เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย สร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นศูนย์ควบคุมการเดินเครื่องของเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ความเป็นมา
เขื่อนอุบลรัตน์ เดิมชื่อ "เขื่อนพองหนีบ" การสร้างเขื่อนริเริ่มขึ้นในชื่อ "โครงการน้ำพอง" เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ดำเนินการสร้างแล้วเสร้จปลายปี พ.ศ. 2508 และมีพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (ฐานันดรศักดิ์ในขณะนั้น) ทรงพระราชทานนามเขื่อนนี้ว่า "เขื่อนอุบลรัตน์"
ลักษณะเขื่อน
ลักษณะเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 35.1 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร ฐานเขื่อนกว้าง 125 เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ +188.1 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทท.) พื้นที่รับน้ำ 12,104 ตารางกิโลเมตร และอ่างเก็บน้ำมีความจุที่ระดับเก็บกักน้ำปกติ 2,263.6 ล้านลูกบาศก์เมตร
ลักษณะโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ด้านซ้ายของตัวเขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 8,400 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 25,200 กิโลวัตต์ หรือผลิตไฟฟ้าได้ 55 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
ประโยชน์ที่ได้รับ
เส้นทางคมนาคม
การเดินทางจากจังหวัดขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมาย 2 (ขอนแก่น-อุดรธานี) ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น 26 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 470-471
จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์อีก 26 กิโลเมตร รวมระยะทางห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 52 กิโลเมตร
แหล่งอ้างอิง :
กองประชาสัมพันธ์สายงานผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2549). เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ: กอง. [เอกสารแผ่นพับ]
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2553). เขื่อนอุบลรัตน์. สืบค้นเมื่อ 4 ก.พ. 2553 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%8C