มุมอีสานสนเทศ

ส่งอีเมลไปให้เพื่อน
* ชื่อของคุณ:
* อีเมลของคุณ:
* อีเมลล์ของเพื่อน:
ความคิดเห็น:


วรรณกรรมอีสาน เนื้อหาบทความ

วรรณกรรมอีสาน

ภาคอีสานเป็นภาคที่มีประชากรหลายวัฒนธรรม ซึ่งแบ่งตามภาษาพูดได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว กลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย) และกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช หรือไทยเบิ้ง ทั้งสามกลุ่มนี้มีภาษาพูด ตัวอักษรที่ใช้ในประชาคมแตกต่างกันไป นั่นคือ กลุ่มไทย-ลาวใช้ภาษาถิ่นอีสาน ใช้อักษรธรรม (อักษรสกุลอักษรมอญ) และอักษรไทยน้อย (อักษรสกุลพ่อขุนรามคำแหง) ส่วนวรรณกรรมนั้นมีรูปแบบและเนื้อหาเหมือนวรรณกรรมในล้านช้าง (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน) กลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย) ใช้ภาษาเขมร อักษรขอม ส่วนพวกส่วย (กูย) นั้น ไม่มีอักษรของตนเอง กลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช ใช้ภาษาถิ่นภาคกลาง มีสำเนียงเหน่อเพี้ยนบ้าง ใช้อักษรไทยและอักษรขอมเหมือนกับภาคกลาง

วรรณกรรมอีสาน ส่วนใหญ่จะหมายถึงวรรณกรรมของกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่มากกว่า ๒ ใน ๓ ของประชากรในภาคอีสาน นอกจากนี้จารีตประเพณีของชาวไทย-ลาว ที่เรียกว่า "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" นั้น ยังมีอิทธิพลต่อชาวอีสานที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันไปอีกด้วย โดยเฉพาะวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานจำนวนมากได้แพร่กระจายไปยังกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย) และกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช แต่กระนั้นก็ตามกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วยและไทยโคราชก็มีวรรณกรรมของตนเองจำนวนหนึ่ง เรียกชื่อว่า "วรรณกรรมเขมร" และ "วรรณกรรมโคราช" ตามลำดับ วรรณกรรมอีสานที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นวรรณกรรมของกลุ่มวัฒนธรรมไทย-อีสาน ดังต่อไปนี้

๑. การสืบทอดวัฒนธรรมทางวรรณกรรมและตัวอักษรของประชาคมอีสาน

     กลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาวได้สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับประชาคมในอาณาจักรล้านช้างมาตั้งแต่สมัยอดีต ฉะนั้นจึงมีลักษณะร่วมกันอยู่มากทางด้านวรรณกรรม ตัวอักษร ตลอดจนภาษาพูด เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าภาษาถิ่นอีสานกับภาษาลาวคล้ายคลึงกันมากจนเกือบจะเป็นภาษาเดียวกัน ต่างกันที่สำเนียงการพูดที่ผิดเพี้ยนกันไปเท่านั้น

      ในการสืบทอดวัฒนธรรมทางวรรณกรรมและตัวอักษรนั้น พบว่า อาณาจักรล้านช้างได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ในสมัยราชวงศ์มังราย และได้เคยมีการสืบทอดวัฒนธรรมจากล้านนาไปล้านช้าง ดังปรากฎหลักฐานในพงสาวดารล้านช้างและพงศาวดารโยนก ได้กล่าวตรงกันว่า ในสมัยพระเจ้าโพธิสารราชแห่งล้านช้าง (พ.ศ. ๒๐๖๓-๒๐๙๓) ได้ส่งราชทูตมาขอพระไตรปิฎก ๖๐ คัมภีร์ไปล้านช้าง และพระเทพมงคลเถระพร้อมทั้งบริวารจากล้านนา (เชียงใหม่) สมัยพระเมืองแก้วได้ไปเผยแพร่พระธรรมในราชอาณาจักล้านช้างใน พ.ศ. ๒๐๖๖ ซึ่งในครั้งนั้นวรรณกรรมพุทธศาสนาของล้านนาเจริญรุ่งเรืองมาก วรรณกรรมเหล่านั้นได้ถูกนำเข้าไปเผยแพร่ในราชอาณาจักรล้านช้างด้วย รวมทั้งในแพร่กระจายในดินแดนของภาคอีสาน ดังนั้นจึงพบว่าวรรณกรรมอีสานจำนวนมากมีเนื้อหาคล้ายกับวรรณกรรมภาคเหนือ เช่น จำปาสี่ต้น นางผมหอม สินไซ และลิ้นทอง เป็นต้น ขณะเดียวกันตัวอักษรที่ใช้ในภาคอีสานมีรูปแบบคล้ายคลึงกับตัวอัการยวนและอักษรฝักขามของภาคเหนือ ซึ่งน่าจะวิวัฒนาการมาจากอักษรภาคเหนือ ที่เข้าไปสู่อาณาจักรล้านช้างพร้อมกับคัมภีร์พุทธศาสนาในครั้งนั้นด้วย และได้มีวิวัฒนาการต่อมาในประชาคมของตน จึงพบว่ารูปแบบรูปแบบของตัวอักษรต่างไปจากเดิม ที่เป็นอักษรธรรมและอักษรไทยน้อย ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับอักษรลาวในปัจจุบัน ซึ่งอักษรทั้งสองนี้ได้หมดความสำคัญต่อประชาคมอีสานเมื่อมีการใช้ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยคนรุ่นหลังได้ใช้อักษรไทยตามระบบโรงเรียน

