มุมอีสานสนเทศ
ค้นหา:     ค้นหาขั้นสูง
เลือกดูตามหมวดหมู่:
English Version

นกจอกน้อย เนื้อหาบทความ

นกจอกน้อย

แสดงผล: 326
ลงคะแนน: 0
วันที่สร้าง: 28 Sep, 2010
ผู้สร้าง : นายิกา N.
วันที่ปรับปรุง : 06 Oct, 2010
ผู้แก้ไขปรับปรุง : นายิกา N.

นิทานเรื่อง นกจอกน้อย หรือ นกกระจอก นี้ เป็นวรรณคดีเก่าแก่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะแต่งขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้แต่ง ไม่มีหลักฐานปรากฎ แต่สำนวนโวหารนั้นเมื่ออ่านแล้วไพเราะจับใจ เป็นมรดกทางวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานอีกเรื่องหนึ่งที่เคยเป็นที่นิยมชื่นชอบของชาวอีสานในอดีต มีการนำเอานิทานเรื่องนี้มาเทศน์ มาอ่าน ตลอดถึงนำมาแสดงขับลำแบบพื้นบ้าน ซึ่งเรียกว่า หมอลำ ทั้งแบบลำกลอน และลำเรื่องต่อกลอนมาหลายยุคหลายสมัย ถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานคลาสสิค

นิทานเรื่องนี้มีหลายฉบับ แต่ฉบับที่มุมอีสานสนเทศคัดมาบันทึกในฐานข้อมูลนี้ มี ๒ ฉบับ คือ ฉบับที่ชื่อว่า นกกระจอก (ท้าววรกิต-นางจันทะจร) ปริวรรตโดย พระอริยานุวัตร (อารีย์) เขมจารี ศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ต้นฉบับมาจากวัดเกษรเจริญผล บ้านมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม  

และอีกฉบับคือ ฉบับที่โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย สมัย วรรณอุดร ได้ปริวรรตมาจากต้นฉบับคัมภีร์ใบลานวัดโพธิ์ศรี บ้านลาด ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จารด้วยตัวอักษรไทยน้อย จำนวน ๕๑ ลาน หรือ ๑๐๒ หน้าลาน โดยท่านเจ้าอาวาสได้มอบต้นฉบับให้กับมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อปริวรรตและเผยแพร่

นิทานเรื่องนกจอกน้อย ของชายซะเลน้อย จารโดย พระครูจุลา จากเอกสารใบลานฉบับวัดโพธิ์ศรี บ้านลาด ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ปริวรรตและเรียบเรียงโดย สมัย วรรณอุดร โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ความว่า

