มุมอีสานสนเทศ
ค้นหา:     ค้นหาขั้นสูง
เลือกดูตามหมวดหมู่:
English Version

ประเพณีผูกเสี่ยวจังหวัดขอนแก่น เนื้อหาบทความ

ประเพณีผูกเสี่ยวจังหวัดขอนแก่น

แสดงผล: 416
ลงคะแนน: 0
วันที่สร้าง: 29 Nov, 2010
ผู้สร้าง : นายิกา N.
วันที่ปรับปรุง : 15 Dec, 2011
ผู้แก้ไขปรับปรุง : นายิกา N.

ประเพณีผูกเสี่ยว
          เป็นประเพณีดั้งเดิมของคนกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาว หรืออีสาน มาตั้งแต่อดีตกาลนานจนไม่สามารถสืบค้นได้ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด
           คำว่า “เสี่ยว” ในความหมายของชาวอีสานนั้น หมายถึง  เพื่อนรัก เพื่อนตาย เพื่อนร่วมชะตาชีวิต เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ถือเสมือนมีชีวิตเดียวกัน คู่เสี่ยวจะติดต่อไปมาหาสู่และเกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลา
           การผูกเสี่ยว  หมายถึง การที่คนสองคน เช่น ชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือในอดีตชายกับหญิงก็เคยมี ซึ่งรักใคร่สนิทสนมกัน รสนิยมคล้ายกัน เกิดปีเดียวกัน เมื่อพ่อแม่เห็นว่าเด็กรักกันอย่างนั้น จึงนำมาผูกแขนต่อหน้าผู้ใหญ่อบรมให้รักกันและกัน แล้วทั้งสองคนก็ได้ชื่อว่าเป็นเสี่ยวกันไปตลอดชีวิต ประเพณีผูกเสี่ยวจึงเป็นประเพณีแห่งความรัก ปลูกมิตรภาพระหว่างมวลมนุษย์ ซึ่งเป็นประเพณีดีงามที่หายากในโลกปัจจุบัน

ความเป็นมาของการผูกเสี่ยว
           การผูกเสี่ยวเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครสืบทราบได้ อาจกล่าวกันว่าเป็นของคู่กับสังคมโลกมานาน เพราะมนุษย์ในทุกสังคมต้องการมีมิตร มีเพื่อน จึงมีการผูกมิตรกันในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนในสังคมอีสานนั้นสามารถค้นพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผูกเสี่ยวหรือการมีเสี่ยวได้ใน ๒ลักษณะคือ
          ๑. หลักฐานในวรรณคดี  ได้พบข้อความในวรรณคดีอีสาน กล่าวถึงคำว่าเสี่ยวอยู่หลายแห่ง เช่น
วรรณคดีเรื่อง พระลักพระราม  เป็นกลอน ๗ มีบั้นหนึ่งชื่อ พญาครุฑคึดฮอดเสี่ยว  กล่าวว่า
                   …“อันว่า   ปิตาพระ    พ่อพญาภายพุ้น
                        ฮ้อยว่า  จักไปหาเจ้า  สหายแพงเป็นเสี่ยว”...
           หรือเรื่อง กาฬะเกษ เป็นกลอน ๗ เช่นเดียวกัน ชื่อบั้น ครุฑซ่อยกุมภัณฑ์ กล่าวว่า
                   ...“สังเล่า    มาล่วงม้าง    พญากล้าพ่อพระองค์
                       กุมพลเจ้า    สุริวงศ์เป็นเสี่ยว”...
           นับเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่บอกว่า การผูกเสี่ยวในอีสานปรากฏมานานแล้ว แม้ในวรรณคดีอีสานยังกล่าวถึง
           ๒. หลักฐานในประวัติศาสตร์  จารุบุตร เรืองสุวรรณ (๒๕๓๕)  ได้กล่าวไว้ว่า “ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗)  ได้สำรวจประชาชนไทยที่มีวัน เดือน ปีเกิด ตรงกับวันพระราชสมภพ เพื่อขึ้นบัญชีเป็น “สหชาติ”  โดยเฉพาะในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ นั้น พระองค์ได้พระราชทานเหรียญมงคลเป็นที่ระลึกแก่ “สหชาต” คือ เพื่อร่วมวันเกิดของพระองค์ด้วย
           นอกจากนี้ในพงศาวดารล้านนาไทย ได้กล่าวถึง พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนมังราย พ่อขุนงำเมือง ได้จัดให้มีพิธีกรรมปฏิญาณตนเป็นสหายหรือเสี่ยวหรือเพื่อนร่วมสาบานกัน โดยการกรีดเลือดลงในจอกสุรา แล้วทรงดื่มเลือดของกันและกัน พร้อมกับกราบไหว้สิ่งศักด์สิทธิ์เทพยดาอารักษ์ให้เป็นสักขีพยานว่าจะรักสมัครสมานน้ำใจกัน ไม่ทำร้ายเบียดเบียนกัน สถานที่กษัตริยิ์ทั้งสามสาบานเป็นเสี่ยวกันและเอาหลังพิงกัน เรียกชื่อต่อมาว่า "แม่น้ำอิง" ตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่งของการผูกเสี่ยว

