Khon Kaen Wisdom
ค้นหา:     ค้นหาขั้นสูง
เลือกดูตามหมวดหมู่:
ติดต่อผู้ดูแล

หลงเสน่ห์เชียงคาน เนื้อหาบทความ

หลงเสน่ห์เชียงคาน

เพิ่มความคิดเห็น
แสดงผล: 80
ลงคะแนน: 0
เสนอแนะ: 0
Posted: 10 Sep, 2012
by: Soonthorn G.
Updated: 12 Sep, 2012
by: Soonthorn G.

             เชียงคาน เมืองสงบ งดงาม และเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของวิวทิวทัศน์อันสวยงาม ด้วยตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวเชียงคานที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งจนหลายคนหลงรักต้องกลับไปเยือนซ้ำ
          แต่เดิมนั้น เชียงคาน ตั้งอยู่ที่บ้านผาฮด หรือ เมืองสานะคาม บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เยื้องกับที่ว่าการอำเภอเชียงคานในปัจจุบัน จนถึงปีพุทธศักราช 2436 เกิดการล่าอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสขึ้น ผู้คนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไม่ต้องการอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสจึงได้อพยพย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์  และเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า "เมืองเชียงคาน" ซึ่งที่มาของคำว่า "เชียงคาน" นั้น มาจากสองคำ คือ "เชียง" กับ "คาน" ซึ่งตามประเพณีไทยล้านนาหรือล้านช้าง มักจะใช้คำนำหน้าเมืองว่า "เชียง" ส่วน "คาน" ในที่นี้มาจากชื่อของผู้สร้างเมืองเชียงคาน คือ "ขุนคาน" กษัตริย์แห่งเมืองเชียงของ และเป็นพระราชโอรสของ "ขุนเคา" ผู้สืบเชื้อสายมาจาก "ขุนลอ" กษัตริย์ลาวพระองค์แรกในช่วงพุทธศักราช 1240 หรือ พุทธศตวรรษที่ 13 นั่นเอง
          ปัจจุบันเชียงคานเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยเป็นเมืองที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ประกอบกับวิถีชีวิตของคนเชียงคานนั้นมีเสน่ห์ยากที่จะหาใดเหมือน ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกๆปี ที่ต่างหลั่งไหลเดินทางไปที่เชียงคานเพื่อสัมผัสบรรยากาศการเดินทอดน่องหรือปั่นจักรยานเลียบไปตามริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นทางเล็กๆที่ปูลาดด้วยอิฐตัวหนอนเรียบขนานไปเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพบ้านเรือนของประเทศลาวอีกด้วย

          เชียงคานมีจุดเด่นหลายอย่างที่น่าไปสัมผัส ซึ่งสิ่งแรกที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำเมื่อไปเที่ยวเชียงคานก็คือ การเดินชม "ถนนคนเดิน" ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่น่าไปเดินมากที่สุด ด้วยมีบ้านไม้โบราณตั้งอยู่เรียงรายริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองเชียงคาน ซึ่งบ้านไม้ดังกล่าวเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่คู่กับเมืองเชียงคานมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอดีตจนปัจจุบัน จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า บางส่วนของบ้านไม้เหล่านี้เป็นบ้านไม้โบราณที่ได้รับการดัดแปลงให้คงสภาพเดิมมากที่สุดแต่มีการตกแต่งให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว เกิดเป็น โรงแรม โฮมสเตย์ และเกสต์เฮาส์ และบางส่วนก็เป็นบ้านไม้ที่ปลูกสร้างขึ้นมาใหม่แต่สร้างให้มีลักษณะคล้ายกับบ้านไม้โบราณในอดีต ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่เชียงคานหลายครั้งด้วยประทับใจในบรรยากาศเมืองเชียงคานและอัธยาศัยใจคอของคนเชียงคานจึงไปแล้วไปอีกมิรู้เบื่อ  ที่พักซึ่งผู้เขียนได้ไปใช้บริการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือ "โรงแรมดิ โอลด์ เชียงคาน" และ "เฮือนยายบับภา"

        ที่พักสองแห่งนี้อยู่ติดริมแม่น้ำโขง สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของสองฝั่งโขงได้เป็นอย่างดี ยามเช้าตรู่สามารถมานั่งจิบน้ำชากาแฟหอมละมุนแก้มปาท่องโก๋ร้อนๆ พร้อมชมบรรยากาศแม่น้ำโขงสวยๆ ไปด้วย สร้างความสุนทรียะยิ่งนัก

          สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดหากได้ไปเชียงคาน คือ "การตักบาตรข้าวเหนียว" ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวเชียงคาน การตักบาตรข้าวเหนียวจะใส่เฉพาะข้าวเหนียวลงในบาตร ส่วนอาหารคาวหวานอย่างอื่นนั้นชาวบ้านจะนำไปถวายพระที่วัด โดยจุดที่พระสงฆ์เดินบิณฑบาตรมากที่สุด คือ บริเวณถนนศรีเชียงคาน ซอย 9 (ล่าง) เพราะอยู่ใจกลางเมือง และอยู่ใกล้กับตลาด เวลาที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตร คือ ตีห้าครึ่งถึงหกโมงเช้า นักท่องเที่ยวจะไปรอใส่บาตรที่ถนนเส้นนี้ และการแต่งกายสำหรับตักบาตรควรจะแต่งกายสุภาพเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้หญิงควรนุ่งผ้าถุง ผู้ชายใส่กางเกงขายาว ไม่ควรใส่กางเกงหรือกระโปรงสั้น  

           เวลาช่วงสายๆ ภายหลังจากตักบาตร ร้านค้าต่างๆก็จะเปิดให้บริการ ที่ถนนคนเดินแห่งนี้มีสินค้าจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเลือกชมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าฝ้ายทอมือ เสื้อยืดสกรีนหลากสี สินค้าที่ระลึกพื้นเมือง สินค้า OTOP ร้านอาหารเช้าแบบพื้นเมือง เช่น ไข่กระทะ ข้าวเปียกเส้น ตลอดจนร้านน้ำชากาแฟ ผู้เขียนซื้อของที่ระลึกมาหลายชิ้น ทั้ง เสื้อยืดสกรีนลายอักษรคำว่าเชียงคานแบบต่างๆ แม่เหล็กติดตู้เย็น แต่ชิ้นที่ชอบมากที่สุด คือ เป็ดจากรากไม้ไผ่ โดยนำรากไม้ไผ่มาประกอบกับไม้จนเป็นตัวเป็ดขึ้นมา มีทั้งเป็ดตัวเดี่ยว เป็ดคู่แม่ลูก เมื่อวางอยู่รวมกันดูน่ารักยิ่งนัก ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ เป็ดเดี่ยว ราคา 390 บาท ไปจนถึงเป็ดหลายตัวรวมเป็นชุด ราคาประมาณสามพันกว่าบาท ซึ่งเป็ดนี้ได้รับรางวัล OTOP 4 ดาว ในปี พ.ศ. 2552 อีกด้วย 

          เมื่อเดินซื้อของได้สักพักผู้เขียนก็ได้แวะซื้อขนมครกโบราณและมันเผารับประทาน อาหารทั้งสองมีรสชาติอร่อย ทานแล้วได้บรรยากาศไปอีกแบบ จากนั้นก็ไปเดินชมสินค้าตามร้านต่างๆ ต่อ ซึ่งระหว่างที่เดินชมร้านค้าของที่ระลึกอยู่นั้น ผู้เขียนก็ได้ถ่ายภาพตามจุดต่างๆ ไปด้วย ถนนคนเดินที่เชียงคานนั้นมีบ้านไม้โบราณสวยๆ ตลอดสองข้างท้าง อีกทั้งร้านค้าต่างๆ ยังจัดตกแต่งบริเวณหน้าร้านให้สวยงาม น่ารัก เหมาะกับการถ่ายภาพสวยๆ เป็นที่ระลึก

          ภายหลังจากเดินเล่นทั่วเมืองเชียงคานกันแล้ว ก็ได้เวลาอาหารมื้อค่ำ ที่เชียงคานนี้มีร้านอาหารอร่อยอยู่หลายร้าน จากการเดินทางไปเยือนเชียงคานของผู้เขียนในหลายๆ ครั้ง ได้ลองชิมร้านอาหารตามสั่งริมโขง และร้านอาหารขึ้นชื่อของเชียงคาน พบว่า ร้านอาหารที่เชียงคานรสชาติอร่อยหลายร้านทีเดียว

           เมนูโปรดที่รสชาติอร่อยติดใจจนต้องไปชิมทุกครั้งที่ไปเชียงคาน ก็คือ "หมูสะเต๊ะ" ที่ร้าน "เฮือนหลวงพระบาง" ทานคู่กับน้ำจิ้มอาจาดแสนอร่อย ให้รสหวานอมเปรี้ยวนิดๆ เข้ากันได้ดีกับแตงกวาและหอมแดง

          นอกจากยังมี "กุ้งย่าง" เป็นอีกหนึงเมนูที่ดูพิเศษและหาทานได้ยาก กุ้งย่างนี้ทำจากกุ้งนาตัวค่อนข้างโตกว่าปกติ นำมาเสียบไม้ ทาเกลือ จำหน่ายไม้ละ 10 บาท

