มูนมังขอนแก่น

          มูน หรือ มูนมัง เป็นคำไทยอีสาน หมายถึง มรดก (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล และนภาพร พิมพ์วรเมธากุล, 2545)  ดังนั้น มูนมังขอนแก่น จึงหมายถึง มรดกของจังหวัดขอนแก่นที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนถึงรุ่นลูกหลานในยุคปัจจุบัน ซึ่งมุมอีสานสนเทศได้พยายามรวบรวมและเสาะแสวงหาข้อมูลมาจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลอีสานสนเทศ ดังมีรายละเอียดดังนี้

           “ขอนแก่น”  เป็นคำไทยธรรมดา ไม่มีคำแปลเหมือนชื่อเมืองอื่น ๆ ที่ใช้ศัพท์ภาษาอื่นตั้งแล้วแปลความหมายให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ หรือประวัติความเป็นมาของแต่ละจังหวัด เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา คือ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและโบราณสถานมากมาย ดังปรากฏร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน เช่น แหล่งขุดค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และภาพเขียนสีถ้ำฝ่ามือแดง อำเภอภูเวียง เมืองโบราณสมัยทวาราวดี ที่อำเภอชุมแพ เสมาหินที่เมืองชัยวาน อำเภอมัญจาคีรี และศาสนสถานสมัยขอมที่อำเภอเปือยน้อย เป็นต้น มีวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ มีผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอชนบท นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และการคมนาคมที่สะดวกตลอดปี
          ที่มาของการตั้งชื่อเมืองมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีต้นมะขามใหญ่ถูกตัดโค่นลงไว้นานหลายปีกลับงอกงามมีกิ่งก้านสาขาขึ้นมาอีก ประชาชนถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์จึงพากันสร้างพระเจดีย์ครอบตอมะขามไว้เป็นที่สักการบูชาพร้อมกับบรรจุพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๙ บทไว้บนตอมะขามนั้น เรียกว่า “พระเจ้า ๙ พระองค์”  และเรียกเจดีย์นั้นว่า  “พระเจดีย์ขามแก่น”  หรือ "พระธาตุขามแก่น"

ซึ่งชาวพื้นเมืองนับถือว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัด โดยในวันเพ็ญเดือน ๖ ของทุกปีจะมีพิธีฉลองและนมัสการเป็นประจำ

ชาวเมืองจึงถือเอาสิ่งมงคลนี้มาตั้งชื่อเมืองว่า “เมืองขามแก่น” แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น “ขอนแก่น” ปัจจุบันทางจังหวัดได้นำเจดีย์ขามแก่นมาเป็นตราประจำจังหวัด


         

ประวัติของเมืองขอนแก่นปรากฏหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาว่า อาณาเขตจังหวัดขอนแก่นเคยเป็นดินแดนที่มีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ มีความเจริญรุ่งเรือง มีอารยธรรมสูงส่งมาก่อนสมัยประวัติศาสตร์และคาบเกี่ยวกับสมัยประวัติศาสตร์ ทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติโบราณมากมาย ดังนี้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
                จากหลักฐานการสำรวจบริเวณบ้านโนนนกทา บ้านนาดี ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง ของ วิลเฮล์ม จิโซลไฮม์ เรื่อง เออร์ลี่บรอนซ์ อิน นอร์ธอิสเทริน์ ไทยแลนด์ ได้ค้นพบเครื่องสำริดและเหล็กมีเครื่องมือเครื่องใช้เป็นขวาน รวมทั้งแบบแม่พิมพ์ที่ใช้หล่อ มีกำไลแขนสำริดคล้องอยู่ที่โครงกระดูกท่อนแขน ซ้อนกันหลายวง พบกำไรทำด้วยเปลือกหอย รวมทั้งพบแหวนเหล็กไน แสดงว่ามีการปั่นด้ายทอผ้าใช้ในยุคนั้นแล้ว นอกจากนี้ ยังพบขวานทองแดง อายุ ๔,๖๐๐-๔,๘๐๐ ปี เป็นหัวขวานหัวเดียวที่พบในประเทศไทย ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ในชั้นดินที่ ๒๐ การกำหนดอายุโดยคาร์บอนด์ ๑๔ จากชั้นดินที่ ๑๙ ปรากฏว่าอายุ ๔,๒๗๕ ปี จากหลักฐานข้างต้นพิสูจน์ให้เห็นว่าอาณาเขตบริเวณจังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรม วัฒนธรรมอันสูงสุดมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี

สมัยกรุงสุโขทัย
                บริเวณบ้านโนนเมือง วัดป่าพระนอน ตำบลชุมแพ ได้พบเสมาหินปักอยู่เป็นระยะและล้มจมดิน มีรอยสลักกลีบบัว กลีบเดียวหรือสองกลีบ แท่งหินที่สำคัญที่ชาวบ้านเรียกว่า เสาหลักเมืองเป็นรูปทรงกลมมีรอยจารึก ซึ่งเข้าใจว่าเป็นตัวอักษรมอญโบราณ  ได้นำเอามาทำเป็นหลักเมืองขอนแก่น เมืองโบราณ แห่งนี้กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ฝังอยู่อย่างเป็นระเบียบ มีโบราณวัตถุหลายอย่าง ฝังรวมอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่มีคนอาศัยอยู่มาหลายยุคหลายสมัย บริเวณยอดเขาภูเวียงเป็นวงกลมซึ่งโอบล้อมพื้นที่ ๓ ตำบล มีพระพุทธรูปแบบทวารวดี จากภาพถ่ายทางอากาศ พบเมืองโบราณหลายแห่งอยู่ใกล้ลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญ คือเมืองโบราณที่วัดดงเมืองแอม ในเขตอำเภอน้ำพอง  เมืองมีขนาด ๒,๙๐๐ x ๓,๐๐๐ เมตร ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานเท่าที่ได้พบเห็นในประเทศไทย จะเป็นรองอยู่ก็เฉพาะเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) พระธาตุบ้านขาม อำเภอน้ำพอง มีประวัติว่า เดิมมีตอมะขามใหญ่ซึ่งตายไปนานแล้ว กลับงอกเงยขึ้นอีก  คนเจ็บป่วยเมื่อได้กินใบซึ่งงอกขึ้นใหม่นี้จะหาย หากผู้ใดไปทำมิดีมิร้ายหรือดูถูก ไม่เคารพก็จะมีอันเป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วนชาวบ้านจึงพร้อมใจกันก่อพระเจดีย์ครอบตอมะขามนี้ ไว้โดยสลักบรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไว้ในตอมะขามเหตุนี้จึงเรียกว่าพระธาตุบ้านขามมาแต่โบราณ
 

สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี
                เมื่ออิทธิพลของขอมเสื่อมลงหลังพุทธศวรรษที่ ๑๖ จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา บ้านเมืองทางภาคอีสานโดนกระทบจากภัยสงครามหรือภัยอื่น ๆ จนกลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนระส่ำระสาย ในการประชุมพงศาวดารภาค ๗๐ ของกรมศิลปากร เรื่องพงศาวดารย่อนครเวียงจันทน์ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า  "ศักราชได้ ๗๖ ปี กาบสะง้าเจ้าบ้านท่านกวาดครัวภูเวียงลง"  คำว่าศักราชได้ ๗๖ เทียบได้กับ พ.ศ. ๒๒๕๗ คือ ๑๖ ปี ก่อนพระเจ้าศิริบุญสารขึ้นครองราชสมบัติ หรือปลายสมัยอยุธยา และว่าภูเวียงมีฐานะเป็นชุมชนเมืองสำคัญ และมีฐานะเป็นเมืองป้อมหรือเมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์ ตั้งอยู่ในเส้นทางติดต่อระหว่างนครเวียงจันทน์ กับกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร  การเดินทัพหรือการเดินทางโดยทั่วไปของทั้งสองนครต้องผ่านโคราช ช่องสามหมอ ภูเวียง หนองบัวลำภู เพราะเป็นทางตรงและมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ต่อมาภายหลังเพื่อหลีกเลี่ยงทางลุ่ม จึงมีทางรถไฟ ทางรถยนต์ ไปตามที่ดอนผ่านเมืองพล บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย

สมัยรัตนโกสินทร์
                ประวัติการสร้างเมืองขอนแก่นได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๒ ขณะนั้นเมืองเวียงจันทน์ได้เกิดเหตุพิพาทกับกลุ่มของพระวอที่บ้านดอนมดแดง (ปัจจุบันคือ จ.อุบลราชธานี) จนถึงกับยกทัพไปตีค่ายของพระวอแตกและจับพระวอประหารชีวิต สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถือว่า ฝ่ายพระวอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ จากนั้นจึงได้ยกทัพกลับมายังกรุงธนบุรี พร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาถวายแด่พระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย      

                เจ้าแก้วบุฮม (แก้วบรม) กับเพี้ยเมืองแพน (เทียบบรรดาศักดิ์ได้เสมอชั้น “พระ”) สองพี่น้อง ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม) ได้ยกกองทัพจากบ้านเพี้ยปู่ แขวงเมืองทุละคม (ปัจจุบันอยู่ในเวียงจันทน์) ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโพธิ์ตาก (ปัจจุบันคือ บ้านโพธิ์ตาม ตำบลบ้านกง อ.เมืองขอนแก่น) และบ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (ปัจจุบันคือ บ้านโพธิ์ศรี ตำบลบ้านโน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น) บ้านโพธิ์ชัย เมืองมัญจาคีรี (ปัจจุบันคือ บ้านโพธิ์ชัย อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น) โดยเจ้าแก้วบุฮมได้อพยพไพร่พลเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโพธิ์ชัย เพี้ยเมืองแพนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านชีโหล่น ขึ้นกับเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ ครั้นต่อมาอีกราว ๙ ปี ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ เพี้ยเมืองแพนก็ได้พาราษฎรและไพร่พลประมาณ ๓๓๐ คน ขอแยกตัวออกจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งบึงบอน ตั้งขึ้นเป็นเมืองที่บ้านดอนพยอม เมืองเพี้ย (ปัจจุบันคือ บ้านเมืองเพี้ย ตำบลเมืองเพี้ย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น) 

                จากพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร อ้างถึงใน จิ๊กโก๋โรแมนติก, ๒๕๕๒ กล่าวว่า  "ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมเสง นพศก (พ.ศ. ๒๓๔๐) ฝ่ายเพี้ยเมืองแพน บ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนให้อยู่ในบังคับสามร้อยคนเศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เพี้ยเมืองแพนเป็นที่พระยานครศรีบริรักษ์ เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา..."  ส่วนพงศาวดารภาคอีสานฉบับของ พระยาขัตติวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด, พ.ศ. ๒๓๒๕) มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า  “...ทราบข่าวว่าเมืองแสนกลัวความผิดหลบตัวหนีลงไป พึ่งพระยาโคราช บอกให้เมืองแสนลงไปเมืองเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระจันทรประเทศ ขึ้นมาตั้งบ้านกองแก้ว เป็นเมืองชนบท มีไพร่พลสมัครไปด้วย ๓๔๐ คน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๔๐  ฝ่ายเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิเห็นว่าเมืองแสนได้เมืองชนบทก็อยากจะได้บ้าง จึงเกลี้ยกล่อมคน ได้สามร้อยคนเศษจึงสมัครขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสีมาแล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเพียเมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง โดยยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น...”   แต่อีกตำนานหนึ่ง (สมชื่น เชี่ยวกุล, ๒๕๓๘; อนุพันธ์ นิตินัย, ๒๕๔๙) กล่าวว่า หลังจากที่พระวอและพระตา แยกตัวออกจากนครเวียงจันทน์มาอยู่ที่หนองบัวลำภูได้ ๓ ปี  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒  เพี้ยเมืองแพน ได้อพยพผู้คนประมาณ ๓๓๐ ครอบครัวจากบ้านชีโหล่น (ปัจจุบันบ้านชีโหล่นอยู่ในเขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด) แห่งเมืองท่ง แขวงเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคือ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด) เพื่อมาตั้งบ้านเมืองที่บ้านบึงบอน อยู่ทางทิศตะวันตกของบึงบอน  โดยขอขึ้นกับเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพฯ   รัชกาลที่ ๑  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเพียเมืองแพนเป็น “พระนครศรีบริรักษ์”  ว่าราชการเมือง โดยยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น  

