ประวัติความเป็นมาของไหมไทย

         แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดสามารถหาหลักฐานที่แน่ชัดมาใช้อธิบายจุดกำเนิดของการทอผ้าไหมในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การทอผ้าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้รู้จัก โดยมีการทำขึ้นเพื่อใช้งานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์     

         จากภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่นที่ เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี อายุประมาณ 2,500 ปี มีรูปมนุษย์โบราณกับสัตว์เลี้ยง เช่น กระบือและสุนัข แสดงว่ามนุษย์ยุคนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์แล้ว ลักษณะการแต่งกายของมนุษย์ยุคนั้นดูคล้ายกับจะเปลือยท่อนบน ส่วนท่อนล่างสันนิษฐานว่าจะใช้หนังสัตว์ หรือผ้าหยาบ ๆ ร้อยเชือกผูกไว้รอบสะโพก บนศรีษะประดับด้วยขนนก

         จากภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่พบบริเวณถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุประมาณ 7,000-8,000 ปีล่วงมาแล้ว พบว่ามีการตกแต่งด้วยรอยเชือกและรอยตาข่ายทาบ สันนิษฐานว่ามนุษย์น่าจะรู้จักทำเชือกและตาข่ายก่อนแล้ว โดยนำพืชที่มีใยมาฟั่นให้เป็นเชือก แล้วนำเชือกมาผูกหรือถักเป็นตาข่าย จากการถักก็พัฒนาขึ้นเป็นการทอด้วยเทคนิคง่าย ๆ แบบการจักสาน คือนำเชือกมาผูกกับไม้หรือยึดไว้ให้ด้ายเส้นยืน แล้วนำเชือกอีกเส้นหนึ่งมาพุ่งขัดกับด้ายเส้นยืน เกิดเป็นผืนผ้าหยาบ ๆ ขึ้น ลักษณะคล้ายกับผ้ากระสอบหยาบ ๆ

         จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่บริเวณบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เช่น กำไลสำริด ซึ่งมีสนิมและมีเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิม นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สนิมเป็นตัวกัดกร่อนโลหะซึ่งเป็นอนินทรียวัตถุ แต่กลับเป็นตัวอนุรักษ์ผ้าซึ่งเป็นอินทรียวัตถุไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงยังพบ ลูกฝัง และแวดินเผา ปรากฎอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทอและปั่นด้ายแบบง่าย ๆ และพบลูกกลิ้งดินเผาแกะลายสำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้นักโบราณคดีพอจะสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเชียงเมื่อ 2,000-4,000 ปีมาแล้ว รู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายลงบนผืนผ้ามาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ (ชลิต ชัยครรชิต, 2534) 

         ประวัติความเป็นมาของไหมไทยไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่นอน ทราบแต่ว่าประเทศไทยมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมานานกว่าสองพันปี จากหลักฐานที่ปรากฏในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณพิตยสถาน (2527: 12219) ระบุว่า ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ราว พ.ศ. 2360 ชาวเวียงจันทน์ที่มาตั้งถิ่นฐานในอีสาน มีความชำนาญในการเลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าไหม จากนั้นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมก็เริ่มแพร่หลายในภาคอีสาน แม้ว่าชาวอีสานจะมีการผลิตผ้าไหมเพื่อใช้เองเป็นหลัก แต่ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2444 ได้มีการรวบรวมไหมเป็นสินค้าท้องถิ่นอีสานส่งขายภายในประเทศร่วมกับสินค้าอื่น ๆ ที่ส่งไปกับขบวนค้าโค-กระบือของนายฮ้อย และไหมส่วนหนึ่งจากอีสานยังใช้เป็น "ส่วย" ที่หลายเมืองในภาคอีสานต้องรวบรวมส่งให้กับรัฐส่วนกลางเป็นราชบรรณาการ ทำให้ผ้าไหมอีสานเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าส่งออกในอดีต (จารุพิษณ์ เรืองสุวรรณ, 2535) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ คือราวปี พ.ศ. 2444 พระองค์ได้ทรงดำริและโปรดเกล้าฯ ให้ทางราชการส่งเสริมการเลี้ยงไหม และอีกไม่กี่ปีต่อมาได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาสำรวจแนวทางการผลิตไหมและส่งเสริมการเลี้ยงไหมในจังหวัดต่าง ๆ และได้มีการก่อตั้งกรมช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ โดยทางราชการได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงไหมกันเรื่อยมาเป็นขั้นเป็นตอน จนถึงปี พ.ศ. 2456 จึงได้ยุติบทบาทลงและปล่อยให้ราษฎรเลี้ยงไหมกันเองเป็นอาชีพ

 

          จนถึงปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทางราชการได้กลับมาส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีกครั้ง โดยได้จัดตั้งโรงงานสาวไหมขึ้นเป็นแห่งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาโรงงานประสบปัญหาทางวัตถุดิบ เนื่องจากราษฎรไม่มีความชำนาญในการเลี้ยงไหม ประกอบกับพันธุ์ไหมที่ทางการส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยง ผลผลิตที่ออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีเส้นใยสั้นและเป็นปุย ใช้กับเครื่องจักรที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศได้ไม่ดี อุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยไหมก็ได้รับผลกระทบ จนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กิจการสาวไหมจึงต้องยุติลง (นวลแข ปาลิวนิช, 2542)

         การผลิตผ้าไหมยังเป็นไปตามวิถีดั้งเดิมคือผลิตไว้ใช้เอง มีขายบ้างเป็นบางส่วน ซึ่งขณะนั้นผ้าไหมไทยไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดโลกมากนัก แม้กระทั่งคนไทยก็ยังไม่นิยมนำผ้าไหมมาตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะผ้าไหมถูกจำกัดวงอยู่ในเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น ต่อมาได้ขยายสู่สามัญชนแต่ก็ถูกวางกรอบให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2491 เมื่อจิม ทอมสัน (Jim Thomson) ชาวอเมริกัน ผู้หลงใหลในผ้าไหมไทย ได้ปรับปรุงคุณภาพผ้าไหมไทยให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอุตสาหกรรมไหมไทยขึ้นมาใหม่ และส่งผ้าไหมไทยไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักของตลาดโลกภายนอกมากยิ่งขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นความนิยมผ้าไหมไทยในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ (ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ, 2537)  ประกอบกับที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ ทรงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมงานฝีมือภูมิปัญญาไทย ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าจก ผ้าหางกระรอก ซึ่งเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ทรงให้ความสำคัญ พระองค์ได้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2519 เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมงานฝีมือภูมิปัญญาไทยทุกแขนง (สุภาพรรณ หาญเทพินทร์, 2531) นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างในการเผยแพร่ชื่อเสียงของไหมไทย โดยการทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมไทย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือเสด็จต่างประเทศก็ตาม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างกระแสความนิยมไหมไทยในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จนมีผู้นิยมสวมใส่ชุดไหมไทยในโอกาสต่าง ๆ ทำให้ตลาดเส้นไหมและผ้าไหมขยายตัวมากขึ้น

          ปัจจุบันดีไซน์เนอร์ชั้นนำทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นิยมนำผ้าไหมไทยทั้งผ้าพื้น ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าหางกระรอก ผ้าไหมยกดอก ผ้าจกไปตัดเย็บ จัดแสดงแฟชั่นโชว์ให้เห็นเป็นประจำ ทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมนำผ้าไหมไทยไปตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อสวมใส่ นับได้ว่าผ้าไหมไทยได้กลายเป็นสินค้าสำคัญของประเทศและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกไปแล้ว

บทสรุป

             จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฎ ทำให้ทราบว่าชุมชนโบราณในประเทศไทยรู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายลงบนผืนผ้ามาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์  มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมานานกว่าสองพันปี  ในอดีตผ้าไหมไทยไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดโลกมากนัก แม้กระทั่งคนไทยก็ยังไม่นิยมนำผ้าไหมมาตัดเย็บเสื้อผ้า  จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2491 เมื่อจิม ทอมสัน ชาวอเมริกัน ผู้หลงใหลในผ้าไหมไทย ได้ฟื้นฟูอุตสาหกรรมไหมไทยขึ้นมาใหม่ และส่งผ้าไหมไทยไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักของตลาดโลกภายนอกมากยิ่งขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นความนิยมผ้าไหมไทยในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ประกอบกับที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ ทรงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมงานฝีมือภูมิปัญญาไทย ทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2534 ความว่า "ทุกครั้งที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัติอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทำให้เขามีหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ... ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนาชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติต่อบ้านเมือง ทรงพระดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่าง ๆ ทรงคิดว่านี่เป็นการให้กำลังใจ และทรงให้ข้าพเจ้าดูแลพวกครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ..."

                นับเป็นเวลากึ่งศตวรรษที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นคู่พระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นำความร่มเย็นสุขสวัสดิ์มาสู่ประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย ด้วยพระราชปณิธานที่แน่วแน่ของพระองค์ ที่จะพลิกฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากไร้ของราษฎร ด้วยการส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้านจากภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดมาแต่อดีตจากรุ่นปู่ย่าตายายสู่รุ่นลูกหลานเหลน เช่น การทอผ้าไหม นับเป็นงานที่ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าหางกระรอก ผ้าจก ผ้าไหมยกดอก แม้กระทั่งผ้าทอและงานฝีมือของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมจนเป็นอาชีพเสริมที่ยั่งยืนของราษฎรและสามารถขยายการดำเนินงานให้เป็นระบบในรูปของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

               สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เฉพาะแก่ช่าวไทยที่จะเดินตามรอยพระยุคลบาทเท่านั้น แต่พระราชกรณียกิจของพระองค์ยังปรากฎผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

เอกสารอ้างอิง:

นวลแข ปาลิวนิช. (2542).  ความรู้เรื่องผ้าและเส้นใย (ฉบับปรับปรุงใหม่).  กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.

คลังปัญญาไทย. (2552). ต้นกำเนิดผ้าไหม.  สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2553, จาก  http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ผ้าไหมไทย

จารุพิษณ์ เรืองสุวรรณ.  (2535).  นโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการผลิตไหมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่าง พ.ศ.2444-2503.  ปริญญานิพนธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.

ชลิต ชัยครรชิต.  (2534).  ขอนแก่น: ภูมิหลังบ้านเมืองตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19.  ขอนแก่น: ศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ.  (2537).  การผลิตหม่อนไหม.  ขอนแก่น: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณพิตยสถาน.  (2527).  กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

สุภาพรรณ หาญเทพิทร์.  (2531).  รายงานการศึกษาวิเคราะห์เรื่อง ลู่ทางการพัฒนาการส่งออกผ้าไหมไทยและผลิตภัณฑ์.  งานวิจัยสินค้าอุตสาหกรรม 2 ฝ่ายวิจัยสิค้าอุตสาหกรรม กองวิจัยสินค้าและการตลาด.

เรียบเรียงโดย นายิกา เดิดขุนทด



Copyright (c) 2010 by Academic Resources Center สงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ทั้งหมด หรือบางส่วนไม่ว่าในรูปแบบ
หรือสิ่งใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
Contact Webmaster :library@kku.ac.th or nayder@kku.ac.th