๒. เอกสารใบลานอีสานด้านวรรณกรรม

     วรรณกรรมอีสานมีจำนวนมาก ทั้งจำนวนเรื่องและสำนวน บางเรื่องอาจมีทั้งสำนวนกลอนลำที่แต่งเป็นโคลงสาร และสำนวนเทศน์ที่แต่งเป็น ฮ่าย (คล้ายร่ายยาว)  การจัดประเภทวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานไม่นิยมยึดรูปแบบของฉันลักษณ์เป็นเกณฑ์ แต่ให้ความสำคัญกับการเสนอเนื้อหาสาระมากกว่า เพราะวรรณกรรมอีสานจะประพันธ์เป็นโคลงสาร หรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่าเป็นกลอนลำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการจัดประเภทของวรรณกรรมอีสานจึงจัดตามเนื้อหาสาระของวรรณกรรม เช่น วรรณกรรมพุทธศาสนา  วรรณกรรมประวัติศาสตร์  ตำนาน นิทาน คำสอน และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

     ๒.๑ วรรณกรรมพุทธศาสนา  ได้แก่

             ๒.๑.๑ วรรณกรรมชาดกนิบาต หรือชาดกนอกนิบาต ดำเนินเรื่องตามแบบการประพันธ์ชาดก ซึ่งมักจะมี ปรารภชาดก ที่กล่าวท้าวความว่าาเป็นเรื่องที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า อดีตชาติของพระพุทธองคืที่ต้องประสูติมาเพื่อใช้หนี้กรรมและบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ ประชุมชาดก และมีคาถาบาลีแทรกอยู่ทั่วไป

            ๒.๑.๒ วรรณกรรมตำนานพุทธศาสนา  ได้แก่ ประวัติการสืบทอดพุทธศาสนาในดินแดนแหลมทองและล้านช้าง ซึ่งเนื้อหาสาระของเรื่องกล่าวถึงตำนานพุทธเจดีย์สำคัญในภาคอีสาน ล้านช้าง และล้านนา เช่น ตำนานอุรังคธาตุ อุงรังคนิทาน พื้นธาตุพนม  (ตำนานพระธาตุพนม) พระมาลัยเลียบโลก (การสืบศาสนาในดินแดนแหลมทอง) ชินธาตุ สังฮอมธาตุ (กล่าวถึงกำเนิดโลก จักวาล การสืบศากยวงศ์ และการเผยแพร่ศาสนา) เชตุพน หรือเสตพน (การสืบทอดพุทธศาสนาบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง) ปุจฉาพยากรณ์ (เป็นการถาม-ตอบหลักธรรมตามแนวพุทธทำนาย) สมาสสงสาร (หลักธรรม การดำเนินชีวิตตามแนวพุทธ) พื้นเมือง (การเผยแพร่พุทธศาสนาในภาคอีสานและล้านช้าง) มูลสถาปนา หรือปฐมฐาปนา (การกำเนิดโลก จักรวาลตามแนวความคิดท้องถิ่นปู่สังกะสาย่าสังกะสี) ปฐมกัปป์ปฐมกัลป์ (การกำเนิดโลกและสรรพสิ่ง ตามแนวคิดพุทธศาสนา) ปฐมมูล (กำเนิดโลกและสรรพสิ่ง ตามแนวคิดท้องถิ่นปู่เยอย่าเยอกับแม่โพสพ) กาลนับมื้อส้วย (การสิ้นสุดศาสนาใน พ.ศ. ๕๐๐๐ และกลียุค ตามแนวพุทธทำนาย)

     ๒.๒ วรรณกรรมประวัติศาสตร์  วรรณกรรมประเภทนี้มีน้อย เพราะเหตุว่าวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานนั้นเจริญรุ่งเรืองอยู่ในกลุ่มชาวบ้านและชาววัด ดังนั้นเรื่องราวทางประวัติสาสตร์จึงอยู่ในความสนใจของชาวบ้านและชาววัดน้อยกว่าวรรณกรรมพุทธศาสนา แต่ก็มีพบบ้าง เช่น

        - ท้าวฮุ่งหรือเจือง  มหาสีลา วีรวงศ์ ได้ถอดจากต้นฉบับใบลานอักษรไทยน้อย ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ที่ชื่อว่า "ท้าวบาเจือง"  และจัดพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ตั้งชื่อเรื่องใหม่ว่า "ท้าวฮุ่งหรือเจือง"  ประพันธ์เป็นโคลงทั้งเรื่อง เนื้อเรื่องกล่าวถึงวีรบุรุษของไทย ได้รวบรวมอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นกว้างใหญ่ไพศาลมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนภาคเหนือ (ล้านนา) ทำสงครามขยายดินแดนถึงญวนเหนือและจีนตอนใต้ ในพงศาวดารโยนกได้จัดลำดับพระยาเจืองเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๙ ส่วนพระยามังราย จัดลำดับเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๕ ดังนั้นเหตุการณ์ในเรื่องพระยาฮุ่งหรือเจืองนี้ จึงน่าจะเป็นเหตุการณ์ก่อนที่ชนชาติไทยตั้งอาณาจักรสุโขทัย

        วรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง (ท้าวบาเจือง) ดร.ประคอง นิมมานเหมินทร์ ได้ศึกษาวิจัยสรุปว่า เป็นวรรณกรรมที่แพร่กระจายอยู่ในล้านช้าง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และในดินแดนสิบสองปันนา ส่วนรูปแบบของการประพันธ์นั้น ดร.ประคอง นิมมานเหมินทร์ เสนอว่า เป็นรูปแบบโคลงยุคเริ่มต้นของไทย และมีความไพเราะทางสำนวนโวหาร และเป็นวรรณกรรมประเภทโคลงที่มีความยาวมาก จึงใช้ชื่อว่า "มหากาพย์เรื่องท้าวบาเจือง"