การผูกเสี่ยวแบบอีสาน
           ประเพณีผูกเสี่ยวเป็นวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาวอีสาน เพราะเป็นเครื่องนำจิตใจให้คนในสังคมมีความซื่อสัตย์ เสียสละ สามัคคี และจริงใจต่อกัน การผูกเสี่ยวเป็นประเพณีเก่าแก่ของอีสาน ซึ่งแสดงออกถึงความผูกพันอย่างลึกซึ้ง (สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์, ๒๕๓๕) ทำให้เกิดมิตรภาพต่อเนื่องกันยาวนานและไม่ขาดสาย ต่างหมู่บ้านก็อาจมีวิธีผูกเสี่ยวที่แตกต่างกันไป แต่ผลที่ต้องการก็เป้นอย่างเดียวกันคือ “มิตรภาพ”  ในสังคมอีสานสามารถประมวลวิธีผูกเสี่ยวได้ ๕ วิธี ดังนี้
           แบบแรก  เมื่อคู่เสี่ยวมาพร้อมกันแล้ว ผู้เป็นประธานจะนำมีดสะนาก (มีดหนีบหมากหรือสีเสียด) มาตั้งไว้กลางขันหมาก และถือว่ามัดสะนากเป็นหลักเป็นตัวเปรียบเทียบว่ามีดจะใช้ประโยชน์ได้ต้องมี ๒ ขา เหมือนคนเราจะมีชีวิตปลอดภัยเป็นมิตรกันในทุกแห่ง คนจะต้องมีเพื่อน จะอยู่คนเดียวโดเดี่ยวไม่ได้ แล้วทำพิธีผูกแขนให้คู่เสี่ยว
          แบบที่สอง  เมื่อคู่เสี่ยวมาพร้อมกันแล้ว ก่อนจะผูกเสี่ยวผู้เป็นประธานจะนำเกลือ พริก มาวางไว้ต่อหน้าคู่เสี่ยวในพิธี โดยให้เกลือกับพริกเป็นตัวเปรียบเปรยว่า เกลือมีคุณสมบัติคือเค็มไม่จืดจาง พริกเผ็ดไม่เลือกที่ เสี่ยวจะต้องมีลักษณะรักษาคุณสมบัติที่รักกันให้ตลอดไป เช่นเดียวกับเกลือที่รักษาความเค็ม และพริกที่มีความเผ็ด  แล้วทำพิธีผูกแขนให้คู่เสี่ยว
          แบบที่สาม   เป็นแบบที่ง่าย ๆ คือ เมื่อคู่เสี่ยวพร้อมแล้ว ผู้เป็นประธานก็จะผูกแขนให้คู่เสี่ยวและอวยชัยให้พร ใช้คำพูดเป็นหลักในการโน้มน้าวให้คู่เสี่ยวรักกันและกัน
          แบบที่สี่   เป็นแบบที่มีการจองคู่เสี่ยวกันไว้ก่อน หรือมีการพิจารณาดูเด็กที่รักกัน ไปไหนไปด้วยกัน หรือมีความสนิทสนมกัน ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจึงนำเด็กมาผูกเสี่ยวกันโดยการเห็นดีเห็นงามของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย โดยผู้เป็นประธานจะนำฝ้ายมาผูกแขนให้คู่เสี่ยวต่อหน้าบิดามารดาของคู่เสี่ยว ให้รับรู้กับความรักของเด็กทั้งสอง
          แบบที่ห้า    เป็นพิธีผูกเสี่ยวแบบผู้ใหญ่ คือ ผู้ใหญ่ที่รักกันมาตั้งแต่เด็กหรือชอบพอกัน เมื่อโตแล้วรับราชการด้วยกัน ทุรกิจร่วมกัน หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งที่ผูกพันกัน มีใจตรงกันว่าจะผูกเสี่ยว ก้ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ผูกแขนเป็นเสี่ยวกันให้ หรือผูกในพิธีผูกเสี่ยวที่จัดขึ้นเป็นกิจจะลักษณะก็ได้

เงื่อนไขการผูกเสี่ยว
           ส่วนมากจะถือเอาการเกิดปีเดียวกันเป็นหลัก แต่ถ้าเกิดปีต่างกันเล็กน้อย อายุไล่เลี่ยกัน หน้าตา ท่าทาง อุปนิสัยใกล้เคียงกัน ก็สามารถผูกเสี่ยวกันได้ ผู้ที่มีอายุต่างกันมาก ตามธรรมเนียมอีสานจะไม่ผูกเสี่ยวกัน เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นกัน เข้าทำนองไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง และการผูกเสี่ยวไม่ได้ห้ามคนต่างเพศ แต่นิยมกระทำในระหว่างเพศเดียวกัน เช่น ชายกับชาย หญิงกับหญิง  ทั้งนี้คงเป็นเพราะความสะดวกในการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน หากเป็นบุคคลต่างเพศ ความใกล้ชิดสนิทสนมในระหว่างกันตามประเพณีไทยเรามีขอบเขตจำกัด แต่เสี่ยวจะต้องไม่มีขอบเขตใดๆ มีขวางกั้น

ลักษณะของคู่เสี่ยว   ตามประเพณีอีสานมักเป็นดังนี้
          ๑. เป็นเพศเดียวกัน
          ๒. มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน
          ๓. มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน
          ๔. มีลักษณะนิสัยใจคอค่อนข้างจะเหมือนกัน

ภาระหน้าที่ของเสี่ยว
          ๑. ฮ่วมเป็นฮ่วมตาย  การร่วมเป็นร่วมตายเมื่อเพื่อนทุกข์ยากเดือดเนื้อร้อนใจ คู่เสี่ยวจะต้องคอยเอาใจใส่ สืบถามข่าวคราว และถ้าเป็นกรณีที่จะต้องเสียสละเข้าช่วยเหลือกัน ต้องทำอย่างเต็มความสามารถ ถึงขั้นตายแทนกันได้
          ๒. ไปมาหาต้อน  คู่เสี่ยวต้องมีการติดต่อส่งข่าวสารให้ทราบถึงกันเสมอมิได้ขาด มีการไปมาหาสู่กันและถือเป็นธรรมเนียมว่าต้องมี “ของต้อน” หรือของฝากติดมือไปด้วยเสมอ เพื่อแสดงน้ำใจไมตรีต่อกัน แม้จะเป็นของฝากเพียงเล็กน้อยก็ตาม
          ๓. ไปมาหาแวะ  ในบางครั้งแม้จะไม่ได้ตั้งใจไปเยี่ยมคู่เสี่ยวของตน แต่ถ้ามุระผ่านไปทางบ้านของเสี่ยว ก้จะต้องแวะหาอยู่เสมอ ถ้าไม่แวะก็จะหมางใจกันภายหลัง แม้ธุระจะร้อนรนเพียงใดก็ตาม ก็ต้องแวะหาเสี่ยวของตน และเมื่อคู่เสี่ยวทราบธุระร้อนนั้นก็จะทิ้งธุระของตนตามเสี่ยวไปทำธุระนั้นด้วย

พิธีผูกเสี่ยวของชาวอีสาน
           ตามธรรมเนียมอีสาน จัดทำพิธีแบบง่าย ๆ ไม่มีพิธีการตายตัว สิ่งสำคัญคือ ความจริงใจต่อกัน เมื่อบุคคลทั้งสองมีจิตใจตรงกัน ถูกใจพอใจกัน หรือถูกชะตาต้องใจกัน ทั้งสองคนจะทำความตกลงกันด้วยการ “ออกวาจา” หรือแสดงเจตนาที่จะเป็นเสี่ยวกันได้เลย โดยไม่มีพิธีกรรมอะไร แต่ส่วนมากมักจะมีพิธีกรรมเพื่อให้มีผลทางจิตใจ คือ การใช้ฝ้ายผูกแขนซึ่งกันและกันโดยมีข้าวปั้น ไข่หน่วย (ไข่ต้ม) แบ่งกันกินคนละครึ่ง และอาจจะมีการร่วมรับประทานอาหารและมีพิธีสู่ขวัญด้วยก็ได้ แต่ไม่นิยมสาบานด้วยการแช่งน้ำ
           สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องการผูกเสี่ยว ต้องขออนุญาตจากพ่อ-แม่ของตนก่อน ซึ่งพ่อ-แม่จะพิจารณาในเรื่องลักษณะท่าทาง อุปนิสัยใจคอ และอายุไล่เลี่ยกัน บางครั้งเด็กอาจไม่รู้จักกันเลย แต่ผู้ใหญ่เห็นสมควรว่าควรผูกเสี่ยวกันก็จะนำมาให้เป็นคู่เสี่ยว ถ้าคู่เสี่ยวไปผูกเสี่ยวกับคนอื่นอีก ทั้งสามคนก็จะเป็นเสี่ยวกันด้วย เรียกว่า  “เสี่ยวต่อเสี่ยว”  ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ ผู้ที่เป็นเสี่ยวจะไม่โกรธกัน ถึงแม้มีการหยอกล้อกันอย่างรุนแรงเพียงใด ก็จะถือว่าเป็นการแสดงความสนิทสนมกัน ตรงกันข้ามถ้าเป็นคนอื่นหยอกล้อกันแบบนี้ มักจะมีการโกรธและพูดว่า “ข่อยบ่แม่นเสี่ยวเจ้า อย่ามาล้อข่อยเล่น”

ประโยชน์ของการมีเสี่ยว
          ๑. ด้านสังคม  เป็นการสร้างสัมพันธภาพ ความรัก ความสามัคคี ความเข้าใจอันดีต่อมนุษยชาติ ให้ประชาชนมีความรักใคร่ นับถือ ช่วยเหลือจุนเจือซึ่งกันและกัน สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ และทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข
          ๒. ด้านเศรษฐกิจ   เมื่อประชาชนมีความรักใคร่นับถือ ซื่อสัตย์ต่อกัน ถึงกับเป็นเพื่อนตายกันแล้ว ย่อมช่วยเหลืออนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำงานในการที่จะพัฒนาอาชีพให้ดีขึ้น เป็นการลดช่องว่างระหว่างประชาชน อันเป้นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะประชาชนมีความรัก ความสามัคคี ความสำนึกรับผิดชอบ
          ๓. ด้านการเมืองและการสร้างความมั่นคงของชาติ  การผูกเสี่ยวเป็นการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามไว้ เป็นการปฏิบัติการเพื่อสร้างมวลชนให้เป็นกลุ่ม สร้างความรัก ความเข้าใจอันดีในหมู่ชนที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ซึ่งเป็นผลดีต่อการปฏิบัติการทางการเมืองและความมั่นคงของชาติ

