พญาคำกอง

          พญาคำกอง หรือ พญาคำกอง (สอนไพร่) เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านไทอีสาน ประเภทนิทานแฝงคติธรรม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้แต่ง  เพราะวรรณกรรมไทอีสานโดยมากจะไม่บอกชื่อผู้แต่งไว้ นักปราชญ์ไทอีสานได้ประพันธ์โดยการประมวลความรู้จากจารีตประเพณี ความเชื่อในท้องถิ่น และค่านิยมทางพุทธศาสนา มาร้อยกรองเพื่อให้สละสลวย คล้องจอง จดจำง่าย  เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นคำสอนนักปกครองให้รู้หลักฮีตคอง สอนประชาชนให้รู้จักการครองเรือน และการทำมาหากิน

           นิทานเรื่องนี้มีหลายฉบับ แต่ฉบับที่มุมอีสานสนเทศคัดเลือกมาบันทึกในฐานข้อมูลอีสานสนเทศคือ ฉบับที่พระอริยานุวัตรเขมจารีเถระ แห่งศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ปริวรรตมาจากต้นฉบับใบลานภาษาไทยน้อย ฉบับบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อเรื่องย่อความว่า
          ครั้งหนึ่งยังมีจอมราชาแห่งเมืองคองสร้าง ชื่อว่า  “พญาคำกอง”  ได้ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนของพระองค์ตั้งอยู่ในธรรมและให้รู้จักประกอบอาชีพทำมาหากินโดยสุจริต พร้อมกับสอนวิธีทำมาหากินให้อย่างละเอียด เนื้อหาแบ่งเป็น ๕ เรื่อง (บั้น) คือ
           เรื่องที่ ๑  สอนคนในปกครองของพระองค์ ๓ กลุ่ม ให้เป็นคนมีคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงาม คือ
                ๑. กลุ่มชนชั้นปกครองชาย  ได้แก่  เสนา มนตรี อำมาตย์ ขุน  สอนให้อยู่ในทศพิธราชธรรม รู้ระเบียบวิธีปฏิบัติ รู้จักหน้าที่ ทำตามหน้าที่ ไม่เสพสิ่งเสพติดและอบายมุขทั้งหลาย เช่น เสพฝิ่น ดื่มสุรา ผิดชู้กับนางสนมกำนัล ไม่ใส่ความให้คนแตกสามัคคี เป็นต้น
                 ๒. กลุ่มหญิงผู้เป็นภรรยาของกลุ่มที่ ๑  สอนไม่ให้ผิดชู้ หยาบคาย ดื่มสุรา เคารพสามี เคารพบุพการี ปรนนิบัติสามีดี วางตนให้เหมาะสม เกรงกลัวบาป
                 ๓. กลุ่มประชาชนทั่วไป  สอนให้รู้จักรักษาความสะอาดที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ ที่นอน ตลอดจนถึงสัตว์เลี้ยงให้เลี้ยงดูให้ดี เป็นสามีภรรยากันไม่ให้ทะเลาะกันวิวาทกัน เป็นต้น
           เรื่องที่ ๒  สอนเรื่องการประกอบอาชีพ  แยกได้เป็น ๒ อาชีพ คือ
               ๑. อาชีพต่ำหูก  อธิบายละเอียดตั้งแต่เรื่องฟืมชนิดต่าง ๆ  เครื่องมือสาวไหม  การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การต่ำหูก ขิดไหม สาวไหม ย้อมผ้า สอนการทอผ้าทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายจนเป็นผ้าผืนงาม 
               ๒. อาชีพงานในบ้าน  สอนให้หมั่นเรียนความรู้ต่าง ๆ เพื่อประกอบอาชีพ เช่น การขิดลายต่ำหูก การตัดเสื้อผ้า การปรุงอาหาร งานปั้น งานเขียน จักสาน หล่อแก้ว ตีขันน้ำ ขันโตก และงานช่าง เป็นต้น
          เรื่องที่ ๓  สอนเรื่องการประกอบอาชีพของบุรุษ  สอนว่าผู้ชายควรเรียนรู้และประกอบ
อาชีพได้หลายอย่าง เช่น สร้างบ้าน รบทัพจับศึก ทำการเกษตร ทำสวนไร่นา เลี้ยงสัตว์ ค้าขายทั้งทางบกและทางน้ำ ช่างฝีมือจักสาน ปั้น หล่อ ตีเหล็กเงินทอง  เขียนแต้ม ดนตรี หมอยา เวทมนตร์และโหราศาสตร์ นอกจากนี้ยังสอนให้เป็นผู้ชายที่เก่งกล้าสามารถในทุกเรื่องและมีศีลธรรมประจำใจ
           เรื่องที่ ๔  สอนเรื่องการปรุงอาหาร การถนอมอาหาร งานบ้านงานเรือน และการปลูกพืชผล
           เรื่องที่ ๕  สอนให้เป็นคนรู้จักการทำทาน การรู้จักแบ่งปัน และการรักษาศีลทั้งศีลห้าและศีลแปด
           ตอนสุดท้ายได้เน้นย้ำให้เสนา อำมาตย์ ขุนในปกครองของพระองค์  รักษาฮีตคองและทำทาน สอนประชาชนรู้จักทำมาหากิน สอนสามีภรรยาให้ครองเรือนอย่างมีความสุข

ตัวอย่างคำสอนงานบ้านงานเรือน
          “อันหนึ่ง สาดเสื่อพร้อม  มุ้งม่านหมอนหมุน
                          ให้เอาไปตบซัก  อย่ามีหมองได้
                          พองายแล้ว  ให้ขนไปตากแดด แท้เนอ
                          เมื่อตากผึ่งแล้ว  ให้เก็บเมี้ยนให้ดี  ท่านเอย
                          หมอนเสื่อนั้น  แม่ญิงต่ำขิดลาย
                          หยิบเป็นหมอน  หมากนุ่นดีเป็นใส้
                          จิ่งย้อมผ้า  สีดำหยิบเสื่อ  แท้เนอ
                          สาดไหลผือต่ำไว้  ปอแก้วแต่งสาน  หั้นแล้ว”

เอกสารอ้างอิง
พระยาคำกอง (สอนไพร่).
  (2513).  ชำระโดย พระอริยานุวัตรเขมจารีเถระ.  มหาสารคาม: ศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย.



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th