สอนหญิง สอนชาย ฉบับวัดสระทอง บ้านทัน ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

ต้นฉบับที่ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์ นำมาปริวรรตเป็นลานดิบไม่ปรากฎนามผู้แต่ง เป็นหนังสือผูกใบลาน ๑ ผูก ขนาดยาว มีไม้ประกับครบถ้วน จารด้วยตัวอักษรไทน้อย มีประมาณ ๖๐ หน้าลาน ลักษณะการประพันธ์เป็นร้อยกรอง เนื้อหาภายในมี 3 เรื่อง คือ ธรรมดาสอนโลก ปู่สอนหลาน และ สอนหญิง สอนชาย  ดังเรื่องย่อต่อไปนี้

ร้อยกรองอีสานเรื่องสอนหญิง สอนชาย จากหนังสือผูกใบลานฉบับวัดสระทอง บ้านทัน ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ปริวรรตโดย ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์ ความว่า

ลักษณะหญิงที่ดีที่ควรเลือกเป็นคู่ครอง ได้แก่ หญิงที่รักนวลสงวนตัว เป็นผู้มีความงาม วาจาอ่อนหวาน ไม่อัปลักษณ์ ไม่มักมากในตัณหา มีสัจจะ รู้จักศีลธรรม ดังตัวอย่างคำกลอนต่อไปนี้

"หญิงใดบริสุทธิ์แท้แพงตัวเสมอหญิงบ่ได้ฟูมซากฮ้ายเชิงชู้เสพสมหากอยู่หากสร้างตกแต่งการเรือนบ่ได้โทเลคั่วเทียวเฮกลางบ้านคันว่ามันจาต้านหวานหูมีม่วนฝูงหมู่คนผู้ฮู้เขาย้องว่าดีชาติที่อาจารย์เจ้าพลอยหาผู้ประเสริฐดีดายบ่ได้เป็นดังชายผู้ฮ้ายบายได้หม่อมือเจ้าเฮย....โอนอเจ้าผู้เทพาด้าวควงสวรรค์ลงเกิดเฮียมเฮยไผผู้เข้าอยู่ซ้อนบุญกว้างแผ่ผายแท้นอ" 

  และลักษณะชายที่ดีเหมาะแก่การเลือกเป็นคู่ครอง ได้แก่ เป็นผู้มีปัญญา เป็นคนพูดน้อยทำมาก เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่โอ้อวดตนเก่งกว่าท่าน ไม่ติดอบายมุข ไม่ขี้โรค เป็นคนหนักแน่นไม่โกรธง่าย  ดังตัวอย่างคำกลอนต่อไปนี้

"ชายใดปัญญากว้างปากฮู้จักดีจักดีแลฮ้ายครองตั้งแต่งยามเมื่อวาจาเว้าดอมดีสอนสั่งเป็นที่ฝูงพี่น้องชาวบ้านชื่นบาน หญิงใดได้อยู่ซ้อนเฮียงอาสน์ปัวระบัติ ดังนั้นก้จักมีคำสุขฮ่วมบุญลือไฮ้เป็นดังสิว่าได้แสนสารช้างใหญ่นั้นแล้วบ่อาจไฮ้สิฮ้อนฮ่อมได๋"

นอกจากนี้ยังสอนให้ระวังผู้หญิง ผู้ชายที่มีลักษณะไม่ดี ดังตัวอย่างคำกลอนต่อไปนี้

"ชายใดฮูปากเกลี้ยงแปลงวาดเชิ่งตัวขัวขัวเสียงกล่าวจาโถงหลิ่นมันก็ไปสงวนเล่นสาวฮามน้อยใหญ่ตั๊วะหล่ายลิ้นแผ่นหน้าบ่อายชายนี้โทสังแท้หีนังชาติถ่อยแม้นว่าเมียฮ่วมข้างโถงชู้บ่เซาใดแล้ว"

ส่วนลักษณะหญิงที่ไม่ควรนำมาเป็นภรรยา มีลักษณะดังตัวอย่างคำกลอนต่อไปนี้

"หญิงใดแส้นแหว้นหน้าหาชายมักม่วนเห็นเขาขับแอ่วหลิ่นหัวจื้นชื่นนำหญิงนี้เป็นดังศาลาคนแฮ่เข้าจอดคันว่าหายเหตุฮ้อนเดินดั้นดุ่งหนีชายใดได้เสมอนอนเต็งสูงงูแล้วหย้านท่อมันตอดข้างตายค้างห้างสะเทินเจ้าเฮย"

 อ่านเพิ่มเติม : ภูมิปัญญาอีสานจากใบลาน, หน้า ๖๗-๗๕.

เอกสารอ้างอิง

ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์.  (๒๕๕๑).  ภูมิปัญญาอีสานจากใบลาน.  มหาสารคาม: โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th