ค้นหา:
ค้นหาขั้นสูง
|
เลือกดูตามหมวดหมู่:
|
English Version |
วันสงกรานต์ |
|||||
วันสงกรานต์
คำว่า สงกรานต์ มาจากคำว่า สํ - กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนของทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็น วันเนา วันที่ ๑๕ เป็น วันเถลิงศก
ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์ มีดังนี้
สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้น หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือน แล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติในทางโหราศาสตร์ มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครึ่งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์ หมายได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์หมายถึงสงกรานต์ปีอย่างเดียว
วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความ ว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งแต่ปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ เข้าที่เข้าทางในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว
วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เลื่อนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิมสำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหา เพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะเปลี่ยนศก ถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ก็หมายความว่าอย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศา แล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้
ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม โดดเด่น และฝังลึกเข้าไปในชีวิตของคนไทยมาช้านาน แม้กระทั่งชาวต่างประเทศก็ให้ความสนใจและรู้จักประเพณีสงกรานต์ของไทยเป็นอย่างดี นักวิชาการได้ให้ความหมายของประเพณีสงกรานต์ไว้หลายท่าน เช่น
เสถียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน)
ประเพณีสงกรานต์เป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน ของทุกปี มีการทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญให้ทาน สรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำ
ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์
วันสงกรานต์ คือวันขึ้นปีใหม่ของไทย มีการเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญให้ทาน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เล่นสาดน้ำ และมีการละเล่นรื่นเริง
จากความหมายต่างๆ เหล่านี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะมีการศึกษา ค้นคว้า รวบรวม วิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับเรื่องประเพณีสงกรานต์ขึ้น โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดคือ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาหาความหมายของวันสงกรานต์ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ให้ความหมายของวันสงกรานต์ ดังนี้คือ
วันสงกรานต์ คือ วันแห่งความเอื้ออาทร
การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำในคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือเยาว์กว่าการแสดงความยินดีต่อกันด้วยการอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข นับเป็นความงดงามของประเพณี แสดงความเอื้ออาทรต่อกันของสมาชิกในสังคม การสืบทอดจรรโลงประเพณีสงกรานต์ ปัจจุบันจึงน่าจะช่วยกันรักษาคุณค่าทางใจ ความมีนำใจการมีสัมมาคารวะและกตัญญู การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อธรรมชาติต่อสิ่งแวดล้อม
ตำนานสงกรานต์
ตำนานของสงกรานต์นี้มี ปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนว่า...
เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคนมีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่ง นักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าว หยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึง ถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาท ต่อเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุรา จึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติก็จะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่า ท่านเศรษฐีมีความละอายจึง บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งอธิษฐานถึงสามีก็มิได้มีบุตร อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทร อันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคม พิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะ ไปเฝ้าพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้ ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิ ในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อ คลอดแล้วจึงให้ชื่อธรรมบาลกุมาร ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น กุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็น อาจารย์บอกมงคลการต่างๆแก่มนุษย์ทั้งปวง
ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือ ท้าวมหาพรหมและกบิลพรหม องค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคล แก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหม ทราบจึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร สามข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้ จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะ ตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า ข้อ ๑ เช้าราศีอยู่ แห่งใด ข้อ ๒ เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ๓ ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรมบาล ขอผลัดเจ็ดวัน
ครั้งล่วงไปได้หกวัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วย อาญาท้าวกบลพรหม ไม่ต้องการหนีไปซุกซ่อน ตายเสียดีกว่า จึงลงจาก ปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรีสองผัวตัวเมียทำรัง อาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้งเวลา ค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามี พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพ ธรรมบาลกุมารซึ่งท้าวกบิลพรหม จะฆ่าเสียเพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศี อยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้ามนุษย์ทั้งหลาย จึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยง ราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอา เครื่องหอมประพรหมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้น ก็กลับไปปราสาท ครั้งรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดา ทั้งเจ็ด อันเป็น บริจาริกาพระจันทร์ มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบน อากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งใน มหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดา ทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียร บิดาไว้แล้วแห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑป ถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วย เครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรม ก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการ ชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถา ฉมูลาด ลงมาล้างในสระอโนดาดเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุกๆพระองค์ ครั้งครบถึงกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวร กันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่งประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ที่จารึกใน วัดพระเชตุพนมีใจความดังกล่าวมานี้
ลูกสาวทั้งเจ็ดของเท้ากบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ ซึ่ง ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน(ยง เสฐียรโกเศศ) ได้รวบรวมไว้ให้อ่านง่าย ดังต่อไปนี้
ทุงษะ วัน อาทิตย์
ดอกไม้ ดอกทับทิม เครื่องประดับ ปัทมราค อาหาร อุทุมพร อาวุธ จักร, สังข์ พาหนะ ครุฑ โคราด วัน จันทร์
ดอกไม้ ดอกปีป เครื่องประดับ มุกดาหาร อาหาร น้ำมัน อาวุธ พระขรรค์, ไม้เท้า พาหนะ พยัคฆ์ รากษส วัน อังคาร
ดอกไม้ ดอกบัวหลวง เครื่องประดับ โมรา อาหาร โลหิต อาวุธ ตรีตูล – ธนู พาหนะ วราหะ(หมู) มัณฑา วัน พุธ
ดอกไม้ ดอกจำปา เครื่องประดับ ไพฑูรย์ อาหาร นมเนย อาวุธ ไม้เท้า, เหล็กแหลม พาหนะ คัสพะ * กิริณี วัน พฤหัสบดี
ดอกไม้ ดอกมณฑา เครื่องประดับ มรกต อาหาร ถั่วงา อาวุธ ขอ, ปืน พาหนะ กุญชร กิมิทา วัน ศุกร์
ดอกไม้ ดอกจงกลนี เครื่องประดับ บุษราคัม อาหาร กล้วย, น้ำ อาวุธ พระขันต์, พิณ พาหนะ มหิงส์ กิมิทา วัน เสาร์
ดอกไม้ ดอกสามหาว(ผักตบ) เครื่องประดับ นิลรัตน์ อาหาร เนื้อทราย อาวุธ จักร, ตรีตูล พาหนะ นกยูง
ชื่อนางสงกรานต์ทั้ง ๗ นี้ บางตำรามีชื่อคลาดเคลื่อนอยู่บ้างบางชื่อ เช่น นางโคราด ประจำวันจันทร์ เป็น โคระ โคราด และโคราษ ก็มี นาง
มัณฑา ประจำวันพฤหัสบดีทีเป็น มณฑา ก็มี นางกิมิทา ประจำวันศุกร์ เป็น นางมิศระ ก็มี นอกจากนี้ชื่อนางเทพธิดาทั้ง ๗ บางชื่อก็ฟังไม่เพราะ
แปลไม่เพราะ เช่น นางรากษส แปลว่า นางยักษ์ร้าย นางกิริณี แปลว่า นางช้าง นางมโหทร แปลว่า นางมีพุงโต และที่ข้าพเจ้าแปลไม่ออกก็มี
ประวัติความเป็นมา
การจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์นั้น จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายา คือ วันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนของทุกปี
วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกานต์ เป็นวันย่างขึ้นปีใหม่ วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา เป็นวันต่อจากวันมหาสงกานต์ ๑ วัน วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่
การปฏิบัตติภารกิจของคนไทยในเทศกาลสงกรานต์ แบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน คือ
๑. การเตรียมงาน ๑.๑ การเตรียมเครื่องนุ่งห่มให้สะอาด เรียบร้อย หรือจะใช้ชุดใหม่ก็ได้ รวมทั้งการเตรียมงานผ้าไปไหว้ผู้ใหญ่ด้วย ๑.๒ การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย บริเวณชุมชนที่อยู่ วัดวาอาราม ที่จะใช้เป็นสถานที่ทำบุญ และที่สาธารณะอื่นๆด้วย ๑.๓ การเตรียมของทำบุญ เช่น อาหารคาว-หวาน ของถวายพระ เป็นต้น ๒. การจัดงาน ๒.๑ การทำบุญให้ทาน ๒.๑.๑ การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปเลี้ยงพระที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว ๒.๑.๒ ปล่อยนกปล่อยปลา ๒.๑.๓ ให้ทานแก่เด็ก คนชรา เพื่อนบ้าน ๒.๒ การสรงน้ำพระ ๒.๓ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ หรือการดำหัวขอขมาและขอพรผู้ใหญ่ ๒.๔ การละเล่นรื่นเริงตามประเพณีท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการเฉลิมฉลองและต้อนรับปีใหม่
คุณค่า ความสำคัญ
วันสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน มิใช่เทศกาลแห่งน้ำอย่างที่หน่วยงานของรัฐบางแห่งกำลังดำเนินการเพื่อสร้างจุดขาย สร้างรายได้เข้าประเทศ จนสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่คนไทยด้วยกันเอง ซึ่งกำลังจะห่างไกลและหลุดลอยไปจากรากเหง้าเดิมของประเพณีสงกรานต์กันไปทุกทีประเพณีที่ถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น ประเพณีสงกรานต์นี้ จึงย่อมมีความหมายและมีคุณค่าต่อผู้ปฏิบัติ ชุมชนและสังคมเป็นอย่างยิ่ง
คุณค่าต่อครอบครัว อย่างแท้จริง สมัยก่อนพ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าใหม่พร้อมเครื่องประดับให้ลูกหลานไปทำบุญ ลูกหลานก็จะเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้ผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังการรดน้ำขอพร ปัจจุบันเมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่รดน้ำขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่และเป็นกำลังใจกันและกันในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป
คุณค่าต่อชุมชน วันสงกรานต์ เป็นวันที่ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น การได้พบปะสังสรรค์ร่วมกันทำบุญ และการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงในยามบ่ายหลังจากการทำบุญ โดยการเล่นรดน้ำในหมู่เพื่อนฝูงและคนรู้จักและการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น
คุณค่าต่อสังคม สงกรานต์เป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะในวันนี้ทุกคนจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างให้สะอาดหมดจดเพื่อจะได้ต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใส เบิกบาน นอกจากนี้ยังควรช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย
คุณค่าต่อศาสนา วันสงกรานต์ เป็นวันทำบุญครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และสรงน้ำพระ ศรัทธาในการทำบุญให้ทาน ซึ่งถือเป็นการเกื้อกูลสูงสุดของมนุษยชาติ และการถือศีลปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนามาได้จนถึงปัจจุบัน
สงกรานต์ภาคอีสาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสานของไทยมีจรรยาปฏิบัติทางสังคมอย่างเคร่งครัดเรียกว่า "ฮีตสิบสอง"ซึ่งมักจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และในเดือนห้า ก็เป็นการทำบุญสงกรานต์ โดยกำหนดทำกันในวันที่ ๑๓ ๑๔ ๑๕ เมษายน พิธีการของแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันในข้อปลีกย่อย แต่สิ่งที่ เหมือนกันคือการสรงน้ำพุทธรูปบางที่ใช้ศาลาการเปรียญ แต่บางที่จะจัดสร้างหอสรงแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปมา ประดิษฐานในหอสรงเพื่อสรงน้ำในวันสงกรานต์ นอกจากนั้นก็มีการเล่นสาดน้ำกัน หลังจากวันสงกรานต์แล้ว หมู่บ้านบางแห่งมีการแห่ดอกไม้ไปถวายพระที่วัด ในเวลาพลบค่ำก็มีการไหว้พระ รับศีล ฟังเทศน์ฉลองต้นดอกไม้ และหุนเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ หมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพจะคอยเลี้ยงข้าวปลาอาหารเป็นการสร้างความสามัคคี กันในหมู่คณะ แต่ปัจจุบันนี้มีการทำกันน้อยลง การเล่นสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สงกรานต์ในจังหวัดหนองคาย ซึ่งมีการสรงน้ำหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปอันเป็นที่สักการะ ของทั้งประชาชนชาวไทย และประชาชนชาวลาว นอกจากนี้ยัง มีบรรยากาศของการเล่นสงกรานต์สองฟากฝั่งโขง เนื่องจากลาวก็ถือคติการเล่นสงกรานต์เช่นเดียวกันกับไทย การจัดงานวันสงกรานต์ภาคอีสาน
นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา”และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์ จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน พื้นที่เด่นในการจัดงานสงกรานต์ในภาคอีสาน
เนื้อหาเพิ่มเติม >> วันสงกรานต์ อ้างอิงจาก : หนังสือวันสำคัญ โครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม |
Powered by
KnowledgebasePublisher (Knowledgebase software)