ค้นหา:
ค้นหาขั้นสูง
|
เลือกดูตามหมวดหมู่:
|
English Version |
ประวัติเมืองเชียงคาน |
|||||
เชียงคานเป็นอำเภอใหญ่อำเภอหนึ่ง ของจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ห่างจากตัวจังหวัดเลยไปทางทิศเหนือเป็นระยะทาง 48 กิโลเมตร เดิมเคยเป็นเมืองหลวงของล้านช้าง (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน) มาก่อน
เขตสุขาภิบาลอำเภอเชียงคานในปัจจุบันนี้เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เรียกว่า บ้านท่านาจัน ส่วนเมือเชียงคานแท้ ๆ นั้นตั้งอยู่ฝังซ้ายแม่น้ำโขง เยื้องที่ว่าการอำเภอเชียงคานฝังตรงก้นข้ามลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของบ้านผาฮด หรือเมืองสานะคามเดี๋ยวนี้หรือเมืองเชียงคานเก่า ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านช้าง
ประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงคานนั้นมีว่า ขุนคาน กษัตริย์เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) โอรสขุนคัว ซึ่งเป็นเชื้อสายของขุนลือ ได้เป็นผู้สร้างเมืองเชียงคานขึ้น แล้วขนานนามเมืองตามพระนามของพระองค์ตามธรรมเนียมราชประเพณีของล้านนา-ล้านช้างตั้งแต่ก่อนกาลที่ใช้คำนำหน้าเมืองว่าเชียงนั้น เป็นนามใช้เฉลิมพระเกียรตินามเมือง ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้สร้างเมืองนั้น หรือได้เสด็จไปประทับ คล้ายคลึงกับราชธรรมเนียมราชอาณาของขอมที่ใช้ บุรี ต่อท้ายชื่อเมือง คำว่า เชียง ใช้เรียกชื่อคนที่เคยบวชเป็นสามเณร (จัว) และทิด ใช้สำหรับเรียกคำนำหน้าผู้ที่เคยบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว ซึ่งย่อมาจากคำว่า “บัณฑิต” นั้นเอง
1. ท้าวท่อนแก้ว
2. ท้าวแท่นคำ
3. ท้าวยอน
4. ท้าวผ่อน
5. ท้าวลาง
6. ท้าวหล้า
7. ท้าวของ
8. ท้าวภูไท หรือลุไพไซ
9. ท้าวเทพา
10. ไม่ปรากฏพระนาม
และทรงมีพระราชธิดา 7 องค์ คือ
1. เจ้านางสีไว
2. เจ้านางยิน
3. เจ้านางคาด
4. เจ้านางคำหยาด
5. เจ้านางมิ่ง
6. เจ้านางขาว
7. เจ้านางธารา
ตามตำนานเล่าสืบทอดกันมาว่า สถานที่พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว ได้ยกทัพขื้นบกที่เมืองเชียงคานนั้น ได้แก่ บ้านตากแดด ซึ่งต่อมาเมื่อเสร็จศึกญวนแล้ว พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ ได้ขนานนามหมู่บ้านนี้ว่า บ้านสานะคาม (ชนะสงคราม) เพื่อเป็นที่ระลึกในการที่พระองค์ได้ทำชนะสงครามชนะกองทัพญวน พระยาไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วประทับอยู่ที่เมืองเชียงคานไม่นานก็สวรรคต เมื่อมีพระชนมายุได้ 65 พรรษา ที่เมืองเชียงคาน ในปีกัดไก๊ เดือน 5 ขึ้น 13 ค่ำ พ.ศ. 2022 พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงแต่งตั้งให้ขุนสีหราชโกศาเป็นราชทูตเชิญโลงทองคำไม้จันทร์กับแผ่นแพร 500 พับมาร่วมถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี ภายหลังจากพระยาบ้านช้างไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วสวรรคตในปี จ.ศ. 842 (พ.ศ. 2023) ได้พระราชทานให้อภิเษกพระยาซ้ายขวาเป็นพระยาล้านช้างแทน ตามหลักฐานในพงศาวดารไทยตามฉบับหลวงประเสริฐได้บันทึกไว้ "...พระยาซ้ายขวา คือ ท้าวแท่นคำ ราชโอรสพระยาไชยจักรพรรดิแผ่วแผ้วองค์ที่ 2 ซึ่งครองเมืองด่านซ้ายขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์” บางตำราว่า “พระยาสุวรรณปาสัง” เมื่อศักราชได้ 817 ตัว ซึ่งมีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ที่เมืองเชียงคานเป็นเมืองหลวง หรือราชธานีของอาณาจักรล้านช้าง เมื่อได้ถวายพระเพลิงพระราชบิดาแล้วก็เสด็จกลับพร้อมด้วยเสนาและข้าราชบริพาร ไปประทับที่เมืองเชียงทองตามเดิม และให้ท้าวน้องของเจ้าแท่นคำเป็น เจ้าเมืองเชียงให้มาครองเมืองด่านซ้ายแทนตน เรียกว่าพระยาซ้ายของ..."
