เนื่องในโอกาสที่สำนักวิทยบริการได้จัดนิทรรศการเรื่อง "ภูมิปัญญาขอนแก่น" เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 และได้เรียนเชิญแม่ครูราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ครูภูมิปัญญาไทย สาขาศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) มาเป็นวิทยากรสาธิตการลำกลอนร่วมกับคุณพ่อเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ)
ในวันนั้นแม่ครูราตรีศรีวิไล ได้มอบอัตชีวประวัติและผลงานหมอลำราตรีศรีวิไลให้มุมอีสานสนเทศได้บันทึกไว้ในฐานข้อมูลอีสานสนเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
๑. สังเขปชีวประวัติ
ชื่อ-นามสกุลเดิม นางราตรีสวัสดิ์ อุ่นทะยา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ชื่อฉายาศิลปิน “หมอลำราตรีศรีวิไล” หรือในกลุ่มลูกศิษย์ศิลปินหมอลำนิยมขานนามกันว่า “แม่ครูราตรีศรีวิไล” เกิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๔๙๕ ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม บิดาชื่อนายเสริม มารดาชื่อ นางหมุน นาห้วยทราย อาชีพศิลปินหมอลำกลอนและนักแต่งกลอนลำ มีพี่น้อง ๗ คน สมรสกับนายวิชิต บงสิทธิพร ข้าราชการสาธารณสุข มีบุตรด้วยกันสองคน
ที่อยู่ปัจจุบัน
อยู่บ้านเลขที่ ๔๑/๖๐ ซอยหมู่บ้านเสรี ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ ๔๐๐๐๐โทรศัพท์ /โทรสาร ๐๔๓-๒๔๓๐๗๐,๐๘๑-๘๗๑๕๘๖๘ ซึ่งเปิดเป็นสำนักงานหมอลำ และได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติในการก่อตั้ง ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) ขึ้นในจังหวัดขอนแก่น
๒. ประวัติการศึกษา
๒.๑ การศึกษาสายสามัญ
แม่ครูราตรีศรีวิไลเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการใฝ่เรียนรู้และการศึกษาตลอดชีวิต โดยจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนน้ำสวยมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จากศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญาโท สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ (สาขาวิชาหมอลำ) ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
๒.๒ การศึกษาสายวิชาชีพ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จบหลักสูตรการเรียนหมอลำกลอน จากคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชายและพี่สาว จากนั้นก็ได้นำมาประกอบอาชีพและปฏิบัติมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ จบหลักสูตรการประพันธ์กลอนลำ จากคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชายและพี่สาว จากนั้นก็ได้นำมาประกอบอาชีพและปฏิบัติมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
๓. ประวัติด้านการทำงาน
แม่ครูราตรีศรีวิไลมีประสบการณ์ทำงานมากมาย ดังนี้
๓.๑ เป็นนักแสดงศิลปินพื้นบ้านหมอลำกลอน ลำเรื่องต่อกลอน นักร้องลูกทุ่ง ลำกลอนประยุกต์ และนักประพันธ์กลอนลำ
๓.๒ เป็นครูสอนหมอลำ สอนวาดฟ้อน (รำ) อีสาน และสอนการประพันธ์กลอนลำ
๓.๓ เป็นเจ้าของสำนักงาน (หมอลำราตรีศรีวิไล)
๓.๔ เป็นเจ้าของศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้าน“ศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน”(หมลำ)
๓.๕ เป็นผู้จัดการวงหมอลำ (คณะราตรีศรีวิไล)
๓.๖ เป็นกรรมการในด้านการทำงานช่วยเหลือสังคมส่วนรวมให้กับหน่วยงานต่างๆ
๓.๗ เป็นวิทยากรบรรยายและสาธิตการแสดงเกี่ยวกับ “ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน” (หมอลำ) ให้กับหน่วยงานต่างๆ
๔. แรงจูงใจให้เกิดความรักในอาชีพศิลปิน