        - พื้นเมืองเวียงจันทน์  เป็นวรรณกรรมที่กล่าวถึงตำนานการสร้างเมืองเวียงจันทน์และเมืองนครพนม ที่เรียกว่า "โคตรบอง" หรือ "โคตบูรณ์" และกล่าวถึงการสืบสันตติวงศ์ของกษัตรย์ล้านช้างบางยุคบางสมัยด้วย

        - พื้นเวียง  เป็นวรรณกรรมที่กล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๓ ในเหตุการณ์กบถเจ้าอนุวงศ์และสงครามไทย-ญวน ประพันธ์เป็นโคลงสาร บางฉบับใช้ชื่อว่า "ลำพื้นเวียง"  เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ที่แพร่หลายมากในภาคอีสาน และพบต้นฉบับในภาคอีสานจำนวนมาก จากการศึกษาเนื้อหาของลำพื้นเวียง พบว่ามีเนื้อหาตรงกับกบถเจ้าอนุวงศ์ แต่แตกต่างในเรื่องทัศนคติที่เข้าข้างและเห็นใจเจ้าอนุวงศ์ โดยมีความเห็นว่าราชธานีของไทยและเจ้าเมืองโคราชปกครองกดขี่หัวเมืองภาคอีสานและล้านช้าง เจ้าอนุวงศ์จึงดิ้นรนที่จะเป็นอิสระ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน (ดูรายละเอียดใน ธวัช ปุณโณทก.  (๒๕๒๓).  พื้นเวียง: การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน.  กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

        - นิทานเรื่องขุนบรม หรือตำนานขุนบรม  ในพงศาวดารล้านช้างได้กล่าวถึง ตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองของชนกลุ่มแม่น้ำโขง นับตั้งแต่เมืองนาน้อยอ้อยหนู เชียงดงเชียงทอง (หลวงพระบาง) และการสืบสันตติวงศ์กษัตริย์ล้านช้าง

        - พงศาวดารจำปาศักดิ์

        - ตำนานพระพุทธรูปองค์ต่าง ๆ  เช่น พื้นพระบาง พื้นพระแทรกคำ พื้นพระแก้ว พื้นพระแก่นจันทน์ เป็นต้น  ตำนานพระพุทธรูปสำคัญเหล่านี้ ได้กล่าวถึงกษัตริย์ ลำดับกษัตริย์ และราชวงศ์ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก โดยให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมด้วย จึงจัดอยู่ในกลุ่มวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์

     ๒.๓ วรรณกรรมนิทานหรือนิทาน  ในอดีตวรรณกรรมนิทานหรือนิทานเปรียบประหนึ่งเป็นมหรสพของชาวอีสานทั่วไป โดยใช้ลำในที่ประชุมชน เช่น ในงันเฮือนดี (งานศพ) หมอลำใช้ลำเป็นมหรสพ เช่น "ลำพื้น" หรือ "ลำเรื่อง" เป็นต้น นอกจากนี้พระภิกษุยังนำมาเทศน์ให้อุบาสกอุบาสิกาฟังในระหว่างเข้าพรรษาที่เรียกว่า "เทศน์ไตรมาส"  การที่นิทานเป็นที่สนใจของชาวบ้านอย่างมากดังกล่าว จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กวีได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นวรรณกรรมนิทานจำนวนมาก เพราะนิทานนอกจากจะให้ความสนุกสนานบันเทิงใจแล้ว ผู้ประพันธืยังได้สอดแทรกจริยธรรมและคติสอนใจอยู่ในเนื้อเรื่อง รวมทั้งอุปนิสัยของตัวละครที่เป้นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตามแนวพื้นบ้านเชิงพุทธศาสนา นิทานที่สำคัญ ๆ และแพร่กระจายในภาคอีสาน ได้แก่ จำปาสี่ต้น นางผมหอม สินไซ ท้าวสีทน ไก้แก้ว การะเกด นกจอกน้อย ปลาแดกปลาสมอ พระลักพระลาม นางแตงอ่อน ท้าวผาแดงนางไอ่ ท้าวขูลู-นางอั้ว สุวรรณสังข์ เป็นต้น

     ๒.๔ วรรณกรรมคำสอน  ในภาคอีสานมีวรรณกรรมประเภทนี้เป็นจำนวนมากและค่อนข้างจะโดดเด่นอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยพบว่า หมอลำมักจะนำมาลำในที่ประชุมชนอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่มีเนื้อหาสอนใจ สอนแนวปฏิบัติของบุคคลในครอบครัวและสังคม การดำเนินเรื่องมักเป็นเทศนาโวหารตลอดเรื่อง ไม่มีตัวละคร เช่นเดียวกับโคลงโลกนิติ หรือสุภาษิต เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นคำสอนแนวประพฤติปฏิบัติ โดยยึดคติธรรมทางพุทธศาสนาและจารีตท้องถิ่น เช่น ธรรมดาสอนดลก ฮีตสิบสองคองสิบสี่ พระยาคำกองสอนไพร่ อินทิญาณสอนลูก ท้าวคำสอน กาพย์ปู่สอนหลาน กาพย์หลานสอนปู่ ย่าสอนหลาน ยอดคำสอน สาส์นสมคึด กาลนับมื้อส้วย ลึบปสูญ หรือลบบ่สูญ และ สิริจันโทวาทคำสอน เป็นต้น

     ๒.๕ วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด  คือ วรรณกรรมที่ไม่อาจจัดกลุ่มอยู่ในประเภทหนึ่งประเภทใดได้ เพราะการสร้างสรรคืวรรณกรรมเหล่านี้มักมีจุดมุ่งหมายเฉพาะกิจ พบว่าส่วนใหญ่ใช้ในพิธีกรรม ดังนี้

        (๑) วรรณกรรมที่ใช้ในพิธีกรรมสูดขวน (บทสู่ขวัญ) เช่น  บทสูดขวน (บทสู่ขวัญทั่วไป) บทสูดขวนอยู่กรรม (ใช้สู่ขวัญแม่ลูกอ่อนก่อนจะออกจากการอยู่ไฟ) บทสูดขวนเด็ก บทสูดขวนหนุ่มสาว (ใช้สู่ขวัญเมื่อเจ็บป่วยหาสาเหตุไม่ได้) บทสูดขวนแต่งงาน บทสูดขวนเฮือน (ใช้สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่) บทสูดขวนเกวียน บทสูดขวนควาย (กล่าวถึงบุญคุณควายที่ช่วยทำนาและขอขมาควายที่ทุบตี)

        (๒) วรรณกรรมที่ใช้ในพิธีกรรมขอฝน หรือประเพณีแห่บั้งไฟ  ได้แก่ คำเซิ้งต่าง ๆ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (มุขปาฐะ) เช่น  คำเซิ้งบั้งไฟ คำเซิ้งนางแมว (แห่นางแมว) ส่วนใหญ่ด้นกลอนสด และกลอนที่จำสืบต่อกันมา เน้นความสนุกสนานรื่นเริ่งเป็นที่ตั้ง

        (๓) วรรณกรรมที่ใช้เกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว ที่เรียกว่า "ผญาเครือ" หรือ "ผะหยาเครือ" คือ คำพูดโต้ตอบของหนุ่มสาวที่เกี้ยวกัน โดยสำนวนโวหารเปรียบเทียบบ้าง ยกภาษิตท้องถิ่นมาอ้างอิงเพื่อเกี้ยวพาราสีและฝากรักบ้าง

        (๔) นิทานที่เล่าเพื่อความสนุกสนานและตลกขบขัน  เช่น นิทานขบขันเชิงปัญญาเรื่อง เซียงเมี่ยง นิทานตลกเรื่อง โตงโตย นิทานขบขันเชิงหยาบโลน เช่น นิทานก้อม เป็นต้น

๓. การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบวรรณกรรมอีสานและล้านช้าง

     รูปแบบวรรณกรรม หมายถึง ฉันทลักษณ์ ภาษาถิ่น และอักษรถิ่น ซึ่งธวัช ปุณโณทก (๒๕๕๓) กล่าวว่า ในการศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมทั่วไปนั้น รูปแบบหมายถึง ฉันทลักษณ์ แต่การศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับภาษาถิ่นและอักษรถิ่นด้วย

๔. การใช้วรรณกรรมของภาคอีสาน

     การใช้วรรณกรรมของชาวอีสานในสมัยอดีตขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้ว่าจะใช้วรรณกรรมอย่างไร เช่น ใช้เทศน์หรือใช้ในพิธีกรรมสำคัญทางพุทธศาสนา ใช้อ่านในที่ประชุมชน ใช้เป็นต้นบทของการแสดงพื้นบ้าน เป็นต้น

๕. ลักษณะโครงสร้างวรรณกรรมอีสาน

     ธวัช ปุณโณทก (๒๕๕๓)  กล่าวว่า จากการศึกษาโครงสร้างเนื้อหาของวรรณกรรมอีสานและล้านช้าง พบว่ามีโครงสร้างเนื้อเรื่องร่วมกันเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะวรรณกรรมที่รับอิทธิพลมาจากนิทานพื้นบ้านและวรรณกรรมคติธรรม นอกจากนี้ยังพบว่าเนื้อเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ได้แพร่กระจายไปสู่ท้องถิ่นอื่นอีกด้วย เช่น สังข์ทอง มโนห์รา สังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ ซึ่งจะพบว่าเกือบทุกภาคมีวรรณกรรมทั้งสามเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเนื้อเรื่องในปัญญาสชาดก (ภาคอีสานและล้านช้าง เรียกว่า "พระเจ้าห้าสิบชาติ" ) แพร่กระจายไปทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง แม้ว่าบางภูมิภาคจะมีไม่ครบทั้ง ๕๐ เรื่อง วรรณกรรมพื้นบ้านเหล่านี้ก็คือ นิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ นั่นเอง  การที่พบวรรณกรรมท้องถิ่นในหลายภูมิภาคมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สะท้อนให้ว่าค่านิยมสังคมไทยใกล้เคียงกัน และยังสะท้อนให้เห็นว่าทุกภูมิภาคใช้วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นสื่อในการสอนจริยธรรม ศีลธรรม คติเตือนใจ แง่คิดคำสอนตามความศรัทธาทางศาสนา โดยเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ชาตนี้ชาติหน้า และกรรมดีกรรมชั่ว เพื่อให้ผู้อ่าน ผู้ฟังได้ยึดเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกครรลองครองธรรม

๖. รูปแบบคำประพันธ์ของวรรณกรรมอีสาน

          ประมวล พิมพ์เสน (๒๕๕๒)  ได้จำแนกรูปแบบคำประพันธ์ของวรรณกรรมอีสานว่ามีหลายประเภทที่สื่อความรู้สึกหรือความเข้าใจในแบบต่าง ๆ กัน ดังนี้

               (๑) ญาบหรือญาบเว้า  เป็นคำประพันธ์ประเภทสำนวน บางครั้งก็มีสัมผัส บางครั้งไม่มี ญาบ เป็นกลุ่มคำ เป็นวลี หรือบางครั้งเป็นประโยคเปรียบเทียบ เปรียบเปรย อุปมาอุปมัย แต่ใช้แล้วช่วยให้เนื้อความที่พูดไม่สั้นหรือห้วนเกินไป เช่น นกเค้าท้วงตาแม่  ลิงไว้พ้อไม้ดอก  หามผีตกป่าช้า "หนีบ่ม้ม ก้มบ่หวิด"  ปล่อยเอียนลงตม  ปลาซมน้ำใหม่  แก้ไม้ทางปาย  มีดกล้าถืกหินซา  ผัวถ่อเมียพาย  ฯลฯ  บางครั้งเป็นสำนวนที่มีคำขึ้นต้นหรือคำลงท้ายเดียวกัน เช่น