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาครองราชย์อยู่เมืองสองแคว (พิษณุโลก) ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในฐานะเครือญาติของราชวงศ์ทั้งสอง พระยาสุวรรณบัลลังก์ เมื่อถวายพระเพลิงพระราชบิดาแล้ว ก็ทรงสร้างวัดและเจดีย์องค์หนึ่งบรรจุพระอัฐิพระชนกไว้ในเจดีย์นั้น ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดพระฮด (วัดผาฮด) เพราะมีหินศิลาประหลาดอยู่แผ่นหนึ่ง เรียกว่า ผาฮด โผล่ขึ้นมาจากพื้นแผ่นดิน ริมน้ำโขง สูง 12 เมตร กว้าง 8 เมตร หนา 60 เซนติเมตร ราษฎรนับถือกันมาก ทำพิธีสรงน้ำ (รดน้ำ) เป็นประเพณีนิยม จึงเรียกว่า ผาฮด ต่อมาพระยาสุวรรณบัลลังก์ได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่หน้าผา และได้สกัดหินตัวผาทั้งสองด้าน ให้เป็นรูปเรือนแก้ว รองรับพระพุทธรูปนี้ พระพุทธปฏิมากรองค์นี้เป็นพระพุทธรูปลักษณะยืน มีพระหัตถ์ทั้งสองประสานอยู่ใต้พระนาภี เป็นพระพุทธรูปปางที่ประหลาดปางหนึ่ง ซึ่งยังปรากฏในโบราณคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนสูง 10 เมตร มีคำกล่าวกันว่าพระยาสุวรรณบัลลังก์ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น เพื่อให้ความสำคัญในการที่พระราชบิดาได้ทรงหลบภัยมาประทับที่เมืองเชียงคาน ด้วยความปริวิตกในความเดือดร้อนของพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง พระเมรุถวายพระเพลิงยังมีหลักฐานเป็นศิลาปรากฏเหลืออยู่ที่ป่าข้างป้อมทหารที่ฝรั่งสร้างไว้ที่เมืองสานะคามจนบัดนี้
เมื่อพระยาสุวรรณบัลลังก์เสวยราชย์ได้ 7 ปี พอถึงปีระวายชง้า พระชนมายุได้ 41 พรรษา ศักราชได้ 848 ตัว (พ.ศ. 2028) ก็สวรรคตที่เมืองเชียงทองใน พ.ศ. 2034 พระยาหล้าแสนไตรภูวนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 2028 – 2038) โอรสของพระยาไชยจักพรรดิแผ่นแผ้วพระองค์เสด็จไปที่เมืองเชียงคาน เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดสบยาไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว พระอง๕เสด็จไปที่เมืองเชียงคาน เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดสบเชียงคาน พ.ศ. 2209 รัชสมัยของพระพุทธเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเจ้ามหาชีวิต ราชอาณาจักรลาว (ครองราชย์ พ.ศ. 2176 - 2233) ได้มีการสร้างวัดท่าแขกขึ้น ใน พ.ศ. 2209 ตามศิลาจารึก ซึ่งมีลักษณะเป็นเสาหินสี่เหลี่ยมปัจจุบันอยู่นอกโบสถ์ภายในวัดท่าแขก
ตามตำนานของอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จารึกเป็นอักษรตัวธรรมไว้ว่า "ศักราช 1028 (พ.ศ. 2209) เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ 3784 (4) (5) หรคุณ 334 อวมานเป็นปีที่สร้างวัดท่าแขกขึ้น" ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์นี้ วาน วูฟทอพ ทูตการค้าชาวฮอลันดา ซึ่งเดินทางมายังนครเวียงจันทน์ ได้บันทึกด้วยว่า “ทุก ๆ ปี จะมีพระสงฆ์จากประเทศเขมรและประเทศสยาม ได้เดินทางมาศึกษาประมาณ 10 ปี หรือ 12 ปี กว่าจะสำเร็จในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง....การศึกษาในด้านพุทธศาสนาที่นครเวียงจันทน์เป็นไปอย่างเสรี สะดวกสบายและความสำคัญของพระพุทธศาสนามีมากกว่าแห่งอื่น ๆ ...”
