มุมอีสานสนเทศ
ค้นหา:     ค้นหาขั้นสูง
เลือกดูตามหมวดหมู่:
English Version

การพัฒนาป่าชุมชนดงเค็งและหนองละเลิงเค็งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื้อหาบทความ

การพัฒนาป่าชุมชนดงเค็งและหนองละเลิงเค็งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แสดงผล: 408
ลงคะแนน: 0
วันที่สร้าง: 01 Feb, 2010
ผู้สร้าง : นายิกา N.
วันที่ปรับปรุง : 28 Dec, 2010
ผู้แก้ไขปรับปรุง : นายิกา N.

ที่มาและประวัติการก่อตั้งชุมชน/ เครือข่ายชุมชน
         จากคำบอกเล่าของพ่อวิไลสิทธิ์ สาตร์นอก พ่อสุ่ม เจริญ พ่อขาว เฉียบ แหลม ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น นายวิชัย เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนหลายคน ผู้ที่สะสมภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำด้านศาสนพิธีและพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชนบ้านดงเค็ง ตั้งแต่เกิดจนตายทำให้ทราบว่า ชุมชนบ้านดงเค็ง เป็นชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2410 โดยกลุ่มคนที่อพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทำมาค้าขายกับเมืองนครราชสีมา และใช้เป็นจุดพักแรมระหว่างเดินทางไปและกลับ  เพราะบริเวณนี้มีสภาพเป็นป่าดงดิบมีต้นเค็ง (ชื่อท้องถิ่น)  ขึ้นเป็นจำนวนมากและมีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ชื่อหนองละเลิงเค็งที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผู้ที่เดินทางผ่านไปมานิยมมาพักแรม ณ สถานที่แห่งนี้เพราะสามารถหาอาหารจากแหล่งน้ำและป่าได้สะดวก บางครั้งก็มีการเสียชีวิตระหว่างการเดินทางเพราะเป็นไข้ป่า  ดังจะเห็นได้จากโครงกระดูกและเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ชาวบ้านขุดพบในบริเวณใกล้หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการขุดพบกระดูกฟันของช้างจำนวนหนึ่ง  สันนิษฐานว่าในอดีตป่าแห่งนี้อาจจะมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ประเภทช้างอาศัยอยู่ด้วย    

ลักษณะชุมชน เครือข่ายชุมชน จำนวนสมาชิก อาชีพ
         ชุมชนบ้านดงเค็ง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วย ชุมชนบ้านหัวละเลิง หมู่ที่ 6 ชุมชนบ้านโนนม่วง หมู่ที่  7  ชุมชนบ้านดงเค็ง หมู่ที่  8 และชุมชนบ้านหนองดู่ หมู่ที่  9 รวมเป็นชุมชนเดียวกันอยู่ในเขตบริการวัดเดียวกัน โรงเรียนเดียวกัน ก่อนนี้เป็นตำบลหนองสองห้อง อำเภอหนองสองห้อง ตั้งเป็นตำบลดงเค็ง เมื่อปี พ.ศ. 2530 ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอหนองสองห้อง ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 7,000 เมตร  มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ตารางกิโลเมตร  มีหมู่บ้านในเขตตำบล จำนวน 13 หมู่บ้าน ประชากรปัจจุบัน พ.ศ. 2548 จำนวน 6,370 คน มีนายวิชัย เจริญ เป็นกำนัน มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ หนองละเลิงเค็ง  มีเนื้อที่ทั้งหมด 684 ไร่ มีป่าชุมชนที่คงความธรรมชาติที่สมบูรณ์ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ป่าโนนชาด ป่าโคกหนองจาน ป่าโคกหนองพลวง และป่าดอนปู่ตา นอกจากนี้ยังมีป่าช้าสาธารณะซึ่งอยู่ใกล้กับป่าโนนชาด  รวมพื้นที่ป่าทั้งสิ้นประมาณ 2,599 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำนาปีเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงโคเนื้อและทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริม

ชื่อโครงการ/ กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทรัพยากรป่าและทรัพยากรน้ำ
         เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ในชุมชนอย่างยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2538  ชุมชนบ้าน       ดงเค็งร่วมกับชุมชนทุกหมู่บ้านภายในเขตตำบลดงเค็ง ได้พร้อมใจกันจัดตั้งโครงการสร้างความเข้มแข็งสิ่งแวดล้อมตำบลดงเค็ง และกำหนดกรอบที่จะพัฒนาโดยศึกษาจุดอ่อนและจุดแข็งเพื่อนำมาพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้มีขีดความสามารถในการจัดให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ  เพื่อให้ชาวบ้านทุกคนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนชั่วลูกหลานในการพัฒนาป่าชุมชนและหนองน้ำละเลิงเค็ง ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพัฒนาใหญ่ ๆ คือ 
     1. จัดประชุมเสวนาปัญหาป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็ง ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนและสร้างความเสียหายมาก  ซึ่งสรุปปัญหาได้ดังนี้
         1.1 การบุกรุกป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ 
         1.2 การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งแบบไม่ประหยัด
         1.3 การตัดไม้ทำลายป่า
         1.4 การแข่งขันกัน ล่าสัตว์ป่า เก็บของป่า เก็บสมุนไพร  มาบริโภคในครอบครัวแล้วนำไปจำหน่ายที่ตลาดในตัวเมือง
     2. กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา  โดยการร่วมกันกำหนดกติกา  หรือสร้างมติสภาตำบลเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการอนุรักษ์ป่า   เพื่อไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า  ไม่แข่งขันกันล่าสัตว์ป่าและเก็บของป่าไปจำหน่าย
     3. สร้างแนวเขตป้องกันการบุกรุกหนองละเลิงเค็ง  โดยการสร้างถนนลูกรังและถนนคอนกรีตรอบ
หนองละเลิงเค็ง
     4. ปลูกป่าเสริม  และปลูกไม้โตเร็ว  เพื่อใช้งานสาธารณะประโยชน์แทนการตัดไม้ธรรมชาติจากป่า
     5. ส่งผลการดำเนินงานขอรับรางวัล
     6. จัดให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ  และภูมิปัญญาท้องถิ่นในอนาคตสืบไป

