ศาลเจ้าจอมนรินทร์

ศาลเจ้าจอมนรินทร์ 

           ศาลเจ้าจอมนรินทร์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้การนับถืออย่างมาก ประดิษฐานอยู่ตรงปากช่องทางเข้าออกภูเวียงตามประวัติศาสตร์การพุ่งรบระหว่างไทยกับลาวในศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ ที่เมืองหนองบัวลำภู ได้ปรากฏเรื่องราว "พระยานรินทร์" แม่ทัพเอกฝ่ายลาวว่า พระยานรินทร์ผู้นี้แต่เดิมเป็นเจ้าเมืองสี่มุม (ปัจจุบันคือ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ) เป็นผู้มีฝีมือในการรบ มีจิตใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ต่อสู้จนไพร่พลแตกหนีหมดเหลือแต่ตัวและหลานชายกับพลทหารอีก 6 คน จึงถูกจับได้ ฝ่ายไทยสนใจในความเป็นยอดนักรบ จึงได้เสนอชุบเลี้ยงและให้ตำแหน่งแม่ทัพตามเดิม แต่พระยานรินทร์ไม่ยอมรับบอกปฏิเสธต่อแม่ทัพไทยว่า "จะไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายเป็นอันขาด เพราะได้สาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ต่อเจ้ามหาชีวิตองค์เดียวเท่านั้น" เกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่ยอมท่าเดียว แม่ทัพไทยจึงสั่งให้ประหาร แต่ก่อนประหารชีวิตนั้น พระยานรินทร์ยังบอกด้วยว่า ข้าเป็นเชลยท่านจะทำอย่างไรก็ทำเถิด ถ้าจะประหารโดยการใช้ยิง ดาบตัดคอ หรือฟันแทงเหล่านี้ทั้งหมด อาวุธทุกอย่างจะไม่ระคายผิวของข้าได้เลย   
             แม่ทัพไทยจึงสั่งให้เอาช้างไสเข้าแทงจนพระยานรินทร์ตายคาที่หน้าค่าย ต่อหน้าแม่ทัพไทยอย่างสมเกียรติ โดยไม่มีสะทกสะท้านหวาดกลัวแต่ประการใด ที่ต้นยางใหญ่ตรงทางโค้งก่อนถึงศาลเจ้าจอมปัจจุบัน และจัดศพเหมือนเชลยทั่วไป 
            
ภายหลังฝ่ายไทยประทับใจในความเป็นวีรบุรุษ จึงสร้างศาลเจ้าขึ้นที่บริเวณปากช่องภูเวียง เรียกว่า "ศาลเจ้าจอม" ซึ่งศาลนี้ยังคงเป็นที่นับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่เคารพสักการบูชาของผู้ผ่านไปมาจนปัจจุบันซึ่งมีหนองน้ำอยู่ข้างๆ ชาวบ้านเรียกว่า "บุ่งกกแสง" หรือ "บุ่งสระพัง" (เดิมมีต้นแสงอยู่มาก) และแล้วแม่ทัพไทยก็ได้สั่งให้จัดการศพเหมือนกับเชลยทั่วไป ภายหลังยังประทับใจในความเป็นวีรบุรุษชาตินักรบ จึงได้สร้างศาลขึ้นไว้ เรียกว่า "ศาลเจ้าจอม หรือ ศาลปู่จอม" และเรียกบริเวณนั้นว่า "ปากช่องเจ้าจอม" มาจนถึงทุกวันนี้


                    



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th