สิม

      “สิม” เป็นภาษาถิ่นอีสานและลาวที่ใช้เรียก “โบสถ์” หรือ “พระอุโบสถ” ซึ่งหมายถึง “สีมา” ในพระวินัยปิฎก ซึ่งแปลว่า ขอบเขต หรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้น อันเป็นเขตพื้นที่สำหรับพระสงฆ์เพื่อใช้ประชุมทำสังฆกรรมต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนา เช่น การสวดพระปาตีโมกข์ และการปลงอาบัติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ใช้บรรพชาและอุปสมบทกุลบุตร
 สิม หรือ โบสถ์ ของอีสานมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. สิมน้ำ หรือที่เรียกว่า อุทถกเขปสีมา
2. สิมบก หรือที่เรียกว่า พัทสีมา หรือ อพัทธสีมา
       ตามประเพณีดั้งเดิมการบวชต้องทำกันภายใน สิม มีการขอพระราชทานกำหนดที่นั้นเป็นวิสุงคามสีมาแล้วจึงก่อสร้างสิม ซึ่งสถานที่นั้นสามารถกระทำสังฆกรรมได้ถาวร สิมที่สมบูรณ์จะต้องมี พัทธสิม หากไม่มีวิสุงคามสีมาถาวรตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น ก็ต้องไปบวชกันในแพกลางน้ำ ซึ่งก็ใช้บริเวณที่เป็นน้ำประกอบพิธีโดยสร้างเป็นแบบชั่วคราว หรือสร้างเป็นศาลากลางน้ำ เพราะถือว่าน้ำเป็นสิ่งบริสุทธิ์
       1. สิมน้ำ หมายถึง สิมที่สร้างอยู่ในน้ำที่ขังอยู่ในสระ เรียกว่า “ชาตะสระ” ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดเองโดยธรรมชาติ และให้ห่างจากฝั่งช่วงวิดน้ำไม่ถึง แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่บริเวณวัด และที่สำคัญจะต้องอยู่ห่างจากพื้นที่ที่ไม่บริสุทธิ์ สิมน้ำจะสร้างเป็นอาคารชั่วคราว สร้างให้ห่างจากฝั่งไม่มากนักมีสะพานทอดยาวเชื่อมฝั่ง เมื่อถึงเวลาทำสังฆกรรมจะต้องชักสะพานออก เพื่อมิให้มีสิ่งเชื่อมต่อระหว่างฝั่งกับตัวสิม คนโบราณทางภาคอีสานนิยมสร้างสิมน้ำกันมาก ปรากฏว่ามีหนองสิมและกุดสิมกันมาก ซึ่งโดยทั่วไปหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับหนองน้ำ หรือกุด ก็จะพลอยมีชื่อคล้อยตามไปด้วย เช่น บ้านหนองสิม บ้านกุดสิม เป็นต้น  สิมน้ำรูปลักษณะของตัวอาคารคล้ายกุฏิ หรือศาลากลางน้ำ ที่มีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมักจะอยู่ตามชุมชนที่ห่างไกลจากสังคมเมือง เช่น สิมน้ำวัดป่ากุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นของที่สร้างใหม่ไม่เกิน 15 ปี ทำเป็นหลังคาสังกะสี มีมุขหนายื่นหาสะพาน ซึ่งทอดจากตลิ่งเข้าไป 5 เมตร แล้วทำเว้นช่วงไว้ 20 ซม. ไม่ให้ชนกับพื้นสิม อาคารมุ่งหวังเพียงประโยชน์ใช้สอยเพื่อทำอุโบสถกรรมเท่านั้น
        2. สิมบก เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในชุมชนที่ตั้งมั่นเป็นหลักแหล่งถาวร และมีความมั่นคงพอสมควร สิมบกแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ สิมไม้ สิมโถง และสิมก่อผนัง
             2.1 สิมไม้  สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีรูปร่างกะทัดรัด มีขนาดกว้างยาวไล่เลี่ยกัน ผนังทั้งสี่ตีฝาไม้กระดานทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง สิมไม้พบมากในเขตภาคอีสานตอนใต้ แถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี                                                                                                                                         

