ศาลเจ้าแม่สองนาง ริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น

ศาลเจ้าแม่สองนาง ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของบึงแก่นนคร ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น
จากคำบอกเล่าของชาวเมืองขอนแก่นทราบว่า  เดิมเป็นศาลเรือนไม้สองหลัง ขนาดกว้าง 1 เมตร สูงประมาณ 150 เซนติเมตร มีลักษณะเหมือนศาลปู่ตา ภายในศาลไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด
ต่อมาทางเทศบาลนครขอนแก่นได้มีการบูรณะและก่อสร้างใหม่เป็นศาลคอนกรีต

                        

ประวัติพระธิดาสองนาง

            

            สองนาง เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าชัยเชษฐาธิราช  กษัตริย์แห่งล้านช้าง (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน)  ทั้งสองพระนางประสูติในราว พ.ศ.  ๒๑๐๔-๒๑๐๕ ตรงกับ ค.ศ. ๑๕๖๑ - ๑๕๖๒ มีอายุน้อยกว่าพระเอกาทศรถ ประมาณ ๓ - ๔ ชันษา สองนางเมื่อมีอายุประมาณ ๑๖ - ๑๗ ชันษา เคยติดตามมากับกองทัพของพระเจ้าชัยเชษฐาธิราช  เมื่อครั้งที่พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชยกทัพมาท้ารบกับพระมหาธรรมราชา เพื่อท้าตีกันตัวต่อตัว (ไพร่พลไม่เกี่ยว)  ด้วยเป็นความแค้นส่วนพระองค์ อันสืบเนื่องมาจากพระเทพกษัตรีย์ (ทั้งสองพระองค์มีจิตปฏิพัทธ์ในผู้หญิงคนเดียวกัน เป็นด้วยเหตุผลในยุคนั้น)                                                                                                            

 

 

                พระเอกาทศรถทรงเห็นว่าพระมหาธรรมราชาทรงมีพระชนมายุมากแล้ว ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพระบิดาจึงอาสาออกรบแทน  เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชทรงทราบข่าว พระองค์จึงให้สองพระนางออกรบแทนพระองค์บ้าง  ทัพทั้งสองเผชิญหน้ากันที่ทุ่งชัยน่าน   ท้ายหนองหาญ  เป็นที่ตั้งของอำเภอสรรพระยาในปัจจุบัน  แต่ในระหว่างที่เผเชิญหน้ากันอยู่นั้นพระเอกาทศรถทรงทอดพระเนตรเห็นสองพระนาง จึงตรัสถามว่า  "น้องทั้งสองชื่ออะไร"   พระราชธิดาได้แต่สงบนิ่ง ไม่ตอบคำถาม ทำให้พระเอกาทศรถไม่ทรงทราบชื่อ  ศึกครั้งนั้นไม่ใช่ศึกรบแต่เป็นศึกรัก                                                                                                                                                                  

 

ครั้นต่อมาพระเจ้าเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง ได้สวรรคตลง และเนื่องจากพระองค์ไม่มีราชบุตรที่จะสืบทอดอำนาจครองเมืองต่อจากพระองค์  จึงถึงจุดหักเหชีวิตของเจ้าแม่สองนาง  เมื่อมีเจ้าเมืองคนใหม่ขึ้นครองราชย์ต่อมา พระราชธิดาสองนางซึ่งทราบต่อมาภายหลังว่า  ผู้พี่ชื่อ เจ้านางคำหมื่น  ผู้น้องชื่อ เจ้านางคำแสน  ได้พาพวกพ้องบริวารอพยพโดยใช้ช้างเป็นพาหนะเดินทางมาหาผู้เป็นน้า  ผู้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นก็คือ  ท้าวเพียเมืองแพน  ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นนั่นเอง เมื่อมาถึงเมืองขอนแก่น เพียเมืองแพนผู้เป็นน้าจึงจัดให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านบึงบอน หรือบ้านเมืองเก่า ริมบึงแก่นนครในปัจจุบัน ภายหลังเมื่อทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ ชาวเมืองในสมัยนั้นจึงได้สร้างศาลของพระนางขึ้นเพื่อเคารพสักการะบูชา  ผู้คนทั่วไปเรียกขนานนามศาลแห่งนี้ว่า  ศาลเจ้าแม่สองนาง   ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตราบเท่าทุกวันนี้                                                                                                                                                                                                         ศาลเจ้าแม่สองนาง  เป็นที่เลื่อมใสของชาวเมืองขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงต่อการขอพรในเรื่องความรัก                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                         

                 

           

เรียบเรียงโดย  นายิกา เดิดขุนทด

ดูเพิ่มเติม
 
 ไหว้ ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์บึงแก่นนคร : ศาลเจ้าแม่สองนาง    
 
แหล่งอ้างอิง  
กวินทรา ใจซื่อ.  (๒๕๕๓).  ซิตี้ทัวร์ไหว้ ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์บึงแก่นนคร ทางเลือกการท่องเที่ยวแบบใกล้เมือง. ค้นเมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ จาก http://www.ichumphae.com/description.aspx?q_sec=121282259
ประวัติเจ้าแม่สองนาง.  (ม.ป.ป.).  ขอนแก่น: เทศบาลนครขอนแก่น.  (ไม่ได้ตีพิมพ์).
สมชื่น เชี่ยวกุล.  (๒๕๓๙).  รายงานการวิจัยเรื่องภูมิหลังและคติชนวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญของชุมชนเมืองรอบบึงแก่นนคร.  ขอนแก่น: ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
 
 


Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th