ด้วยใจรักในด้านศิลปวัฒนธรรมมาแต่กำเนิด ประกอบกับการได้คลุกคลีสัมผัสกับกลิ่นอายวีถีชีวิตครอบครัวศิลปินมาตั้งแต่แรกเกิด ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดง และด้านการประพันธ์กลอน รวมทั้งการถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ ชึ่งพ่อแม่ พี่ชายและพี่สาว เป็นต้นแบบตัวอย่างที่ดีและได้ดำเนินชีวิตด้วยดีมาตลอด ถือว่าเป็นอาชีพที่สุจริตและมีรายได้ดีพอที่จะจุนเจือครอบครัว ให้อยู่อย่างผาสุกได้ จึงทำให้เกิดการซึมซับมาตลอด
จากจิตวิญญาณคนศิลปินหรือจิตวิญญาณ “ลูกอีสาน” และจากการมองภาพรวมทั้งในครอบครัวของตนเองซึ่งเป็นครอบครัวศิลปิน และมองวงกว้างของสังคมส่วนรวมที่ให้ความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม จึงทำให้เกิดความมั่นใจว่าต้องยืนหยัดอยู่ในวงการศิลปินและจรรโลงรักษาไว้ให้จงได้ ด้วยความรัก ความศรัทธาและด้วยบุญบารมีของบรรพบุรุษที่ได้สั่งสมมา จึงดลบันดาลให้เกิดการปลูกฝังจิตสำนึกให้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญในอาชีพศิลปินพื้นบ้าน “หมอลำ” เป็นชีวิตจิตใจมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน และมีความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้สานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษและมีความสุขกับการประสบความสำเร็จในชีวิตการเป็นศิลปินในระดับสูงสุดของชีวิต
๕. ผลงานด้านการถ่ายทอดความรู้
๕.๑ การถ่ายทอดความรู้ เริ่มต้นจากการสอนลูกศิษย์ช่วยพ่อแม่ พี่ชายและพี่สาวเมื่อช่วงอายุได้ ๑๕-๒๔ ปี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้แยกครอบครัวออกมาจากพ่อแม่มาเป็นครอบครัวของตนเอง จึงได้ตั้งสำนักงานหมอลำเพื่อรับงานแสดงให้ลูกศิษย์และศิลปินทั่วไป พร้อมกับเปิดโรงเรียนสอนศิลปินพื้นบ้านที่บ้านตนเอง โดยรับลูกศิษย์เข้ามาเรียนประจำและอยู่ในความดูแลทั้งหมด และในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับคัดเลือกจากทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ให้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย สาขาศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) ที่สำนักงาน ตั้งอยู่เลขที่ 41/60 ซอยหมู่บ้านเสรี ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นอกจากนี้ยังได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เป็นวิทยากรพิเศษถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) ให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนคนทั่วไป เป็นจำนวนมากพอสมควร
๕.๒ การเรียนการสอน
การเรียนการสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) แบ่งออกเป็น ๖ สาขา ได้แก่
๑. สาขาด้านการแสดงหมอลำกลอน ๒. ลำกลอนประยุกต์ ๓. หมอแคน ๔. ดนตรีประกอบหมอลำประยุกต์ ๕. หางเครื่อง ๖. การประพันธ์กลอน (กลอนลำ เพลงลูกทุ่งและลูกทุ่งหมอลำ) ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้เปิดการเรียนการสอนประจำที่บ้าน โดยมีลูกศิษย์เข้ามาสมัครเรียน จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีการเปลี่ยนแปรงรูปแบบการเรียนการสอน โดยการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนหมอลำทางไปรษณีย์ (เรียนด้วยตนเอง) เสริมจากการเรียนประจำ เป็นการอำนวยความสะดวกต่อผู้เรียน ทำให้มีผู้มาสมัครเรียนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และได้เปิดรับลูกศิษย์เข้ามาเรียนเป็นหมอลำและสนับสนุนการเรียนการสอน “หมอแคน-ดนตรีประกอบหมอลำประยุกต์”
