ปราสาทสระกำแพงน้อย ตั้งอยู่วัดสระกำแพงน้อย บ้านกลาง ตำบลขยุง ปราสาทวัดสระกำแพงน้อยประกอบด้วยปรางค์และวิหารก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าปรางค์มีสระน้ำใหญ่ ทั้งปรางค์ วิหาร และสระน้ำ ล้วนล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง เคยมีทับหลังประตูสลักเป็นพระวรุณเทพเจ้าแห่งฝนประทับบนแท่นมีหงส์แบก ๓ ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เป็นศิลปะแบบบาปวนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สันนิษฐานว่าปราสาทหินแห่งนี้เดิมเป็นศาสนสถานมาก่อน แล้วต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาจมีการบูรณะหรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ สังเกตได้จากมีสถาปัตยกรรมแบบบายนอยู่ด้วย สิ่งก่อสร้างดังกล่าวเรียกกันในสมัยนั้นว่า “อโรคยาศาล” หมายถึง สถานพยาบาล หรือสุขศาลาประจำชุมชนนั่นเอง การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๘ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (สายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย) อยู่ด้านขวามือ
โบราณสถานแห่งนี้ เป็นอโรคยาศาล หรืออโรคยศาลา (โรงพยาบาล) หนึ่งในจำนวน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โปรดให้สร้างขึ้นทั่วราชอาณาจักรในราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1724 - พ.ศ. 1761) ก่อด้วยศิลาแลง และหินทราย ตัวปรางค์ประธาน ยังค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ขาดการบูรณะ ส่วนโคปุระหรือกำแพงแก้วพังทลาย แต่ยังมีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งทับหลัง และโครงสร้างอื่นๆ แต่ยังไม่ได้รับบูรณะและปรับแต่ง
แหล่งอ้างอิง
โอเคเนชั่นดอทคอม. (25--). ปราสาทวัดสระกำแพงน้อย. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2553 จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=256649
ทีเอชดอทวิกิพีเดียดอมโออาร์จี. (2553). ปราสาทวัดสระกำแพงน้อย. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน จาก /th.wikipedia.org
ผู้รวบรวมข้อมูล
นางสาวปนัดดา ภารสุวรรณ (นักศึกษาฝึกงาน)