ประเพณีผูกเสี่ยว จังหวัดขอนแก่น
           พิธีผูกเสี่ยวระดับจังหวัดที่จังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ในงานเทศกาลไหมจังหวัดขอนแก่น โดยการดำริของศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นประธานศูนย์ฯ ในขณะนั้น  ได้จัดงานประเพณีผูกเสี่ยวร่วมกันกับนายชำนาญ พจนา ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายจรินทร์ กาญจโนมัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และนายอุดม บัวศรี รองประธานศูนย์วัฒนธรรมอีสานในขณะนั้น  โดยได้แนวความคิดมาจากการจัดประเพณีผูกเสี่ยวของกิ่งอำเภอเปือยน้อย จัดโดยนายเลื่อน รัตนมงคล หัวหน้ากิ่งอำเภอเปือยน้อยในขณะนั้น
           การจัดประเพณีผูกเสี่ยวในเทศกาลงานไหมที่จังหวัดขอนแก่นนี้ ได้ประยุกต์วิธีผูกเสี่ยว ๕ วิธีดังกล่าวข้างต้น มาจัดให้ยิ่งใหญ่และเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยผนวกเอาพิธีกรรมต่างๆ เข้ามาด้วย เพื่อทำให้ประเพณีผูกเสี่ยวยิ่งใหญ่และมีความหมายยิ่งขึ้น ดังนี้
          ๑. มีการให้คู่เสี่ยวจองการผูกเสี่ยว โดยหาคู่เสี่ยวมาเอง
          ๒. ให้อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น ส่งคู่เสี่ยวจากอำเภอเข้าร่วมพิธีผูกเสี่ยว
          ๓. มีพ่นบายศรีที่ใหญ่โต เป็นพานหลัก มีพราหมณ์ หรือหมอสูตรขวัญ มีการรำบายศรีก่อนจะทำพิธี และมีการมอบเกียรติบัตรแก่คู่เสี่ยว
          ๔. มีการจัดประกวดพานบายศรี
          ๕. มีการจัดเลี้ยงแบบ “พาแลง” ขึ้นในงานผูกเสี่ยว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองคู่เสี่ยว
          ๖. มีผู้หลักผู้ใหญ่ เช่น รัฐมนตรี หรือผู้แทน มาเป็นประธานในพิธี และนำผูกแขนคู่เสี่ยว
          ๗. มีพระสงฆ์ มาร่วมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความสวัสดิมงคลต่อคู่เสี่ยว
          ๘. จัดให้มีแขกมงคลเป็นผู้ผูกแขนคู่เสี่ยวและมีแขกผู้มีเกียรติร่วมอวยพร  

          ในการจัดพิธีผูกเสี่ยวครั้งแรกนี้ได้คู่เสี่ยว ประมาณ ๕๐๐ คู่ หรือ ๑,๐๐๐ คน จาก ๑๕ อำเภอ และ ๔ กิ่งอำเภอ ในเขตการปกครองของจังหวัดขอนแก่น การผูกเสี่ยวได้มีการเลือกบุคคลที่มีบุคลิกภาพ ทัศนคติ อารมณ์ จิตใจที่คล้ายคลึงกันมาผูกเสี่ยวกัน มีการจัดขบวนแห่คู่เสี่ยวพร้อมทั้งมีการประกวดพานบายศรี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียนเทศบาลสวนสนุก แห่มาตามถนนกลางเมือง และมาทำพิธีผูกเสี่ยวที่ศาลาประชาคม ใกล้ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเป็นประธานในพิธี (วิไลวัจส์ กฤษณะภูติ, ๒๕๓๕ : ๓๔)

          พิธีผูกเสี่ยวระดับจังหวัดที่จังหวัดขอนแก่นได้เว้นช่วงไประยะหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จังหวัดขอนแก่นจึงได้จัดพิธีผูกเสี่ยวขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๔ มีคู่เสี่ยวมาร่วมในพิธี ประมาณ ๓๕๐ คู่ หรือ ๗๐๐ คน จากอำเภอละ ๒๐ คู่ และจากกิ่งอำเภอละ ๑๐ คู่ และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นมา ทางจังหวัดขอนแก่นได้จัดพิธีผูกเสี่ยวระดับจังหวัดเป็นประจำทุกปีจนกลายเป็นประเพณี (วิไลวัจส์ กฤษณะภูติ, ๒๕๓๕ : ๓๗)

                                                                                      

 

วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดประเพณีผูกเสี่ยวที่จังหวัดขอนแก่น
          ในการจัดประเพณีผูกเสี่ยวที่จังหวัดขอนแก่นในปีแรก มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ประการคือ
          ๑. เพื่อให้คนในชาติเข้าใจคำว่า “เสี่ยว” อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
          ๒. เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ ประเพณีอันดีงามของอีสานไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
          ๓. เพื่อปลุกเร้าให้คนในชาติตระหนักถึงความเป็นมิตรกัน และผูกเสี่ยวกันในโอกาสต่างๆ
          ๔. เพื่อนำค่าแห่งมิตรภาพไปร่วมพัฒนาประเทศชาติ และขยายผลการผูกเสี่ยวไปสู่คนในชาติให้มากที่สุด

จำนวนคู่เสี่ยว
          การผูกเสี่ยวในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นปีแรก มีจำนวนคู่เสี่ยว ๒๐๐ คู่  ปีต่อ ๆ มาได้ถือเอาจำนวน ๑๐๐ คู่เป็นหลัก และต่อมาได้ถือเอาโอกาสอันควรเป็นตัวเลขกำหนดคู่เสี่ยว เช่น คู่เสี่ยว ๙๐ คู่ เนื่องในโอกาส ๙๐ พรรษาสมเด็จย่า  คู่เสี่ยว ๖๐ คู่ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนพรรษาครบ ๕ รอบ เป็นต้น แต่เฉลี่ยแล้วมีคู่เสี่ยว ปีละประมาณ ๑๐๐ คู่  ในปีต่อมาทางจังหวัดขอนแก่นเห็นว่าเป็นประเพณีอันดีงามและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีสาน จึงได้สืบสานต่อมาและจัดเป็นประเพณีผูกเสี่ยวในเทศกาลงานไหมเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา คณะกรรมการจัดงานเทศกาลงานไหมและประเพณีผูกเสี่ยว ได้จัดให้มีการผูกเสี่ยวทุกคืน ซึ่งมีผู้สนใจมาผูกเสี่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว สำหรับประเพณีผูกเสี่ยวในเทศกาลงานไหม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ทางจังหวัดขอนแก่นได้คัดเลือกคู่เสี่ยวเอก จำนวน ๙ คู่มาร่วมในพิธีเปิดงาน และเปิดรับลงทะเบียนคู่เสี่ยวทั่วไป จำนวน ๘๓ คู่ เพื่อให้เป็นเลขมงคลเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เจริญพระชนมายุครบ ๘๓ พรรษา  ซึ่งจะมีพรามหณ์มาประกอบพิธีผูกเสี่ยวให้กับคู่เสี่ยวเพื่อเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกคืน

ดูเพิ่มเติม

งานเทศกาลไหม   

แหล่งอ้างอิง
จารุบุตร เรืองสุวรรณ.  (๒๕๓๕).  เสี่ยว.  ใน ที่ระลึกผูกเสี่ยว ๓๕ เทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดขอนแก่น.  (หน้า ๒๓-๒๗).  ขอนแก่น: ศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

นรินทร์ สมบูรณ์,วัชรินทร์ ศรีรักษา และจิราภรณ์ วุฒิพันธุ์.  (๒๕๕๓).  ศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สาระนาฏศิลป์วิชาเลือกนาฏศิลป์พื้นเมืองเรื่อง ประเพณีผูกเสี่ยวจังหวัดขอนแก่น โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบย้อนกลับ (Backward design) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนนครขอนแก่น.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

วิไลวัจส์ กฤษณะภูติ.  (๒๕๓๕).  เสี่ยวเพื่อนรัก.    ใน ที่ระลึกผูกเสี่ยว ๓๕ เทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดขอนแก่น.  (หน้า ๓๓-๓๗).  ขอนแก่น: ศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  (๒๕๓๘).  ประเพณีผูกเสี่ยว.  วารสารศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง.   ๓, ๑ (มกราคม-เมษายน),  ๑-๓.

สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์.  (๒๕๓๕).  ประเพณีผูกเสี่ยว.    ใน ที่ระลึกผูกเสี่ยว ๓๕ เทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดขอนแก่น.  (หน้า ๒๙-๓๑).  ขอนแก่น: ศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 



ลิขสิทธิ์ © 2012 สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม
หมวดหมู่อื่น ๆ
document การละเล่นสะบ้าในประเพณีตรุษไทยภูผาม่าน
document หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคล
document ประเพณีบุญบั้งไฟ อำเภอกระนวน
document พระพุทธรูปโบราณ อำเภอซำสูง
document การศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอำเภอชนบทจังหวัดขอนแก่น
document ความเชื่อเรื่องผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอีสาน
document สิม
document ศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนหมู่บ้านอีสานจากอดีตถึงปัจจุบัน
document เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอีสานหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน (2488-2544)
document เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานใต้ : ความอยู่รอดของชุมชนท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง
document ข้อมูลวัด จังหวัดขอนแก่น
document บุคคลสำคัญทางศาสนา จังหวัดขอนแก่น
document ประเพณีแต่งงานชาวอีสาน (ประเพณีกินดอง)
document รายงานการวิจัยเรื่องศักยภาพของชุมชนอีสาน : กรณีศึกษาบ้านฝาง
document การผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องศิลปวัฒนธรรมในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีว ิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตอน ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
document การสำรวจสถานภาพองค์ความรู้เบื้องต้นจากงานวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธ รรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในภาคอีสาน พ.ศ. 2500-2545
document คติชน : คุณค่าในการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกม่วง
document ความสัมพันธ์หญิงชายภายใต้กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
document ทัศนคติของชาวชนบทอีสานต่อการทำบุญ
document ประเพณี คติความเชื่อมีอิทธิพลต่องานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน
document ประเพณีผูกเสี่ยว
document พฤติกรรมการทำบุญของชาวพุทธในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
document รายงานการวิจัยเรื่องทัศนคติของชาวชนบทอีสานต่อการทำบุญ
document รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องรูปแบบศิลปวัฒนธรรมประเพณีการฟ้อนแห่ต้นดอกไม้ : กรณีศึกษาบ้านอาฮี หมู่ที่ 1,6 ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
document รายงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานห้าทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2488-2543) : กรณีศึกษาบ้านบัว จังหวัดสกลนคร
document รายงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานห้าทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2488-2543) : กรณีศึกษาบ้านโนนม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด
document รายงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานห้าทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2488-2544) : กรณีศึกษาบ้านวังสวาบ จังหวัดขอนแก่น
document วัฒนธรรมอีสานกับการพัฒนา
document วิถีครอบครัวและชุมชนชาติพันธุ์ไทยโย้ย บ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
document รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาโครงสร้างชุมชนชาติพันธุ์ผู้ไทย บ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