จากการที่ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ เรียนจบและประกอบอาชีพได้ จนถึงปัจจุบัน มีลูกศิษย์สาขาหมอลำ ประมาณ ๕๐๐คน หมอแคน ประมาณ ๑๐๐ คน นักดนตรีประกอบหมอลำประยุกต์ ประมาณ ๒๐ วง หางเครื่อง ประมาณ ๓๐๐ คน และสาขาการประพันธ์กลอน (กลอนลำ- เพลงลูกทุ่งและลูกทุ่งหมอลำ) ประมาณ ๒๐ คน
๖. การสร้างสรรค์ผลงาน
๖.๑ การผลิตสื่อการเรียนการสอนหมอลำ
ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนหมอลำแบบดั้งเดิม และแบบประยุกต์ ทั้งรูปแบบเรียนประจำและเรียนทางไปรษณีย์ ไว้อย่างชัดเจน ให้ผู้ศึกษาจากสื่อการเรียนการสอน สามารถเข้าใจและแยกแยะออกว่าหมอลำแต่ละประเภท มีความเป็นมาและมีความสำคัญแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเรียนจบหลักสูตรสามารถนำความรู้ไปสืบสานต่อ โดยประกอบอาชีพและถ่ายทอดให้คนอื่นสืบต่อไปได้
๖.๒ การประพันธ์กลอน
การประพันธ์กลอนลำแบบดั้งเดิม จะใช้ทำนองประเภทลำกลอนเป็นหลัก เช่น ทำนองลำทางสั้น ทางล่อง ทางเต้ย และลำทำนองลำพื้นผสมผสาน ตามความเหมาะสม ส่วนเนื้อหาสาระจะเน้นเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ เช่น คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม เผยแพร่ข่าวสารบ้านเมืองและนิทานต่าง ๆ ในการประพันธ์กลอนลำจะใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานเป็นส่วนใหญ่
๖.๓ การประพันธ์กลอนลำแบบประยุกต์
การประพันธ์กลอนลำแบบประยุกต์ ส่วนใหญ่ใช้ทำนองประเภทผสมผสาน เช่น ทำนองลำทางสั้น ทางล่อง ทางเต้ย ลำพื้น ลำหมู่ ลำเพลิน ลำสินไซ ลำเดินขอนแก่น ลำย่าววาทขอนแก่น ลำย่าววาทกาฬสินธุ์ ลำย่าววาทอุบล ลำตั่งหวาย และลำผู้ไทย เป็นต้น เน้นจังหวะเร็ว เร้าใจและใช้จังหวะทำนองเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริงเข้ามาผสมผสานเป็นบางส่วน ทางด้านเนื้อหาสาระก็คล้ายกับแบบดั้งเดิม แต่จะเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ความรัก ตลกขำขัน และการสร้างสรรค์สังคมตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคตามสมัย
การประพันธ์กลอนลำแบบประยุกต์จะต้องให้สอดคล้องกับดนตรี เพราะกลุ่มผู้ฟังลำแบบประยุกต์จะเน้นการฟังเสียงดนตรีประกอบด้วย และภาษาที่ใช้ในการประพันธ์กลอนใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยกลางผสมผสานเท่ากัน
๖.๔ การสร้างสรรค์และพัฒนารูปแบบการแสดงหมอลำ
การแสดงหมอลำแบบดั้งเดิม ประเภทหมอลำกลอนยังคงไว้ในรูปแบบเดิม จะมีเพิ่มเติมก็คือกลอนลำให้มีเนื้อหาสาระที่ทันยุคสมัยและทันเหตุการณ์ รวมทั้งลีลาท่าทางการฟ้อนประกอบการลำให้ทันสมัยขึ้น โดยนำเอาท่าฟ้อนรำของนาฏยศิลป์ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ ให้ผสมกลมกลืนดูสวยงามอ่อนช้อยขึ้น ส่วนดนตรีประกอบใช้เฉพาะแคนอย่างเดียว
การแสดงหมอลำแบบประยุกต์ ประเภทหมอลำประยุกต์คือ การแสดงที่ประยุกต์มาจากหมอลำกลอน และนำเอาการแสดงจากหลายรูปแบบทั้งเก่าและใหม่ เช่น นำเอาทำนองลำทางสั้น ทางล่อง ทางเต้ย ลำพื้น ลำหมู่ ลำเพลิน ลำสินไซ ลำเดินขอนแก่น ลำย่าววาทขอนแก่น ลำย่าววาทกาฬสินธุ์ ลำย่าววาทอุบล ลำตังหวาย และลำผู้ไทย เป็นต้น และนำเอาเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริงเข้ามาผสมผสานด้วย ทางด้านเนื้อหาสาระก็คล้ายกับแบบดั้งเดิม แต่จะเพิ่มเกี่ยวกับเรื่อง ความรัก ตลกขำขันและตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคตามสมัย ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สังคมตามความเหมาะสมของงาน จังหวะลำแบบประยุกต์จะต้องให้สอดคล้องกับดนตรี เพราะกลุ่มผู้ฟังลำแบบประยุกต์ จะเน้นการฟังเสียงดนตรีประกอบด้วย