ตามศิลาจารึกวัดศรีสองน้อง (ศรีหอสองนาง) อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นศิลาจารึกหินทรายหนึ่งหลัก (ลักษณะหักครึ่ง) ได้บันทึกไว้ว่า "มหาส...ปัชโชติติปา (แถระ) และ....พี่น้องสามเณรทั้งมวล พร้อมกันสร้างวัดกับทั้งธาตุ หมดเงินห้าพันสองร้อย ขอ (ค้ำ) ซู...ผเทิน" ซึ่งแสดงว่าในรัชสมัยนี้ได้มีพระภิกษุ สามเณรจากประเทศสยาม เดินทางไปศึกษาธรรมวินัยที่นครเวียงจันทน์ โดยเดินทางล่องขึ้นตามแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน พิษณุโลก นครไทย ด่านซ้าย ล่องลงมาตามลำน้ำเหือง แม่น้ำโขง ถึงเวียงจันทน์ และเมื่อศึกษาธรรมวินัยสำเร็จก็เดินทางกลับและได้สร้างวัดศรีสองนางขึ้น และวัดท่าแขกก็น่าจะอยู่ในกรณีนี้ด้วย
ตามตำนานกล่าวว่าวัดท่าแขกเป็นวัดผู้ชายสร้าง ส่วนวัดผาฮดเป็นวัดผู้หญิงสร้าง ทำให้วัดผาฮดสวยงามกว่าวัดท่าแขก แต่ตามประวัติศาสตร์วัดผาฮดสวยงามกว่าวัดท่าแขก เพราะพระยาสุวรรณบัลลังก์สร้างวัดผาฮดเพื่อบรรจุอัฐิพระราชบิดา
ในตำนานหนังสือโบราณพื้นเมืองฉบับหนึ่งกล่าวว่า ก่อนตั้งเมืองปากเหือง ได้มีเมืองปากเหืองโปราณอยู่ก่อนแล้ว เรียกว่า เมืองปัจนคร พญาจุฬณี ได้อพยพบ่าวไพร่บริวารทางเหนือมาตั้งอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำเหือง จะอย่างไรก็ดี เมืองปัญจนครนี้เข้าใจว่าคงเป็นเมืองปากเหืองที่มีหลักฐานในพงศาวดารล้านช้างว่า ได้สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2225 ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 3 เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชกษัตริย์ลาวแล้วอาณาจักรล้านช้างได้แตกแยกเป็นสามอาณาจักรดังนี้
1. อาณาจักรหลวงพระบาง มีพระเจ้ากิ่งกิสราช ครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2250
2. อาณาจักรเวียงจันทน์ มีพระเจ้าไชยองค์แว้เป็นเจ้ามหาชีวิต ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2243 3. อาณาจักรจำปาสักมีพระเจ้าสร้อยสีสมุทพุทธากูรเป็นกษัตริย์ เมื่อ พ.ศ. 2257 อาณาจักหลวงพระบางกับอาณาจักรเวียงจันทน์ได้แบ่งแยกกันโดยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่เหนือปากน้ำมี้ บ้านน้ำมี้ (ตรงกันข้ากับบ้านน้อย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย) ฝั่งขวาตั้งแต่เมืองปัญจนคร (เมืองปากเหือง)เป็นเขตแดนหลวงพระบาง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตอนใต้ปากน้ำมี้ ฝั่งขวาตอนใต้เมืองปัจจนร เป็นเวียงจันทร์ เพื่อป้องกันการรุรานของฝ่ายตรงข้าม ทางหลวงพระบางจึงได้อพยพผู้คนไพร่พลมาอยู่ที่เมืองปากเหือง ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้เป็นเมืองหน้าด่นแม่น้ำโขงตอนใต้คู่กับเมืองเชียงคานเก่า (สานะคาม) ทางฝั่งซ้ายแม่โขง ซึ่งตั้งอยู่เหนือปากน้ำมี้ พ.ศ. 2254 ภายหลังจากอาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็น 3 อาณาจักร ไม่สามารถดำรงเอกราชไว้ได้ ชาวเมืองเชียงคานบางส่วนพากันอพยพไปตั้งบ้านเมืองบริเวณปากน้ำเหือง ชื่อเมืองปัญจนคร (ทิศตะวันตกของบ้านคกงิ้ว ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย) แล้วพากันเอาทองคำแท่งมารวมกันสร้างรูปม้าทองคำไว้บูชาบนยอดเขาภูนาจาน ซึ่งมีลายแทงอยู่ ต่อมาเกิดศึกฮ่อมาตีเมืองปากเหือง แล้วพากันหักเอาเขาม้าทองคำได้ขาหนึ่ง ชาวบ้านขอร้องไม่ให้เอาไปก็ไม่ฟังเสียง พวกฮ่อเอาขาม้าทองคำล่องลงมาตามลำน้ำเหืองถึงท่าน้ำ ด้วยศรัทธาของชาวบ้านที่สร้างไว้ ได้สาปแช่งให้พวกฮ่อมีอันเป็นไป ทำให้พวกฮ่อท้องร่วงตายวิญญาณของพวกฮ่อเหล่านั้นไปรวมกันอยู่ที่ปากน้ำเหือง และรักษาคุ้มครองชาวบ้านนาจาน บ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ใครจะมารบกวนชาวบ้านเหล่านี้ ชาวบ้านจะบนบานบอกกล่าว เพื่อให้เจ้าพ่อปากเหืองคุ้มครอง นอกจากนี้เจ้าพ่อปากเหืองยังเข้าสิง (เข้าทรง) กับเจ้าพ่อกวน เพื่อทำพิธีไล่ผีปอบที่มาเข้าทำร้ายผู้คนในหมู่บ้าน ผีปอบยอมแพ้ ขอเป็นลูกน้องอาศัยอยู่ด้วย ต่อมาชาวบ้านเหล่านี้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่หมู่บ้านอื่น