วันมาฆบูชา

  วันมาฆบูชา 
► ความหมาย
       
วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือนมาฆะหรือเดือน 3 เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
► ความสำคัญ
       
วันมาฆะบูชา เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ทั้งหมดเป็นอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 และเป็นผู้ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการ อุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดีให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส
► ประวัติความเป็นมา
1.         ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
       หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน ขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือเดือน 3 ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูปได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า โดยมิได้นัดหมายกันไว้ก่อน นับเป็นเหตุมหัศจรรย์ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่าง คือ
     1.         วันนั้นเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
     2.         พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
     3.         พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพรอรหันต์ผู้ได้รับอภิญญา 6
     4.         พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า
       เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาตและในโอกาสนี้พระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่า เป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา
                                       
2.         การถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย
       พิธีวันมาฆบูชานี้ เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงถือตามแบบของโบราณบัณทิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆบูรณมีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า 1,250 รูปได้มาประชุมกันพร้อมด้วยองค์ 4ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและอรหันต์สาวก 1,250 รูป นั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

                             

       การประกอบพิธีมาฆบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อน ในสมัยราชกาลที่ 4 มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กันฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษไทย เครื่องกันฑ์มีจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่างๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ 30 รูป สวดรับ
       การประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยราชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้าง เช่น รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง มิได้ออกเองบ้างเพราะมักเป็นเวลาที่ประสบกับเวลาเสด็จประพาสหัวเมืองบ่อยๆ หากถูกเสด็จไปประพาสบางประอินหรือพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัน ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง
       เดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาก็ขยายออกไปพุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบัน มีการบูชาด้วยการเวียนเทียนและการบำเพ็ญกุศลต่างๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้นปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน 4
                      
► หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ
       หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ ได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ หมายถึง หลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนา อันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าแสดงแก่พระอรหันต์สาวก 1,250 รูป ณวัดเวฬุวันในวันเพ็ญเดือนสาม มีเนื้อหาดังนี้  ขันติ ปะระมัง ตะโป ตีติกขา นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธานะ หิปัพพะชิโต นิพพานัง ปะระมัง วะทันติพุทธา นะหิ ปัพพชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง สะเอตัง พุทธานะ สาสะนัง อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต ปาติโมกเข จะ สังวะโร มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง เอตัง พุทธานะสาสะนัง
           แปลว่า
          ขันติ คือ ความอดทนเป็นเครื่องเผาผลาญบาปอย่างยอดเยี่ยม นิพพานท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นยอดผู้ที่ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต ผู้ที่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ ไม่จัดว่าไม่เป็นสมณะ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกูศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่ว่าร้าย ไม่ทำร้ายใคร ความสำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ความรู้จักประมาณในอาหาร การอยู่ในสถานที่นั่งที่นอนอันสงัด การฝึกหัดจิตให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
  หลักธรรมดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 5
 
► หลักการ 3
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง   ได้แก่การงดเว้น การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่วมีสิบประการ อันเป็นความชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
         
ความชั่วทางกาย
 ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
         ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ
         ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง ซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
        ความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม
        การทำความดีทางวาจา   ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ
        การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของคนอื่น มีแต่คิดเสียสระการไม่ผูกอาฆาตพยาบาท มีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดี และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

3.  การทำจิตใจให้ผ่องใส
 ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิเวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี 5 ประการ ได้แก่
          1. ความพอใจในกาม(กามฉันทะ)
          2. ความอาฆาตพยาบาท(พยาบาท)
          3. ความหดหู่ท้อแท้(ถีนมิทธะ)
          4. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) และ
          5. ความลังเลสงสัย(วิจิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดีความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่
          วิธีการทำจิตใจให้ผ่องใส ที่จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง
► อุดมการณ์ 4
1.         ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ 
2.         ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น
3.         ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ 
4.         นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ซึ่งเป็นเป้หมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8
► วิธีการ 6
1.         ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
2.         ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3.         สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
4.         รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่างๆ
5.         อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่ที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6.        ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตใจ ให้สงบมีสุขภาพ คุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี
ทำบุญวันมาฆบูชา
    ตอนเย็นทำพิธีเวียนเทียน รอบศาลาหรืออุโปสถ 3 รอบ
            รอบที่ 1 บูชาพระพุทธ
            รอบที่ 2 บูชาพระธรรม
            รอบที่ 3 บูชาพระสงฆ์
    กลับขึ้นสู่ศาลาการเปรียญ พระสงฆ์ให้พร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เป็นเสร็จพิธี


   
คำถวายสักการะในวันมาฆบูชา
                        อัชชายัง มาฆปุณณมี สัมปัตตา มาฆนักขัดเตน ปุณณจันโท ยุตโต ยัตถ ตถาคโต อรหัง สัมมามัมพุทโธ ตทาหิ อัฑฒเตรสานิ ภิกขุสตานิ สัพเพสังเยว ขีณาสวานัง สัพเพ เต เอหิภิกขุกา สัพเพปิ เต อนามันติตาว ภควโต สันติกัง อาคตา เวฬุวเน กลันทกนิวาเป มาฆปุณณมิยัง วัฑฒมานกัจฉายาย ตัสมิง สันนิบาเต ภควา วิสุทธธุตตมุ ภควโต เอโกเยว ขีณาสวานังสัมปัตตา สุจิรปรินิพพุตัมปิตัง ภควันตัง อนุสสรมานา อิมัสมิง ตัสส ภควโต สักขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปธูปปุปผาทิ มักกาเรหิ ตังภควันตัง ตานิจ อัฑฒเตริสานิ ภิกขุสตานิ อภิปูชยาม สาธุ โน ภัณเต  ภควา สักกาเร ทุคคตปัณาการภูเต ปฏิคคัณหาตุ อัมหาอัง ทีฆรัตตัง อัตถาย หิตายะ สุขายะฯ
คำแปล
                        ดิถีเพ็ญมาฆะฤกษ์นี้มาถึงพร้อมวันนี้แล้ว ในดิถีใดเล่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ขึ้น ในที่ประชุมสาวกสงฆ์ พร้อมด้วยองค์ 4 ประการ คือ พระภิกขุซึ่งประชุมกันนั้น 1,250 องค์ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพอรหันต์อุปสมบทด้วยเอหิภิขุอุปสัมปทา ไม่มีผู้ใดเรียกมายังสำนักพระภาคเจ้า ณ อารามเวฬุวัน เวลาตะวันบ่าย ณ ดิถีมาฆปุณณมี ข้าพเจ้าทั้งหลายมาถึงมาฆปุณณมีนี้คลายกับวันสาวกสันนิบาตแล้วมาระลึกถึง พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานนานแล้วเคารพบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระสงฆ์สาวก 1,250 องค์นั้น ด้วยสักการะมีดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น เหล่านี้ ณ เจดียสถาน คือพระสถูปและพระพุทธรูป ซึ่งเป็นพยานของพระผู้มีพระภาคเจ้ากับสาวกสงฆ์ แม้ปรินิพพานนานด้วยดีแล้ว ยังดำรงอยู่ด้วยพระคุณ ทั้งหลาย จงทรงรับเครื่องสักการะเหล่านี้ ซึ่งเป็นบรรณาการของคนจนเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
                                                                          

     ดูเพิ่มเติมิ
>> บุญข้าวจี่ ณ วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
>> วันมาฆบูชา
>> วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
>> บุญข้าวจี่
>> บุญเดือนสาม (บุญข้าวจี่) 
 
                                    เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด


Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th