        ต่อมาในปี พ.ศ. 2548  ชาวบ้านในชุมชนมุ่งหวังที่จะพัฒนาป่าชุมชนโนนชาดและหนองละเลิงเค็งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และแก้ไขปัญหาความยากจน รวมทั้งจัดการป่าชุมชนให้เป็นอุทยานการเรียนรู้สมุนไพรโนนชาด  ผู้นำชุมชนจึงได้ร่วมกันวางแผนพัฒนาหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2548 โดยได้จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการเร่งด่วน พ.ศ. 2548-2549 และแผนกลยุทธ์ 5 ปี (พ.ศ. 2550-2554) พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  จำนวน16 คน ประกอบด้วย
        1. นายขาว  เฉียบแหลม  เป็น ประธานกรรมการ
        2. นายสมัย  พวงไธสง  เป็น รองประธานกรรมการ
        3. นายพันธ์  กุดนอก  เป็น เหรัญญิก
        4. นายปิยะดนัย  ศรีภูมิเดิม เป็น เหรัญญิก
        5. นางสังวาลย์  แก้วคูนอก    เป็น เหรัญญิก
        6. นายเทียม  ชนันไทย  เป็น กรรมการฝ่ายวางแผน
        7. นายประสิทธิ์  วิไล      เป็น     กรรมการฝ่ายวางแผน
        8. นายบุญศาล  ศรีสมบัติ  เป็น กรรมการฝ่ายวางแผน
        9. นางปริศนา  พฤกษาสิทธิ์  เป็น กรรมการฝ่ายวางแผน
      10. นายประสิทธิ์  ม่วงมนตรี เป็น กรรมการฝ่ายวางแผน
      11. นายบุญส่ง  เทพจิต  เป็น กรรมการฝ่ายวางแผน
      12. นางสมบัติ  เวียงสีมา  เป็น ประชาสัมพันธ์
      13. นายสังคม  นาดี  เป็น ประชาสัมพันธ์
      14. นายสมหมาย  นนยะโส เป็น ประชาสัมพันธ์
      15. นายหนูแดง  เอียมศรี  เป็น กรรมการและเลขานุการ
      16. นายสุภี  เจริญ  เป็น กรรมการและรองเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้  มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้
         1. บริหารจัดการ กำกับติดตาม ควบคุมดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการให้เป็นไปตาม
แผนพัฒนาหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
         2. ติดตามประเมินผลและรายงานความก้าวหน้าให้ชุมชนทราบเป็นระยะ
         3. จัดหาแหล่งทุนสนับสนุนโครงการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการ
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
         4. ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคราชการ ภาคประชาชน และองค์กรเอกชน

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการ/ กิจกรรมที่ทำ
         การสร้างความเข้มแข็งสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนในชุมชนบ้านดงเค็ง   เป็นการจัดการป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งแบบมีส่วนร่วม และเป็นการสืบสานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อจากการอนุรักษ์แบบดั้งเดิมตามภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวคือ ในยุคแรก ๆ ชุมชนได้ใช้กุศโลบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   โดยหาทำเลที่เหมาะมีลักษณะเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ใกล้ๆ กับชุมชน    แล้วลงหลักปักเขตพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งไว้  สร้างศาลหรือเรือนโรงให้เป็นที่อยู่อาศัยของผีบรรพชนที่เรียกว่า ”ผีปู่ตา” ซึ่งผีปู่ตาดังกล่าวจะช่วยดูแลรักษาต้นไม้  สัตว์ป่า และคอยปกปักช่วยเหลือผู้คนในหมู่บ้าน ในชุมชน ที่ปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรตามทำนองคลองธรรม   และคอยลงโทษผู้ที่ละเมิดหรือล่วงเกิน  ชาวบ้านดงเค็งเชื่อถือกันว่า ถ้าใครตัดต้นไม้หรือจับสัตว์ป่าในเขตของผีปู่ตาจะต้องมีอันเป็นไป  อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือถึงแก่ชีวิต  ถือว่าผีปู่ตาเป็นผู้พิทักษ์ป่าอย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อดังกล่าวในยุคสมัยนั้น ถือว่าศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายบ้านเมืองเสียอีก   ชุมชนบ้านดงเค็ง  ได้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งมาตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย   นั่นหมายความว่า  เมื่อคนในชุมชนคลอดลูกที  ปราชญ์ท้องถิ่น (หมอตำแย)  ก็จะเข้าป่าเก็บสมุนไพรมาใส่หม้อกรรม  เพื่อให้แม่ลูกอ่อน (ผู้ที่คลอดลูกใหม่) อยู่ไฟ  เมื่ออยู่สุขสบายก็สร้างที่อยู่อาศัย เข้าป่าหาอาหาร หาเชื้อเพลิงมาหุงต้ม   มาทำเป็นคบเพลิงส่องสว่างในเวลาวิกาล  เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยหมอชาวบ้าน  ก็เข้าป่าเก็บยาสมุนไพรมาทำการรักษาให้หายป่วย   แม้กระทั่งตายหรือเสียชีวิต  ชาวบ้านก็เข้าป่าหาฟืนมาเผาทำฌาปนกิจ จะเห็นได้ว่าชุมชนต้องพึ่งพาป่าเพื่ออยู่ยังชีพตั้งแต่เกิดจนตาย  จากป่าดอนปู่ตา  สู่ป่าผืนใหญ่ที่อยู่รอบนอกเขตดอนปู่ตา   จากการอนุรักษ์ป่าโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกกันว่า ”ผีปู่ตา”  สู่กติกาง่ายๆ ของชุมชนบ้านดงเค็ง  ที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นกฎกติกาของชาวบ้านไว้ว่า
         1. ผู้ใดละเมิดยิงสัตว์ป่าหรือนกที่อยู่ภายในเขตตำบลดงเค็งให้บาดเจ็บหรือตายหรือทำให้สัตว์ตกใจ
แตกตื่น  จะถูกลงโทษปรับ  500 บาท (กระสุนละ 500 บาท)
         2. ผู้ใดลักลอบตัดไม้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ  จะถูกลงโทษปรับต้นละ  500  บาท
         3. การเก็บหาไม้ฟืนจะกระทำได้เฉพาะไม้ที่แห้งหรือไม้ที่ตายและล้มแล้วเท่านั้น
         4. การเก็บหาอาหาร หรือสมุนไพร เช่น  เห็ด  หน่อไม้  ใบตองตึง  พืชสมุนไพรทุกชนิด  สามารถ
เก็บได้พอบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น
         จากกฎหมายชาวบ้านสั้น ๆ ในลักษณะนี้ นับได้ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก  สามารถลงโทษผู้กระทำผิดและปรับนำเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชน จนถึงปัจจุบันมีผู้กระทำผิดกฎหมายชาวบ้านเพียงจำนวน 18 รายเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก  นอกจากนี้ชาวบ้านได้จัดเวรยามดูแลรักษาป่าและป้องกันการบุกรุกทำลายป่าตลอดเวลา ทุกคนในหมู่บ้านจะคอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังมิให้มีการละเมิดอยู่เสมอ  

พื้นที่หรือขอบเขตพื้นที่การดำเนินงานโครงการ
         สถานที่ตั้ง  บ้านโนนชาด หมู่ที่  5  บ้านหัวละเลิง หมู่ที่ 6  บ้านโนนม่วง หมู่ที่ 7  บ้านดงเค็ง หมู่ที่  8  และบ้านหนองดู่ หมู่ที่  9 ตำบลดงเค็ง  อำเภอหนองสองห้อง  จังหวัดขอนแก่น  เป็นที่ตั้งของป่าชุมชนโนนชาดและหนองละเลิงเค็ง  สภาพพื้นที่ดั้งเดิมเป็นป่าเต็งรังขนาดใหญ่  มีพื้นที่ติดต่อกันหลายหมู่บ้าน  ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบจากการเดินสำรวจ ได้แก่  เต็ง รัง เหียง พลวง ตีนนก แดง ประดู่ ฯลฯ และป่าดิบแล้งอยู่ติดกับแหล่งน้ำชื่อหนองละเลิงเค็ง  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่  จังหวัดขอนแก่นกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพราะเป็นที่รวมของลำห้วยหลายสาย  ป่าชุมชนโนนชาดและหนองละเลิงเค็งจึงเป็นป่ารักษ์น้ำ  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากมาย โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ  สุนัขจิ้งจอก  งู  กระรอก  กระแต  กระต่าย  อีเห็น  ฯลฯ  รวมพื้นที่ทั้งหมด  จำนวน  2,599  ไร่  มีเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับเป็นที่สาธารณะประโยชน์
         อาณาเขตติดต่อ   ทิศเหนือ   จดชุมชนบ้านดงเค็ง  อำเภอหนองสองห้อง  จังหวัดขอนแก่น   ทิศใต้  จดชุมชนบ้านโนนชาด  ตำบลดงเค็ง  อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ทิศตะวันออก จดชุมชนบ้านหนองพลวง ตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น  ทิศตะวันตก  จดลำห้วยแอก  ติดเขตจังหวัดนครราชสีมา

วิธีดำเนินงานของโครงการหรือกิจกรรมที่ทำ
         การดำเนินงานของโครงการและกิจกรรม   เน้นการจัดการป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งอย่างมีส่วนร่วม  เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน  บนพื้นฐานของความจำเป็นในชุมชน  เพราะชุมชนอยู่กับป่าและอาศัยป่ามาตั้งแต่เกิดจนตายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วมนี้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน หากคนในชุมชนอยู่ยังชีพร่วมกับป่าไม่สะดวก ก็จะตัดข้อห้ามนั้นทิ้งไป  จะไม่นำมาใช้เป็นข้อห้าม  หรือถ้าจะใช้ก็ให้ใช้แบบมีการทดแทน เช่น  ให้นำสัตว์เลี้ยง  เช่น วัว ควาย เข้าเลี้ยงในป่าได้  เพราะจะได้อาศัยมูลสัตว์เป็นปุ๋ยให้แก่ป่าและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงกุดจี่ด้วย (แมลงชนิดหนึ่งที่ชาวอีสานนำมาเป็นอาหาร) ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าแต่พอจำเป็นในครัวเรือน ห้ามจำหน่าย จ่าย  แจก  
ชุมชนให้ความร่วมมือกับสำนักงานป่าไม้ สถานศึกษา สถานีอนามัย และองค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง ร่วมกันปลูกไม้โตเร็ว  และปลูกไม้ที่เพาะจากพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นทดแทนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม  พร้อมกันนี้ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง  ชื่อ ”คณะกรรมการรักษาป่า”  โดยรับอาสาสมัครจากบุคคลที่มีความรักป่าและเสียสละอย่างแท้จริง หมู่บ้านละ 3 คน มีหน้าที่ตรวจดูแลป่า ป้องกันไฟป่า รายงานการบุกรุกทำลายป่าและการล่าสัตว์ป่า และอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย 
         ปี  พ.ศ. 2538 ได้มีมติสภาตำบลดงเค็งว่าด้วยการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า    กติกานี้เป็นที่ยอมรับของชุมชนทั่วไปทั้งอำเภอหนองสองห้อง และมีการรณรงค์ปลูกป่าเสริมและจัดกิจกรรมวันคืนชีวิตให้ธรรมชาติและสัตว์ป่า  โดยการประกาศรับมอบเครื่องมือตัดไม้ทำลายป่าและเครื่องมือจับสัตว์ทุกชนิด   ซึ่งเมื่อสภาตำบลยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง  เมื่อวันที่ 23  กุมภาพันธ์ 2540 แล้ว  และต่อมาได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง มติของสภาตำบลดงเค็ง ว่าด้วย การอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า พ.ศ. 2538 จึงได้กำหนดใหม่เป็น ข้อบังคับตำบล ว่าด้วย การอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ซากสัตว์ ผลผลิตจากป่า พ.ศ. 2544 ซึ่งยังคงใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
         ปี พ.ศ. 2539 ป่าชุมชนโนนชาด ป่าชุมชนโคกหนองจาน และป่าชุมชนโคกหนองพลวง ได้รับการคัดเลือกจากอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นป่าชุมชนที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ได้รับพระราชทานธง ”พิทักษ์ป่า  เพื่อรักษาชีวิต”  จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ พระบรมราชินีนาถ  ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนครนิเวศน์  และใน
ปี พ.ศ. 2540  ก็ได้รับพระราชทานธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต ซ้ำอีกติดต่อกันสองปีซ้อน ยังความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดของชาวดงเค็งตราบจนทุกวันนี้
         ปี  พ.ศ. 2541  องค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง  ได้คัดเลือกราษฎรในพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ใกล้เคียงกับป่าชุมชน  เข้ารับการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ซึ่งจังหวัดขอนแก่นจัดร่วมกับฝ่ายทหารที่สถานีป้องกันไฟป่า  ตำบลนาหนองทุ่ม  อำเภอชุมแพจังหวัดขอนแก่น   รวม  50  คน   คือ
         1. ผู้นำชุมชนบ้านโนนชาด    ตำบลดงเค็ง จำนวน  15  คน
         2. ผู้นำชุมชนบ้านหัวละเลิง ตำบลดงเค็ง จำนวน  10  คน
         3. ผู้นำชุมชนบ้านหนองดู่  ตำบลดงเค็ง จำนวน  20  คน
         4. ผู้นำชุมชนบ้านโนนม่วง ตำบลดงเค็ง จำนวน    8  คน
         5. ผู้นำชุมชนบ้านดงเค็ง  ตำบลดงเค็ง จำนวน    7  คน
         ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม รสทป. จำนวน 50 คนนี้ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับพระราชทานผ้าผูกคอ  และเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็ง หลังจากนั้นได้จัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครป้องกันไฟป่าประจำหมู่บ้านอีก กล่าวคือ
         ปี พ.ศ. 2543 องค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง ร่วมกับสำนักงานป่าไม้อำเภอหนองสองห้องจัดฝึก อบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่าประจำหมู่บ้านขึ้น 1 รุ่น จำนวน 30 คน โดยใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง เป็นจำนวนเงิน 22,250 บาท จัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า 1 ชุด ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากศูนย์ควบคุมป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ 2 จังหวัดขอนแก่น สำนักงานป่าไม้จังหวัดขอนแก่น หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ขก.6 (แวงใหญ่) ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรในชุมชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และตระหนักถึงผลเสียหายจากการเกิดจากไฟป่า  ราษฎรที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการดับไฟป่าหลายครั้ง