เจ้าพ่อปากเหืองไม่ยอมให้ไปก็ใช้ผีปอบไปตาม ผีปอบก็จะไปเข้าสิงคนที่ย้ายไปนั้น จนต้องตามหมอผีมาไล่อีก เมื่อหมอถามว่ามาจากไหน ผีปอบจะตอบว่า เจ้าพ่อปากเหืองให้มาตามกลับไปหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบริเวณบ้านนาจาน บ้านท่าดีหมี บ้านปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อคนที่ถูกผีปอบสิงกลับเข้าไปหมู่บ้าน ก็หายเป็นปกติ ชาวบ้านจึงกระจายหายไปตามริมฝั่งโขง โดยบอกเคล็ดลับลับกับเจ้าพ่อปากเหืองว่า ที่นั้นดินแดนคับแคบ จึงขอขยับขยายออกไปอยู่ไกลออกไปอีกเพื่อทำมาหากิน พอสิ้นปีหนึ่ง ๆ จะนำอาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียนไปเซ่นไหว้ตามประเพณี ซึ่งประเพณีนี้มีที่บ้านคกงิ้ว บ้านคกมาด เละบ้านคกหมาแฮมหรือคกดำ (คก คือ บริเวณพื้นน้ำที่เว้าเข้ามาในพื้นดิน เป็นวังน้ำวน ลึกมาก)
พ.ศ. 2321 พระเจ้าตากสินมหาราช ปลายสมัยกรุงธนบุรี ประเทศสยาม ได้รวมอาณาจักรล้านช้าง ทั้ง 3 อาณาจักรเข้าอยู่ในความปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระเจ้าแผ่นดินทั้ง 3 อาณาจักร จึงมีฐานะเป็นประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี ประเทศสยามตลอดมาจนถึงรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กวาดต้อนผู้คนตามหัวเมืองทางฝั่งซ้ายซึ่งขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์มาไว้ทางขวา เพื่อสะดวกแก่การปกครอง โดยเหตุที่ชาวเมืองเชียงคานโบราณ ซึ่งอยู่พรมแดนอาณาจักรหลวงพระบางและเวียงจันทน์ จึงถูกกวาดต้อนมาอยู่ท้องเมืองปัญจนคร โปรดเกล้าฯ ให้ไปขึ้นเมืองน้ำปาด (อุตรดิตถ์) เพราะเป็นเมืองใหญ่ในเวลานั้น ให้พ้นจากการเกี่ยวข้องกับหลวงพระบางแต่นั้นมา
พ.ศ. 2369 – 2370 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ 3 เกิดกบฎเวียงจันทน์ กองทัพไทยปราบชนะในคราวนั้น จึงได้กวาดต้อนกำลังพลเมืองทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาไว้ทางฝั่งขวามากขึ้นกว่าครั้งแรก และโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประเทศราชเวียงจันทน์ ให้พระยานอนุพินาศ (กิ่ง) ต้นตระกูลเครือทองดี ชาวเมืองลับแล ซึ่งเป็นทหารมากับกอทัพไทยคราวปรากบฎเวีงจันทน์ เป็นเจ้าเมืองปากเหือง เป็นคนแรกแล้วพระราชทานนามเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงคาน ซึ่งอาจทรงเห็นว่า เมืองเชียงคานโบราณ เคยเป็นราชธานีนครล้านช้างมาก่อน เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นเมืองปากเหืองเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองปัญจนคร แล้วก็เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเชียงคาน จนกระทั่งมีการอพยพจากเมืองปากเหืองมาอยู่บ้านท่านาจัน พระอนุพินาศ (กิ่ง) เป็นเจ้าเมืองปากเหืองอยู่นานเท่าใด และเจ้าเมืองคนถัดไปมีใครบ้างนั้นหาหลักฐานไม่ได้ แต่ทางฝั่งซ้ายของเมืองน้ำโขงก็ยังเป็นอาณาเขตของบ้านท่านาจัน ไปจนถึงบ้านนาหมั้น นามอย นาใหม่ นาเพียง นาคู่ นาข่า พลเมืองส่วนใหญ่ทำมาหากินทางฝั่งซ้ายมีนาอยู่ทางฝั่งซ้ายมีชื่อว่า นาขิก นางาม นาโพธิ์ นาขุมปูน
พ.ศ. 2377 พระยาอนุพินาศ ได้สร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ 2 องค์ประดิษฐานไว้ที่วัดศรีคูณเมือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ได้จารึกไว้ที่ฐานพุทธรูปว่า "ศุภมัสดุ จุลศักราชได 1 พัน ร้อย 96 (จ.ศ.1196) ตัว ปีกาบสะง้า เดือน 4 แรม 15 ค่ำ เพ็ง วันเสาร์ มื้อกัดมด ยามแถใกล้เที่ยง หัวครูบุษดีเป็นผู้รจนา (บักทึก,เขียน,จารึก) กับทั้งศิษย์ โยมลงตา เป็นผู้เอาดินปั้น (อูบ) พระพุทธรูปนี้ไว้กับศาสนาเท่า 5 พันวัสสานิพพาน" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม เด่น ทรงเครื่องประดับแก้ว หินสี พลอย สวยงามมาก มีชื่อว่า คำทิพย์ เคยถูกขโมยไปจมอยู่ใต้น้ำครึ่งหนึ่งทำให้แก้วสีพลอยหลุดไปบางส่วน พระพุทธรูปองคที่สอง สร้างขึ้นพร้อมกันเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวร ได้บันทึกไว้ได้ฐานพระพุทธรูปว่า "จุลศักราชราชาได้ 1 พัน ร้อย 96 (จ.ศ.1196) พ.