยง พ่อเฒ่าแม่เฒ่าปานได้ข้าวมาใส่เล้า (ยุ้งข้าว) ใส่เยีย (ที่เก็บข้าวเปลือก) แบบที่สอง ชายหญิงแต่งงานกันแล้ว หญิงไปอยู่บ้านของชาย หรือบ้านพ่อปู่แม่ย่า เรียกว่า อาวาหมงคล แบบนี้โบราณไม่นิยม ดังภาษิตว่า "เอาลูกใภ้มาเลี้ยงปู่เลี้ยงย่า ปานเอาผีเอาห่ามาใส่เฮือนใส่ซาน" การเตรียมการสู่ขอ
การสู่ขอและหมั้นสาว (การโอมและการหมาย) การแห่ขันหมาก
เมื่อตกลงจะแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายชายจะจัดหาของฝากไปให้แก่หญิง เช่น แหวน ทอง โดยมิให้ใครรู้ จึงเรียกว่า ของฝากปกปิด ส่วนของฝากอีกชนิดหนึ่งที่ต้องตระเตรียมเช่นกันคือ ของฝากเปิดเผย ได้แก่ ขันหมาก กล้วย อ้อย ข้าวต้ม ๔ กระหยั่ง และตระกร้อใบเล็ก ๆ สานด้วยไม้ไผ่เพื่อใส่ของมี ไข่ ถั่ว งา หมาก พลู สีเสียด เมล็ดฝ้าย ข้าวสาร ข้าวเปลือก และเงิน ๒ บาท ซึ่งจำนวนตระกร้อนี้ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะไม่เท่ากัน ถ้าเจ้าสาวเป็นลูกสาวคนโตและคนสุดท้อง ใช้ตระกร้อ ๓๒ ใบ ถ้าเจ้าสาวเป็นลูกสาวคนกลาง ใช้ตระกร้อ ๑๖ ใบ ส่วนฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมเครื่องสมมา เพื่อนำไปมอบให้แก่เจ้าโคตรฝ่ายชายในวันแต่งงานหรือกินดอง ได้แก่ เสื่อ หมอน เสื้อ ผ้า ซิ่น ผ้าขาวม้า เป็นต้น ครั้นถึงวันแต่งงานที่ได้กำหนดตกลงกันแล้ว ฝ่ายชายแห่ขันหมากไปบ้านฝ่ายหญิงเพื่อมอบตัวเข้าพิธีแต่งงาน ซึ่งขบวนขันหมากจะประกอบไปด้วย
การล้างและเช็ดเท้า หลังจากนั้นญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวที่มีการครองเรือนดีก็จะมารับและจูงมือเจ้าบ่าวขึ้นบนเรือนเพื่อทำพิธีสู่ขวัญต่อไป ส่วนพ่อ-แม่และญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวจะมีเด็กหญิงจำนวนหนึ่งออกมารับและยื่นพานหมากแก่พ่อ-แม่ฝ่ายชาย พ่อ-แม่ฝ่ายชายรับแล้วส่งเงินเป็นของขวัญให้แก่เด็กพร้อมทั้งคืนพานหมากให้ด้วย แล้วเดินตามเด็กนั้นเข้าไปนั่งในเรือนยังที่ซึ่งเขาจัดไว้ให้นั่ง พอได้เวลาฤกษ์พ่อ-แม่ของฝ่ายชายก็จะส่งมอบค่าดอง ของฝาก และเจ้าบ่าวให้กับฝ่ายหญิง พ่อ-แม่หรือญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะตรวจนับค่าดอง แล้วให้ทุกฝ่ายโปรยเมล็ดข้าวเปลือก ถั่ว และงา ลงบนเงินทองสินสอด พร้อมกับกล่าวว่า “ขอให้เงินทองนี้งอกเงยเหมือนเมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดถั่ว และเมล็ดงานี้เทอญ” แล้วเปิดขันหมาก ฝ่ายหญิงแจกหมากพลู เหล้ายา ข้าวต้ม และอาหารการกินมาเลี้ยงดูกัน