             2.2 สิมโถง เป็นอาคารที่มีรูปทรงโปร่งกะทัดรัด ประกอบด้วย เสาไม้ หรือเสาอิฐ ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นรองรับหลังคา มีฝาเฉพาะด้านหลังพระประธาน พระประธานถือเป็นหลักสำคัญของโบสถ์และสิม สร้างขึ้นจากความคิดฝันอันบริสุทธิ์ของชาวบ้านทางภาคอีสานที่มีความผูกพันกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา ลักษณะของพระประธานสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเป็นรูปทรงลอยตัว หรือประติมากรรมแบบนูนสูง โดยให้ด้านหลังองค์พระติดอยู่บนฝาผนัง ทั้งนี้เพราะว่าบริเวณพื้นที่ในสิมมีที่จำกัด พระประธานจะวางอยู่บนแท่นฐาน ตัวฐานก่ออิฐถือปูนยื่นออกมาจากผนังด้านหลัง เชื่อมต่อกับผนังด้านรี ทั้งสองประดับด้ายลายบัวคว่ำบัวหงาย คั่นด้วยลายท้องไม้อย่างเรียบง่าย เนื้อที่ของสิมโถงมีขนาด 2-3 ห้อง สร้างขึ้นสำหรับพระภิกษุ 6-10 รูป เพื่อกระทำสังฆกรรมโดยตรง พื้นจะยกสูงขึ้นจากพื้นดินแต่พอประมาณ พื้นหัตบาทเป็นอาณาบริเวณพื้นที่ภายในตัวสิมทั้งหมด ถือว่าสถานที่นั้นเป็นเขตของสงฆ์ (วิสุงคามสีมาเขต) โดยเฉพาะ ซึ่งอุบาสก อุบาสีกา ที่เข้าร่วมพิธีกรรมจะต้องอยู่บริเวณภายนอกสิม
             2.3 สิมก่อผนัง เป็นอาคารที่ผนังทึบตันทั้งสี่ด้าน รูปผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก มีขนาดตั้งแต่ 3-4 ห้องเสา ก่อด้วยอิฐดิบ หรืออิฐเผาฉาบปูน บนพื้นผนังด้านรีทั้งสองจะเจาะหน้าต่างด้านละ 1 ช่อง ตรงกลางห้องมีบานหน้าต่างขนาดเล็กเพียงบานหรือสองบาน หรืออาจเพิ่มหน้าต่างขนาดเล็ก ก่ออิฐหรือเจาะผนังแล้วประดับซี่กรงเพื่อใช้ถ่ายเทอากาศ ผนังด้านหน้ามีประตูทางเข้า 1 ประตู บานประตูทำด้วยไม้แกะสลัก เป็นภาพเทวดา หรือภาพลายเครือเถา จากประตูด้านหน้า มีราวบันได สองข้างมีการก่ออิฐฉาบปูนทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ม้า นาค สิงห์ หรือ มอม หมาสรวง มกร รูปสัตว์เหล่านั้น มีหน้าที่เหมือนยามคอยเฝ้าสิมอยู่ตรงเชิงหน้าบันได และเพื่อเป็นการประดับให้เกิดความงามให้กับสิม มีหลังคามุงด้วยแป้นไม้หรือกระเบื้องไม้คลุมตัวอาคารก่อผนัง เหนืผนังด้านรีจะมีเชิงชายหลังคาปีกนกทอดตัวลงสู่เบื้องล่าง แผ่คลุมบริเวณจุดที่วางใบเสมารอบฐานสิม เพื่อกันแดดและฝน มีเสานางเรียงทำด้วยไม้เนื้อแข็งทรงสี่เหลี่ยม หรือทรงกลมรองรับหลังคาปีกนก หน้าบันประดับตกแต่งด้วยลวดลายเครือข่ายเถาแกะสลักไม้ หรือประดับด้วยลวดลายรัศมีของแสงอาทิตย์ ส่วนล่างของฐานจั่ว หรือฐานหน้าบันมีลายแกะสลักไม้เป็นลายโก่งคิ้วหรือลายรวงผึ้ง ฐานทั้งสี่ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ทำเป็นชั้น บัวคว่ำบัวหงาย เส้นลวด และลายท้องไม้

ข้อมูลเพิ่มเติม

การอนุรักษ์สิมรุ่นเก่าที่สุดในภาคอีสาน (บทความฉบับเต็ม)  

สิม (โบสถ์)

แหล่งอ้างอิง

ทรงยศ วีระทวีมาศ.  (2547).  รายงานการวิจัยเรื่อง สิม ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีสาน กรณีศึกษาในมุกดาหาร.  ขอนแก่น: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ธาดา สุทธิธรรม.  (2534).  ศาสนาคารในกาฬสินธุ์. ขอนแก่น: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
พันธ์ศักดิ์ อมรพันธ์.  (2538).  สิม. อินฟอร์เมชั่น 1, 2 (ก.ค.-ธ.ค.), 33-35.
วิโรฒ  ศรีสุโร.  (2536).  สิมอีสาน.  ขอนแก่น: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.                                                                            ปรเมษฐ์ คีรีเมฆ, ผู้รวบรวม.  (254-).  สิม (โบสถ์).  ขอนแก่น: ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.  (สื่ออิเล็กทรอนิกส์)

 



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th