ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง

         

ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง : ประวัติและความเป็นมา

           ตามบทสัมภาษณ์ ผศเข้มแข็ง  สีตะเธนี ตำนานของศาลเจ้าพ่อมอดินแดงมีอยู่ว่า  มีชายไทยคนหนึ่งชื่อว่า นายเหลา  สีแดง ไปขโมยช้างมาจากบุรีรัมย์แล้วเจ้าของตามมาฆ่าในเขตมหาวิทยาลัย  ถูกนำตัวฝังทั้งยืนจึงกลายเป็นเจ้าพ่อมอดินแดง  ในระยะแรกๆนั้นเกิดอุบัติเหตุบ่อย คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นชุดหนึ่งก็ประสบอุบัติเหตุทางรถเสียชีวิตหลายท่านก็เลยได้มีการสร้างศาลเจ้าพ่อมอดินแดงขึ้นมาในสมัยศาสตราจารย์ ดร.พิมล  กลกิจเพื่อความเป็นสิริมงคล
           ประวัติของเจ้าพ่อมอดินแดงนั้นมีการพบปมที่เกิดขี้นสองอย่างแรก คือ ประการหนึ่งนายเหลาเป็นเจ้าของช้างแล้วมีคนขโมยช้างมา นายเหลาตามมาหาช้างเลยถูกยิงตายที่พื้นที่อาณาบริเวณของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  อีกประการหนึ่งคือ นายเหลาเป็นโจรซึ่งไปขโมยช้างคนอื่นมาแล้วโดนเจ้าของช้างมาตามฆ่าตายภายในอาณาเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

               

                ภาพศาลเจ้าพ่อมอดินแดงเดิมและศาลเจ้าพ่อมอดินแดงปัจจุบัน

          ปี 2547 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการก่อสร้าง  ศาลาธรรมสถาน  เจ้าพ่อมอดินแดง  ขึ้นใหม่โดยนับเนื่องเข้าเป็น  1  ในโครงการเฉลิมฉลองในวาระที่มหาวิทยาลัยสถาปนามาครบ  40  ปี ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นแกนนำในการดำเนินงาน  และได้สืบหาความถ่องแท้ในประวัติความเป็นมาขององค์เจ้าพ่อมอดินแดง  ตลอดจนรูปแบบของศาลาธรรมสถานที่จะสร้างจนพอที่จะสรุปสาระพอสังเขปดังนี้

          ในราวพุทธศตวรรษที่  18  มีเจ้าผู้ครองนครพระองค์หนึ่ง  นามว่า  ท้าวแถนสุริยา  ทรงมีขอบขัณฑสีมาแห่งอำนาจบารมี  คือ  พื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอาณาบริเวณใกล้เคียงในปัจจุบัน  พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  จึงครองใจไพร่ฟ้าและดลให้เกิดความอยู่ดีกินดีทั่วหล้า  แบบธรรมาธิปไตย  เหล่ามหามนตรี  จึงพร้อมใจกันถวายสมัญญานาม  เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติคุณให้ระบือไกลว่า  ท้าวแถนสุริยาธรรมาธิราช  และในรัชสมัยของพระองค์นั่นเอง  ที่ได้มีการก่อสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารขึ้น  1  องค์  พุทธศิลป์เป็นแบบ  ปางมารวิชัย  มีพุทธลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปยุคเชียงแสน

         สำหรับรูปแบบของ  ศาลาธรรมสถาน  อันควรสง่าตระหง่านสมภูมินั้นก็ได้กำหนดให้เป็นอาคารทรงจัตุรมุขล้อมรอบด้วยระเบียงทั้งด้าน กลางห้องโถงเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย  ซึ่งพระครูสุธรรมาภินันท์  เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์  ได้ถวายพระนามว่า  พระพุทธปัญญาเมตตาธรรม  สำหรับเป็นที่เคารพสักการะ  ตามจิตปรารถนาแห่งองค์ท่าน  ทั้งยังเป็นสัญลักษณาการโดยปริยายว่า  เจ้าพ่อมอดินแดง  คือ  องค์เทพในบุญเขตนี

ดูเพิ่มเติม

งานสักการะเจ้าพ่อมอดินแดง           

งานวิจัยฉบับเต็ม   

   

แหล่งอ้างอิง

 นิติทัศน์  วิรุณปักษี, เบญจวรรณ  ทรวงโพธิ์, รติพร  วงศ์ศักดิ์, ลลิตา  ชาญชรา, รัตนา  วินทะไชย, สุภาพร  มีอุตส่าห์, สุภาวดี  ปิงแก้ว และอัจฉราพร   อรรคมุด.  (2552).  เจ้าพ่อมอดินแดง : ความเชื่อของนักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น หมู่ 16 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น.  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ประวัติศาลเจ้าพ่อมอดินแดง. [online] เข้าได้จาก: http://www.khonkaenjob.com/khonkaenjob10.html, 2553.

 

 



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th