ดนตรีประกอบหมอลำประยุกต์ จะนำเอาดนตรีรูปแบบพื้นบ้านอีสานเป็นหลัก เช่น แคนพิณ ซอ โวด เป็นต้น มาผสมผสานกับดนตรีสากล เช่น เบส กีตาร์ กลองชุด เป็นต้น และเน้นจังหวะทำนองเร็วเร้าใจเพื่อให้กลมกลืนกับการแสดงในรูปแบบประยุกต์ ก่อให้เกิดเป็นหมอลำบูรณาการ จัดอยู่ในรูปแบบเชิงอนุรักษ์และพัฒนา เน้นการยืนอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรม หรือเรียกกันว่า “ศิลปินร่วมสมัย” แต่ยึดหลักศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นกรอบของการแสดง
๗. ผลงานทางด้านการประพันธ์กลอนลำ
แม่ครูราตรีศรีวิไล ได้ประพันธ์บทกลอนลำเกี่ยวกับเนื้อหาสาระต่างๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัย และกลอนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สังคม เช่น กลอนรณรงค์เผยแพร่ข่าวสารด้านต่างๆ ได้แก่ กลอนรณรงค์ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป กลอนเลิกเหล้าเข้าพรรษาบูชาในหลวง รณรงค์เชิญชวนเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับ รณรงค์เผยแพร่ประชาธิปไตย รณรงค์เชิญชวนรักการอ่าน การเรียนรู้หนังสือ เชิญชวนอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรม กลอนอนุรักษ์วัฒนธรรม ตลอดจนกลอนรักษาจารีตประเพณีไทย เป็นต้น รวมจำนวนกลอนลำที่ประพันธ์ได้มากกว่า ๑,๐๐๐ กลอน (เอกลักษณ์โดดเด่นในการประพันธ์กลอนลำ คือ เน้นการใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน) เมื่อประพันธ์กลอนเสร็จก็มอบให้ลูกศิษย์และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งตัวท่านเอง นำไปแสดงเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามงานองค์กรต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละงาน
๘. ผลงานด้านการแสดงเผยแพร่ต่อสาธารณชน
๘.๑ การแสดงเผยแพร่ในประเทศไทย
แม่ครูราตรีศรีวิไลได้ทำการแสดงเผยแพร่ในงานต่างๆ มาโดยตลอด เช่น งานบุญเทศกาลทั่วไปที่เจ้าภาพว่าจ้างไปแสดง และงานรณรงค์เผยแพร่ข่าวสารด้านต่างๆ ที่ทางหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น รวมทั้งงานด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมระดับประเทศ เช่น งาน “มหกรรมวัฒนธรรมนานาชาติ”
งานที่แสดงหมอลำทั้งหมดเฉพาะตัวท่านเองไม่รวมงานแสดงของลูกศิษย์ โดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐๐ งานต่อปี
๘.๒ ผลงานการแสดงเผยแพร่ต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลา ๓๘ ปี นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๕๓ แม่ครูราตรีศรีวิไลได้แสดงเผยแพร่การแสดงหมอลำในต่างประเทศมากมาย เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น สวีเดน
และล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ไปแสดงงานแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม (ร่วมกับคณบดีและคณะครูดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ที่ “สถาบันศิลปะแห่งอินโดนีเซีย” และมหาวิทยาลัยยอร์คยากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย
๘.๓ ผลงานด้านการเผยแพร่ทางสื่อเทคโนโลยี
สร้างสื่อเผยแพร่ในรูปแบบภาพและเสียง เช่น บันทึก เทป ซีดี วีซีดี วีดีโอ ส่งเผยแพร่ทาง วิทยุ ทีวี ตามคลื่นต่างๆทั่วประเทศ และต่างประเทศ (บางส่วน) ตลอดจนหอกระจายข่าวของชุมชนหมู่บ้านทั่วไป รวมทั้งสื่อด้านอินเตอร์เน็ท เช่น เว็บไซด์ และอีเมล์
รวมอายุการประกอบอาชีพการแสดงศิลปินหมอลำนานถึง ๔๕ ปี และการแต่งกลอนลำได้ ๔๐ ปี
๙. รางวัลเชิดชูเกียรติและใบประกาศเกียรติคุณต่างๆ ที่ได้รับ
