มุมอีสานสนเทศ

ส่งอีเมลไปให้เพื่อน
* ชื่อของคุณ:
* อีเมลของคุณ:
* อีเมลล์ของเพื่อน:
ความคิดเห็น:


การทำลูกประคบสมุนไพร เนื้อหาบทความ

การทำลูกประคบสมุนไพร

การทำลูกประคบสมุนไพร

ผู้ให้ข้อมูล นางยุพา ลิโป้



          ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปใช้บริการนวดแผนโบราณที่ศูนย์ค้ำคูณ ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นและได้ใช้บริการนวดแผนโบราณกับคุณยุพา ลิโป้  ซึ่งเป็นทั้งหมอนวดประจำศูนย์และเป็นผู้ทำลูกประคบสมุนไพรสำหรับบริการลูกค้าในศูนย์ค้ำคูณ ระหว่างการใช้บริการนวดแผนโบราณนั้น ผู้เขียนก็ถือโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับคุณยุพาไปด้วย คุณยุพาเป็นผู้มีอัธยาศัยดีมาก ได้ให้ข้อมูลสูตรการทำลูกประคบสมุนไพรกับผู้เขียนอย่างไม่ปิดบัง ผู้เขียนเห็นว่าหากให้คนอื่นได้รู้ด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาและวงการแพทย์แผนไทยจึงได้ขออนุญาตคุณยุพานำสูตรการทำลูกประคบสมุนไพรเผยแพร่เป็นวิทยาทาน

ประวัติ

           คุณยุพา ลิโป้ เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖  เป็นบุตรของคุณพ่อคำภูและคุณแม่ละมุล มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยคุณยุพาเป็นบุตรคนที่สอง จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนห้วยยางวิทยาสรรพ์ ต่อมาได้แต่งงานและมีบุตรจำนวน ๒ คน เป็นชาย ๑ คน และ หญิง ๑ คน  ปัจจุบันสามีเสียชีวิตแล้ว และได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกสองคน อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๔๗ หมู่ ๘ บ้านห้วยาง ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบุลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีอาชีพทำนา ทำไร่มันและอ้อย อาชีพเสริมเป็นหมอนวดแผนโบราณและเป้นวิทยากรบรรยายเรื่องของสมุนไพรประจำอยู่ศูนย์ค้ำคูณ

          คุณยุพาทำงานที่ศูนย์ค้ำคูณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ครั้งแรกที่มาทำงานคุณน้อย (หมอนวดพื้นบ้าน) แนะนำให้มาช่วยทำงาน โดยครั้งแรกที่มาทำงานไม่ชอบอาชีพการเป็นหมอนวดแผนโบราณ แต่พอทำได้สักพักก็รู้สึกชอบ เพราะได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรด้วย โดยส่วนตัวคุณยุพาก็ชอบเรื่องยาสมุนไพรมาก เพราะเคยเจ็บป่วยเป็นโรคไต และได้รักษาด้วยยาสมุนไพรจนอาการดีขึ้น จึงมีความสนใจอยากศึกษาเรื่องยาสมุนไพร
ปัจจุบันคุณยุพาได้ทำผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพร รักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ด ขัด ยอก มาจำหน่ายที่ศูนย์ค้ำคูณ นอกจากนี้ยังเป็นหมอนวดแผนโบราณ วิทยากรเรื่องสมุนไพรและแพทย์ทางเลือกประจำอยู่ศูนย์ค้ำคูณอีกด้วย



ลูกประคบสมุนไพร

ตัวยาที่นิยมใช้ทำลูกประคบ
     -
เหง้าไพล (๕๐๐กรัม)               แก้ปวดเมื่อย เคล็ด ขัด ยอก
     - เหง้าขมิ้นชัน (๑๐๐ กรัม)         ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
     - ตะไคร้บ้าน (๑๐๐ กรัม)           แต่งกลิ่น
     - ผิวมะกรูด (๒๐๐ กรัม)             ถ้าไม่มีใช้ใบเทนได้ มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน
     - ใบมะขาม (๓๐๐ กรัม)             แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว
     - ใบส่มป่อย (๑๐๐ กรัม)            ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน
     - เกลือ (๑ ช้อนโต๊ะ)                   ช่วยดูดความร้อนและช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น
     - การบูร (๒ ช้อนโต๊ะ)                 แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ


ลูกประคบสมุนไพร คือ
    
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำสมุนไพรหลายชนิดมาผ่านกระบวนการทำความสะอาดแล้วนำมาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการตำพอแตก ใช้สดหรือทำแห้งนำมาห่อหรือบรรจุรวมกันในผ้าให้ได้รูปทรงต่าง ๆ เช่น ทรงกลม หมอนสำหรับใช้นาบหรือกดประคบส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ถ้าเป็นลูกประคบสมุนไพรแห้ง ก่อนใช้ต้องนำมาพรมน้ำแล้วทำให้ร้อนโดยการนึ่ง


ลักษณะทั่วไปของลูกประคบสมุนไพร
     ลูกประคบสมุนไพรต้องห่อผ้าปิดสนิท ภายในบรรจุสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดรวมกัน กรณีทำเป็นรูปทรงกลม ปลายผ้าต้องรวมมัดให้แน่น ทำเป็นด้ามจับ ต้องมีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรที่ใช้