        ในอดีตกาลยังมีนกกระจอกน้อยผัวเมียคู่หนึ่ง ทำรังอาศัยอยู่ในหนวดของพระฤาษีอย่างมีความสุข ทุกวันนกตัวผู้จะออกไปหาเหยื่อ ส่วนตัวเมียกกไข่อยู่ในรัง วันหนึ่งแม่นกฟักไข่ พ่อนกก็ออกไปหาเหยื่อตามปกติและไปที่สระบัวแห่งหนึ่ง พ่อนกมัวแต่หาเหยื่อในดอกบัวเพลินจนพลบค่ำ ดอกบัวก็หุบทำให้พ่อนกออกมาจากดอกบัวไม่ได้ ต้องรอดอกบัวบานในวันรุ่งขึ้นจึงออกมาได้และรีบบินกลับรังทันที ฝ่ายแม่นกคิดว่าผัวนอกใจไปมีเมียใหม่ จึงได้ทะเลาะกัน ตัวผู้ได้สาบานแสดงความซื่อสัตย์ต่อเมียว่า หากตนคิดมีชู้นอกใจเมีย ขอให้เป็นบาปเป็นกรรมอันร้ายแรงตัวเท่ากับพระฤาษี ขอให้ตกนรกอยู่ในอเวจี ฝ่ายพระฤาษีได้ยินนกผัวเมียถกเถียงสาบานกันก็โกรธมาก จึงไล่นกคู่นั้นให้ไปอยู่ที่อื่น นกกระจอกผัวเมียคู่นั้นจึงย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยไปอาศัยอยู่ป่าละเมาะแห่งหนึ่ง  อยู่มาวันหนึ่งไฟป่าเกิดลุกไหม้ และลามเข้ามาใกล้รังของนกกระจอกคู่นี้ แม่นกได้ขอคำสัญญาจากพ่อนกว่า ถ้าไฟไหม้มาถึงรังทั้งคู่จะไม่ยอมไปไหนจะยอมตายด้วยกันที่รังแห่งนี้พร้อมลูกน้อย  ถ้าใครผิดคำมั่นสัญญาไม่ว่าชาติไหนจะไม่ยอมพูดกับเพศตรงข้ามอีกต่อไป พ่อนกรับคำตามสัญญานั้น ในที่สุดไฟป่าก็ลุกลามมาถึงรังนก พ่อนกเห็นจวนตัวคิดว่าอยู่ไปก็ตายเปล่า จึงผิดสัญญารีบหนีเอาตัวรอดแต่ก็ไปไม่รอดถูกไฟคลอกตาย ส่วนตัวเมียยอมตายในกองเพลิงพร้อมลูกน้อย
         ชาติต่อมา นกกระจกตัวผู้เกิดเป็นโอรสของเจ้าเมืองแห่งหนึ่งนามว่า ท้าววรจิต ส่วนตัวเมียได้เกิดเป็นธิดาของเจ้าเมืองอีกแห่งหนึ่งนามว่า 
จันทะจร นับตั้งแต่นางเกิดมา นางไม่ยอมพูดกับชายใดเลยแม้แต่พระบิดาของนางเอง  พระบิดาของนางมีความทุกข์ใจเป็นหนักหนา จึงได้ประกาศไปว่า  ถ้าใครสามารถทำให้ธิดาของตนพูดกับผู้ชายได้ หรือว่านางพูดกับชายใดก็จะยกนางให้และยกเมืองให้ปกครอง แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำได้ ท้าววรจิตได้ยินข่าวนั้นจึงได้ไปเรียนวิชาถอดจิตกับพระฤาษี แล้วจึงกลับไปอาศัยอยู่กับย่าจำสวน แล้วจึงให้ย่าจำสวนพาไปอาสาพูดกับนางจันทะจร โดยถอดจิตไว้กับหมอน แล้วพูดกับหมอนถึงเรื่องราวต่าง ๆ ตอนสุดท้ายได้พูดถึงผู้หญิงต้องเสียเปรียบและพ่ายแพ้ผู้ชายตลอด และท้าววรจิตจำเรื่องราวอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นนกกระจอกได้ จึงได้นำเรื่องนกกระจอกในอดีตชาติของตนมาเล่าให้หมอนฟัง แต่ตอนจบเรื่องแกล้งเล่าให้ผิดว่า นกตัวเมียบินหนีไฟป่าไปก่อน ปล่อยให้ตัวเองกับลูกน้อยถูกไฟคลอกตาย คำพูดดังกล่าวแทงใจดำของนางซึ่งระลึกชาติได้เช่นกัน ทำให้นางโกรธมาก จึงพูดโต้แย้งออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจว่า เรื่องที่ท้าววรจิตพูดนั้นไม่เป็นความจริง  เมื่อพูดเพียงเท่านั้นเหล่าเสนาอำมาตย์ที่แอบดูเหตุการณ์อยู่ก็เอาฆ้องกลองมาตีเสียงดังสนั่นก้องเป็นสัญญาณว่านางจันทะจรได้พูดกับผู้ชายแล้ว พระบิดาของนางจึงอภิเษกสมรสนางกับท้าววรจิตพร้อมทั้งยกราชสมบัติให้ท้าววรจิตปกครองเมืองต่อไป และทั้งคู่ก็ครองรักปกครองไพร่ฟ้าประชาชนอยู่อย่างศานติสุข

เอกสารอ้างอิง

พระอริยานุวัตร (อารีย์) เขมจารี.  (๒๕๑๓).  นกกระจอก (ท้าววรกิต-นางจันทะจร).  ขอนแก่น: โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์.

สมัย วรรณอุดร.  (๒๕๕๑).  นกจอกน้อย.  มหาสารคาม: อภิชาติการพิมพ์.

 



ลิขสิทธิ์ © 2012 สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม
หมวดหมู่อื่น ๆ
document รายงานการวิจัยเรื่องการสร้างโฮโลแกรมของตัวพยัญชนะไทยและตัวเลขไทยด้วยคอมพิวเตอร์
document หนังสือก้อม
document ขูลู-นางอั้ว : เมื่อผีแพ้พุทธ
document ธรรมดาสอนโลก ฉบับวัดมงคลเทพประสิทธิ์ บ้านโนนสัง ตำบลหนองบอน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
document ปู่สอนหลาน ฉบับวัดสระทอง บ้านทัน ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document สอนหญิง สอนชาย ฉบับวัดสระทอง บ้านทัน ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document ธรรมดาสอนโลก ฉบับวัดสระทอง บ้านทัน ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document คาถา ต้นฉบับวัดศรีเวียงชัย บ้านดอนเวียงจันทน์ ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document วรรณกรรมอีสาน
document คำลงท้ายในภาษาถิ่นจังหวัดขอนแก่น
document รายงานการวิจัยเรื่องคำลงท้ายในภาษาถิ่นจังหวัดขอนแก่น
document รายงานการวิจัยเรื่องภูมิศาสตร์คำศัพท์จังหวัดเลย
document รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาสถานภาพองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบคิดผ่านงานวรรณกรรมลุ่ มน้ำโขง
document รายงานการวิจัยเรื่องปริศนาคำทายอีสาน
document รายงานการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เรื่องจริยศาสตร์ในวรรณคดีนิทานอีสาน
document การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ในกลอนลำเรื่องร่วมสมัย (พ.ศ.2537-2543)
document ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมลาว
document สินไซ : ในบริบทวัฒนธรรมสาธารณะของเทศบาลนครขอนแก่น
document พญาคำกอง
document รายงานการวิจัยเรื่องการตีความผญาอีสานเชิงปรัชญา
document รายงานการวิจัยเรื่องคติชาวบ้านในวรรณกรรมของนักเขียนไทยในช่วง พ.ศ. 2325-2536



RSS