ศ. 2377 ปี กาบชะง้า เดือน 4 แรม 1 ค่ำ ยามแถใกล้เที่ยง เจ้าครูบุษดีเป็นผู้รจนา" พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ได้สร้างขึ้น โดยพระมหาเถระองค์หนึ่ง ได้จารึกไว้ใต้ฐานพรุทธรูปว่า “พระพุทธเจ้าตนนี้ พระมหาเถระเจ้าตนหนึ่ง ชื่อสรภังคเจ้า หล่อในปีกดสัน เดือน 6 แรม 10 ค่ำ วันพุธ ไทเปลิกยี่ยามกองงาย (เวลา 07.30-09.00น.) บริบวรณ์ไว้ในวัดป่าญะพังเชียงของ และสิ้นน้ำทองทั้งมวลหกหมื่นหนึ่ง” และพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ประดิษฐานไว้ในกุฏิหลวงพ่อเป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง ที่ชาวเชียงคานต้องบำรุงรักษาดูแลและคารวะ ทำพิธีสรงน้ำทุกปี เป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงคานสืบไป
โบสถ์หลังเก่าของวัดศรีคูณเมืองและภาพจิตกรรมฝาผนัง
วัดท่าคกในปัจจุบัน พ.ศ. 2417 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พวกจีนฮ่อได้รุกรานเข้ามาตีทุ่งเชียงคำตีได้เมืองเวียงจันทน์ กำลังส่วนหนึ่งของพวกฮ่อ ซึ่งมีฟาลองกอเป็นหัวหน้า ได้คุมกำลังพลประมาณ 200 คน ยกมาตีเมืองเชียงคานใหม่ สาธุเฒ่า เจ้าเมืองเชียงคานซึ่งมาเป็นเจ้าเมืองใหม่เมื่อมีศึกมาประชิดเมือง จะเข้าตีเอาเมืองท่าจัน ท้าวทองดีนำกำลังไปขัดตาทัพที่ห้วยเป้าหลั่ว (บริเวณแก่งคุดคู้ปัจจุบัน) แต่เจ้าเมืองไม่ให้ ท้าวทองดีจึงอพยพลูกหลานขึ้นไปตามลำน้ำโขง ไปพักอยู่ที่เมืองปัญูจนครบริเวณปากน้ำเหือง พวกจีนฮ่อเลยเข้าเมืองท่านาจันได้ จับเอาสาธุเฒ่า เจ้าเมืองเชียงคานภรรยาและบุตรไป และจับเอาท้าวอินทิสาน (ท้าวเชียงอิน) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดไปฆ่าที่วัดท่าแขก (บ้านน้อย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย) แต่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย พวกจีนฮ่อจึงมัดติดกับต้นไม้เอาไว้ พอดีท้าวทองดีพรรคพวกเมืองเชียงคานกับเมืองปัญจนครมาช่วย (จึงร่วมกับท้าวอินทิสานยกกำลังไปปราบพวกจีนฮ่อได้ส่วนสาธุเฒ่าและลูกเมียถูกฆ่าตายหมด)
ชาวบ้านชาวเมืองเชียงคานเห็นว่าท้าวทองดีมีความสามารถมาก จึงยกให้เป็นเจ้าเมืองครองบ้านท่านาจัน (เมืองเชียงคานใหม่) ตั้งชื่อว่าท้าวศรีอรรคฮาต ท้าวศรีอรรคจันทร์ ท้าวศรีอรรคพรหม ท้าวพรหมจักร ช่วยปกครองบ้านเมืองเชียงคานเป็นสุขตลอดมาและก็เป็นต้นตระกูลใหญ่ของเมืองเชียงคาน ซึ่งต่อมาได้นำไปใช้เป็นนามสกุล ซึ่งต้นตระกูลก็มาจากเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน ปัจจุบันได้ขยายวงศ์ตระกูลออกไปมาจนลูกหลาน เหลน โหลน ไม่รู้ว่าเป็นญาติพี่น้องกันตั้งแต่ปางก่อน เมื่อพระยาศรีอรรคฮาตเป็นเจ้าเมืองเชียงคานนั้น ได้เก็บส่วย คือ ทรัพย์สินเงินทองจากราษฎร ที่อยู่ในอาณาเขตการปกครองของเจ้าเมืองท่านาจัน ส่งพระเจ้าแผ่นดิน ทุก ๆ ปี คือ พอถึงเดือน 5 ของทุกปี มีราษฎรนำดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง และอาหารต่าง ๆ เช่น ปลาร้า ส้มไข่ปลาบึก ปลาแห้ง ปลาเจ่า เครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ไปส่งส่วย และถือน้ำพิพัฒสัตยา (ดื่มน้ำ สาบาน) ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน และถือเป็นประเพณีปฏิบัติต่อมา
ในการเดินทางไปส่งส่วย ถือน้ำพิพัฒสัตยา ได้เดินทางขึ้นลำน้ำโขง เข้าบริเวณเมืองปากเหืองขึ้นตามลำน้ำปากเหือง ผ่านเมืองแก่นแก้ว ปากคาน (ใกล้อำเภอท่าลี่ในปัจจุบัน) จนถึงเมืองด่านซ้าย อำเภอนครไทย ท่าอิน ท่าเสา มณฑลพิษณุโลก ไปลงเรือแพที่แม่น้ำน่าน ล่องไปที่ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่บางกอก (กรุงเทพฯ) เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมมหาราชวัง ถวายเครื่องราชบรรณาการและดื่มน้ำพิพัฒสัตยาต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน แล้วก็เดินทางกลับตามเส้นทางเดิม
พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 ประเทศสยามต้องสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ประเทศฝรั้งเศส พวกราษฎรชาวเมืองเชียงคานจึงพากันละทิ้งบ้านเรือนตลอดจนถิ่นที่ทำกิน ด้วยใจรักในอิสรภาพ จึงอพยพไปตั้งหลักฐานเมืองใหม่อยู่ที่บ้านท่านาจันฝั่งขวาแม่น้ำโขงโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งได้นำชื่อเมืองเดิมมาเรียกใหม่ว่า เมืองเชียงคาน ส่วนเมืองเก่าก็ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าไป และดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบางใต้ลำน้ำตาม ฝรั่งเศสได้ยึดเอาไว้อีก พร้อมกับเมืองจำปาศักดิ์และเมืองมะโนไพร
พ.ศ. 2442 (ร.ศ.118) เมืองเชียงคานได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองเก็บส่วยอากรได้ จนสมัยพระยาศรีอรรคฮาต ทองดี (ต้นตระกูล ศรีประเสริฐ) เป็นเจ้าเมืองคนสุดท้ายที่เก็บส่วยอากรได้เองตลอดเวลา ดังหลักฐานปรากฎตอนหนึ่งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 16 ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม ร.ศ.118 ว่า "วันที่ 21 มกราคม ร.ศ.118 พระราชทานช้างเผือกชั้น 3 นิภาภรณ์แก่พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ผู้ว่าราชการเมืองเชียงคาน ซึ่งได้เข้าทูลละอองะลีพระบาท เมื่อ ร.ศ.118"
เพื่อความร่มเย็นผาสุกของชาวเมืองเชียงคาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานเมล็ดไม้สักให้นำไปปลูกที่เมืองเชียงคาน บริเวณสถานที่ราชการและภูหงส์ บริเวณวัดท่าคก และได้ให้ท้าวศรีพรหมบุตรนำไปปลูกที่บริเวณป่าสัก ถนนศรีเชียงคาน บริเวณเนินข้างบน ซอย 8 ซึ่งเป็นที่พักของท้าวท่านและปลูกที่โฮงของพระยาศรีอรรคฮาต บริเวณโรงเรียนเชียงคานปทุมมาสงเคราะห์ ซึ่งพระมหาทองหนัก ปทุมมาเป็นผู้ริเริ่มสร้างโรงเรียน ดังนั้นไม้สักที่ปลูกที่เมืองเชียงคานจึงเป็นไม้สักพระราชทานคู่เมืองมาก่อน
ต่อมาพระยาศรีอรรคฮาต ได้สร้างวัดโพนชัย สร้างอุโมงค์ครอบพระพุทธบาทภูควายเงิน บ้านผาแบ่นและสร้างโอง (บ้านพักเจ้าเมือง) ขึ้นที่บริเวณเนินสูงหนึ่งหลัง (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนเชียงคานปทุมมาสงเคราะห์) และได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองเชียงคาน (ศาลเมือง) จากวัดธาตุไปว่าราชการที่วัดโพนชัยแทน และได้สร้างบันไดจากวัดโพนชัยลงสู่แม่น้ำโขง และสร้างวัดท่าคก จะสังเกตได้ว่าอุโบสถวัดธาตุและวัดท่าคกหันไปทางทิศตะวันตก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวัดธาตุนั้นเป็นสถานที่ว่าราชการเป็นศาลเมืองมาก่อน ต่อมาได้ย้ายสถานที่ว่าการ ทำให้บริเวณวัดธาตุรกร้างว่างเปล่า จึงเปลี่ยนมาเป็นวัด ปัจุบันคือ วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุในปัจจุบัน
วัดโพนชัย อ.เชียงคานในปัจจุบัน
เมืองใหม่เชียงคานสมัยนั้น มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือถึงบ้านผาต้อหน่อคำสามหมื่น เมืองเฟือง ทิศตะวันออกถึงบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ทิศตะวันตกถึงบ้านน้ำพูน (เมืองอุทัย) เมืองปากลาย จังหวัดล้านช้าง (ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง)
ตำแหน่งของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการอยู่ที่เมืองเชียงคานสมัยนั้นเรียกดังนี้ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชบุตร เมืองขวา เมืองซ้าย เมืองแสน เมืองจัน เมืองกลาง เมืองโฮม เมืองฮาม อินทิมาน (หมอยา) หลวงราชา หลวงพิพิธ หลวงพรหม เจ้าหมื่น เมืองแมน พระยาปากดี
ครั้งเมื่อเกิดศึกฮ่อ ถัดมาได้อีกหนึ่งปี เจ้าเมืองและราษฎรเห็นว่าบริเวณเมืองปากเหืองไม่เหมาะสม ภูมิปะเทศกอปรด้วยป่าดง ภูเขา ราษฎรประกอบอาชีพไม่สะดวก จึงย้ายตัวเมืองมาตั้งที่บ้านท่านาจัน (อำเภอเชียงคานปัจจุบัน) เมื่อย้ายเมืองมาครั้งแรกที่ว่าการตั้งอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่า "ศาลเมืองเชียงคาน" ซึ่งมีบัลลังก์ของเจ้าเมืองประดับแก้ว ปิดทองและสลักสวยงาม ปัจจุบันจัดเก็บไว้ในอุโบสถวัดธาตุ ต่อมาได้ย้ายไปอยู่วัดโพนชัยดังที่กล่าวมาตอนต้น