               บอกถึงสิ่งดีหรือสิ่งไม่ดี    ดังเช่น

                    มีเฮือนบ่มีฝา        บ่ดี
                    มีนาบ่มีฮ่อง          บ่ดี
                    มีปล่องบ่มีฝาอัด  บ่ดี
                    มีวดบ่มีพระสงฆ์   บ่ดี
                    มีถงบ่มีบ่อนห้อย บ่ดี
                    (ประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๕๒: ๓๐)

               บอกถึงความสุขของคน   ดังเช่น

                    "สุขหนึ่ง มีข้าวกิน  สุขสอง มีดินอยู่  สุขสาม มีคู่นอนนำ  สุขสี่ มีเงินคำเต็มบ้าน  สุขห้า มีลูกหลานนั่งเฝ้ายามชรา" (ประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๔๕: ๓๓)   

                บอกถึงความยาก   ดังเช่น                  

                     "ผัวเมียเดียวออกเฮือนใหม่      นี่ก็ยาก       ฮักมักกันบ่เห็นหน้า            นี่ก็ยาก
                      เฮ็ดไฮ่บ่มีขวาน                         นี่ก็ยาก       เฮ็ดนาทานน้ำท่วมข้าว      นี่ก็ยาก
                      จักตอกไม้เป็นแมง                   นี่ก็ยาก       เทียวทางบ่มีเพื่อน              นี่ก็ยาก
                      ได้ผัวขี้เหล้าเกี่ยวข้าวหนูกวน  นี่ก็ยาก       ไต่ขัวไม้ลำเดียว                  นี่ก็ยาก 
                       เครือหูกขาดใกล้ยามตัด         นี่ก็ยาก...”     (ประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๔๕: ๓๐-๓๑)

               (๒) โตงโตย  เป็นสำนวนคำคมหรือสุภาษิต ที่มีวรรคต้นวรรครับ บางสำนวนมีวรรคส่งรวมเป็น ๓ วรรค มีทั้งประเภทมีสัมผัสและไม่มีสัมผัส เช่น

                    “ฮั้วหลายหลักจั่งหมั้น  พี่น้องหลายชั้นจั่งดี
                     ได้ปลาลืมแห  ได้แพรลืมผ้า  ได้หน้าลืมหลัง
                      ยามกินบ่เรียก  ยามเวียกจั่งเอิ้น
                     คันบ่มีอย่าอวด  คันบ่บวชอย่าแถหัว
                     นอนสูงให้นอนคว่ำ  นอนต่ำให้นอนหงาย
                     กินอย่ากินสมอยาก  ปากอย่าปากสมเคียด”
                              (ประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๔๕: ๓๔-๓๕)

                (๓) ผญา  เป็นคำพื้นเมืองอีสานมีความหมายตรงกับภาษาบาลีและสันสกฤตว่า ปัญญาและปรัชญา หมายถึง องค์ความรู้ด้านภาษา เริ่มจาก ญาบเว้า โตงโตย กาพย์ โคลง ร่ายทุกชนิด ถ้ามีความรู้อธิบายวิชาการหรือวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่งได้ เขาเรียกว่า ภูมิปัญญา แต่ถ้าพูดเป็นกลอน สุภาษิต สำนวนโวหาร เขาเรียกคนนั้นว่า จอมผญา หรือเรียกอีกคำหนึ่งว่า นักสดัมภ์ คือเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นผู้รอบรู้หรือเป็นหลักในแขนงวิชานั้น ๆ การแบ่งประเภทของผญา จะแบ่งตามเนื้อหา โดยต้องวิเคราะห์เนื้อหาของผญาก่อน จึงจะจัดประเภทได้  ผญามี ๖ ประเภทคือ (๑) ผญาสุภาษิต  (๒) ผญาเกี้ยว  (๓) ผญาคำสอน  (๔) ผญาปรัชญา  (๕) ผญาปริศนา  (๖) เบ็ดเตล็ด  แต่ละประเภทมีทั้งสัมผัสและไม่มีสัมผัส

          ตัวอย่าง

                    ๑. สัตว์สี่ตีนยังฮู้พลาด  นักปราชญ์ยังฮู้หลง
                         หงส์คำยังถืกบ่วง      ควายเฒ่ากะตื่นไถ
                    ๒. ไม้บ่ทันแทกด้าม      อย่าฟ่าวห่าวหวนตัด
                          คันบ่เถิงภายลุน        สิเกิดมีเมื่อหน้า
                    ๓.  เจ้าผู้มีความฮู้            เต็มพุงเพียงปาก
                          สอนโตเองบ่ได้         ไผสิย่องว่าดี
                    ๔.  สิบสลึงอยู่ฟากน้ำ     อย่าได้อ่าวคะนิงหา
                           สองสลึงมามือ          ให้ฟ่าวกำเอาไว้
                    ๕.  ซาติที่แนวนามบ้ง      เปือยโตกาสิตอด
                          เปี๋ยงบ่เฮ็ดจั่งม้อน      เอาใยหุ้มห่อโต
                             (ประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๕๒: ๓๖)
 

               (๔) กลอน  มีหลายแบบ เช่น กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด  กลอนเก้า และกลอนสิบ ทั้งที่มีสัมผัสและไม่มีสัมผัส ถ้าไม่มีสัมผัสก้มักเล่นคำ เล่นสระหรือเล่นอักษรให้อ่าน ร้อง เซิ้ง หรือแหล่ได้จังหวะและทำนองไพเราะ เช่น กลอน ๗ แบบเก่า ไม่นิยมสัมผัสจะมีการเล่นคำ เล่นสระ เล่นอักษร แบ่งเป็นวรรคหน้า ๓ คำ วรรคหลัง ๔-๕ คำ แต่บางครั้งจะเติมคำเสริมวรรคหน้า เพื่อเน้นหรือชี้ให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังทราบที่มาของคำอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ดังเช่น                 

                    "กล่าวถึง   นงนางหล่า สุมณฑานางนารถ
                     เนาใน       อาสน์อ่าวกว้าง เซียงข้องอยู่เกษม
                                       โดนนานได้ หลายปีแถมพ่าย
                      กุมพันธ์     ยักษ์ใหญ่ดั้น กุมเจ้าแล่นหนี
                      มันกะ      นำนางหล่า สุมณฑาเฮงฮอด
                      จอดยัง     เมืองใหญ่กว้าง อโนราชซือเซียง"
                      (จากเรื่อง สินไซ สำนวนประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๕๒: ๔๓))

                    "ไทยเฮือนนี้ไปไสมิดมี่ หือไปลี้อยู่ส้วมบ่อนนอน
                       เปิดหน้าต่างย่างออกมาด ไขปักดูย่างออกมาเบิ่ง
                       มาเบิ่งแล้วแม่นลูกหือหลาน คันแม่นหลานให้ทานเหล้าแน่
                       ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าจักโอ ขอเหล้าโทนำเจ้าจักถ้วย
                       หวานจ้วยจ้วยด้วยปากหลานซาย ตักมายายหลานซายให้คู่
                       ยายบ่คู่ตูข่อยบ่หนี  ตายเป็นผีสินำมาหลอก"
                            (กลอนเจ็ดมีสัมผัสนอกและสัมผัสในสำหรับเซิ้งบั้งไฟ)
                                    (ประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๕๒: ๔๕)

               (๔) โคลงหรือผญาคำโคลง  เป็นคำประพันธ์อีกแบบหนึ่งของอีสาน ทางภาคเหนือเรียก กะลง โคลงของอีสานมีการแบ่งวรรคคำสร้อยและบังคับสัมผัส แต่ไม่บังคับวรรณยุกต์เอกโทเหมือนโคลงของภาคกลาง เพียงแต่ต้องให้อ่านเอื้อนเสียงได้จังหวะและทำนอง ซึ่งมีทั้งโคลงน้อย โคลงกลาง และโคลงใหญ่ เช่น

                    "ศาสตร์ศิลป์ควรฮู้  เฮียนเอา
                     เป็นดั่งน้ำในเครือเขา ต้นไม้
                     เมื่อก่อนจะเก็บเอา  ดอกหมากนั่นนา
                     ควรเก็บทุกค่ำเช้า  ลวดได้เหลือหลาย"
                         (ประมวล พิมพ์เสน, ๒๕๕๒: ๕๐)

               (๕) กาพย์  มีลักษณะคล้ายร่ายโบราณในสุภาษิตพระร่วง บาทหนึ่งมี ๗ คำ ไม่มีคำสร้อยและไม่กำหนดว่าบทหนึ่งมีกี่บาท ไม่กำหนดวรรณยุกต์เอกโท แต่กำหนดสัมผัสสระ โดยคำสุดท้ายของบาทแรก จะสัมผัสกับคำใดคำหนึ่งของบาทต่อไป เช่น

                    "ดอกทองกวาวสีงามไฮ้กลิ่น โลกดูหมิ่นเหตุกลิ่นมันหาย
                     อธิบายดังชายโสภา ฮูปเกลี้ยงฮาบยังหนุ่มงามตา
                     เขาเกิดมาตระกูลใช่ไพร่ ของบ่ไฮ่ความฮู้บ่มี
                     นักปราชญ์ติเกิดมาเสียชาติ บ่สะอาดคือกลิ่นมันหาย"
                     (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์), ๒๕๓๙)

               (๖) ร่าย (ฮ่าย)  ส่วนใหญ่ใช้ประพันธ์วรรณกรรมพุทธศาสนา ที่แปลมาจากภาษาบาลีเป็นภาษาอีสาน และสัมผัสกันแบบร่ายยาว ในบาทหนึ่งอาจมีตั้งแต่ ๕ คำขึ้นไป คำสุดท้ายจะไปสัมผัสสระกับคำใดคำหนึ่งในบาทต่อไป เช่น 

                    "มัทธี ดูราน้องมัทธี  ราชสีห์จักหนีจากดอย
                     เพราะว่าดอยนั้นบ่มีถ้ำคูหา ปลาจักหนีจากน้ำ
                     เพราะว่าน้ำนั้นบ่มีตม สมณ์จักหนีจากครู
                     เพราะว่าครูนั้นหาผญาบ่ได้ นกจักหนีจากไม้
                     เพราะว่าไม้นั้นบ่มีกิ่งง่าสาขาอันกว้าง ช้างจักหนีจากป่า
                     เพราะว่าป่านั้นบ่มีไม้ไล่แลไม้บง 
                                                    (กัณฑ์มัทธี)

๗. ลักษณะเด่นของวรรณกรรมอีสาน

          อุดม บัวศรี (๒๕๔๖) สรุปลักษณะสำคัญของวรรณกรรมอีสานมี ๖ ลักษณะดังนี้

               ๑) พุทธศาสนานิยม วรรณคดีอีสานส่วนมากอ้างถึงชาดกในพุทธศาสนาและมักเชื่อมโยงความดี ความชั่ว (ธรรมะ-อธรรม) ในบทสรุป

               ๒) สุขนาฏกรรมนิยม วรรณกรรมอีสานมีเนื้อหาส่วนใหญ่จบลงด้วย "ธรรมะชนะอธรรม"  ตัวเอกของเรื่องแม้จะเป็นคนตกยาก ด้อยศักดิ์ศรี แต่เปี่ยมคุณธรรมก็สามารถเอาชนะผู้ไร้ธรรมะที่มีกำลังกายหรือฤทธานุภาพมากกว่าได้

               ๓) นิรนามนิยม  วรรณกรรมอีสานในสมัยก่อนส่วนใหญ่มักไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง เนื่องจากเป็นการคัดลอกต่อ ๆ กันมา

               ๔) ประเพณีนิยม เรื่องส่วนใหญ่มีการบรรยายวิถีชีวิตในท้องถิ่น เช่น ความเชื่อ ความฝันและการบายศรีสู่ขวัญในเรื่องนางแตงอ่อน การเซิ้งบั้งไฟ การปลูกปรำสรงน้ำพระราชครูในเรื่องผาแดงนางไอ่ ลักษณะดีชั่วของหญิงชายในเรื่องท้าวคำสอน เป็นต้น

               ๕) ธรรมชาตินิยม เรื่องส่วนใหญ่ใช้ธรรมชาติเป็นฉากผสมผสานกับราชสำนักที่โอ่อ่า โดยป่าธรรมชาติเป็นสถานที่แสวงหาความรู้ของผู้ใฝ่ธรรมะและเป้นที่อยู่ของผู้มีวิชาอาคม เช่น ฤาษี มหาเถร เป็นต้น  หรือที่อยู่ของสัตว์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามดินแดนต่าง ๆ ของภาคอีสาน เช่น กบ เขียด ปลา จระเข้ วัว ความย กิ้งก่า แมงมุม ตุ๊กแก นกเขา นกเอี้ยง ฯลฯ

               ๖) ราชาธิปไตยนิยม เรื่องส่วนใหญ่จบด้วยผู้ชนะได้ครองเมือง เป็นเจ้าของทรัพย์สิน บริวารต่าง ๆ

๘. คุณค่าของวรรณกรรมอีสาน

          ๑) เป็นการสั่งสอน ให้คติเตือนใจ ให้แนวทางในการดำรงชีวิตแก่ผู้อ่านหรือผู้ฟัง เช่น บทบาทหน้าที่ของชาย-หญิงใน พญาคำกองสอนไพร่ หลักการใช้ชีวิตตามจารีต การเลือกคู่ครอง การปลูกบ้านเรือน การปฏิบัติตนในหมู่วงศาคณาญาติ การประพฤติตนของเจ้าบ้านเจ้าเมืองตามหลักพุทธศาสนาใน ธรรมดาสอนโลก หลักความประพฤติของสตรีใน อินทิญาณสอนลูก  หลักความกตัญญู การรักษาศีลห้าศีลแปด บุญกรรมใน เสียวสวาสดิ์ คุณค่าของคนที่หน้าตาอัปลักษณ์แต่มีความสามารถและกตัญญูใน ท้าวก่ำกาดำ เป็นต้น

          ๒) เป็นกิจกรรมนันทนาการ  ให้ความบันเทิงทั้งด้านอรรถรสทางภาษาและเนื้อเรื่อง เป็นต้นแบบที่ศิลปินอีสานนำไปใช้ในการแสดง ทั้งเนื้อเรื่องและฉันทลักษณ์ ซึ่งมักยกตอนสำคัญของวรรณกรรมที่ชาวอีสานนิยม หรือมีกลอนไพเราะในเนื้อเรื่อง เช่น ผาแดงนางไอ่ ขูลูนางอั้ว สินไซ การะเกด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี มาลำ หรือ คำสอย ที่เพิ่มความบันเทิงระหว่างการฟังหมอลำ

          ๓) เป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของชีวิตหรือการแก้ไขปัญหายามวิกฤติ เช่น บทสูดขวัญหรือสู่ขวัญ กลอนเซิ้งในบุญบั้งไฟ แห่นางแมว เสี่ยงทายนางดัง บทเทศน์มหาชาติ คาถาพัน เป็นต้น

          ๔) เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานขุนบรม ตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ท้าวฮุ่งท้าวเจือง พื้นเมืองอุบล เป็นต้น ทำให้ชาวอีสานได้เรียนรู้เรื่องในอดีตของตนและสืบทอดจิตสำนึกท้องถิ่น ยกย่องวีรบุรุษร่วมกัน เช่น ขุนบรม ขุนเจือง ทั้งนี้วรรณกรรมสำคัญเรื่องหนึ่งคือ พื้นเวียง เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เริ่มจากการต่อต้านอำนาจรัฐของอ้ายสาเกียดโง้ง ปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ การขึ้นครองเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ สาเหตุการก่อการกบถ ยึดหัวหาดอีสาน การถูกจับและส่งตัวไปรับโทษทัณฑ์ที่กรุงเทพฯ จบด้วยสงครามไทย-ญวณที่ทำความลำบากแก่ชาวลาว ซึ่งเป็นกลอนลำที่ได้รับความนิยมในการนำไปอ่านในงานงันเฮือน (ขึ้นบ้านใหม่) สามารถปลุกเร้าใจให้เกิดความรักในท้องถิ่นนิยมของชาวอีสานได้ในช่วงเวลาหนึ่ง

          ๕) เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และประเพณี คติชีวิต จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานในท้องถิ่น เช่น โลกทัศน์เกี่ยวกับธรรมชาติ สังคมใน โลกนี้-โลกหน้า  หลักการปกครองและกฎหมายโบราณใน อาณาจักรหลักคำเมือง  ความรู้และแนวปฏิบัติในการทำนาทำไร่ใน วันแฮกปูกของ  การใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ใน เซียงเมี่ยง  ความสำคัญของการทำบุญบั้งไฟใน ผาแดงนางไอ่  และยังมีสำนวน สุภาษิต คำสร้อย คำซ้อนต่าง ๆ ในทุกเรื่อง

          ทั้งนี้วรรณกรรมอีสานมีการใช้สำนวนที่มีความไพเราะหรือขยายความสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเห็นภาพพจน์เป็นเอกลักษณ์ เช่น                             

