หากจะกล่าวถึงอาหารพื้นบ้าน หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยอาหารอีสานเป็นอย่างดี และได้ลิ้มชิมรสมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ชาวอีสานมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารอย่างง่าย ๆ เพียง 2-3 จานในแต่ละมื้อ อาหารอีสานแตกต่างจากอาหารพื้นบ้านของภาคอื่น ๆ โดยมักจะรับประทานได้ทุกอย่างที่มีในท้องถิ่น เพื่อการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน
ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน จากผลการวิจัยของปวีณภัสสร์ คล้ำศิริ (2547) พบว่า การได้มาซึ่งอาหารของชาวบ้านเต่านอ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มี 5 วิธี คือ การเก็บของป่า การล่าสัตว์ การแลกเปลี่ยน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ และการซื้อ ซึ่งการรับประทานอาหารทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลัก และมีเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่ วัว ควาย และแมลง เป็นต้น สำหรับรสชาติของอาหารอีสานนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะออกรสแซบ ซึ่งหมายถึงรสชาติที่ออกไปทางเค็ม เผ็ด และเปรี้ยว เสน่ห์ของอาหารอีสานอยู่ที่วิธีการปรุงวัตถุดิบ โดยมีเครื่องปรุงอาหารที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปลาร้า ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษชาวอีสาน ซึ่งปลาร้าใช้เป็นเครื่องปรุงหลักของอาหารได้ทุกประเภท เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางใช้น้ำปลา
ความหมายและลักษณะของอาหารพื้นบ้าน
อาหารพื้นบ้าน หมายถึง อาหารที่ประชาชนบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวันและบริโภคในโอกาสต่างๆ โดยอาศัยเครื่องปรุง วัสดุที่นำมาประกอบอาหารจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากแหล่งธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ด้วยการเก็บของป่า การล่าสัตว์ การจับสัตว์น้ำ
และจากการผลิตขึ้นมาเอง เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ หรือจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยมีกรรมวิธีทำเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งรสชาติที่เป็นเฉพาะถิ่นแตกต่างกันไป
อาหารพื้นบ้านเป็นอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีการเรียกมื้ออาหารแตกต่างกันไป เช่น ภาคอีสาน เรียกอาหารมื้อเช้าว่า ข้าวงาย มื้อกลางวันเรียกว่า ข้าวสวย มื้อเย็นเรียกว่า ข้าวแลง ส่วนภาคเหนือเรียกอาหารมื้อเช้าว่า ข้าวงาย มื้อกลางวันเรียกว่า ข้าวตอน มื้อเย็นเรียกว่า ข้าวแลง ในขณะที่ภาคใต้เรียกอาหารมื้อเช้าว่า ข้าวหัวเช้า มื้อกลางวันเรียกว่า ข้าวหวันเที่ยง มื้อเย็นเรียกว่า ข้าวหวันเย็น เป็นต้น สำหรับภาคอื่นไม่แตกต่างเท่าไรนัก และเป็นอาหารที่บริโภคในโอกาสต่าง ๆ เช่น อาหารในช่วงประเพณีทางศาสนา ประเพณีการทำบุญในโอกาสสำคัญ เช่น การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช และอาหารในช่วงของการเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรือยามเจ็บป่วย เป็นต้น
เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด
ดูเพิ่มเติม
แหล่งอ้างอิง
กมลาภรณ์ คงสุขวิวัฒน์. (2548). อาหารพื้นบ้านไทย. กรุงเทพ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
ชมรมอีสานและภูมิภาคอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร. (2546). อาหารอีสาน. ค้นข้อมูลวันที่ 5 เม.ย. 2553 จาก http://student.nu.ac.th/isannu/food/foodindex.htm
ปวีณภัสสร์ คล้ำศิริ. (2547). ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านอาหาร : กรณีศึกษาหมู่บ้านเต่านอ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการชุมชน บัฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
noomean.multiply.com. (2010). สุดยอดอาหารพื้นบ้านอีสาน. สืบค้นเมื่อ 5 เม.ย. 2553 จาก http://noonmean.multiply.com/photos/album/5/5
Thaifood DB dot com. (2000). อาหารอีสานและสูตรอาหารอีสาน. สืบค้นเมื่อ 5 เม.ย. 2553 จาก http://www.thaifooddb.com/recipe/north_east.html