อุปกรณ์การทำลูกประคบสมุนไพร
     ๑. ผ้าสำหรับห่อลูกประคบ ต้องเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบที่มีเนื้อผ้าแน่นพอที่จะป้องกันไม่ให้สมุนไพรร่วงออกมาได้
     ๒. สมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบต้องหั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ สด/แห้ง ต้องไม่มีราปรากฏให้เห็นเด่นชัด 
          และต้องมีพืชสมุนไพรหลักที่มีน้ำมันหอมระเหยอย่างน้อย 3 ชนิด เช่น ไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ 
          และผิวหรือใบมะกรูด/กลุ่มสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ เช่น ใบมะขาม ใบส้มป่อย 
          และกลุ่มสารที่มีกลิ่นหอม จะระเหยออกมาเมื่อถูกความร้อน เช่น การบูร พิมเสน และเกลือ ช่วยดูดความร้อน
     ๓. หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบและจานรองลูกประคบ
     ๔. เชือกสำหรับมัดผ้าห่อลูกประคบ


วิธีทำลูกประคบ
     ๑. นำหัวไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด ล้างทำความสะอาด นำมาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการตำพอหยาบ ๆ
     ๒. นำใบมะขาม ใบส้มป่อย ผสมกับสมุนไพรในข้อ 1 เสร็จแล้วใส่เกลือ การบูร คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้แฉะเป็นน้ำ
     ๓. แบ่งสมุนไพรที่คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเป็นส่วนเท่า ๆ กัน  โดยใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบห่อเป็นลูกประคบมัดด้วยเชือกให้แน่น
     ๔. นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่ง ใช้เวลานึ่งประมาณ 15-20 นาที


วิธีการใช้ลูกประคบสมุนไพร
     - นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งประมาณ ๑๕-๒๐ นาที เมื่อลูกประคบร้อนได้ที่แล้ว ก่อนนำมาใช้ประคบ ควรมีการทดสอบความร้อนโดยแตะที่ท้องแขนหรือหลังมือก่อน และในช่วงแรกที่ลูกประคบยังร้อนอยู่ ต้องประคบด้วยความเร็ว ไม่วางลูกประคบไว้บนผิวหนังนาน ๆ เพียงแตะลูกประคบแล้วยกขึ้น แต่เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลงสามารถวางลูกประคบได้นานขึ้นพร้อมกับกดคลึง จนกว่าลูกประคบคลายความร้อน แล้วจึงเปลี่ยนลูกประคบไปใช้ลูกใหม่แทน (ใช้แล้วนำไปนึ่งแทน)


ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร
      - ไม่ควรใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่เคยเป็นแผลมาก่อนหรือบริเวณที่มีกระดูดยื่น และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อัมพาต ในเด็กและผู้สูงอายุ เพราะมักมีความรู้สึกในการรับรู้และตอบสนองช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ง่าย
      - ไม่ควรใช้การประคบสมุนไพรในกรณีที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพราะจะทำให้อักเสบบวมมากขึ้นและอาจมีเลือดออกมากตามมาได้
      - หลังจากประคบสมุนไพรเสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปล้างตัวยาจากผิวหนัง และร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน (ร้อนเป็นเย็นทันทีทันใด) อาจทำให้เกิดเป็นไข้ได้


การเก็บลูกประคบสมุนไพร
       ลูกประคบสมุนไพรที่ใช้ครั้งหนึ่งแล้วสามารถเก็บไว้ได้นาน ๓-๕ วัน หลังจากใช้แล้วควรผึ่งลูกประคบให้แห้ง เก็บใส่ถุงหรือภาชนะปิดฝาให้แน่นแช่ตู้เย็นจะเก็บได้นานขึ้น ให้สังเกตถ้าลูกประคบมีเชื้อราปรากฏให้เห็นและมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว หรือสีเหลืองจางลง แสดงว่าตัวยาเสีย ไม่มีคุณภาพไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป เพราะจะใช้ไม่ได้ผล


ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร (จากตัวยาสมุนไพรและความร้อน)
        ๑. กระตุ้นหรือเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
        ๒. ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการปวดเมื่อย
        ๓. ลดการติดขัดของข้อต่อบริเวณที่ประคบและทำให้เนื้อเยื่อ พังผืดยืดตัวออก
        ๔. ลดอาการบวมที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือบริเวณข้อต่อต่าง ๆ หลังจาก 24-48 ชั่วโมงไปแล้ว

 

 

แหล่งอ้างอิง
คู่มือวิทยากรกระบวนการศูนย์เรียนรู้มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น. " การทำลูกประคบสมุนไพร ". หลักสูตรฝึกอบรมการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตร ตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ของผู้นำเกษตรสู่การพึ่งตนเองภาคประชาชน.   34-37.

ยุพา ลิโป้.  (๑๔ เมษายน ๒๕๕๓).  สัมภาษณ์.  เจ้าหน้าที่ประจำศุนย์ค้ำคูณ.

 

นายิกา เดิดขุนทด ผู้เรียบเรียง




ลิขสิทธิ์ © 2012 สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม



RSS