               - การใช้คำสั้น ๆ แต่ได้ใจความ เช่น กึก ขวง คัก เคิก งึด งวก ไง่ งัน เป็นต้น

               - คำออกเสียงที่สอดคล้องกันเป็นชุด เช่นบอกขนาดของรู ได้แก่ ซี่วี่ ซ่อว่อ จิ่งปิ่ง จ่องป่อง แจ่งแป่ง จึ่งปึ่ง โจ่งโป่ง จ่างป่าง  หรือบอกลักษณะท่านั่ง เช่น อ้ามต้าม แจ่งแอ่ง สอกสอย ซาบงาบ เป็นต้น

               - สำนวนยาว เช่น "จอกหลอกแจกแหลก"  "หนักซ่อยกันหาบ หยาบซ่อยกันดึง" "ควยตู้มักซน คนจนมักเว้า"  "ตื่นเดิกคือกา หากินคือไก่"  "เอิ้นกินแลนใส่ เอิ้นไซแลนหนี"  "สามอาจารย์เฮ็ดซานบ่แล่ว"  "แก้วบ่ขัดสามปีเป็นแฮ พี่น้องบ่แว่สามปีเป็นเพิ่น"

บทสรุป

          กล่าวโดยสรุปวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้มีมากมายหลายประเภท ตามปกติแล้วชาวอีสานไม่ค่อยชอบบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะชอบบอกเล่าหรือท่องจำกันมา จะมีการจารึกหรือจารในคัมภีร์ใบลานไว้เฉพาะวรรณคดีเรื่องยาว ชาดก หรือตำรายาเท่านั้น ส่วนวรรณกรรมอื่น ๆ จะใช้วิธีการบอกเล่าสืบต่อกันมา ในอดีตการเรียนรู้วรรณกรรมอีสานมีหลายทาง เช่น ผู้ชายอาจบวชเรียนและได้อ่านจากหนังสือผูกหรือหนังสือก้อม ซึ่งมักเก็บรักษาไว้ที่วัด ขณะที่ผู้หญิงได้เรียนรู้จากการฟังหมอลำ หรือจดจำจากที่ได้ยินพ่อ-แม่ ญาติผู้ใหญ่หรือผู้อื่นเล่าต่อ ๆ กันมา เมื่อมีสื่อสารมวลชนประเภทวิทยุ โทรทัศน์ ชาวอีสานก็มีโอกาสได้ฟังวรรณกรรมอีสานผ่านสื่อเหล่านั้นด้วย  ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษาและระบบการศึกษาภาคบังคับแพร่หลายในภาคอีสาน และมีการสอนให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาและวรรณกรรมของภาคกลาง ชาวอีสานรุ่นต่อมาจึงขาดพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่จะทำให้เกิดความซาบซึ้งในอรรถรสของวรรณกรรมอีสานในรูปแบบต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ชาวอีสานในรุ่นปัจจุบันจึงห่างเหินวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานไปจนยากที่จะหาชาวอีสานรุ่นใหม่ที่เข้าใจและสามารถสร้างสรรค์คำประพันธ์แบบดั้งเดิมของอีสานได้ แม้ว่านับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา จะมีการส่งเสริมให้มีการจัดพิมพ์วรรณกรรมอีสานเผยแพร่มากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังอาศัยตัวอักษรไทยกลาง ซึ่งไม่สามารถสื่อคำอีสานได้เท่าที่ควร ขณะเดียวกันก็มีสื่อวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสารมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่พูดภาษาไทยกลาง ทำให้ชาวอีสานซึมซับภาษาไทยกลางมากขึ้น มีการรับคำศัพท์และสำนวนไทยกลางมาพูดด้วยสำเนียงอีสาน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่มักพูดภาษาไทยกลางแทนภาษาอีสาน บางท้องถิ่นการพูดสำเนียงอีสานค่อย ๆ เลือนหายไป จึงทำให้การสืบต่อภูมิปัญญาด้านวรรณกรรมอีสานที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมมีความเป็นไปได้ค่อนข้างจำกัด 

          ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะทำให้ชาวอีสานที่ยังคงหวงแหนวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมตระหนักถึงความสำคัญของวรรณกรรมอีสาน และหันมาช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านภาษาและวรรณกรรมของภาคอีสานเสื่อมสลายหรือสูญสิ้นไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

ธวัช ปุณโณทก.  (๒๕๕๓).  เอกสารประกอบการสัมมนาเครือข่ายระดับชาติด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่เอกสารมรดกภูมิปัญญาไทย ครั้งที่ ๗ เรื่อง เอกสารมรดกของภาคอีสานตอนกลางและอีสานตอนใต้ ระหว่างวันที่ ๘-๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม.  (อัดสำเนา)

ธวัช ปุณโณทก.  (๒๕๒๒).  วรรณกรรมอีสาน.  กรุงเทพ: โอเดียนสโตร์. 

ธวัช ปุณโณทก.  (๒๕๒๕).  วรรณกรรมท้องถิ่น.  กรุงเทพ: โอเดียนสโตร์. 

ประมวล พิมพ์เสน.  (๒๕๕๒).  ภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน.  พิมพืครั้งที่ ๒.  ขอนแก่น: ดรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) และ พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร).  (๒๕๓๙).  มงคลแห่งการศึกษา.  พิมพ์ครั้งที่ ๒.  [ม.ป.ท.: ม.ป.พ.]

อุดม บัวศรี และชอบ ดีสวนโคก.  (๒๕๔๖).  เจ้าโคตร: การระงับความขัดแย้งในวัมนธรรมอีสาน.  ขอนแก่น: สำนักสิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

เรียบเรียงโดย  นายิกา เดิดขุนทด



ลิขสิทธิ์ © 2012 สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม



RSS