กิจกรรมเด่น ปี พ.ศ. 2540-2548
         ปี พ.ศ. 2540  
         1. ผู้นำชุมชน คณะกรรมการรักษาป่า และราษฎรบ้านโนนชาด  ได้ร่วมกันปลูกป่าชุมชนบริเวณพื้นที่
ว่างเปล่า เนื้อที่ 20 ไร่ โดยปลูกไม้โตเร็ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน และเมื่อไม้โตขึ้นจะได้นำไปใช้สาธารณะประโยชน์  ไม่ต้องไปตัดไม้จากธรรมชาติ 
         2. ผู้นำชุมชนพร้อมด้วยราษฎรบ้านหัวละเลิงและองค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง ร่วมกับสำนักงาน
สิ่งแวดล้อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลกที่หนองละเลิงเค็ง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2540  โดย ฯพณฯ อดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีกิจกรรมปลูกหญ้าแฝกและต้นไม้ ในเนื้อที่ 10 ไร่
         3. ผู้นำชุมชนร่วมด้วยคณะกรรมการรักษาป่า  ได้ต้อนรับและนำคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวง
เกษตรเวียดนาม จำนวน 11 นาย ศึกษาดูงานการจัดการป่าชุมชนโนนชาดและหนองละเลิงเค็ง ผลเป็นที่น่าพอใจของคณะเจ้าหน้าที่จากประเทศเวียดนาม
         4. วันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 ผู้นำชุมชน ได้นำราษฎรตำบลดงเค็งมอบเครื่องมือจับสัตว์และเครื่องมือ
อุปกรณ์ตัดไม้ทำลายป่า รวม 55 คน ให้แก่รองแม่ทัพภาคที่ 2 และคณะฯ  เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ พระบรมราชินีนาถ  โดยจะลด – ละ – เลิก การล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร
         ปี  พ.ศ. 2541
         วันที่ 14 มกราคม 2541  เป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ ผู้นำชุมชนพร้อมด้วยคณะกรรมการ
รักษาป่าได้อัญเชิญธงพระราชทาน ”พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ไปร่วมงานวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ  ที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดขอนแก่น  และรับโล่เกียรติยศ
         วันที่ 27 พฤษภาคม 2541 ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการรักษาป่า ได้ออกลาดตระเวนรอบหนอง
ละเลิงเค็ง ตรวจพบนกเป็ดน้ำซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตายเป็นจำนวนมาก จึงได้นำซากนกเป็ดน้ำจำนวน 7 ตัว  ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ผลปรากฏว่ามีสารพิษไม่ทราบชนิดในกระเพาะอาหารของนกเป็ดน้ำทั้ง 7 ตัว  ผู้นำชุมชนจึงได้ประกาศให้ราษฎรทราบโดยทั่วถึงกันเพื่อร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
         วันที่ 13 มิถุนายน 2541 องค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง ได้คัดเลือกราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้ป่า
ชุมชน จำนวน 50 คน เข้ารับการฝึกอบรม รสทป. ที่สถานีควบคุมไฟป่า ตำบลบ้านทุ่ม จังหวัดขอนแก่น และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น 
         วันที่ 12 สิงหาคม 2541 ผู้นำชุมชนพร้อมด้วยสมาชิก รสทป. ได้อัญเชิญธง ”พิทักษ์ป่า เพื่อรักษา
ชีวิต” ไปร่วมพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่หอประชุมอำเภอหนองสองห้อง

         ปี  พ.ศ. 2542
         ผู้นำชุมชน ได้นำราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 30 คน อัญเชิญธงพระราชทาน ”พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ไปร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  กิจกรรมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงลาน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยมีอธิบดีกรมป่าไม้เป็นประธาน มีพลังมวลชนจำนวนมากไปร่วมด้วย

          ปี  พ.ศ. 2547
          ด้วยแรงผลักดันของผู้นำชุมชนดงเค็ง และอำเภอหนองสองห้อง ชุมชนดงเค็งจึงได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวนเงิน 9,000,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างถนนคอนกรีตรอบหนองละเลิงเค็ง เป็นระยะทาง 6,000 เมตร

          ปี พ.ศ. 2548
          สืบเนื่องจากความแห้งแล้งและสภาพของดินในท้องถิ่นเป็นดินเค็ม ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนตามมา  เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ชุมชนได้เกิดความคิดที่จะพัฒนาหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศขึ้น  โดยมีคณะอาจารย์และบุคลากรจากโครงการพัฒนาอำเภอหนองสองห้องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษา

โครงการความร่วมมือและประสานงานกับองค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ  ดังนี้
         การดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าของชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2548 ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย  ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้ติดต่อประสานงานกับศูนย์เพาะกล้าไม้จังหวัดขอนแก่น สนับสนุนกล้าไม้ที่ใช้ปลูกป่าเสริม องค์การบริหารส่วนตำบลดงเค็ง ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมต่างๆ และประกาศใช้ข้อบังคับตำบล ว่าด้วย การอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ซากสัตว์ และผลผลิตจากป่า พ.ศ. 2544 สถานีอนามัยประจำตำบลดงเค็ง ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมปลูกป่าและจัดกิจกรรมวันสำคัญเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลดงเค็ง สนับสนุนกล้าไม้ แนะนำเกษตรกรปลูกพืชที่ได้ทั้งผลผลิตและเพิ่มพื้นที่ป่า ฝ่ายปกครองอำเภอหนองสองห้อง  ช่วยสนับสนุนงบประมาณพัฒนาส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นเพื่อสร้างแนวเขตรักษาป่าและปลูกป่าทดแทนโดยใช้ไม้ยูคาลิปตัสซึ่งเป็นไม้โตเร็ว เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ในกิจการสาธารณะประโยชน์ จะได้ไม่ไปตัดไม้จากป่าธรรมชาติ ป่าไม้อำเภอหนองสองห้อง จัดประชุมเสวนาเชิญชวนชาวบ้านในชุมชนรวมพลังปลูกป่า ให้มีความรักป่า พาผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงาน แล้วนำมาประยุกต์ใช้ ให้มีการใช้ป่าอย่างประหยัดและฉลาดในการใช้ป่า   ป่าไม้จังหวัดขอนแก่น ป่าไม้เขต สนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาต้นไม้ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ป่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ประมงอำเภอและประมงจังหวัดขอนแก่นสนับสนุนพันธุ์ปลานำมาปล่อยในหนองละเลิงเค็ง   เพื่อเพิ่มจำนวนปลาให้เพียงพอต่อการบริโภคในชุมชน อบรมให้ความรู้ในการเลี้ยงปลาโตเร็ว  แล้วนำไปเลี้ยงในนาข้าว เพื่อบริโภคในครัวเรือน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 6 ขอนแก่น ให้คำแนะนำในการจัดทำป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สนับสนุนด้านการบริการวิชาการแก่สังคม โดยได้จัดโครงการพัฒนาอำเภอหนองสองห้องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  มีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาให้ความรู้ด้านวิชาการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาและการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ผลที่ได้รับจากโครงการหรือกิจกรรมที่ทำ
         ช่วงเวลาหนึ่งก่อนดำเนินการอนุรักษ์อย่างเป็นทางการ ป่าชุมชนทั้งสี่แห่งและหนองละเลิงเค็งได้ถูกราษฎรในชุมชนบุกรุกทำลาย โดยเฉพาะผู้ที่มีที่ทำกินติดกับป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็ง จะแผ้วถางรุกเข้าไปทุกปี ๆ  ต้นไม้ขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปีชาวบ้านก็โค่นล้มเพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย เกิดการแย่งชิงสิ่งของกันโดยไม่เกรงกลัวใครทั้งนั้น บรรดานักบริโภคทั้งหลายก็นิยมเปิบอาหารพิสดารราวกับว่าเป็นอาหารวิเศษจากสวรรค์ จึงเกิดการล่าสัตว์ป่าเพื่อจำหน่ายที่ตลาดในตัวเมืองและตามร้านอาหารเป็นกิจวัตร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและน่าเป็นห่วง  ด้วยแรงใจและศรัทธาของชาวบ้านผู้มีจิตวิญญาณรักษาป่าและสัตว์ป่า   โดยการนำของผู้นำชุมชน จึงได้จัดเสวนาปัญหาป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา แล้วดำเนินการทั้งผลักทั้งดัน พัฒนาเสริมสร้างทุกวิถีทางตามกำลังความสามารถที่มี จนผืนป่ากลับคืนสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
จากผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งอย่างต่อเนื่อง ทำให้การอนุรักษ์ป่าเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางถึงต่างจังหวัดและต่างประเทศ การเพิ่มจำนวนประชากรของสัตว์ป่าและนกนานาชนิดอย่างมากมาย นับได้ว่าเป็นเครื่องการันตีในความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้แล้ว  ยิ่งไปกว่านั้นคือการได้รับพระราชทานธง  ”พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ พระบรมราชินีนาถ  ยังความปีติยินดีมาสู่ประชาชนตำบลดงเค็งทุกถ้วนหน้า และถือเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของชาวอำเภอหนองสองห้อง   โดยเฉพาะตำบลดงเค็งด้วย ปัจจุบันนี้การอนุรักษ์ป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็ง การอนุรักษ์สัตว์ป่าของคนในชุมชนถือว่าเป็นกิจนิสัยกว่าร้อยละ 96 
         ปี พ.ศ. 2541  ผู้นำชุมชนได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทาน ”เข็มพิทักษ์ป่า  เพื่อรักษาชีวิต”  โดยพิจารณาจากผลงานดีเด่นที่ดูแลรักษาป่าและแหล่งน้ำธรรมชาติ  ได้แก่ 
              1. นายวิชัย    เจริญ         กำนันตำบลดงเค็ง
              2. นายทวี    นาบุญสูง      ผู้ใหญ่บ้านโนนชาด   หมู่ที่  5
              3. นายเยี่ยม   เชียงเครือ     ผู้ใหญ่บ้านหนองดู่   หมู่ที่  9
         และในปี พ.ศ. 2548  นายวิชัย  เจริญ   ได้รับการคัดเลือกจากกรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย
ให้เป็นกำนันยอดเยี่ยม ประจำปี 2548

ผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือรับแนวคิดจากโครงการหรือกิจกรรมไปปฏิบัติ
         ราษฎรในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งของตนเอง และมีกิจนิสัยรักป่า รักน้ำและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างมีจิตสำนึก  ทุกคนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและมองเห็นผลกระทบและความเดือดร้อนเมื่อป่าและน้ำเสื่อมลง  ชุมชนได้สภาพป่าและหนองละเลิงเค็งในอดีตกลับคืนมาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีกุ้ง หอย ปู ปลา พืชผัก สมุนไพร โดยเฉพาะเห็ดธรรมชาติ  เป็นอาหารโปรตีนชั้นเยี่ยมของคนในชุมชน
 ชุมชนมีความภาคภูมิใจ ในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ พระบรมราชินีนาถ  ที่ทรงประทานกำลังใจให้ชาวตำบลดงเค็ง ชาวตำบลดงเค็งพร้อมที่จะกระทำความดี ด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นป่าชุมชน สัตว์ป่า และหนองละเลิงเค็ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ตลอดไป

ปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไข
         จากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนพบว่าปัญหาหลัก ๆ มีดังนี้
         1. ปัญหาการบุกรุกป่าชุมชน ปัญหานี้หากจะแก้ไขต้องลงทุนสูง ชุมชนไม่มีแหล่งเงินสนับสนุนเพียงพอที่จะสร้างแนวเขตป้องกันการบุกรุกป่า ด้วยการสร้างถนนหรือขุดลอกลำห้วยล้อมรอบแนวป่า ถ้าสามารถกระทำได้จะแก้ปัญหาบุกรุกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาการบุกรุกหนองละเลิงเค็งโดยการปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับคนในท้องถิ่น และได้สร้างถนนลูกรังและถนนคอนกรีตได้ผลมาแล้ว
         2. ปัญหาการขาดแหล่งเงินสนับสนุนในการจัดโซนพัฒนาหนองละเลิงเค็ง โดยการขุดลอกให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอต่อการเกษตรและการประปาชุมชน   ถ้ามีงบประมาณในการจัดโซนและขุดลอกหนองละเลิงเค็งให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ ปัญหานี้ก็จะหมดไป  
         3. ถนนที่เชื่อมต่อกับป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็ง  ที่เป็นเส้นทางหลักอีกหลายกิโลเมตรยังเป็นถนนลูกรังเป็นหลุมบ่อไม่สะดวกต่อการสัญจรไปมา  หากได้รับการแก้ไขให้เป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทางสายหลัก ตำบลดงเค็งก็จะมีความพร้อมในการพัฒนาสู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้

แผนงานในอนาคต
         จากการอนุรักษ์ป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  คณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชน ชุดปัจจุบันซึ่งมาจากการคัดเลือกของชุมชนในคราวจัดเสวนาประชาคมหมู่บ้านทั้ง 13 หมู่ในตำบลดงเค็ง ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น   และได้ร่วมเสวนาจัดทำแผนกลยุทธ์พัฒนาหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศขึ้น  เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการบรรลุเป้าหมายในระยะเวลา 5  ปี  คือปีงบประมาณ 2550 – 2554 จึงได้กำหนดแผนกลยุทธ์  ดังนี้  
         1. อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
              1.1 จัดโซนพัฒนาหนองละเลิงเค็ง
              1.2 ปลูกต้นไม้รอบหนองละเลิงเค็ง
         2. ปรับปรุงหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาด  ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามมาตรฐานการ
ท่องเที่ยว
         3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
         4. ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
         5. ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มธุรกิจชุมชนในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
         6. อนุรักษ์  ฟื้นฟู  ส่งเสริม  ทำนุบำรุงศาสนา  ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในท้องถิ่น
         7. ป้องกันอุบัติภัยและรักษาความปลอดภัยของชุมชนและนักท่องเที่ยว
แหล่งเงินทุนสนับสนุนและการบริหารจัดการแหล่งเงินทุนสนับสนุน
        ในปี พ.ศ. 2535 ชุมชนได้รับงบพัฒนาส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น จากอำเภอหนองสองห้อง จำนวน 150,000 บาท จึงได้ล้อมป่าชุมชนโนนชาด ซึ่งเป็นป่าที่สมบูรณ์หนึ่งในสี่ของป่าชุมชน โดยใช้เสาปูนและลวดหนาม แต่เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด จึงล้อมได้เพียง 495 ไร่ ส่วนที่เหลือได้ดำเนินการรักษาป่าดั้งเดิมที่มีอยู่ไม่ให้บุกรุก
         ในปี พ.ศ. 2538 ได้รับงบพัฒนาจากอำเภอหนองสองห้อง เพื่อสร้างแนวเขตป้องกันการบุกรุกหนองละเลิงเค็ง โดยการสร้างถนนลูกรังรอบหนองละเลิงเค็ง ระยะทาง 7,000 เมตร เป็นเงิน 11,500,000 บาท
         ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับเงินสนับสนุนสร้างถนนคอนกรีตรอบหนองละเลิงเค็งเป็นระยะทาง 6,000   เมตร เป็นเงิน 9,000,000 บาท (เก้าล้านบาทถ้วน)
สำหรับการบริหารจัดการแหล่งเงินทุนสนับสนุนชุมชนได้ใช้หลักการบริหารแบบทุกคนมีส่วนร่วม   
         ผลจากการอนุรักษ์ป่าชุมชนทั้งสี่แห่งและหนองละเลิงเค็งที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนดงเค็งและหมู่บ้านทุกหมู่ในตำบลดงเค็ง ในการร่วมมือกันฟื้นฟูผืนป่าและหนองละเลิงเค็ง  ซึ่งนอกจากจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับอีกหลาย ๆ ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว  พื้นที่ป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งยังเป็นพื้นที่ดำเนินงานของโครงการจัดตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมของสถานศึกษาในท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งสิ่งแวดล้อมศึกษาในประเทศไทยอีกด้วย วันใดก็ตามที่ป่าชุมชนทั้งสี่แห่งและหนองละเลิงเค็งของตำบลดงเค็ง ได้รับการจัดให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ของเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป ป่าชุมชนและหนองน้ำแห่งนี้ก็จะกลายเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติ ที่เยาวชนและผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ได้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งจะทำให้ผู้ใฝ่เรียนรู้ทั้งหลายได้ค้นพบของดี ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งแห่งนี้   ของดีที่ค้นพบนี้ล้วนเป็นของดีแห่งป่าชุมชนและหนองละเลิงเค็งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านดงเค็ง ในการที่ได้พิทักษ์รักษาสมบัติของชุมชนที่ธรรมชาติมอบให้ ไว้ให้คงอยู่ในชุมชนตลอดไปตราบชั่วลูกหลาน อันจะนำไปสู่การรักและหวงแหนผืนป่าและหนองละเลิงเค็งแห่งนี้อย่างยั่งยืนตลอดไป

