ศาลหลักเมืองขอนแก่น

          ศาลหลักเมืองขอนแก่น หรือศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง เดิมตั้งอยู่บ้านโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอชุมแพ เป็นระยะทาง ๑ ก.ม. บริเวณโดยรอบเป็นเนินดินสูงมีพื้นที่ประมาณ  ๒๐ ไร่ ล้อมรอบด้วยคลองสองชั้นมีสะพานข้ามและมีทางเข้าออกทางเดียว ชาวอำเภอชุมแพ เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า "กู่"  ก่อนจะไปถึงกู่จะมีรูปพระนอนสลักลงบนหิน ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นวัดป่าโนนเมือง     

 

          จากคำบอกเล่าของพระใบฎีกาสิทธิชัย จนฺทโสภโณ (ปุ๋ย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดศรีนวล ปัจจุบัน และคุณพ่อจารย์นนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นมรรคนายกวัดศรีนวล ได้เล่าว่า ท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนี (กันหาประภัสสรเถระ หรือหลวงพ่อกัณหา) เจ้าอาวาสวัดศรีนวลและเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ประมาณเดือน ๔  ได้มีคนแก่มากราบเรียนท่านเจ้าคุณและเล่าให้ท่านฟังว่า วันหนึ่งเขาได้ไปนอนพักที่โรงนา คืนแรกได้ฝันประหลาดว่า เห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า “อยากจะไปอยู่ในเมือง”  คืนที่สองฝันอีกว่า เห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า “อยากจะไปอยู่ในเมือง”  และพูดต่อว่า “อยากจะไปอยู่เป็นมิ่งขวัญของเมือง” พอคืนที่สามก็ได้ฝันลักษณะเดิมอีก จากนั้นพอตื่นขึ้นมา ก็รู้สึกว่าร้อนรนอยู่ไม่ได้ นอนไม่ได้ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร จึงเดินทางเข้าเมืองขอนแก่น มาเล่าความฝันให้ท่านเจ้าคุณฟัง และท่านเจ้าคุณได้ถามว่า “ลักษณะตรงนั้นเป็นอย่างไร” คนแก่ตอบว่า “ลักษณะตรงนั้นเป็นกู่เก่า มีป่าขนาดใหญ่ ต้นไม้ขึ้นหนาทึบมีเสาหิน และใบเสมาเป็นจำนวนมาก” ท่านเจ้าคุณจึงพูดว่า “ถ้าเป็นมิ่งเป็นขวัญของเมือง ก็ต้องเป็นหลักเมือง” ประกอบกับจังหวัดขอนแก่นยังไม่มีหลักเมือง ท่านเจ้าคุณจึงเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น คือ หลวงธุรนัยพินิจ และได้มอบหมายให้ฝ่ายพระมหาสุคนธ์ พระอีกจำนวนหนึ่งพร้อมปลัดจังหวัดไปอัญเชิญหลักเมืองออกมาจากกู่ บ้านกู่โนนเมือง อำเภอชุมแพ ในขณะที่อัญเชิญหลักเมืองได้เกิดอาเพศฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าลงมาโดนเสาหลักเมือง (ปัจจุบันเป็นเสาหลักเมืองอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น) รถติดหล่ม ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงปรึกษากันว่า “เฮาเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่บ่ได้มา เพิ่นเลยบ่ไป” จึงได้อัญเชิญหลักเมืองลงไว้ที่วัดพระนอน (ปัจจุบันคือ วัดป่าพระนอนพัฒนาราม) แล้วกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้ท่านเจ้าคุณฟัง ท่านเจ้าคุณจึงได้ไปอัญเชิญด้วยตนเอง โดยได้นำหมอลำและภาพยนตร์ ไปฉลองสมโภชที่วัดพระนอนหนึ่งคืน แล้วค่อยอัญเชิญหลักเมืองออกมา ๔ หลัก หลักที่หนึ่ง ได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น ลักษณะหลักเมืองเป็นเสาหินทราย รูปทรงแปดเหลี่ยม สูงประมาณ ๓ เมตร มีลายสลักตัวหนังสือขอม

          หลักที่สอง ได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่ศาลหลักเมืองอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ลักษณะหลักเมืองเป็นเสาหินทราย รูปทรงกลมยาว สูงประมาณ ๔ เมตร มีลายสลักตัวหนังสือขอม

ส่วนสองหลักที่เหลือประดิษฐานอยู่ที่หน้าโบสถ์วัดศรีนวล จังหวัดขอนแก่น ลักษณะหลักเมืองเป็นเสาหินทราย สูงประมาณ ๓ เมตร มีลายสลักตัวหนังสือขอมโบราณเช่นเดียวกัน

          จากคำบอกเล่าของพระอธิการวัลลบ อคฺคธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าพระนอนพัฒนาราม ได้เล่าว่า ในสมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ขณะที่ท่านเป็นมรรคนายกวัดบุญบาลประดิษฐ์ มีนามเดิมว่า นายลบ จ้อยภูเขียว ได้มีพ่อพิมพ์ (ไม่ทราบนามสกุล) จากบ้านนาโพธิ์ มาเล่าให้ท่านเจ้าคุณพระวิสารทสุธี (บด เถสโว) เจ้าอาวาสวัดบุญบาลประดิษฐ์และเป็นเจ้าคณะอำเภอชุมแพในขณะนั้นให้ฟังว่า ตนฝันประหลาดเห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า “อยากจะไปอยู่ในเมือง”  คืนที่สองฝันอีกว่า เห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า “อยากจะไปอยู่ในเมือง”  และพูดต่อว่า “อยากจะไปอยู่เป็นมิ่งขวัญของเมือง” พอคืนที่สามก็ได้ฝันลักษณะเดิมอีก จากนั้นพอตื่นขึ้นมา ก็รู้สึกว่าร้อนรนอยู่ไม่ได้ นอนไม่ได้ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร จึงเดินทางมาเล่าความฝันให้ท่านเจ้าคุณฟัง ต่อมาอีกไม่นานพ่อพิมพ์คนดังกล่าวได้ขุดร้างถางพงป่าดอนในที่นาของตน ในขณะที่ขุดได้พบเสาหินทรายจำนวนมาก ที่เสาทุกต้นมีลายสลักตัวหนังสือขอมโบราณ จึงมาแจ้งข่าวให้ท่านเจ้าคุณทราบและนิมนต์ท่านออกไปดู ท่านเจ้าคุณได้ไปดูพร้อมกับคนเฒ่าคนแก่ที่รู้เรื่องโบราณวัตถุในขณะนั้น ผู้รู้เรื่องโบราณวัตถุลงความเห็นว่า นอกจากมีใบเสมาที่แสดงเขตของวัดแล้ว ยังมีเสาตะกอน หรือเสาเชิงตะกอน ที่ทำขึ้นเป็นฐานหรือเป็นหลักเขตของผู้ตายซึ่งเป็นชนชั้นสูงหรือเจ้าเมืองในสมัยโบราณ ท่านเจ้าคุณได้ปรึกษากับผู้รู้เห็นว่า อำเภอชุมแพในขณะนั้นยังไม่มีเสาหลักเมือง สมควรที่จะนำมาเป็นเสาหลักเมืองเพื่อเป็นมิ่งขวัญของอำเภอ ได้มอบหมายให้พระและฆราวาสจำนวนหนึ่งไปอัญเชิญมา ในขณะที่อัญเชิญหลักเมืองได้เกิดอาเพศฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าลงมาโดนเสาหลักเมือง (ปัจจุบันเป็นเสาหลักเมืองอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น) รถติดหล่ม ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงปรึกษากันว่าสาเหตุที่เกิดอาเพศเช่นนี้ คงเป็นเพราะเจ้าของเสาเหล่านี้ต้องการให้พวกเราบ๋ะ (บนบาน) จึงได้บ๋ะว่า หากนำเสานี้ออกไปเป็นเสาหลักเมืองได้จะให้ ชาย ๑ คน หญิง ๑ คนเป็นบริวาร และจัดเลี้ยงอาหารคาวหวาน พร้อมมหรสพสมโภช หลังจากนั้นไม่นานมีคนงานรับจ้างขุดดินถมดิน ได้มาขุดดินที่บริเวณนั้นและเกิดอุบัติเหตุ รถคว่ำระหว่างเดินทางกลับ คนงานเสียชีวิต ชาย ๑ คน หญิง ๑ คน ชาวบ้านเล่าขานกันว่าที่เกิดเหตุเช่นนี้คงเป็นไปตามที่บ๋ะกัน หลังจากนั้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านเจ้าคุณได้ไปอัญเชิญเสาหลักเมืองด้วยตนเอง และนำไปไว้ที่หนองอีเลิง ตรงข้ามวัดโพธิ์ธาตุ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองชุมแพ 

          สำหรับเสาเสมาที่เหลือ ท่านเจ้าคุณได้นำไปไว้ที่วัดป่าพระนอน และได้มอบหมายให้นายลบ จ้อยภูเขียว มรรคนายกในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ พระอธิการวัลลบ อคฺคธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าพระนอนพัฒนาราม) เป็นผู้ดูแล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุและได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น  พระอธิการวัลลบ อคฺคธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าพระนอนพัฒนาราม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ปัจจุบันท่านมีอายุ ๘๔ ปี ๒๑ พรรษาและได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

พระอธิการวัลลบ อคฺคธมฺโม กำลังให้สัมภาษณ์กับผู้เขียน

การก่อสร้างศาลหลักเมือง




           สถานที่ก่อสร้างศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมืองในปัจจุบัน เทศบาลเมืองขอนแก่น (ขณะนั้น) ได้ซื้อที่ดินจากนายโสภัณ สุภธีระ จำนวนเนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๒๖ ตารางวา จำนวนเงิน ๑ แสนบาท ใช้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ คือ เทศบาลเมืองขอนแก่น ปัจจุบันเป็น  เทศบาลนครขอนแก่น โดยเงินที่ใช้ซื้อที่ดินและก่อสร้างศาลหลักเมืองเป็นเงินบริจาคจากประชาชนชาวขอนแก่นและผู้มีจิตศรัทธาทั้งสิ้น
          หลังจากได้ก่อสร้างศาลหลักเมืองเสร็จเรียบร้อย และได้มีการจัดพิธีสมโภชในวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ภายหลังจัดตั้งศาลหลักเมืองเสร็จเรียบร้อย ท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนี (หลวงพ่อกัณหา) และหลวงธุรนัยพินิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้มอบหมายให้เทศบาลเมืองขอนแก่นในขณะนั้น เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของศาลหลักเมือง ซึ่งได้แก่ ค่าเช่าอาคารเพื่อจัดบริการจำหน่ายเครื่องบูชาศาล  เงินบริจาคและเงินทำบุญของผู้มีจิตศรัทธา เป็นต้น เพื่อให้ทางเทศบาลนำเงินผลประโยชน์เหล่านี้มาใช้ในการบูรณะซ่อมแซมศาลหลักเมือง และได้แต่งตั้งให้ คุณพ่อจารย์นนท์ เป็นผู้ดูแลรักษาศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สืบทอดจนมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน คือ นายสมพงษ์ พูลพุทธา

          พิธีตั้งเสาหลักเมือง นิมนต์พระมาสวด ยกตั้งตามแบบพิธีพุทธ ณ ที่สนามศาลาสุขใจ ท่านเจ้าคุณได้ตั้งชื่อว่า “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง”  มีนามย่อว่า  “อินทร์ตา”  การก่อสร้างได้ร่วมกันสร้างทั้งคนจีนและคนไทยในจังหวัดขอนแก่น และได้อัญเชิญอากง อาม่าอยู่รวมกันกับหลักเมือง  คนจีนเรียกว่า “ศาลหลักเมืองกง”  คนไทยเรียกว่า  “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”

          ปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่น ได้สร้างศาลหลักเมืองใหม่ โดยได้เริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๕๐ แล้วเสร็จเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๕๐ และได้มีการสมโภชศาลหลักเมืองใหม่เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐

พระใบฎีกาสิทธิชัย จนฺทโสภโณ (ปุ๋ย) ผู้ให้ข้อมูล

 

การบูชาศาลหลักเมืองขอนแก่น

          ชาวขอนแก่นถือว่าศาลหลักเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวเมืองเพื่อขอพรให้ประสบผลสำเร็จตามที่ปรารถนา หรือช่วยดับทุกข์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือพ้นจากเคราะห์กรรมต่าง ๆ  บ้างก็มากราบขอพร  บ้างก็มาเขียนข้อความตามที่ตนเองประสงค์จะให้เจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมืองช่วยดลบันดาลให้เป็นไป 

          บางคนก็มาบน เมื่อประสบความสำเร็จ ก็จะมาแก้บน โดยมีอาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ ๕-๙ อย่าง และพวงมาลัย ๗ สี ๗ ศอก มาถวายเจ้าพ่อที่คนจีนเรียกว่า ซาแซ”  ประกอบด้วย หมู เป็ด และไก่  หรือ โหงวแซ  ที่มี หมู เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง หรือปลาหมึก

บางคนอาจจะถวายช้าง ม้า แก้บน เพื่อเป็นพาหนะของเจ้าพ่อ หรือถวายงาช้าง เป็นต้น

บ้างก็มาปล่อยนก เพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือเสี่ยงเซียมซี เพื่อเสี่ยงทาย เมื่อได้ใบเซียมซีที่ทายทักว่าดี ก็จะดีใจ แต่บางคนเมื่อได้ใบเซียมซีที่ทายทักว่าไม่ดี ก็จะเอาไปเสียบไว้ที่ต้นโพธิ์ เพราะมีความเชื่อว่า สิ่งที่ไม่ดีไม่ควรนำติดตัวกลับบ้าน ควรฝากไว้กับต้นไม้ใหญ่ที่มีเทพารักษ์สิงสถิตอยู่ ซึ่งปัจจุบันผู้ดูแลศาลหลักเมืองได้ติดป้ายห้ามนำใบเซียมซีมาเสียบไว้ที่ต้นโพธิ์แล้ว เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะไหว้สักการะศาลหลักเมืองขอนแก่น หากยังไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร ให้สังเกตที่ศาลหลักเมืองจะมีแผ่นป้ายแนะนำลำดับขั้นตอนการไหว้และคำกล่าวบูชาศาลหลักเมือง

 

ลำดับขั้นตอนการไหว้

                1. ไหว้เทวดา ฟ้าดิน ๓ ดอก

                2. ไหว้เจ้าพ่อหลักเมือง 3 กระถาง กระถางละ ๓ ดอก

                3. ไหว้ศาลพระภูมิ ๓ ดอก

                4. ไหว้ที่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งมี ๔ ประตู ประตูละ ๑ ดอก

 คำกล่าวบูชาศาลหลักเมือง

                ตั้งนะโม ๓ จบ  ดังนี้    นะโมตัสสะ ภะคะวโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

                แล้วกล่าว  นะโมเม  ชะยะมังคะลัง     ภูมิเทวานัง  สักการะวัณธะนัง    (สาธุ)

          ปัจจุบันศาลหลักเมืองขอนแก่นและบริเวณโดยรอบศาลหลักเมือง ทางเทศบาลนครขอนแก่นและองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกันเป็นผู้ดูแล บำรุงรักษา โดยใช้เงินที่ได้จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธามาบริหารจัดการ

เรื่องและภาพ : นายิกา เดิดขุนทด

แหล่งอ้างอิง
กลุ่มปัญจมิตรขอนแก่น.  (๒๕๕๓).  “เอาศาลหลักเมืองของคนขอนแก่นคืนมา” รวมพลังศรัทธาเพื่อรักษาศาลหลักเมืองของเรา.  ค้นเมื่อ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จาก http://www.welovelakmuang.org/

พระใบฎีกาสิทธิชัย จนฺทโสภโณ (ปุ๋ย).  (13 กุมภาพันธ์ 2554).  สัมภาษณ์.  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดศรีนวล จังหวัดขอนแก่น. 

พระอธิการวัลลบ อคฺคธมฺโม (ลบ จ้อยภูเขียว) .  (๒๑ มีนาคม ๒๕๕๔).  สัมภาษณ์.  เจ้าอาวาสวัดป่าพระนอนพัฒนาราม ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น. 

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น.  แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดขอนแก่น : ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น.  ค้นเมื่อ 12 พ.ย.2553 จาก http://province.prd.go.th/khonkaen/tour/sarnjawpor.html

  

 

         


Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th