จากผลงานอันโดดเด่นที่มีต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ทำให้แม่ครูราตรีศรีวิไลได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติและใบประกาศเกียรติคุณต่าง ๆ มากมาย ประมาณ ๕๐๐ รางวัล อาทิ
๙.๑ รางวัลพระราชทาน
พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ โดยการคัดเลือกและยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็น “ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (แต่งกลอนลำ)”
พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามบรมราชกุมาร โดยการคัดเลีอกและยกย่องเชิดชูเกียรติจาก สำนักงานคณะกรรมการเยาวชนแห่งชาติ ให้เป็น “ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน สาขาสื่อมวลชน”
๙.๒ รางวัลเชิดชูเกียรติและใบประกาศเกียรติคุณต่าง ๆ
พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น
โดยการคัดเลือกเชิดชูเกียรติให้เป็น “ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ)”
พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ จังหวัดมหาสารคาม โดยการคัดเลือกเชิดชูเกียรติให้เป็น “ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน” (หมอลำ)
พ.ศ. ๒๕๔๒ รับเข็มเชิดชูเกียรติ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ โดยการคัดเลือกแต่งตั้งให้เป็น “ครูภูมิปัญญาไทย (รุ่นที่ ๑)”
พ.ศ. ๒๕๔๔ รับใบประกาศเกียรติคุณ จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น โดยการคัดเลือกแต่งตั้งให้เป็น “กรรมการสภาวัฒนธรรมประจำจังหวัดขอนแก่น”
พ.ศ. ๒๕๔๖ รับใบประกาศเกียรติคุณจากนายกเทศบาลนครขอนแก่น โดยการคัดเลือกแต่งตั้งจากเทศบาลนครขอนแก่นให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” ประจำจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๔๗ รับโล่รางวัลเชิดชูเกียรติจาก ฯพณฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยการคัดเลีอกแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวาระครบรอบ ๔๐ ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็น “สุดยอดศิลปินอีสาน”
พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้งเป็น “ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย สาขาศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน” (หมอลำ) ประจำจังหวัดขอนแก่น โดยการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษา
พ.ศ. ๒๕๔๙ รับใบประกาศเกียรติคุณ จากสำนักงานเลขานุการสภาผู้แทนราษฎร โดยการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งให้เป็น “สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ”
พ.ศ. ๒๕๕๐ รับใบประกาศเกียรติคุณจาก สภาร่างรัฐธรรมณูญ โดยการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งให้เป็น “คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ” ประจำจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๕๑ รับใบประกาศเกียรติคุณ จากคณะกรรมการมหาวิทยาลัยจังหวัดขอนแก่น โดยการคัดเลือกแต่งตั้งให้เป็น “กรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคประชาชน”
พ.ศ. ๒๕๕๒ รับเข็มเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โดยการพิจารณาคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น “ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น”