เมื่อทางการได้ยุบฐานะเมืองเชียงคานเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2454 จนถึงปี พ.ศ. 2484 อำเภอเชียงคานได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ปากเหือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองปัญจนคร ซึ่งเคยเป็นอาณาเขตของเมืองหลวงพระบางมาก่อน ในการทำสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ประเทศสยามได้เมืองด่านซ้ายและเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศส แต่ต้องเสียดินแดนเขตเมืองบ่อแตน เมืองแก่นท้าว ฝั่งซ้ายแม่น้ำเหืองตอนเหนือลำน้ำให้แก่ฝรั่งเศส มีเรื่องเล่าว่าในสมัยนั้นข้าราชการของฝรั้งเศสตำแหน่งกอมมิแซร์และนายทหารยศร้อยตรีหนึ่งนาย ร้อยโทหนึ่งนาย ได้ขี่ม้านำทหารพื้นเมืองประมาณ 20 คน ถอยร่นจากเมืองด่านซ้ายไปเวียงจัทน์ ได้ขุดเอาศิลาจารึกที่ฝังไว้ใต้พระธาตุศรีสองรักด้านเหนือไปด้วยหนึ่งหลัก หลักศิลาจารึกดังกล่าวจารึกไว้สองด้าน ด้านหนึ่งจารึกด้วยอักษรขอมเป็นจารึกของฝ่ายไทย ส่วนอีกด้านหนึ่งจารึกด้วยตัวอักษรธรรมเป็นของฝ่ายล้านช้าง หลักศิลาจารึกมีความสูง 97 เซนติเมตร กว้าง 78 เซนติเมตร ปัจจุบันศิลาจารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ "หอพระแก้ว" นครเวียงจันทน์ ส่วนศิลาจารึกแผ่นที่ฝังไว้ที่องค์พระธาตุศรีสองรักในปัจจุบันนี้เป็นศิลาจารึกจำลองขึ้นมาแทนแผ่นศิลาของเดิม มีความสูง 1.85 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร เนื่องจากเมื่อฝรั่งเศสได้เอาแผ่นศิลาตัวจริงไป ได้มีการทำขึ้นมาทดแทนของเดิมโดยนำเนื้อหามาจากตำนานที่ปรากฎในหนังสือโบราณพื้นเมืองของเก่ามาจารึกไว้แทน บางตำรากล่าวว่า เมื่อฝรั่งเศสนำศิลาจารึกของพระธาตุศรีสองรักใส่เรือล่องไปตามลำน้ำเหืองออกสู่แม่น้ำโขงไปเมืองเวียงจันทน์ พอเรือมาถึงแก่งฟ้า (ปัจจุบันคือ หาดเบี้ย อำเภอปากชม จังหวัดเลย) และแก่งจัน เรือก็ล่มจมหาย ผู้โดยสารที่มากับเรือเสียชีวิตหมดทุกคน
พ.ศ. 2449 ฝรั่งเศสได้เช่าที่ดินที่วัดท่าคกตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ว่าทางฝรั่งเศสจะขอเช่าที่ดินเท่าผืนหนัง มีกำหนด 50 ปี เจ้าเมืองจึงยินยอมให้เช่า แต่เมื่อถึงเวลาทำรังวัดที่ดินตามสัญญาเช่า ฝรั่งเศสได้ตัดแผ่นหนังเป็นริ้วเส้นยาว ๆ วัดไปได้พื้นที่กว้างยาวมาก บริเวณท่าคกและส่วนราชการทั้งหมดตั้งแต่โรงเรียนบ้านเชียงคาน "วิจิตรวิทยา" ถึงบริเวณโรงพยาบาลเชียงคานจนถึงสถานีประมง สำหรับสร้างท่าเรือและที่พักสินค้า อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสก็ไม่ได้รับประโยชน์จากสถานที่เช่าที่ดินนี้มากนักเพราะถูกชาวเชียงคานที่ไม่พอใจคอยรบกวนและทำลายสินค้าอยู่เสมอ
ภายหลังได้มีการปกครองแบบเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. 2450 ผู้ปกครองเมืองเชียงคานในขณะนั้นจึงได้ยุบบริเวณเมืองปากเหือง เพื่อจัดตั้งเป็นจังหวัดเลย อำเภอเชียงคานในขณะนั้นยังคงมีฐานะเป็นเมืองน่าอยู่และยังคงเป็นเอกเทศ โดยไม่ทราบว่าจะไปอยู่ในความปกครองของเมืองใดในประเทศไทย เป็นเวลา 3 ปีกว่า เรียกกันว่า "เอกราชน้อยเชียงคาน"
พ.ศ. 2452 ได้มีทหารมาจากเมืองสานะคาม เข้ายึดวัดโพนชัยซึ่งเป็นที่ทำการเมืองแต่เดิมหมายยึดเมืองเชียงคาน โดยอ้างว่าที่ทำการเมืองแต่เดิมอยู่ในเขตเมืองปากเหืองที่อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส แต่เจ้าเมืองเชียงคานขณะนั้นคือ พระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี) รู้จุดประสงค์ จึงได้สั่งเป็นความลับกับท้าวราชบุตร (อุปฮาด) ไว้ว่า ถ้าฝรั่งเศสถามหาเจ้าเมือง ให้บอกว่าเจ้าเมืองไม่อยู่ และถ้าฝ่ายฝรั่งเศสจะเจรจาความเมืองในเรื่องใด ก็ให้ตอบไปตามที่ได้ประชุมปรึกษาหารือกันไว้แล้ว หลังจากสั่งความไว้แล้วเจ้าเมืองก็ลงเรือนไป และใช้ม้าเร็วแจ้งการมาของฝรั่งเศสให้ทางจังหวัดเลยได้ทราบล่วงหน้าไว้ก่อน ครั้นฝรั่งเศสไปพบกับอุปฮาด ได้ขอพบเจ้าเมืองพอทราบว่าเจ้าเมืองไม่อยู่ก็แจ้งว่ารัฐบาลสยามได้ยกดินแดนเมืองเชียงคานและหัวเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเลย บ้านธาตุ บ้านนาอ้อ บ้านท่ามะนาว บ้านก้างปลา เมืองเลย บ้านแฮ่ วังสะพุง เซไลทรายขาว หนองคัน ลุ่มแม่น้ำเหืองและลุ่มน้ำอื่น ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศสในอินโดจีนแล้ว