          หลังจากทานอาหารอร่อยเสร็จ ก็ได้เวลาเดินย่อยกันสักนิด บรรยากาศเมืองเชียงคานในเวลาค่ำคืนนั้น ถนนคนเดินก็ยังคงเป็นบริเวณที่สวยงามและมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้หลั่งไหลมาเยี่ยมชม เพราะมีร้านค้าต่างๆ มากมายมาจำหน่ายสินค้าที่นี่ โรงแรม ที่พักต่างพากันเปิดไฟแสงสี มองดูแล้วสวยงาม อบอุ่น ดูมีเสน่ห์ยิ่งนัก อีกทั้งยังมีการแสดงพื้นบ้านของเหล่าบรรดานักเรียนตัวน้อยๆ คนพื้นถิ่นเชียงคานมาทำการแสดงให้นกท่องเที่ยวได้ชม ชวนให้บรรยากาศ ณ ถนนคนเดินเชียงคานแห่งนี้คึกคัก มีสีสันเต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวาและมนต์เสน่ห์มากมาย

           สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของเชียงคานที่นักท่องเที่ยวมักจะแวะไปเที่ยวชมและซื้อของฝากก็คือ "แก่งคุดคู้" เพราะเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นแม่น้ำโขงได้อย่างสวยงามอีกแห่งหนึ่ง

          นอกจากธรรมชาติและวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำโขงแล้ว แก่งคุดคู้ยังมีชื่อเสียงเรื่องมะพร้าวแก้วหลากหลายรูปแบบสีสัน รสชาติหวานมันให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากอีกด้วย

 
   
แหล่งข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เส้นทางจักรยานชมภูมิทัศน์ วัด สัมผัสวิถีชีวิตชาวเชียงคาน. กรุงเทพฯ: กองส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (เอกสารแผ่นพับ).



                                                                                                                             เรื่องและภาพ: นางสาวกฤติกา สุนทร
                                                                                                                             บรรณารักษ์กลุ่มภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้



ลิขสิทธิ์ © 2012 สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : library@kku.ac.th or gritiga@kku.ac.th
หมวดหมู่อื่น ๆ
document สวัสดีขอนแก่น : Hello Khon Kaen!
document ขอนแก่น เคานท์ดาวน์ ปาร์ตี้ปีแสง 2012
document การศึกษาความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยโดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน
document การสร้างแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
document การพัฒนาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเรื่องสมุนไพรโดยใช้แหล่งเรียนรู้ในหมู่บ้านทรัพย์ส มบูรณ์ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
document การพัฒนาหลักสูตรโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพเรื่องการสานตะกร้า สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 : กรณีศึกษา โรงเรียนบ้านโนนม่วง จังหวัดขอนแก่น
document สภาพและแนวทางการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา ในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดขอนแก่น
document ผลการใช้บทเรียนออนไลน์เรื่องดนตรีการแสดงในภาคอีสานกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
document งานเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2555
document ถนนฅนเดิน: ถนนแห่งความสุขของคนขอนแก่น
document Application น่ารู้: พจนานุกรมแปลคำศัพท์ภาษาไทย-อีสาน
document ขอนแก่นเกมส์: กีฬาแห่งชาติครั้งที่ 40 เกมส์แห่งมิตรภาพและสมานฉันท์
document ส้มตำปลาร้าใส่ปูดอง
document หมกฮวก (ห่อหมกลูกอ๊อด)
document การสังเคราะห์ภูมิปัญญาชุมชนในการเลิกบริโภคสุรา
document ลาบหมาน้อย อาหารสมุนไพรอีสานเลิศรส
document สภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเขตพื้น ที่การศึกษาขอนแก่นเขต 4
document สภาพปัจจุบันปัญหาและแนวทางการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนและกิ จกรรมเสริมหลักสูตร ในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดขอนแก่น : กรณีศึกษาสหวิทยาเขตภูเวียง
document ความชุกของกลุ่มอาการอีสานรวมมิตรและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในชุมชนชนบท จ.ขอนแก่น
document สภาพการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในอำเภอมัญจาคีรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 2
document การพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ท้องถิ่น เรื่อง ชุมชนคำแคนดินแดนน้ำตกห้วยเข โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
document การพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ท้องถิ่นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจ พอเพียง ด้วยการสอนโดยใช้แนวทางปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที ่ 4 โรงเรียนหนองสองห้องวิทยา จังหวัดขอนแก่น



RSS