๙.๓ รางวัลจากการประกวดการแสดงหมอลำ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึงปัจจุบัน แม่ครูราตรีศรีวิไลได้รับถ้วยรางวัลมากมาย ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๑๓ รับถ้วยรางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากนายกเทศบาลจังหวัดขอนแก่น โดยการประกวดการแสดงพื้นบ้านประเภทหมอลำกลอน เนื่องในงาน “ประจำปีเทียนพรรษา” ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๒๙ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โดยการ ประกวดการแสดงพื้นบ้านประเภทหมอลำกลอน เนื่องในงาน “เทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ. ๒๕๒๙ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม โดยการประกวดบทกลอนลำ ประเภทหมอลำกลอนเนื่องในงาน “โครงการสารคามพัฒนา” ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ. ๒๕๓๐ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยการประกวดบทกลอนลำประเภทลำกลอน เนื่องในงาน “ ในโครงการ กสช.” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๒ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข
(นายชวน หลีกภัย) โดยการประกวดบทกลอนลำประเภทลำกลอน เนื่องในงาน “โครงการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๒ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข
(นายชวน หลีกภัย) โดยการประกวดการแสดงพื้นบ้านประเภทหมอลำกลอน เนื่องในงาน “โครงการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๒ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จาก ฯพณฯ ท่านพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ โดยการประกวดบทกลอนลำ ประเภทลำกลอน เนื่องในงาน “โครงการอีสานเขียว” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๒ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จาก ฯพณฯ ท่านพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ โดยการประกวดการแสดงพื้นบ้าน ประเภทหมอลำกลอน เนื่องในงาน “โครงการอีสานเขียว” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๓ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการ ประกวดบทกลอนลำ ประเภทลำกลอน เนื่องในงาน “อณุรักษ์-พิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๓ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโรยี โดยการประกวดการแสดงพื้นบ้าน ประเภทหมอลำกลอน เนื่องในงาน “อณุรักษ์-พิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๓ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยการ
ประกวดการแสดงพื้นบ้านประเภทหมอลำกลอน เนื่องในงาน “เทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๓๔ รับโล่รางวัลวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ จากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยการประกวดบทกลอนลำประเภทหมอลำกลอนใน “โครงการรณรงค์ต่อต้านมลพิษแม่น้ำพอง”
พ.ศ. ๒๕๓๖ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดมหาสารคาม โดยการประกวดการแสดงพื้นบ้านประเภทหมอลำกลอน และลำกลอนประยุกต์ เนื่องในงาน “อณุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมอีสาน” ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ จังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ. ๒๕๔๖ รับโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จาก ททท. โดยการเขียนบทกลอนลำประเภทหมอลำกลอน และลำกลอนประยุกต์ ให้ลูกศิษย์ประกวด เนื่องในงาน “รณรงค์ท่องเที่ยวทั่วอีสาน”
ความในใจของศิลปินพื้นบ้านหมอลำ
แม่ครูราตรีศรีวิไลได้คาดหวังไว้ว่าในอนาคตอันยาวไกลอยากเห็นความสำเร็จของชีวิตศิลปินพื้นบ้าน (หมอลำ) และการเรียนการสอนศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้านทุกแขนงทุกสาขา เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไปในทางสร้างสรรค์หรือทางบวก อาชีพศิลปินพื้นบ้านเป็นอาชีพที่สุจริตพร้อมกันนี้ยังได้สร้างความบันเทิงให้กับผู้อื่นและตนเองให้มีความสุข รวมทั้งเป็นการสร้างเสริมรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวรวมไปถึงการแบ่งเบาภาระของประเทศชาติบ้านเมืองโดยทางอ้อม จึงใคร่ขอวอนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ปลูกฝังจิตสำนึก โดยการมองเห็นความสำคัญและร่วมสร้างสรรค์ให้ศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) ได้มากด้วยคุณค่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยการหันมาสนใจศึกษาและสืบสานด้วยความรักและชื่นชม ร่วมใจอนุรักษ์มรดกไทย อันเป็นจิตวิญญาณของคนอีสานส่วนนี้ ให้ยืนยงคงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทย และเพื่อลูกหลานไทยเราจะได้จดจำจารึกเป็นประวัติศาสตร์และสืบทอดต่อไปชั่วกาลนาน
สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ สื่อต่าง ๆ ที่นำเอาบทบาทของศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) ไปเผยแพร่ ก็ใคร่ขอให้ช่วยสร้างสื่อในด้านแง่มุมที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่มองแต่มุมที่บกพร่องไปเผยแพร่เพื่อเป็นธุรกิจในการขายข่าวอย่างเดียว เพราะบทบาทการแสดงของศิลปินพื้นบ้านอีสานโดยเฉพาะ หมอลำ เป็นศิลปินที่โดดเด่นมีบทบาทเฉพาะตัวและต้องเป็นผู้มีความสามารถสูง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้ กว่าจะก้าวมาเป็นศิลปินหมอลำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ จะต้องใช้เวลา และใช้ความอดทนพยายามเป็นพิเศษ รวมทั้งพรสวรรค์ และพรแสวงด้วย เพราะฉะนั้นบทบาทการแสดง ของศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) จึงเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยากมากสำหรับผู้ไม่รู้แจ้ง ที่จะมองได้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของคำว่า “หมอลำ” และขอให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับวิถีชีวิตของศิลปินพื้นบ้านทุกแขนงทุกสาขา ได้เอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจังและจริงใจ เพราะว่าศิลปินรุ่นใหม่ส่วนมากยังเป็นผู้ด้อยโอกาสและขาดความรู้ ความเข้าใจในการเป็นศิลปินที่ถูกต้อง ถ้ามีงบประมาณจากส่วนใดส่วนหนึ่งที่คิดว่าพอจะช่วยศิลปินอีสานได้ ก็อยากจะใคร่ขอให้จัดสรรมาช่วยเหลือศิลปินอย่างเป็นทางการ โดยการจัดตั้งองค์กรหรือจัดการอบรมสัมนาแนะแนวทาง เพื่อการเรียนรู้สู่ทิศทางอันดีงามและความเหมาะสมของคำว่าศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ)
ท้ายสุดคาดหวังว่าในอนาคตอันยาวไกลจะได้เห็น ศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) และศิลปินทุกแขนงทุกสาขา เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จในชีวิตของการเป็นศิลปินอย่างมีประสิทธิภาพ คงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทยไปตลอดกาล และขอให้เป็นผลประโยชน์ไปถึงความ “สงบสุขของประเทศชาติบ้านเมือง” ของเรา
ผะหยาคำคมอีสาน
พี่น้องเอ้ย ความโบราณเพิ่นว่า
เซื้อซาติแฮ้งอย่าเหม็นสาบกุยกัน
เกิดมาเป็นคนไทย ให้ฮักแพงกันไว้
ใผเฮ็ดดีให้นำยู้ คอยซูย้องซ่อย
ใผบ่ดีให้ค่อยแกะค่อยไง้ ไขแก้ซ่อยกัน
คติประจำใจ
สืบสานสร้างสรรค์ แบ่งปันภูมิปัญญา
ให้ลูกหลานศึกษา เพื่อพัฒนาชาติบ้านเมือง
คำกลอนก่อนลา
อย่าให้ศิลปินดับไป พร้อมกับไฟแสงสี
โปรดได้มองศิลปะในแง่ดี เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์ศรีคู่ถิ่นไทย