ท้าวราชบุตรอุปฮาดจึงตอบไปว่า เรื่องนี้ไม่ได้รับคำสั่งจากบางกอก แต่เมื่อฝรั่งเศสมีความประสงค์เช่นนี้ก็ไม่เป็นการยากแต่อย่างใด เพราะเมืองเชียงคานอยู่ใกล้และอัตคัตข้าว ทั้งผู้คนก็น้อย ถ้าจะให้ดีควรไปเอาเมืองเลย นาอ้อ นาโคก เสียก่อน เพราะเป็นบ้านเป็นเมืองใหญ่ มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ผู้คนก็มากจะดีกว่า ส่วนเมืองเชียงคานนั้นฝรั่งเศสจะเอาเมื่อใดก็ได้ เมื่อฝรั่งเศสได้ฟังดังนั้นก็มีความเห็นคล้อยตามแล้วก็ลากลับ หลังจากนั้นไม่นานทหารฝรั่งเศสพร้อมด้วยทหารญวน 8-9 นาย รวมทั้งพวกข่าและชาวบ้านฝั่งซ้ายที่ทำหน้าที่เป็นกุลีแบกหาม นำทางโดยชาวบ้านที่รู้ทางดี ตรงไปยังบ้านนาอ้อและไปค้างคืนอยู่หนึ่งคืน เมื่อฝรั่งเศสทราบว่ามีผู้ต่อต้านและทางเมืองเลยซึ่งมีทหารและตำรวจซึ่งทางการส่งตัวไปรักษาความปลอดภัยเตรียมจะต่อสู้ก็รีบถอยกลับ ฝ่ายไทยไล่จับแต่ไม่ทัน คงจับได้เฉพาะผู้ติดตาม 2-3 คน เอามาจองจำกับขื่อคาที่เมืองเลย (แต่ภายหลังก็ปล่อยตัวไป) ส่วนที่เหลือหลบหนีไปเวียงจันทน์
ก่อนหน้านี้เมืองเชียงคานได้ขึ้นสังกัดอยู่ในความปกครองของแขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก ดังกล่าวข้างต้น จนถึงปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประเทศราช ให้หัวเมืองขึ้นไม่ต้องถวายดอกไม้ทองเหมือนแต่ก่อน มีการปกครองแบบเทศาภิบาล จึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้โอนท้องที่อำเภอเชียงคานจากแขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก ไปสังกัดแขวงเมืองเลย มณฑลอุดร เพื่อความสะดวกในการปกครอง เพราะเมืองเชียงคานอยู่ห่างจากแขวงเมืองเลยเพียง 48 กิโลเมตรเท่านั้น การติดต่อราชการจะสะดวกกว่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็น จังหวัด แทน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงกลายเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด และศาลาว่าการเมือง ก็เปลี่ยนมาเป็น ศาลากลางจังหวัด จึงได้มีการเปลี่ยนสถานะจากแขวงเมืองเลยเป็นจังหวัดเลย และเปลี่ยนสถานะเมืองเชียงคานเป็นอำเภอเชียงคานเช่นเดียวกับหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี) ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานเป็นคนแรก อยู่ประมาณ 2 ปี พระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี) ก็ลาออกรับพระราชทานบำนาญจนถึงแก่อนิจกรรม
เจดีย์บรรอัฐิของพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี) ที่วัดศรีคูณเมือง อ.เชียงคาน
พ.ศ. 2483 ได้มีการวางกำลังเพื่อทำสงครามกับฝรั่งเศสในคราวเกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีน และฝรั่งเสสได้กลับมาตั้งเมืองเชียงคานเป็นเมืองขึ้นใหม่ด้วยความจำเป็น แต่ฝรั่งเศสไม่เรียกชื่อเมืองที่ฟื้นฟู้ขึ้นใหม่นี้ตามชื่อเดิม แต่ได้นำชื่อหมู่บ้านที่พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ได้ขนานนามจากบ้านตากแดดเป็นบ้านชนะคามซึ่งมีความหมายดีมาตั้งชื่อเมืองใหม่ และคำว่าชนะคามนั้น เรียกตามสำเนียงฝรั่งเศสว่า "สานะคาม"
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีทหารญวน ลาว และราษฎรชายหญิงของหลวงพระบางและเวียงจันทน์ จำนวนประมาณ 600 คน ได้อพยพหนีภัยฝรั่งเศสเข้ามายังอำเภอเชียงคาน เพื่อขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยที่อำเภอเชียงคานตราบเท่าทุกวันนี้
ปัจจุบันอำเภอเชียงคานได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง เพราะชาวเมืองเชียงคานได้ช่วยกันอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน ตลอดจนศิลปวัมนธรรมพื้นบ้านไว้ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย
ดูเพิ่มเติม
เรียบเรียงโดย : นายิกา เดิดขุนทด วัดศรีคุณเมือง. (ม.ป.ท.). ประวัติเมืองเชียงคาน. ใน ประวัติวัดศรีคุณเมือง ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย. เลย: วัดศรีคุณเมือง. (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์).
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม |