มุมอีสานสนเทศ
ค้นหา:     ค้นหาขั้นสูง
เลือกดูตามหมวดหมู่:
English Version

ความเชื่อเรื่องผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอีสาน เนื้อหาบทความ

ความเชื่อเรื่องผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอีสาน

แสดงผล: 1405
ลงคะแนน: 0
วันที่สร้าง: 23 Feb, 2010
ผู้สร้าง : นายิกา N.
วันที่ปรับปรุง : 29 Dec, 2011
ผู้แก้ไขปรับปรุง : นายิกา N.

          การทอและการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ของคนอีสานในสมัยก่อนและปัจจุบัน จะแฝงไว้ด้วยความเชื่อทุกขั้นตอน  โดยจะมีความเชื่อตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปจนถึงการทอและการใช้ผ้าไหม ซึ่งผู้เลี้ยงไหมมีความเชื่อว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในวันที่เป็นมงคลจะทำให้ได้ผลผลิตดีและจะทำให้ไม่มีปัญหาในการทอ กล่าวคือ ทอได้ตลอดไม่ติดขัดหรือขาดตอน  ส่วนในกลุ่มผู้ทอยังมีข้อห้ามหลายประการที่เป็นความเชื่อต่อ ๆ กันมา  ได้แก่  ห้ามไม่ให้เด็กโหนกี่  ห้ามนั่งข้างช่างทอผ้า  ห้ามหญิงมีครรภ์ทอผ้า  นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ผ้าไหม  โดยคนอีสานเชื่อว่า ผ้าถุงผู้หญิงที่นุ่งแล้วทำให้อาคมเสื่อม   ผ้าถุงใหม่ของผู้หญิงใช้เป็นผ้าหุ้มห่อหนังสือใบลานได้   ผ้าถุงมัดหมี่ไม่นิยมทำหมอน ที่นอน และอาสนะของพระ   ข้อห้ามเหล่านี้เป็นการสั่งสอนบุตรหลานไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษ ซึ่ง คำประเคียน โพธิ์เพชรเล็บ (2545)   ได้ศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการทอและการใช้ผ้าไหมมัดหมี่  พบลักษณะความเชื่อในด้านต่าง ๆ  เช่น  ด้านศาสนา  โชคลาง  ขนบธรรมเนียมประเพณี  พิธีกรรมและข้อห้าม  ความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันมา  ซึ่งจะกล่าวในแต่ละประเด็น ดังนี้

ความเชื่อเกี่ยวกับการทอผ้าไหม
          การทอผ้าไหมของชาวอีสานส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการทอแบบดั้งเดิม  กล่าวคือ  ใช้อุปกรณ์ในการทอแบบโบราณประกอบด้วย โครงกี่หรือโครงหูกหรือกี่พื้นบ้าน  ฟืมหรือฟันหวี  เขาหูกหรือตะกอ  กระสวย  คานเหยียบ  บ่ากี่  ไม้นั่ง  ไม้แกนม้วนผ้าคานแขวน  ผังหรือสะดึงสำหรับตึงผ้าเวลาทอ  เมื่อเตรียมอุปกรณ์ครบทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ช่างทอผ้าจะเริ่มทอผ้าโดยใช้มือในการพุ่งกระสวยให้เส้นใยไปขัดกับเส้นไหมเครือโดยตรง  การทอผ้าจะต้องใช้ความละเอียดละออและพิถีพิถันมาก เมื่อพุ่งกระสวยไปแต่ละครั้งต้องดูว่าลายแต่ลายตรงกันกับที่มัดหมี่ไว้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงก็ต้องจัดให้ตรงแล้วจึงทอใหม่ได้

อุปกรณ์การทอผ้าไหม


          สำหรับความเชื่อและข้อห้ามเกี่ยวกับการทอผ้าไหม ซึ่งยังยึดถือกันมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ได้แก่  ห้ามเด็กห้อยโหนบนราวกี่ในขณะที่ทอ  เพราะแรงโยกของเด็กที่ห้อยโหนบนราวกี่นี้จะทำให้การทอผ้าไม่สวยงาม และเป็นการเสียเวลาของผู้ทอที่จะต้องบอกเด็ก  ห้ามไม่ให้คนนั่งข้างคนทอผ้า ถ้ากระสวยถูกจะไม่ได้แต่งงาน ที่ห้ามในลักษณะนี้ก็เพื่อไม่ให้คนมานั่งกีดขวางเวลาสอดกระสวยหรือพุ่งกระสวยซึ่งจะทำให้คนทอทอผ้าไม่ถนัด เนื่องจากมีคนมานั่งข้าง ๆ  คนในสมัยก่อนท่านจึงห้ามไว้  ห้ามไม่ให้ชวนคุยเพราะคนทอผ้าจะต้องใช้สมาธิในการทอ โดยเฉพาะการทอผ้ามัดหมี่ต้องพิถีพิถันอย่างมาก  ห้ามไม่ให้หญิงหรือชายนั่งบนไม้คานเข้าหูกหรือกี่ทอผ้าด้วยเกรงว่าหูกหรือกี่ทอผ้าจะพังหรือเอียงด้านใดด้านหนึ่งหรือจะทำให้ผู้ทอพุ่งกระสวยไม่ถนัดทำให้การทอผ้าเสร็จช้ากว่ากำหนด  การห้ามในลักษณะนี้เป็นการสั่งสอนที่เฉลียวฉลาดซึ่งในสมัยก่อนจะไม่บอกกันตรง ๆ ให้ผิดใจกัน  นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ตัดผ้าออกจากหูกขณะที่ทอยังไม่เสร็จเพราะการทอผ้าแต่ละครั้งจะต้องมีผ้ามาต่อพันกันให้แน่นเพื่อยึดเครือหูกไว้ในเวลาทอ แต่สมัยปัจจุบันเลิกเชื่อเรื่องนี้แล้วทอเสร็จผืนไหนถ้าลูกค้าต้องการก็จะตัดให้ทันที

ความเชื่อในการย้อมสีไหม
           ในการย้อมสีไหมแต่ละครั้ง ผู้ย้อมจะมีความเชื่อว่าเวลาย้อมสีจะต้องมีสถานที่มิดชิด ห้ามพระสงฆ์เดินผ่านจะทำให้สีไม่ติดเส้นใย  ที่ห้ามในลักษณะนี้ อาจเป็นเพราะว่าคนสมัยก่อนมีความเคารพและศรัทธาในพระสงฆ์มาก เวลาพระสงฆ์เดินผ่านเขาจะนั่งพนมมือ แม้ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม สาเหตุนี้จึงทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ห้ามหรือไม่ทำการย้อมสีไหมในขณะพระสงฆ์เดินผ่าน  นอกจากนี้ยังห้ามย้อมสีไหมในวันพระเพราะจะทำให้สีไม่ติดเส้นใย  ที่ห้ามเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าในสมัยก่อนคนอีสานเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทุกวันพระทุกคนจะต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ถ้าคนใดย้อมสีในวันนี้จะเกิดความกังวลใจว่าตนไม่ได้ไปวัดเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรมในวันพระ ทำให้ย้อมสีได้ไม่เต็มที่และย้อมได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้สีไม่ติดและไม่สวยงามเท่าที่ควร


           การย้อมสีไหมในสมัยก่อนใช้สีธรรมชาติซึ่งได้มาจากส่วนต่าง ๆ ของพืช  เช่น เปลือก ใบ ราก ผล  มีขั้นตอนการเตรียมน้ำย้อมโดยการ ตำ ต้ม แช่หรือหมัก  น้ำสีที่ใช้ย้อมเรียกว่าสีสมุนไพร  ดังนี้
                สีแดง    ได้จาก   ดอกคำฝอย ลูกยอ ครั่ง สะเดา
                สีน้ำเงิน หรือสีคราม   ได้จาก    ต้นคราม
                สีเหลือง   ได้จาก    แก่นขนุน  ขมิ้น แก่นเข  รากต้นสะกือ  ลูกมะหาด ดอกดาวเรือง
                สีดำ    ได้จาก    ลูกกระจาก ลูกมะเกลือ สมอไทย
                สีชมพู   ได้จาก    ต้นมหากาฬ ต้นฝาง
                สีน้ำตาลแก่   ได้จาก     เปลือกไม้โกงกาง
                สีม่วง ได้จาก ดอกอัญชัน  สีม่วงอ่อน   ได้จาก    ลูกหว้า
                สีกากีแกมเขียว  ได้จาก     เปลือกเอกา  แก่นขนุน
                สีกากีแกมเหลือง  ได้จาก  แก่นแกแล
                สีเขียว    ได้จาก    ใบหูกวาง เปลือกมะริด เปลือกสมอ เปลือกกระหูด
                สีส้ม  ได้จาก  ดอกทองกวาว
                สีเหลืองทอง  ได้จาก  เปลือกมะม่วง 
             

                                                                      สีเหลืองจากดอกดาวเรือง                  สีส้มจากดอกทองกวาว

สีม่วงจากดอกอัญชัน                                  สีเหลืองทองจากเปลือกมะม่วง

                ปัจจุบันไม่นิยมย้อมสีธรรมชาติในการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ เนื่องจากมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลาในการเตรียมน้ำย้อมนาน อีกทั้งวัตถุดิบก็หายาก

               ผู้ผลิตผ้าไหมในปัจจุบันจึงหันมาย้อมสีวิทยาศาสตร์หรือสีเคมีแทน ซึ่งมีสีต่าง ๆ มากมายให้เลือกทั้งแม่สีและสีผสม  ส่วนใหญ่เป็นสีที่มีราคาแพงมีความคงทนต่อการซักฟอกและแสงแดดได้ดี  อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่นิยมใช้ผ้าไหมที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ  จึงมีผู้ผลิตบางรายที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์นี้ไว้จนถึงปัจจุบัน  ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับลายผ้าไหม
           จากการสัมภาษณ์ผู้รู้เกี่ยวกับลายผ้าไหม ได้ข้อมูลตรงกันว่า ลายที่นำมาทำเป็นผ้ามัดหมี่นั้น เกิดจากสิ่งต่าง ๆ  ดังนี้
          1. ลายจากความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม  ได้แก่
               1.1 ลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมไทย  เป็นลายผ้าไหมที่สวยที่สุดและแพงที่สุดในโลก ทอโดย นายสุรมนตรี ศรีสมบูรณ์  แสดงออกถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมไทย  โดยใช้สัญลักษณ์แทน ดังนี้
                    ชาติ    สัญลักษณ์ มวลรวมทั้งหมด
                    ศาสนา   สัญลักษณ์ พระธาตุพนม
                    พระมหากษัตริย์ สัญลักษณ์ ตราครุฑ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และบุษบก อันหมายถึง ตราของแผ่นดิน พระที่นั่ง ที่ใช้เป็นที่ครองราชย์และมีบุษบก เป็น ที่ประทับในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ
                    วัฒนธรรมไทย สัญลักษณ์ การขับร้อง การฟ้อนรำ
                1.2 ลายพระธาตุพนม   พระธาตุพนมเป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านมาช้านาน  นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญของพุทธศาสนาในเขตลุ่มน้ำโขง  ตั้งอยู่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม  ผู้ที่คิดสร้างสรรค์ลายนี้ขึ้นมาเพื่อสักการะบูชาพระธาตุพนม   ผ้าไหมที่ผลิตขึ้นมานี้จะไม่นำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มเพราะถือว่าเป็นของสูง แต่จะนำผ้านี้มาไว้โชว์หรือไว้เคารพกราบไหว้ในที่สูง
                1.3 ลายหอปราสาท  ความเชื่อของชาวบ้านว่า ปราสาทเป็นที่ที่ผู้มีวาสนาหรือผู้มีบุญอาศัยอยู่ เช่น พระเจ้าแผ่นดินและพระสงฆ์  คนสามัญธรรมดาจะอาศัยอยู่ไม่ได้  ฉะนั้นเวลาชาวบ้านจะทอผ้าไปถวายพระ หรือผู้มีบุญญาธิการจะต้องทอด้วยลายนี้ ทั้งนี้เพราะว่าชาวบ้านจะได้รับบุญกุศลไปด้วย ลายหอปราสาท มีการทอเป็นซิ่นเหมือนกันแต่ไม่นิยมเอามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม เพราะถือว่าเป็นลายที่ทอเฉพาะกิจจริง ๆ และถือเป็นของสูง
                1.4 ลายโบสถ์  ชาวบ้านมีความเชื่อว่าโบสถ์เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์  เพราะการที่จะตั้งวัดได้สิ่งแรกที่ชาวบ้านสร้างคือ โบสถ์  ทั้งนี้เพราะว่า โบสถ์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่เป็นองค์ประธานของวัด  ถ้าชาวบ้านสามารถมัดหมี่เป็นลายนี้ได้ถือว่าได้บุญกุศลเมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์  ซึ่งผ้าลายนี้จะทำไว้สำหรับเก็บเป็นมรดกและถวายพระในกิจกรรมของสงฆ์เท่านั้น
                1.5 ลายธรรมาสน์  ธรรมาสน์ เป็นที่แสดงธรรมของพระสงฆ์  ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าคนใดทำมัดหมี่ลายนี้ไว้แล้วจะได้บุญกุศล  ทั้งนี้คนสามัญธรรมดาจะขึ้นไปนั่งเล่นไม่ได้เพราะธรรมาสน์เป็นของสูง  ชาวบ้านจะทำมัดหมี่เพื่อถวายพระในงานบุญและกิจกรรมของสงฆ์เท่านั้น
                1.6 ลายบุษบก   ชาวบ้านมีความเชื่อว่าบุษบกเป็นที่ที่ผู้มีวาสนาหรือผู้มีบุญอาศัยอยู่ เช่น พระพุทธเจ้าและพระเจ้าแผ่นดิน บุษบก เป็นมณฑปขนาดเล็ก แต่ด้านข้างโปร่ง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี หรือเป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น

ตัวอย่างลายบุษบก

                             ลายผ้าไหมที่ได้รับรางวัลที่ 3 ประเภท ผ้าไหมลายสร้างสรรค์

            การประกวดผ้าไหม ในงานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาด จังหวัดขอนแก่น ประจำปี ๒๕๕๔   

ทอโดย นายสมาน สุภา อำเภอชนบท

 

              2. ลายจากสัตว์   ความเชื่อที่เกิดจากสัตว์นั้น ชาวบ้านมีความเชื่ออยู่ 2 ประการคือ  เชื่อเรื่องความมีอำนาจวาสนา เช่น ลายพญาครุฑ ลายนาค ลายช้าง ลายสิงโต ลายม้า ลายงูหลาม  และเชื่อในเรื่องความสวยงาม  ได้แก่  ลายนกยูง ลายนก ลายผีเสื้อ  ลายพังพอน  ลายแมงป่อง  ลายไก่ และลายนก ฯลฯ  ซึ่งแต่ละลายมีความเชื่อ ดังนี้
                ลายพญานาค  ชาวบ้านมีความเชื่อว่า นาคเป็นเจ้าแห่งงูทั้งหลายที่นำความสมบูรณ์มาให้แก่ชาวโลก กล่าวคือ  พญานาคเป็นผู้กำหนดฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ฉะนั้นถ้าใครสามารถทำลายผ้าเป็นรูปพญานาคได้คนนั้นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์  ซึ่งการทำลวดลายพญานาคนี้ชาวบ้านเชื่อว่าจะมีแต่คนสูงอายุเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของชาวบ้านและเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปเปรียบเสมือนพญานาค  ลายพญานาคนี้ทอขึ้นถวายพระในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ เท่านั้น

ตัวอย่างลายพญานาค  


               

               ลายช้าง   ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นใหญ่และความอุดมสมบูรณ์มั่งมีศรีสุข ชาวอีสานเชื่อว่าถ้าใครได้สัมผัสกับช้างจะมีความรุ่งเรือง ทำมาค้าขายร่ำรวย มีหลักฐานมั่นคง  ฉะนั้นจึงมีผู้นิยมนำช้างมาทำเป็นลายมัดหมี่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความเจริญรุ่งเรือง ตลอดจนการชนะอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง ดังเช่น พระเวสสันดร เป็นต้น

                 ลายม้า  ม้าเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ทรงพลัง และเป็นพาหนะที่พระพุทธเจ้าใช้ขี่ไปทรงผนวช ชาวอีสานเชื่อว่าถ้าใครได้สัมผัสกับม้าจะมีความเข้มแข็ง ทรงพลัง มีบารมี สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีหลักฐานมั่นคง  ฉะนั้นจึงมีผู้นิยมนำม้ามาทำเป็นลายมัดหมี่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ตลอดจนการชนะอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง ดังเช่น พระเวสสันดร เป็นต้น

ตัวอย่างลายช้างและลายม้า

              

                 ลายสิงโต  สิงโตเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์ป่า ซึ่งแสดงความมีอำนาจวาสนาอยู่ในตัว ฉะนั้นถ้าคนจะทอผ้าสำหรับผู้ที่นับถือเทพเจ้าและเจ้าใหญ่นายโตจะต้องทอด้วยลายสิงโต หรือถ้าจะเอาไปถวายพระสงฆ์ในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ก็ได้
 ลายม้า    ม้าเป็นพาหนะที่ดีที่สุดของคนในสมัยก่อน เป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้คนมากและมีความอดทนเป็นเลิศ ลักษณะเหล่านี้จึงทำให้คนสมัยก่อนนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต หรือนำมาเป็นต้นแบบลายเพื่อแสดงถึงความขยันอดทน มุมานะอุตสาหะ
                ลายนกยูง   นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง ชาวบ้านจึงนิยมนำมาทำเป็นลายมัดหมี่  ลายนกยูงนี้ปรากฏอยู่ในลายมัดหมี่ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน


                 ลายนกยูงรำแพน  ลายนี้แสดงออกถึงความงดงามของนกยูงขณะลำแพน มีความสวยงามและอ่อนช้อยมาก


                 ลายผีเสื้อ   ชาวบ้านมีความเชื่อว่าผีเสื้อเป็นสัตว์ที่มีความสวยงาม อิสระ รักความสงบ ถ้านำมาทำเป็นลายผ้าจะทำให้ทั้งคนทอและคนสวมใส่มีนิสัยเหมือนกับผีเสื้อ คือ มีทั้งความสวยงามและความสงบเรียบร้อย มองดูเป็นกุลสตรีมากขึ้น
                 ลายพังพอน  ชาวบ้านเชื่อว่าพังพอนเป็นสัตว์ที่มีความอดทนและเก่งกล้าที่เอาชนะงูได้ทั้งที่งูเป็นสัตว์ที่มีพิษ  จึงนำมาทำเป็นลายผ้าเพื่อสวมใส่  โดยเชื่อว่าผู้ที่สวมใส่ลายผ้านี้จะมีความอดทนต่อสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบด้านและพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ต่อไป
                 ลายแมงป่อง   ชาวบ้านมีความเชื่อว่า สัตว์ตัวเล็กนิดเดียวแต่มีพิษสงมากทำให้คนอื่นได้รับความเจ็บปวดได้ จึงนำมาทำเป็นลายผ้าเพื่อข่มขวัญศัตรูไม่ให้เข้ามาใกล้ตัวเอง
                ลายไก่   ไก่เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้คนมาก  ทำให้ชาวบ้านคิดเป็นลายผ้า  ด้วยเชื่อว่า ไก่เป็นสัตว์สวย
งาม แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์และทะนงในตนเอง


 

                ลายแม่ไก่กับลูกเจี๊ยบ  ชาวบ้านเชื่อว่าการดำรงชีวิตของไก่ แม่จะคุ้ยเขี่ยหาอาหารให้ลูกกินก่อน  เปรียบเสมือนชีวิตของคนที่แม่ต้องเป็นคนดูแลหาอาหารให้ลูกกินก่อนตัวเองกินทีหลัง
                ลายปลาหมึก  ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มาจากทะเล  ชาวอีสานไม่ค่อยได้กินปลาหมึก จึงจินตนาการปลาหมึกแทนความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านบางคนก็มีความคิดสร้างสรรค์ โดยนำลายจากดอกไม้มาผสมผสานกับลายจากสัตว์ออกมาเป็น ลายดาวเรืองหนวดปลาหมึก ดังตัวอย่าง

ลายดาวเรืองหนวดปลาหมึก

รางวัลที่ 3 ประเภทผ้าไหมมัดหมี่แบบ 3 ตระกรอ

การประกวดผ้าไหมงานเทศกาลไหมฯ จังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2554

ทอโดย นางสาวลำดวน งามยิ่ง อำเภอชนบท


                ลายงูหลาม  ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องงูนี้มาก เพราะงูหลามเป็นงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดางูทั้งหลาย  หากได้นุ่งห่มลายงูหลามจะทำให้คนเกรงขามหรือยำเกรง ไม่กล้าลบหลู่ แต่ถ้าจะเอามาทำเป็นลายผ้ามัดหมี่จะต้องดูก่อนว่ามีความเหมาะสมกับผู้สวมใส่หรือไม่  เช่น  ถ้าจะนำมาทำเป็นลายมัดหมี่ให้หญิงสาวสวมใส่ดูไม่เหมาะสม เพราะว่างูเป็นสัตว์ที่ทำให้คนเกลียดและกลัว

ตัวอย่างลายงูหลาม

 ลายผ้าไหมที่ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภท ผ้าไหมมัดหมี่แบบ 2 ตระกรอ

            การประกวดผ้าไหม ในงานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาด จังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2554   

ทอโดย นางมณี เขื่อนแก้ว อำเภอชนบท

               ลายนก  เป็นลายสวยงามลายหนึ่ง  ชาวบ้านมีความเชื่อว่านกเป็นสัตว์ที่มีความขยัน ต้องตื่นแต่เช้าบินออกจากรังเพื่อไปหากิน และบินกลับรังในตอนเย็นเพื่อนำเหยื่อหรืออาหารมาเลี้ยงลูกน้อยที่รออยู่ในรัง  เปรียบเสมือนชีวิตของคนที่แม่ต้องเป็นคนดูแลหาอาหารให้ลูกกิน

ตัวอย่างลายนก

          3. ลายจากพืช
           ความเชื่อที่เกิดจากลายพืชนี้ เป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว  ความเชื่อสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ความเชื่อเกี่ยวกับลายที่นำไปบูชาสักการะและความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งรอบข้างตามสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  ซึ่งแต่ละลายมีความเชื่อ ดังนี้
                ลายดอกบัว  บัวเปรียบประดุจราชินีแห่งไม้น้ำอันบริสุทธิ์ผุดผ่องแม้กำเนิดในโคลนตม บัวยังคงไว้ซึ่งกลิ่นหอม ถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์  ชาวอียิปต์โบราณใช้บูชาเทพเจ้า คนไทยนิยมนำมาถวายเป็นพุทธบูชา  เพราะคนที่นับถือศาสนาพุทธจะเชื่อว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ทางพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงคติธรรมในการดำรงชีวิต ชาวบ้านจึงนำมาทำเป็นลายมัดหมี่ไว้สวมใส่เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องของผู้ที่สวมใส่
                ลายดอกแก้วหรือลายสร้อยดอกหมาก   ลายนี้แสดงถึงสัญลักษณ์ของความดีงาม ชาวบ้านนิยมทอลายนี้เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ หรือคารวะต่อสิ่งที่ชาวบ้านเคารพนับถือ
                ลายดอกพิกุล   ต้นพิกุลเป็นต้นไม้ยืนต้น เวลาออกดอกมีสีขาวนวลและออกดอกตลอดทั้งปี  จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความคิดที่จะนำดอกพิกุลมาเป็นลายผ้าไหม เพราะเชื่อว่าถ้าใครได้สวมใส่ผ้าลายนี้จะช่วยให้คนนับหน้าถือตาและยำเกรง
 ลายดอกผักแว่น   ผักแว่นเป็นพืชที่อยู่ตามชายฝั่งลำน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เพราะผักแว่นเกิดง่าย ชอบขึ้นบริเวณที่มีน้ำขัง เกิดเป็นกลุ่มและโตเร็ว ลักษณะของดอกผักแว่นเป็นดอกเล็ก ๆ สวยงาม เป็นพืชที่ชาวบ้านได้สัมผัสอยู่ทุกวันจึงเกิดความคิดที่จะนำมาทำเป็นลายผ้าไหมและมีความเชื่อว่า คนที่สามารถผลิตลายนี้ได้จะเป็นคนที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีความรักสามัคคี

ตัวอย่างลายดอกแก้วพิกุลทอง

รางวัลที่ 3 ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ข้อ (หมี่ขั้น)

การประกวดผ้าไหมงานเทศกาลไหมฯ จังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2554

ทอโดย นางจำเนียร จันทะวงษ์ อำเภอชนบท


                 ลายดอกหญ้า   หญ้าเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ทั่วไปออกดอกเล็ก ๆ สีขาวเต็มท้องทุ่ง   ชาวบ้านนำมาเป็นลายผ้าไหมเพราะเชื่อว่าหญ้าเป็นพืชที่เกิดง่าย โตเร็ว อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
                 ลายดอกตำลึง   ตำลึงเป็นพืชที่อยู่บนบก มีดอกสีขาว  เป็นพืชที่ชาวบ้านนิยมรับประทานโดยใช้ยอดมาประกอบเป็นอาหาร  ตำลึงขึ้นอยู่ทั่วไปตามเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ด้านลายของผ้า แล้วนำไปมัดเป็นลายผ้าไหมมัดหมี่ 
ซึ่งเชื่อกันว่าใครสามารถมัดลายดอกตำลึงนี้ได้จะเป็นคนเฉลียวฉลาดไปได้ทุกสถานที่เหมือนกับยอดตำลึงที่เลื้อยไปเรื่อย ๆ
                 ลายหมากบก   หมากบกหรือกระบกเป็นไม้ยืนต้นที่ใช้รับประทานเมล็ดข้างใน เป็นพืชที่อยู่ใกล้ตัวในวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงทำให้ช่างมัดหมี่หรือช่างทอผ้าเกิดความคิดที่จะสร้างสรรค์ลายในลักษณะนี้ขึ้น เพราะต้นกระบกมีลูกมากถ้าใครสามารถนำลูกกระบกมาทำเป็นลายผ้าได้ก็จะแสดงถึงความอดทนและความอุดมสมบูรณ์ต่อไปในภายหน้า จึงได้นำลายหมากบกนี้มาทำเป็นลายผ้าไหม
                  ลายต้นสน  ต้นสนเป็นพืชที่มีใบเรียงเป็นระเบียบในตัวเอง จึงเหมาะที่จะนำมาเป็นลายผ้ามัดหมี่  ทั้งนี้เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่าชีวิตคนจะต้องเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกับใบของต้นสน ถ้าใครทำลายนี้ได้ก็จะทำให้ชีวิตสงบสุขและมีระเบียบวินัย
                   ลายหมี่ใบมะพร้าว  ต้นมะพร้าวมีใบเรียงเป็นระเบียบสวยงาม จึงเหมาะที่จะนำมาเป็นลายผ้ามัดหมี่ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าชีวิตคนจะเป็นระเบียบ มีวินัยและอาศัยอยู่โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
 
          4. ลายจากสิ่งของเครื่องใช้
          จากการที่ชาวบ้านใช้สิ่งของชิ้นนั้นเป็นประจำ จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำมาเป็นต้นแบบในการออกแบบลายผ้าไหม  เช่น ลายเข็มขัดนาค ลายสร้อยเพชร ลายจี้เพชร ลายขันหมากเบ็ง ลายกนกเชิงเทียน ลายพุ่มกนก ลายพวงมาลัย ลายหมี่คลื่นฟองน้ำ ลายโคมห้า  ลายขอกระดูก  ลายขอชัยภูมิ  ลายขอเขมร  ลายขอน้อย ลายขอตัวเอส (S) ลายขอตัว (E) ลายกัลปังหา (เครื่องประดับ)  ลายขอหัวใจ  ลายไทย ลายกนกเชิงเทียน ลายกงสองคองไส้ต้นสน ลายพานพุ่ม ลายเชิงพวงมาลัย ลายสำเภาหลงเกาะ ลายบันไดลิง  ลายหมี่ขั้น (หมี่ตา) ลายเอี้ยกาบเครือ  ลายไหลเรือไฟ  ลายกุญแจ และลายจากเครื่องจักสาน เช่น ลายหมี่ตาข่าย ลายกงห้า ลายกงเจ็ด ลายกงเก้า ลายกงสิบสาม เป็นต้น

ตัวอย่างลายขอน้อยเชิงเทียน

รางวัลที่ 2 ประเภทผ้าไหมมัดหมี่แบบ 3 ตระกรอ

การประกวดผ้าไหมงานเทศกาลไหมฯ จังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2554

ทอโดย นายทองสุข จันทะวงษ์ อำเภอชนบท

          5. ลายจากความคิดสร้างสรรค์
           เป็นลายที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้ออกแบบลายผ้าไหม เพื่อระลึกถึงวันสำคัญและประเพณีต่าง ๆ  เช่น ลายปีการท่องเที่ยวไทย ลายเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช ลายฉลองภาคอีสาน ลายตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554  และลายเสาชิงช้า เป็นต้น

ตัวอย่างลายตราสัญลักษณ์ปีมหามงคล

ตัวอย่างลายเสาชิงช้า

รางวัลที่ 2 ประเภทผ้าไหมลายสร้างสรรค์

การประกวดผ้าไหมงานเทศกาลไหมฯ จังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2554

ทอโดย นางรัตติมา หินเธาว์ อำเภอชนบท

ความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ผ้าไหม
          การใช้ผ้าไหมของชาวอีสานมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ  ใช้ผ้าไหมเป็นเครื่องนุ่งห่ม  ใช้ผ้าไหมในงานบุญหรือพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้ผ้าไหมทั่วไป  ซึ่งมีความเชื่อในแต่ละลักษณะ ดังนี้
          1. ความเชื่อในการใช้ผ้าไหมเป็นเครื่องนุ่งห่ม    การใช้ผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอีสานที่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มจะแบ่งออกเป็น  2 ประเภทคือ
เครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้ชายและเครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้หญิง ซึ่งจะแตกต่างกันทั้งลายผ้า เนื้อผ้า รวมทั้งชื่อที่เรียกดังนี้
               1.1  เครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้ชาย
                       (1) ผ้าโสร่ง
                       (2) ผ้าตัดเสื้อ
                       (3) ผ้าขาวม้า
                1.2  เครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้หญิง
                        (1) ผ้าซิ่น
                        (2) ผ้าตัดเสื้อ
                        (3) ผ้าแพรเบี่ยง

ผู้เขียนกับคุณทองเลิศขณะสัมภาษณ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการย้อมสีไหมธรรมชาติ

แหล่งอ้างอิง

คำประเคียน  โพธิ์เพชรเล็บ.  (2545).  การศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น.  รายงานการศึกษาอิสระปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  

ทองเลิศ สอนจันทร์.  (29 พฤศจิกายน 2554).  สัมภาษณ์.  ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น.

 

เรียบเรียงเนื้อหาโดย  นายิกา เดิดขุนทด

ถ่ายภาพโดย  นายิกา เดิดขุนทด และกฤติกา สุนทร


 

 

 

 

 

 

 



ลิขสิทธิ์ © 2012 สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ : somphot@kku.ac.th ผู้พัฒนาโปรแกรม
หมวดหมู่อื่น ๆ
document การละเล่นสะบ้าในประเพณีตรุษไทยภูผาม่าน
document หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคล
document ประเพณีบุญบั้งไฟ อำเภอกระนวน
document พระพุทธรูปโบราณ อำเภอซำสูง
document การศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอำเภอชนบทจังหวัดขอนแก่น
document สิม
document ศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนหมู่บ้านอีสานจากอดีตถึงปัจจุบัน
document เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอีสานหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน (2488-2544)
document เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานใต้ : ความอยู่รอดของชุมชนท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง
document ข้อมูลวัด จังหวัดขอนแก่น
document บุคคลสำคัญทางศาสนา จังหวัดขอนแก่น
document ประเพณีแต่งงานชาวอีสาน (ประเพณีกินดอง)
document รายงานการวิจัยเรื่องศักยภาพของชุมชนอีสาน : กรณีศึกษาบ้านฝาง
document การผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องศิลปวัฒนธรรมในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีว ิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตอน ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
document การสำรวจสถานภาพองค์ความรู้เบื้องต้นจากงานวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธ รรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในภาคอีสาน พ.ศ. 2500-2545
document คติชน : คุณค่าในการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกม่วง
document ความสัมพันธ์หญิงชายภายใต้กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
document ทัศนคติของชาวชนบทอีสานต่อการทำบุญ
document ประเพณี คติความเชื่อมีอิทธิพลต่องานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน
document ประเพณีผูกเสี่ยว
document พฤติกรรมการทำบุญของชาวพุทธในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
document รายงานการวิจัยเรื่องทัศนคติของชาวชนบทอีสานต่อการทำบุญ
document รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องรูปแบบศิลปวัฒนธรรมประเพณีการฟ้อนแห่ต้นดอกไม้ : กรณีศึกษาบ้านอาฮี หมู่ที่ 1,6 ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
document รายงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานห้าทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2488-2543) : กรณีศึกษาบ้านบัว จังหวัดสกลนคร
document รายงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานห้าทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2488-2543) : กรณีศึกษาบ้านโนนม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด
document รายงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานห้าทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2488-2544) : กรณีศึกษาบ้านวังสวาบ จังหวัดขอนแก่น
document วัฒนธรรมอีสานกับการพัฒนา
document วิถีครอบครัวและชุมชนชาติพันธุ์ไทยโย้ย บ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
document รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาโครงสร้างชุมชนชาติพันธุ์ผู้ไทย บ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
document ความเชื่อเรื่องปู่ตาตะกวดกับวิถีชีวิตของชาวกูยบ้านตรึม ตำบลตรึม อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
document ประเพณีและเทศกาลจังหวัดขอนแก่น
document วัดป่าบ้านตาด
document วัดถ้ำกลองเพล
document วัดบูรพาภิราม
document หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง
document วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
document วัดถ้ำแสงเพชร
document ประเพณีบุญพระเวส หรือบุนพะเหวด
document คติชน : คุณค่าในการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกม่วง
document พระมงคลมิ่งเมือง (พระยืน)
document รายงานการวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องเจ้าพ่อมอดินแดง : ความเชื่อของนักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น หมู่ 16 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
document วัดพระบาทภูพานคำ
document ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง
document สิม (โบสถ์) 2
document สิม (โบสถ์) 1
document หลวงพ่อพระยืนมิ่งมงคล
document ตำราปลูกเฮือน ฉบับวัดบ้านดอนยม ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document ตำราปลูกเฮือน ฉบับสำนักสงฆ์อิสระธรรมวิเวก บ้านคกเหลี่ยน-หนองขอน ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
document คาถา ต้นฉบับวัดศรีเวียงชัย บ้านดอนเวียงจันทน์ ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
document คติชน : คุณค่าในการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกม่วง
document ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ของชาวบ้านศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านโนนอำนวย อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ และหมู่บ้านทุ่งสว่าง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
document ฒ ผู้เฒ่าต้องมอง
document การบริโภคสุนัขในจังหวัดสกลนคร
document การปรับตัวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทแดง บ้านโพนทอง เมืองนาทรายทอง นะคอนหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
document การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมหญิงไทยกับชายญี่ปุ่น
document บทบาทของวัดต่อชุมชนในชนบท จังหวัดขอนแก่น
document ความสัมพันธ์หญิงชายภายใต้กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
document เจ้าโคตร : ผู้เว้าแล้วแล้วโลด
document ปราสาทขอมหายไปไหน? เขมรทำลายหรือใครกันแน่
document ภูมิปัญญาพื้นบ้านศาลผีปู่ตา อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น.
document ลำส่องที่พึ่งสุดท้ายของผู้ป่วยในภาคอีสานจริงหรือ?
document สรภัญญ์ : ภูมิปัญญาชาวบ้านกับบทบาทในสังคมอีสาน
document รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ : คติสัญลักษณ์ของพื้นที่และการจัดการใช้พื้นที่ของวัดในชุมชนหมู่บ้านผู้ไท
document พุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม
document รายงานการวิจัยเรื่องวิเคราะห์ความเข้าใจในหลักพุทธธรรมของพระสงฆ์ในเขตอำเภอเมืองขอ นแก่น จังหวัดขอนแก่น
document วิเคราะห์การทำบุญของคนไทยภายใต้ระบบสังคมบริโภคนิยม
document สรภัญญ์ เพลงขับเพื่อศาสนาและจริยธรรม
document วันสงกรานต์
document การปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ : การเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อดั้งเดิมอีสานกับความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่
document คติความเชื่อและระบบสังคมกับการปลูกสร้างเรือนพื้นบ้านและชุมชนผู้ไท
document คติชนวิทยาที่พบในงานของนักเขียนไทยสมัยรัตนโกสินทร์
document ประเพณีตักบาตรเทโว
document ศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สาระนาฏศิลป์ วิชาเลือกนาฏศิลป์พื้นเมือง เรื่อง ประเพณีผูกเสี่ยวจังหวัดขอนแก่น โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบย้อนกลับ(Backward Design) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนนครขอนแก่น
document ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า ขอนแก่น
document ประเพณีผูกเสี่ยวจังหวัดขอนแก่น
document งานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น
document บุญกฐิน
document ประเพณีขึ้นเฮือนใหม่
document บุญข้าวจี่หรือบุญเดือน ๓
document เบื้องลึกเบื้องหลังพระธาตุนาดูน
document ประวัติวัดศรีคุณเมือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
document ฮีตสิบสอง
document วันสงกรานต์
document วันมาฆบูชา



RSS