โนนเมืองเป็นแหล่งโบราณที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสานตอนบน เป็นที่อยู่อาศัยของคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ หลักฐานสำคัญจากการขุดค้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕, ๒๕๒๖ และ ๒๕๓๔-๒๕๓๕ พบว่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องประดับและเครื่องมือเครื่องใช้ที่อุทิศให้แก่ผู้ตาย เครื่องปั้นดินเผาแบบต่าง ๆ กำหนดอายุราว ๒,๕๐๐ ปี
สมัยประวัติศาสตร์พบหลักฐาน เช่น ใบเสมาหินทราย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ และหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงความสัมพันธ์กับพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นโบราณวัตถุสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี อายุประมาณ ๘๐๐, ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
อายุสมัยของชุมชนที่โนนเมือง กำหนดจากการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งอื่นและการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์โดยวีธีเรดิโอ คาร์บอน (C14) สรุปได้ว่า มีวัฒนธรรม ๓ สมัยคือ
๑. ระยะแรกเป็นวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีอายุราว ๒,๕๐๐ ปี
๒. ระยะที่สอง เป็นระยะที่ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาแล้ว จัดเป็นวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หรือสมัยทวารวดี มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖
๓. ระยะที่สาม เป็นวัฒนธรรมสมัยลพบุรี มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙
นอกจากนี้ยังพบคูเมืองขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น เมืองชั้นในรูปร่าง
ค่อนข้างกลมมีเสันผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๒๐ เมตร เมืองชั้นนอกมีทรงยาวรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐๐ เมตร หรือมีเนื้อที่ประมาณ ๒๑๖ ไร่ มีใบเสมาหินทรายปักอยู่ในเมืองและพื้นที่โดยรอบ แสดงให้เห็นชุมชนซึ่งเป็นศูนย์กลางและชุมชนย่อยกระจายอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ ตัวเมืองตั้งอยู่ระหว่างภูเขาและแม่น้ำ คือมีภูเวียงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างประมาณ ๖ กิโลเมตร และด้านทิศใต้มีแม่น้ำเชิญไหลผ่าน พื้นที่รอบนอกตัวเมืองเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก
จากคำบอกเล่าของพระอธิการวัลลบ อคฺคธมฺโม (ลบ จ้อยภูเขียว) เจ้าอาวาสวัดป่าพระนอนพัฒนาราม ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่นได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ขณะที่ท่านเป็นมรรคนายกวัดบุญบาลประดิษฐ์ได้ทราบข่าวจากพ่อพิมพ์ (ไม่ทราบนามสกุล) ชาวบ้านนาโพธิ์ ขุดพบหลักศิลาจำนวนมากในขณะที่ขุดร้างถางพงที่ดอนในที่นาของตน ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านได้ติดตามพระวิสารทสุทธี (บด เถสโว) เจ้าอาวาสวัดบุญบาลประดิษฐ์และเจ้าคณะอำเภอชุมแพ ไปสถานที่ขุดพบเพื่อไปนำเสาเสมามาทำเป็นเสาหลักเมืองของอำเภอชุมแพ ซึ่งในหลุมที่ขุดพบดังกล่าว นอกจากจะพบหลักศิลาแล้ว ยังมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปทองเหลือง เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องรางของขลังจำนวนมากด้วย ท่านเจ้าคุณคณะอำเภอจึงได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้ดูแล โดยได้นำสิ่งของทั้งหมดที่ขุดพบไปเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าพระนอน ซึ่งขณะนั้นเป็นเขตธรณีสงฆ์ของวัดโพธิ์ธาตุ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ ๗ ขอนแก่น (ปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น) ได้มาขุดค้นพบเมืองโบราณโนนเมือง และได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการศึกษาในลักษณะพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งในปัจจุบัน
ลักษณะทั่วไป
ปัจจุบันเมืองโบราณโนนเมือง สำนักศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น ได้พัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่ง
ท่องเที่ยวทางการศึกษาในลักษณะพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง มีศูนย์บริการข้อมูล จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีหลุมขุดค้น รวม ๑๓ หลุม และมีหลุมสาธิตขนาดใหญ่ ๗ หลุม สร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กคร่อมหลุมขุดค้น
เมืองโบราณโนนเมือง ตั้งอยู่ในเขตบ้านโนนเมือง ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ห่างจากอำเภอเมืองขอนแก่น ประมาณ ๘๕ กิโลเมตร การเดินทาง ใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ ตามเส้นทางถนนมะลิวัลย์ (ทางหลวงหมายเลข ๑๒) ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เลี้ยวซ้ายไปทางถนนทหารพรานที่ ๒๕ มีทางแยกเข้าสู่แหล่งโบราณคดีโนนเมือง บ้านโนนเมือง
แหล่งอ้างอิง
ขอนแก่นจ็อบดอทคอม. (ม.ป.ป.). เมืองโบราณโนนเมือง. ค้นเมื่อ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ จาก
http://www.khonkaenjob.com/khonkaen-travel14.html
คลังปัญญาไทย. (๒๕๕๐). เมืองโบราณโนนเมือง. ค้นเมื่อ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ จาก
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
พระอธิการวัลลบ อคฺคธมฺโม (ลบ จ้อยภูเขียว). (๒๑ มีนาคม ๒๕๕๔). สัมภาษณ์. เจ้าอาวาสวัดป่าพระนอนพัฒนาราม ตำบลชุมแพ อำเภอ ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
สำนักศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น. (ม.ป.ป.). ชุมชนโบราณโนนเมือง. ค้นเมื่อ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔
จาก http://www.khonkaen.thai-culture.net/detailcontent.php?sub_id=45
เรื่องและภาพ : นายิกา เดิดขุนทด
๒๒ มีนาคม ๒๕๕