หลังจากนั้นพ่อ-แม่ฝ่ายหญิงจะนำเจ้าสาวออกมาหาเจ้าบ่าวเพื่อเข้าพิธีสู่ขวัญร่วมกัน
พิธีสูตรขวัญหรือสู่ขวัญ
เสร็จแล้วทำพิธีสู่ขวัญโดยหมอสูตรจะกล่าวคำสวดคำขวัญอวยพรเพื่อให้คู่บ่าวสาวเกิดกำลังใจ โดยขณะทำพิธีเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะจับ พาขวัญไว้ในลักษณะแขนไขว้กัน โดยให้แขนเจ้าบ่าวอยู่ด้านบน แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เป็นไปดังคำขวัญอวยพรของหมอสูตร เพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวนั่งอยู่ข้าง ๆ คู่บ่าวสาว ส่วนญาติพี่น้องจะนั่งล้อมเป็นวงอยู่ด้านหลังตั้งจิตอธิฐานให้คู่บ่าวสาวมีความสุขความเจริญ (ควรอ้อนวอนเทวดาเป็นภาษาบาลีว่า "สัค เค กา เม จ รูเป" ว่า นโม ๓ จบแล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยไปด้วย)
เมื่อพราหมณ์สูตรขวัญจบแล้ว พราห์มและญาติพี่น้องจะเอาข้าว ไข่ กล้วย และดอกไม้ใส่มือคู่บ่าวสาว เสร็จแล้วหมอสูตรหรือญาติผู้ใหญ่ที่คู่บ่าว-สาวเคารพนับถือจะป้อนไข่ให้คู่บ่าวสาว โดยนำไข่ต้มจากพาขวัญมาปอกแบ่งครึ่งโดยใช้เส้นผมผ่าไข่ตรงกลาง แล้วตรวจดูไข่ที่แบ่งครึ่งว่าใจกลางไข่ตรงหรือไม่ ถ้าไข่เต็มถือว่าคู่บ่าวสาวนั้นจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขสมบรูณ์ จากนั้นจะป้อนไข่ให้คู่บ่าวสาวโดยใช้มือขวาป้อน “ไข่ท้าว” (บางแห่งเรียกไข่อ้าย) ให้เจ้าบ่าว มือซ้ายป้อน “ไข่นาง” ให้เจ้าสาว เสร็จแล้วใช้ฝ้ายจากบายศรีผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร
เสร็จแล้วใช้ฝ้ายจากบายศรีผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร
หลังจากนั้นญาติ ๆ และแขกที่มาร่วมงานพากันผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร
พิธีส่งตัวคู่บ่าวสาว เสร็จพิธีตอนนี้แล้ว ญาติฝ่ายหญิงจะให้เจ้าสาวมัดห่อเงินและทองที่พ่อและแม่ฝ่ายหญิงให้ไว้สำหรับการเริ่มต้นครอบครัวใหม่เก็บรักษาไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นก็พากันจูงมือเจ้าบ่าวไปยังห้องที่เตรียมไว้ให้สำหรับคู่บ่าวสาว เพื่อเป็นการรับขวัญเขย
ส่วนญาติฝ่ายชายก็จะจูงมือเจ้าสาวไปยังอีกห้องหนึ่งเพื่อทำพิธีรับขวัญสะใภ้
หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายจะนำคู่บ่าว-สาวมาส่งที่ห้องหอ เป็นการบอกว่านับแต่คืนนี้เป็นต้นไป เจ้าบ่าวจะต้องมานอนกับเจ้าสาวที่ห้องนี้
พิธีส่งตัวเจ้าบ่าวแบบโบราณ ประเพณีกินดองของชาวอีสานสมัยก่อน นิยมส่งตัวเจ้าบ่าวไปอยู่กับฝ่ายหญิง โดยเลือกเอาเวลาโฮมแลง (เวลารับประทานอาหารเย็น) หรือเวลาบ่าวโฮมสาว หมายถึงเวลาบ่าวลงไปแอ่วสาว ประมาณเวลา ๑๙.๐๐-๒๐.๓๐ น. ครั้นได้เวลาแล้วญาติฝ่ายชายก็แห่เจ้าบ่าวไปส่งที่บ้านฝ่ายหญิง ดดยมีเฒ่าแก่หรือเจ้าโคตรนำไป ผู้เป็นหัวหน้าขบวนแห่จะร้องบอกไปว่า "แม่เฒ่าเอยลูกเขยมาแล้ว ไขป่องเอี้ยมเยี่ยมเบิ่งลูกเขย" เมื่อถึงบ้านฝ่ายหญิง หญิงจะมาคอยต้อนรับเชื้อเชิญขึ้นไปบนเรือน แล้วนำอาหารคาวหวานพร้อมสุรายาเมามาเลี้ยงกัน พิธีปูที่นอนและการมอบตัวบ่าวสาว การปูที่นอนและการมอบตัว จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของพิธีกินดอง นับว่าเป็นพิธีสำคัญ โดยจะเลือกเอาญาติผู้ใหญ่ที่มีคุณสมบัติดีของฝ่ายหญิงชายที่มีฐานะดี ความประพฤติดี มีชีวิตในการครองเรือนครองชีวิตแต่งงานราบรื่นมาเป็นผู้ปูที่นอน การปูที่นอนจะปูให้ของฝ่ายชายไว้ทางขวา ฝ่ายหญิงไว้ทางซ้ายต่ำกว่าเล็กน้อย เมื่อปูที่นอนเสร็จแล้ว ผู้ปูจะทำพิธีนอนเอาฤกษ์ก่อน หลังจากนั้นก็เป็นพิธีส่งตัวคู่บ่าวสาว โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะจูงฝ่ายหญิงเข้าไปในห้องนอนก่อน แล้วจึงจูงฝ่ายชายตามไปที่ห้อง นำตัวคู่บ่าวสาวทั้งสองนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ญาติฝ่ายหญิงจะอบรมหญิงให้รู้จักการเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ญาติฝ่ายชายก้จะมอบชายให้เป้นลูกเขยของบ้านฝ่ายหญิง จากนั้นก็อวยพรให้คู่บ่าวสาวครองชีวิตคู่อย่างมีความสุข เป็นอันเสร็จพิธีกินดอง ตัวอย่างแนวคำกล่าวสู่ขอและหมั้นสาวของผู้เป็นเฒ่าแก่ (เสฐียรโกเศศ, 2539) ท่านที่เป็นเฒ่าแก่หมั้น ควรกล่าวคำที่เป็นมงคล เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว นั่งเรียบร้อยแล้ว ก็พูดกับพ่อ-แม่หรือเฒ่าแก่ฝ่ายหญิงว่า "ข้าพเจ้ามาในการมงคล ด้วยวันนี้เป็นวันฤกษ์งามยามดี ข้าพเจ้าจึงได้นำของหมั้น มาขอหมั้น....(ออกชื่อสาว) ซึ่งเป็นบุตรีของท่านผู้นั้น (ออกชื่อพ่อ-แม่ฝ่ายหญิง) ให้กับผู้นั้น (ออกชื่อผู้ชาย) ซึ่งเป็นบุตรของท่านผู้นั้น (ออกชื่อพ่อ-แม่ฝ่ายชาย) ขอท่านได้โปรดรับของหมั้นนี้ไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความสุข ความเจริญของบุคคลทั้งสองสิ้นกาลนานเทอญ" ตัวอย่างคำสู่ขวัญบ่าวสาวแต่งงาน (พระครูสุเทพสารคุณ (สุนันท์ เพชรเลื่อน) และคณะ, 2544) “ศรี ศรี สิทธิพระพร พระวรแวนวิเศษ ขัตติเยศ คะเตโช ตะโตโร อาวาหะวิวาโห ชยะมงคลจุลสังกาศ อำมาตย์พร้อมฝูงหมู่มนตรี ปุนแปลงดีพ่อแม่ ฝูงเฒ่าแก่ตายาย ฝนตกฮวยฮำ ไม้เจ้าขึ้นใหญ่เป็นสาว ฝูงบ่าวฮามโฮมเฮ้า ฝูงบ่าวเฒ่ามาโอม สมนางงามค่ากว้าง บ่ได้ฮ้างพอสอง เป็น คองยอยอดยิ่ง ลูกแก้วกิ่งยังประสงค์ ฝูงวงศามารดาเบื้องปู่ เจ้าฮู้แล้วจึงตกแต่งปุนแปลง แพงคำฮักลูกแก้ว ตกแต่งแล้วจึงยอมา เบิกราชาบายศรี เป็นวันดีว่ามื้อฮ่วงเฮ้า มื้อพายเข้าแถวเก้ากอง ตามทำนองอาจารย์กล่าวไว้ นักปราชญ์ได้จำนำ ตามคำสอบนักขัตฤกษ์ ถึกหน่วยว่าอัสสาวัณณี เป็นวันดีมื้อปลอด ยอดแก้วอุทธังราชา มื้อยามพราหมณาถืออุมุตตะโชค เจ้าอย่าได้โศกเศร้าจักสิ่งอันใด ให้เจ้ามีไชโยผาบแพ้ ให้เจ้าได้แม่ช้างโคควาย ให้เจ้ามีแม่ควายพาแม่ ให้เจ้าได้ผาบแพ้ฝูงหมู่พญามาร ให้มีสมภารอันแก่กล้า มื้อนี้แม่นมื้อคาบชะง้า หมอว่าวันดี ข้อยทั้งหลายจักแต่งคาบปี มาบายศรีสู่ขวัญสองเจ้า มีปั้นข้าวให้กับทั้งปลา ปั้นข้าวนากับทั้งไข่ ข้าวต้มใส่เต็มพาน ยาขมแข็งใส่กล่องแก้ว ตกแต่งแล้วจึงยอมา มีทั้งบุปผามาลาหอมฮ่วงเฮ้า เครื่องฮับเจ้าเหลือหลาย ฝูงตายายและพ่อแม่ เฒ่าแก่พร้อมสาวฮาม ลามกันมาครืนเคร้า ยอพาขวัญหลานเจ้า เบื้องขวาอยู่ลีล้ายลีล้าย มายอพาขวัญเจ้า เบื้องซ้ายอยู่เสียนเลียนเสียนเลียน เวียนซ้ายขวาครื่นเคร้า ฝูงผู้เฒ่านั่งถันเทิง ข้อยจักเชิญเอาขวัญหนีเหิงให้มาเทียมเนื้อ มาอยู่เฮื้อคิงนาง ข้อยจักเชิญเอาขวัญนงคราญ เข้ามาเทียมคู่มาเยอขวัญเอย เจ้ามาฮอดแล้ว ทัดดอกขุมฟูม บานจูมจีดอกคัดเค้า ทัดดอกข้าวกวมตา เกศางามตั้งไหล่ เทียมท้าวใหม่วันดี หญิงสมศรีสองเจ้า คือคู่ท้าวอินแปลง มาเฝือแฝงยืนยาวเถิงเฒ่า ตราบต่อเท้าฮ้อยขวบเข้าเทียรฆา ให้เจ้ามีบุตตาบ่น้อย ข้อยช่วงใช้พอแสน ของกับแนนเจ้าทุกสิ่ง ช้างม้ามิ่งอานคำพญาธรรม ตนองอาจอำนาจกล้าลือชา ในตำราว่าไว้ อินทร์ท้าวไท้ถวายพร เป็นคำกลอนสั่งโลกโตกขัน แก้วฮับขวัญคือสวรรค์ลงมาตกแต่ง ดอกไม้แบ่งเกสร ดอกไม่ซอนแซมเกล้า ข้อยจักเชิญขวัญเจ้าลงมาพร้อมพรั่งทั้งสอง มาเยอขวัญเอย ตาวันตกพอลับป่าไม้ ให้ขวัญนางมาเทียมคู่ แม่เจ้าแอ้มส้วมท่าคอยเจ้าผู้สิมา มีทั้งผ้ากาสาว์แพรลาย ซ้อนเสื่อ มีทั้งเสื้อปักแส่วไหมแดง