ประวัติการย้ายถิ่นฐานเมืองขอนแก่น

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ ได้มีการย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านบึงบอนไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองเหล็ก (ปัจจุบันคือ ตำบลบ้านแพง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม) โดยเจ้าเมืองขอนแก่นได้ขอขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร คือจะขอส่งส่วยต่อกรุงเทพฯ โดยตรงไม่ผ่านเมืองสุวรรณภูมิ โดยให้เหตุผลว่า บ้านดอนพยอมเมืองเพี้ยอยู่ใกล้กับแขวงเมืองนครราชสีมา เพราะอยู่ใกล้กับเมืองชนบท ซึ่งขึ้นกับแขวงเมืองนครราชสีมาในขณะนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเข้าใจว่า เจ้าเมืองในขณะนั้นอยากจะแยกตัวออกเป็นอิสระ เพื่อแยกเป็นเมืองใหญ่ การย้ายเมืองครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบ้ง (บุตรเจ้าแก้วบุฮม) เป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นต่อมา และให้เมืองขอนแก่นขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

                เนื่องจากบรรพบุรุษของเจ้าเมืองขอนแก่นมีพื้นเพเดิมมาจากเมืองเวียงจันทน์ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ การสร้างเมืองใหม่ที่บ้านบึงบอนจึงต้องมีการสร้างวัดคู่กันไปด้วยตามประเพณี จึงได้มีการสร้างวัดขึ้น ๔ วัด ในสมัยนั้นคือ (๑) วัดเหนือ เป็นวัดที่อยู่ทางทิศเหนือหรือทางต้นน้ำ ใช้สำหรับเจ้าเมืองบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีการสำคัญต่าง ๆ  (๒) วัดกลาง เป็นวัดที่อยู่กึ่งกลางเมือง สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้บำเพ็ญกุศลและประพิธีกรรมต่าง ๆ  (๓) วัดแขกหรือวัดท่าแขก ใช้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์หรือคนต่างถิ่นจะได้พักอาศัยหรือทำบุญกุศลและประกอบพิธีต่างๆ  (๔) วัดใต้  เป็นวัดที่อยู่ทางทิศใต้หรือทางด้านใต้ของต้นน้ำ ใช้สำหรับประชาชนพลเมืองบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีการต่าง ๆ  พระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ปกครองเมืองขอนแก่น อยู่ ๒๒ ปีก็ถึงแก่กรรม ท้าวจามบุตร ซึ่งเป็นบุตรได้รับแต่งตั้งเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนจนถึง
                พ.ศ. ๒๓๕๒ พระนครศรีบริรักษ์ (จามบุตร) ได้ย้ายเมืองจากบ้านหนองเหล็กไปตั้งอยู่ที่บ้านดอนพันชาด หรือดงพันชาด (ปัจจุบันคือ บ้านโนนเมือง ต. แพง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม) เพราะบ้านบึงบอนใกล้ชิดกับเขตเมืองระหว่างเมืองขอนแก่นกับเมืองนครราชสีมา หลังจากสร้างเมืองใหม่เสร็จก็สร้างวัดอีก ๓ วัดคือ วัดธาตุ วัดกลาง และวัดหนองแวง เหมือนกับที่บ้านบึงบอน (ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ๒๕๐๘)
                เมื่อพระนครศรีบริรักษ์ (จามบุตร) ถึงแก่กรรม ท้าวอินซึ่งเป็นบุตรคนโตได้รับแต่งตั้งเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ปกครองเมืองขอนแก่นจนถึง  พ.ศ. ๒๓๘๑ (ในสมัยรัชกาลที่ ๓) จึงได้ย้ายเมืองจากบ้านดอนพันชาดไปตั้งอยู่ที่บ้านโนนทอง ริมบึงพระลับโนนทอง (ปัจจุบันคือ บึงแก่นนคร) ต่อมาเกิดการแย่งราษฎรไพร่พลขึ้นและเกิดแผ่นดินแยกที่ถนนกลางเมือง มีโรคภัยไข้เจ็บ ผู้คนล้มป่วยกันมาก จึงถือว่าที่ตรงนั้นไม่เป็นมงคลต่อการอยู่อาศัย จึงย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งจากบึงพระลับโนนทองไปตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกที่บ้านโนนทัน (ปัจจุบันคือ บ้านโนนทัน ต.ในเมือง อ.เมือง) ริมบึงบอน (ปัจจุบันคือ บึงแก่นนคร) ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการปักปันเขตเมืองระหว่างเมืองขอนแก่นและเมืองกาฬสินธุ์ จึงต้องย้ายเมืองกลับไปอยู่บ้านโนนทันและสร้างวัดขึ้น ๒ วัดคือ วัดแขก และวัดโพธิ์ (ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ๒๕๐๘)  วัดแขกนั้นภายหลังร้างไปจึงเหลือแต่วัดโพธิ์โนนทันในปัจจุบัน (สมชื่น เชี่ยวกุล, ๒๕๓๘)  เมืองขอนแก่นตั้งอยู่บ้านโนนทันเป็นเวลา ๒๙ ปี พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวอิน) ถึงแก่กรรม ท้าวมุ่ง ซึ่งเป็นน้องของพระนครศรีบริรักษ์ (อิน) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน                                               

                 ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (ในสมัยรัชกาลที่ ๔) พระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) เจ้าเมืองขอนแก่นในขณะนั้นถึงแก่อนิจกรรม รัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินธิวงษ์ บุตรคนเล็กของพระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น เพราะมีวิชาความรู้ดีกว่าพี่ชายคนอื่น ๆ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานครศรีบริรักษ์ สืบมา                                                                                                              

                  ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ พระยานครศรีบริรักษ์ (อินธิวงษ์) ได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบุ่ง พี่ชายท้าวอินธิวงษ์ ผู้เป็นอุปฮาด (ปลัดเมืองขอนแก่น) ให้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นสืบแทนน้องชาย แต่ได้ขึ้นว่าราชการเมืองเพียงแค่ ๓ ปี เพราะชราภาพมากแล้ว  ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอู๋ ผู้เป็นหลานของท้าวอินธิวงษ์ ขึ้นเป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น และให้ท้าวหนูหล้า บุตรคนเล็กของท้าวอินธิวงษ์ เป็นอุปฮาด (ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพิทักษ์สารนิคม) และเจ้าเมืองได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านโนนทันไปตั้งอยู่ที่บ้านโนนทอง (บ้านเมืองเก่า) จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๓ จึงได้ย้ายจากบ้านเมืองเก่าไปตั้งอยู่ที่บ้านดอนบมริมแม่น้ำชี (ตำบลเมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่นในปัจจุบัน) โดยมีท้าวอู๋ ผู้เป็นหลานเป็นผู้ช่วยในการย้ายเมือง  จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๐  ย้ายเมืองขอนแก่นอีก คราวนี้ไปตั้งอยู่บ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า ริมแม่น้ำชีด้านทิศตะวันออก ห่างจากตัวจังหวัดปัจจุบันประมาณ ๘ กิโลเมตร
 
                ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ พวกฮ่อยกทัพมายึดเวียงจันทน์และยึดมาถึงเมืองหนองคาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้พระยาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร) รวบรวมไพร่พลไปปราบฮ่อ ท้าวอู๋ได้ยกทัพจากเมืองขอนแก่นไปสมทบและเข้าตีค่ายฮ่อทางเวียงจันทน์ด้านเหนือได้ ผลงานครั้งนี้ทำให้ท้าวอู๋ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระยานครศรีบริรักษ์ (อู๋) เป็นผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น ส่วนท้าวมุ่งนั้นถึงแก่กรรมที่บ้านนกกกระบก (สมชื่น เชี่ยวกุล, ๒๕๓๘)                                                                                                                                 

                 ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองหัวเมืองไกลใหม่ทั่วภาคอีสาน และได้เปลี่ยนบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือเป็นบริเวณหัวเมืองลาวพวน  ดังนั้นเมืองขอนแก่นจึงขึ้นกับบริเวณหัวเมืองลาวพวน  โดยมีข้าหลวงใหญ่อยู่ที่เมืองหนองคาย  ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงต่างพระองค์และมาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำอยู่ที่เมืองหนองคาย ในการเดินทางไปหนองคายต้องมาข้ามเรือที่ขอนแก่นด้วย วันหนึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเสด็จผ่านแขวงเมืองขอนแก่น ได้ประทับแรมที่บ้านทุ่มหนึ่งราตรี เพราะเส้นทางคมนาคมหรือทางม้าโคเกวียนสมัยก่อนจากนครราชสีมาต้องผ่านมาทางเมืองชนบท-บ้านทุม ไปหนองคาย และในสมัยนั้นเมืองขอนแก่นได้โอนสังกัดจากนครราชสีมามาขึ้นต่อข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๓ แล้ว เสด็จในกรมได้ทรงรับสั่งกับพระยานครศรีบริรักษ์ (อู๋) ว่าขอนแก่นตั้งอยู่ริมแม่ชีไม่เหมาะ เพราะเวลาน้ำหลากน้ำจะท่วม ทำให้การเดินทางสัญจรไปมาลำบาก และเมืองมีขนาดเล็ก ประกอบกับอยู่ห่างจากเส้นทางที่จะไปหนองคาย ทรงเห็นว่าบ้านทุ่มทำเลดีมีผู้คนหนาแน่นใกล้เส้นทางไปมา ประกอบกับในสมัยนั้นได้มีสายโทรเลขที่เดินจากเมืองนครราชสีมา ผ่านเมืองชนบท เข้าเขตเมืองขอนแก่น ข้ามลำน้ำชีที่ท่าหมากทัน ตรงไปท่าพระ บ้านทุ่ม โดยไม่เข้าตัวเมืองขอนแก่น ตรงไปข้ามลำน้ำพองไปบ้านหมากแข้งเมืองอุดรธานี ทรงดำริว่าที่ว่าการเมืองขอนแก่นที่ตั้งอยู่บ้านดอนบม ไม่สะดวกแก่ราชการ จึงทรงรับสั่งให้พระนครศรีบริรักษ์ (อู๋) ย้ายเมืองขอนแก่นไปอยู่บ้านทุ่ม  ซึ่งใกล้เส้นทางระหว่างเมืองนครราชสีมาและบ้านหมากแข้ง เมืองอุดรธานี ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และเปลี่ยนนามเรียกขานตำแหน่งเจ้าเมืองเป็น ผู้ว่าราชการเมือง ดังนั้นเมืองขอนแก่นจึงย้ายไปอยู่บ้านทุ่ม เป็นเวลา ๘ ปี (สถานที่ตั้งเมืองในปัจจุบันอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๓ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น)
                พ.ศ. ๒๔๔๒ เกิดภัยแล้ง ชาวเมืองเดือดร้อน เจ้าเมืองจึงย้ายไปอยู่บ้านบึงพระลับโนนทองตามเดิม เพราะบึงพระลับโนนทองเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่และน้ำไม่เคยแห้ง  และได้สร้างศาลากลางขึ้นที่ริมบึงเมืองเก่าทางด้านเหนือ (หน้าสถานที่เคยเป็นที่ตั้งสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์)
                พ.ศ. ๒๔๔๗  โปรดฯ ให้เรียกตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองขอนแก่นว่า ข้าหลวงประจำบริเวณพาชี  ภายหลังเมื่อพระนครศรีบริรักษ์ (อู๋) ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระพิทักษ์สารนิคม (หนูหล้า) ปลัดเมืองขอนแก่นได้ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น และในปีนั้นเอง ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองเป็นข้าหลวงประจำบริเวณพาชี ส่วนเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อเมืองขอนแก่นนั้นก็ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอ และผู้เป็นเจ้าเมืองนั้น ๆ ก็ให้เปลี่ยนเป็นนายอำเภอ ตำแหน่งอุปฮาดก็เป็นตำแหน่งปลัดอำเภอไป พระพิทักษ์สารนิคม (หนูหล้า) ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพาชี ว่าราชการเมืองระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๕๐ จากนั้นพระวิไสยสิทธิกรรม (จีน ปิยรัตน์) ได้รับตำแหน่งแทนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐
                พ.ศ. ๒๔๕๑  พระยาศรีสุริยราชวรานุวัต (โพธิ) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดร กับพระวิไสยสิทธิกรรม (จีน ปิยรัตน์) ได้ย้ายศาลากลางเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านพระลับ ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น (ศาลากลางหลังเก่า ปัจจุบันคือที่ตั้งที่ทำการเทศบาลนครขอนแก่น)   และเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณเป็นผู้ว่าราชการเมือง (ในสมัยก่อนจัดการปกครองเป็น บริเวณ ต่อมาแบ่งเขตการปกครองเป็น เมือง หรือจังหวัด
                ต่อมาในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็น จังหวัด แทน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงกลายเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด และศาลาว่าการเมือง ก็เปลี่ยนมาเป็น ศาลากลางจังหวัด นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 
                ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้อนุมัติโครงการสร้างผังเมืองขอนแก่นและดำริที่จะก่อสร้างศูนย์ราชการ  เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘ สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้จังหวัดขอนแก่นสร้างศาลากลางใหม่ที่สนามบินเก่า ห่างจากที่เดิม ๒,๐๐๐ เมตร ปัจจุบันเรียกว่า "ศูนย์ราชการ" ในสมัย นายสมชาย กลิ่นแก้ว เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๑  

ดูเพิ่มเติม

ชุมชนโบราณ/เมืองโบราณขอนแก่น     

สถานที่สำคัญ

พระมหาธาตุแก่นนคร     

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น         

ศาลเจ้าปู่ครูเย็น        

ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า ขอนแก่น 

ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง           

ศาลเจ้าแม่สองนาง    

แหล่งอ้างอิง

กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น.  (ม.ป.ป.).   ชุมชนโบราณ/เมืองโบราณ/ขอนแก่น.  ค้นเมื่อ 30 ธันวาคม ๒๕๕๓ จาก   http://thai-culture.net/khonkaen/detailcontent.php?sub_id=45
จิ๊กโก๋โรแมนติค.  (2552).  ที่มาของชื่อ “ขอนแก่น”.   ค้นข้อมูลวันที่ 15 ตุลาคม 2553 จาก 
http://www.oknation.net/blog/tourdeedee/2009/10/12/entry-3
เติม วิภาคย์พจนกิจ.  (๒๕๔๖).  ประวัติศาสตร์อีสาน.  พิมพ์ครั้งที่ ๔.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์.  (๒๕๐๘).  ประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์ : อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น.ขอนแก่น: ม.ป.ท.      บุ
ญเกิด พิมพ์วรเมธากุล และนภาพร พิมพ์วรเมธากุล.  (2545).  พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน (เว่าอีสาน).  ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
สมชื่น เชี่ยวกุล.  (๒๕๓๘).  รายงานการวิจัยเรื่อง ภูมิหลังและคติชนวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญของชุมชนเมืองรอบบึงแก่นนคร.  ขอนแก่น: ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สำนักงานจังหวัดขอนแก่น.  กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร.  ประวัติเมืองขอนแก่น.  ค้นข้อมูลวันที่ 7 ตุลาคม 2553 จาก http://www.khonkaen.go.th/
อนุพันธ์ นิตินัย.  (๒๕๔๙).  ตำนาน ๗๖ จังหวัด เจาะลึกความเป็นมาประวัติศาสตร์ไทย.  กรุงเทพฯ: Good Morning Publishing.

 


 

              

 



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th