บรรณานุกรม

ขาว  เฉียบแหลม.  สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2550
วิชัย เจริญ.  สัมภาษณ์วันที่ 2 ตุลาคม 2550
วิไลสิทธิ์ สารทนอก.  สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และวันที่ 8 กันยายน 2550
สุ่ม เจริญ.  สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2548



ลิขสิทธิ์ © 2012 สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม
หมวดหมู่อื่น ๆ
document การพัฒนาอุทยานการเรียนรู้สมุนไพรและนกหนองละเลิงเค็งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
document รายงานการวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบความหลากหลายทางชีวภาพของนกในป่าธรรมชาติและสวนป ่า
document ผลการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาเรื่องวิถีชีวิตพอเพียงอย่างยั่งยืนของเกษตรกรด้วยการจ ัดการป่าฟื้นฟูบนที่นาตามภูมิปัญญาในเขตกึ่งแห้งแล้ง
document การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ศึกษาเฉพาะกรณีสวนรุกชาติน้ำตกธารทอง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
document การสำรวจชนิดพรรณไม้ยืนต้นบริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิตจังหวัดชัยภูมิเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
document การเสริมศักยภาพผู้นำชุมชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยกระบวนการเรียนรู้ : บทเรียนจากชุมชนดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
document กระบวนการบริหารและผลสัมฤทธิ์ในการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคตะวันออกเฉียงเ หนือ
document การสำรวจชนิดพรรณไม้ยืนต้นบริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิตจังหวัดชัยภูมิเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
document ปัจจัยทางการบริหารที่มีผลต่อการจัดการป่าชุมชนของคณะกรรมการป่าชุมชนในพื้นที่สำนัก งานป่าไม้เขตขอนแก่น
document ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแ วดล้อมขององค์การบริหารส่วนตำบล : ศึกษาเฉพาะจังหวัดขอนแก่น
document รายงานการวิจัยการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรณีศึกษา: การตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงมูล
document รายงานการวิจัยเรื่องกลุ่มสังคมในชุมชนป่าไม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
document รายงานการวิจัยเรื่องการจัดการป่าชุมชนโดยองค์กรท้องถิ่น
document รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศและการพึ่งพิงป่า บริเวณเทือกเขาในเขตอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
document รายงานการวิจัยโครงการการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาต ิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
document รายงานการศึกษาเรื่องการวางแผนพัฒนาพื้นที่เทือกเขาหินปูน อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
document โครงการวิจัยเรื่องการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดย องค์กรของชุมชน กรณีศึกษา 1 ศาลปู่ตาของบ้านหว้าน ต.หว้านคำ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
document การพัฒนาป่าชุมชนอีสาน
document รายงานการวิจัยเรื่องบทบาทของชุมชนต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงในชุมชนชนบทอีสาน : กรณีศึกษา
document การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชนบ้านฝาง อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่นในการอนุรักษ์ป่าชุมชน
document กระบวนการอนุรักษ์แม่น้ำชีโดยชุมชนท้องถิ่น กรณีศึกษา: ตำบลบึงสำโรง อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา
document การจัดการป่าชุมชนขององค์กรท้องถิ่น : กรณีศึกษาหมู่บ้านในเขตลุ่มน้ำห้วยทราย จังหวัดขอนแก่น
document การบริหารจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชน: กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนรัง อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
document การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของหมู่บ้านรอบแนวเขตอุตยานแห่ง ชาติภูพาน
document การศึกษาความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
document ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำขนาดเล็ก : กรณีศึกษาฝายบ้านวังสวาบ ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
document ระดับการพึ่งพิงของป่ากับเศรษฐกิจครัวเรือนและความสัมพันธ์ทางสังคมของราษฎรบ้านหนอง แซง ตำบลนาตาล อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
document ทุนทางวัฒนธรรมกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้: ศึกษากรณีชุมชนป่าสะแข ตำบลอิปุ่ม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
document การมีส่วนร่วมของประชาชนลาวในการดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินและมอบดินมอบป่า : กรณีศึกษาโครงการวางแผนการใช้ที่ดินและมอบดินมอบป่าในเขตเมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงเงินและเมืองนาน แขวงหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
document การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ศึกษาเฉพาะกรณี = สวนรุกชาติน้ำตกธารทอง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
document สวนสัตว์ขอนแก่น (สวนสัตว์เขาสวนกวาง)
document การผลิตทางใบปาล์มน้ำมันหมักและการใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงโคเนื้อ
document การพัฒนาพื้นที่และความหมายทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา



RSS