document ความเชื่อเรื่องปู่ตาตะกวดกับวิถีชีวิตของชาวกูยบ้านตรึม ตำบลตรึม อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
document ประเพณีและเทศกาลจังหวัดขอนแก่น
document วัดป่าบ้านตาด
document วัดถ้ำกลองเพล
document วัดบูรพาภิราม
document หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง
document วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
document วัดถ้ำแสงเพชร
document ประเพณีบุญพระเวส หรือบุนพะเหวด
document คติชน : คุณค่าในการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกม่วง
document พระมงคลมิ่งเมือง (พระยืน)
document รายงานการวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องเจ้าพ่อมอดินแดง : ความเชื่อของนักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น หมู่ 16 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
document วัดพระบาทภูพานคำ
document ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง
document สิม (โบสถ์) 2
document สิม (โบสถ์) 1
document หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคล
document ตำราปลูกเฮือน ฉบับวัดบ้านดอนยม ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document ตำราปลูกเฮือน ฉบับสำนักสงฆ์อิสระธรรมวิเวก บ้านคกเหลี่ยน-หนองขอน ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
document คาถา ต้นฉบับวัดศรีเวียงชัย บ้านดอนเวียงจันทน์ ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document คติชน : คุณค่าในการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกม่วง
document ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ของชาวบ้านศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านโนนอำนวย อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ และหมู่บ้านทุ่งสว่าง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
document ฒ ผู้เฒ่าต้องมอง
document การบริโภคสุนัขในจังหวัดสกลนคร
document การปรับตัวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทแดง บ้านโพนทอง เมืองนาทรายทอง นะคอนหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
document การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมหญิงไทยกับชายญี่ปุ่น
document บทบาทของวัดต่อชุมชนในชนบท จังหวัดขอนแก่น
document ความสัมพันธ์หญิงชายภายใต้กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
document เจ้าโคตร : ผู้เว้าแล้วแล้วโลด
document ปราสาทขอมหายไปไหน? เขมรทำลายหรือใครกันแน่
document ภูมิปัญญาพื้นบ้านศาลผีปู่ตา อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น.
document ลำส่องที่พึ่งสุดท้ายของผู้ป่วยในภาคอีสานจริงหรือ?
document สรภัญญ์ : ภูมิปัญญาชาวบ้านกับบทบาทในสังคมอีสาน
document รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ : คติสัญลักษณ์ของพื้นที่และการจัดการใช้พื้นที่ของวัดในชุมชนหมู่บ้านผู้ไท
document พุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม
document รายงานการวิจัยเรื่องวิเคราะห์ความเข้าใจในหลักพุทธธรรมของพระสงฆ์ในเขตอำเภอเมืองขอ นแก่น จังหวัดขอนแก่น
document วิเคราะห์การทำบุญของคนไทยภายใต้ระบบสังคมบริโภคนิยม
document สรภัญญ์ เพลงขับเพื่อศาสนาและจริยธรรม
document วันสงกรานต์
document การปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ : การเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อดั้งเดิมอีสานกับความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่
document คติความเชื่อและระบบสังคมกับการปลูกสร้างเรือนพื้นบ้านและชุมชนผู้ไท
document คติชนวิทยาที่พบในงานของนักเขียนไทยสมัยรัตนโกสินทร์
document ประเพณีตักบาตรเทโว
document ศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สาระนาฏศิลป์ วิชาเลือกนาฏศิลป์พื้นเมือง เรื่อง ประเพณีผูกเสี่ยวจังหวัดขอนแก่น โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบย้อนกลับ(Backward Design) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนนครขอนแก่น
document ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า ขอนแก่น
document งานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น
document บุญกฐิน
document ประเพณีขึ้นเฮือนใหม่
document บุญข้าวจี่หรือบุญเดือน ๓
document เบื้องลึกเบื้องหลังพระธาตุนาดูน
document ประวัติวัดศรีคุณเมือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
document ฮีตสิบสอง
document วันสงกรานต์
document วันมาฆบูชา



RSS