ข้อยจักเชิญเอาขวัญนางแพงเข้าเทียมคู่ ขวัญเจ้าอยู่ฟากฟ้าแดนไกล ก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปอาศัยคะนิงหาชู้เก่า ก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ให้มาสระเกศเกล้าทัดดอกบัวระพัน ให้มาทาน้ำมันจันทน์อันแม่เจ้าแต่งไว้ ให้มาทัดดอกไม้ก้านเกดสวยลวย มวยบ่ยาวให้เจ้ามาใส่ซ้อง บ่าวพี่น้องบ้านใต้คอยหาเจ้าแล้ว นางธิดาบ้านเหนือคอยเบิ่งเจ้าแล้ว เพิ่นหากหมายเพิ่งเจ้าบุญกว้างสู่ภาย เชิญเจ้ามาเสวยงายพร้อมไพร่ ให้ได้ป้อนข้าวไข่เขือเจ้าทั้งสอง ตามทำนองบูฮานกล่าวไว้ พ่อบอกให้ว่ามื้อวันดี ข้อยจักเอาทั้งสองศรีเฮียงหมอนซ้อนเสื่อ ให้เจ้าได้สืบเชื้อพ่อแม่แทนเฮือน ชยะตุ ภะวัง ชยะมังคลา ยะถาวาริว โห ปูโร สัพพะกาลัง นะขียันติ อุอะ มุมะ มูลมา อายุ วัณโณ สุขัง พลัง” ดูเพิ่มเติม แหล่งอ้างอิง เคน ไสยโสภณ. (16 มกราคม 2555). สัมภาษณ์. พราหมณ์สู่ขวัญ. 84 หมู่ 4 บ้านหนองงูเหลือม ตำบลหนองตูม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. นิคม มัดจุปะ. "ประเพณีกินดอง (แต่งงาน)" ใน คณะกรรมการแผนกสาธิตประเพณีพื้นเมือง งานมรดกอีสาน ครั้งที่ 4. (2522). ประเพณีพื้นเมืองอีสาน, หน้า 7-13. มหาสารคาม: วิทยาลัยครูมหาสารคาม. พระครูสุเทพสารคุณ ผสุนันท์ เพชรเลื่อน), ชอบ ดีสวนโคก, วิมล ชนะบุญ และบุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล. (2544). มรดกไทอีสานฉบับสมบูรณ์. ขอนแก่น: ขอนแก่น คลังนานาธรรม. บ้านมหาดอทคอม. (2551). ประเพณีการแต่งงานของชาวอีสาน. สืบค้นเมื่อ 17 มี.ค. 2553 จาก http://www.baanmaha.com/forums/showthread.php?t=23241 เสฐียรโกเศศ. (2539). ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตแต่งงาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ศยาม. Pinkyanni. (2551). งานแต่งงานแบบอีสาน. สืบค้นเมื่อ 17 มี.ค. 2553 จาก http://gotoknow.org/blog/alliwanttowrite/182878 Wedding in tlcthai.com. (2552). ประเพณีแต่งงานแบบอีสาน. สืบค้นเมื่อ 17 มี.ค. 2553 จาก http://wedding.tlcthai.com/tag/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99/ เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด
คุณพ่อเคน ไสยโสภณ พราหมณ์สู่ขวัญ ผู้ให้ข้อมูลพิธีสู่ขวัญคู่บ่าวสาวแบบอีสาน
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม |