ประวัติพระธิดาสองนาง
สองนาง เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าชัยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน) ทั้งสองพระนางประสูติในราว พ.ศ. ๒๑๐๔-๒๑๐๕ ตรงกับ ค.ศ. ๑๕๖๑ - ๑๕๖๒ มีอายุน้อยกว่าพระเอกาทศรถ ประมาณ ๓ - ๔ ชันษา สองนางเมื่อมีอายุประมาณ ๑๖ - ๑๗ ชันษา เคยติดตามมากับกองทัพของพระเจ้าชัยเชษฐาธิราช เมื่อครั้งที่พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชยกทัพมาท้ารบกับพระมหาธรรมราชา เพื่อท้าตีกันตัวต่อตัว (ไพร่พลไม่เกี่ยว) ด้วยเป็นความแค้นส่วนพระองค์ อันสืบเนื่องมาจากพระเทพกษัตรีย์ (ทั้งสองพระองค์มีจิตปฏิพัทธ์ในผู้หญิงคนเดียวกัน เป็นด้วยเหตุผลในยุคนั้น)
พระเอกาทศรถทรงเห็นว่าพระมหาธรรมราชาทรงมีพระชนมายุมากแล้ว ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพระบิดาจึงอาสาออกรบแทน เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชทรงทราบข่าว พระองค์จึงให้สองพระนางออกรบแทนพระองค์บ้าง ทัพทั้งสองเผชิญหน้ากันที่ทุ่งชัยน่าน ท้ายหนองหาญ เป็นที่ตั้งของอำเภอสรรพระยาในปัจจุบัน แต่ในระหว่างที่เผเชิญหน้ากันอยู่นั้นพระเอกาทศรถทรงทอดพระเนตรเห็นสองพระนาง จึงตรัสถามว่า "น้องทั้งสองชื่ออะไร" พระราชธิดาได้แต่สงบนิ่ง ไม่ตอบคำถาม ทำให้พระเอกาทศรถไม่ทรงทราบชื่อ ศึกครั้งนั้นไม่ใช่ศึกรบแต่เป็นศึกรัก
ครั้นต่อมาพระเจ้าเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง ได้สวรรคตลง และเนื่องจากพระองค์ไม่มีราชบุตรที่จะสืบทอดอำนาจครองเมืองต่อจากพระองค์ จึงถึงจุดหักเหชีวิตของเจ้าแม่สองนาง เมื่อมีเจ้าเมืองคนใหม่ขึ้นครองราชย์ต่อมา พระราชธิดาสองนางซึ่งทราบต่อมาภายหลังว่า ผู้พี่ชื่อ เจ้านางคำหมื่น ผู้น้องชื่อ เจ้านางคำแสน ได้พาพวกพ้องบริวารอพยพโดยใช้ช้างเป็นพาหนะเดินทางมาหาผู้เป็นน้า ผู้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นก็คือ ท้าวเพียเมืองแพน ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นนั่นเอง เมื่อมาถึงเมืองขอนแก่น เพียเมืองแพนผู้เป็นน้าจึงจัดให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านบึงบอน หรือบ้านเมืองเก่า ริมบึงแก่นนครในปัจจุบัน ภายหลังเมื่อทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ ชาวเมืองในสมัยนั้นจึงได้สร้างศาลของพระนางขึ้นเพื่อเคารพสักการะบูชา ผู้คนทั่วไปเรียกขนานนามศาลแห่งนี้ว่า ศาลเจ้าแม่สองนาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตราบเท่าทุกวันนี้ ศาลเจ้าแม่สองนาง เป็นที่เลื่อมใสของชาวเมืองขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงต่อการขอพรในเรื่องความรัก
เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด